ThaiPublica > คอลัมน์ > ค่าของประสบการณ์กับค่าของความทรงจำ

ค่าของประสบการณ์กับค่าของความทรงจำ

4 พฤศจิกายน 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

สมมติว่าคุณผู้อ่านจับฉลากได้รางวัลที่หนึ่งจากการเล่นเกมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ณ ที่ทำงานของท่าน ในขณะที่คุณผู้อ่านกำลังตื่นเต้นดีใจกับความโชคดีของตัวเองอยู่นั้น โฆษกของงานก็ถือโอกาสบรรยายให้ทุกคนในงานทราบโดยทั่วกันว่ารางวัลที่หนึ่งที่คุณผู้อ่านจับได้นั้นคืออะไร

“รางวัลที่หนึ่งที่คุณจับฉลากได้ก็คือ… ตั๋วบิน 1st class ที่ให้คุณผู้อ่านใช้ในการเดินทางไปที่ไหนก็ได้ในโลกรวมกันสองที่นั่ง พร้อมกันกับที่พักฟรีสองอาทิตย์”

“เเต่รางวัลชิ้นนี้มาพร้อมกันกับข้อเเม้ข้อสองข้อ นั่นก็คือ หลังจากที่คุณกับเพื่อนหรือคู่ของคุณเดินทางกลับมาจากการไปเที่ยวเรียบร้อยเเล้วนั้น คุณทั้งสองต้อง 1) ลบรูปที่คุณถ่ายตอนที่คุณไปเที่ยวทั้งหมด เเละห้ามโพสต์รูปหรือเรื่องราวของการไปเที่ยวลงในโซเชียลมีเดียเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวก่อนไปเที่ยว ขณะไปเที่ยว หรือหลังจากการไปเที่ยวเรียบร้อยเเล้ว เเละ 2) คุณจะต้องเข้าเครื่องลบความทรงจำที่เรามี เพื่อที่เราจะทำการลบความทรงจำเกี่ยวกับการไปเที่ยวของคุณทั้งสองออกให้หมด พูดง่ายๆ เลยก็คือ หลังจากการเข้าเครื่องเรียบร้อยเเล้วนั้น คุณทั้งสองจะจำการไปเที่ยวครั้งนี้ไม่ได้เลยเเม้เเต่นิดเดียว”

“เเต่ถ้าคุณต้องการที่จะใช้รางวัลชิ้นนี้โดยที่ไม่ต้องมีข้อเเม้ทั้งสองข้อนี้เลยก็ได้นะครับ เเต่คุณต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทเป็นราคา ______ บาท”

ผมว่าผมคงพอเดาได้ว่าคุณผู้อ่านกำลังคิดอะไรอยู่ อย่างเเรกเลยก็คือ “เอ๊ะ นี่เราทำงานให้บริษัทอะไรเนี่ย CIA หรือเปล่า” เเละอย่างที่สองก็คือ “เราจะยอมจ่ายบริษัทซักกี่บาทดีเพื่อที่จะได้ไปเที่ยวโดยไม่ต้องมีข้อเเม้ทั้งสองข้อนี้”

ที่มาภาพ : http://images.sodahead.com/polls/0/0/3/3/3/1/3/1/3/1416130133_woman_remembering.jpeg
ที่มาภาพ : http://images.sodahead.com/polls/0/0/3/3/3/1/3/1/3/1416130133_woman_remembering.jpeg

Remembering is not the same as experiencing

คุณผู้อ่านเคยไหมครับเวลาดูหนังไปเเล้วเกือบค่อนเรื่องเเล้วรู้สึกว่าหนังที่กำลังดูอยู่นั้นก็สนุกดีในขณะที่กำลังดูอยู่ เเต่ว่าพอมาถึงตอนจบหนังกลับจบเเบบไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย

ถ้าคุณผู้อ่านเคยดูหนังที่มีลักษณะคล้ายๆ อย่างนั้นจริงๆ คุณผู้อ่านเคยพูดกับตัวเองไหมครับว่า “เฮ้อ จบเเบบเฮงซวยอย่างนี้ ไม่น่าเสียเวลาดูตั้งเเต่ต้นจนจบเลย” ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็เป็นอารมณ์เเบบว่า “the film’s ending has ruined my entire experience” (หรือ ตอนจบของหนังทำให้ประสบการณ์ของการดูหนังเรื่องนี้ทั้งหมดตั้งเเต่ต้นจนจบเเย่ไปด้วย)

เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้น ตอนจบเเย่ๆ ของหนังไม่ได้มีผลทางด้านลบอะไรเลยกับประสบการณ์การดูหนังของคุณผู้อ่านตั้งเเต่ต้นจนก่อนที่หนังจะจบ ด้วยเหตุผลที่ว่าประสบการณ์ของการดูหนังตั้งเเต่ต้นของคุณนั้นมันมาก่อนที่หนังจะจบเเละก็ได้ผ่านไปเรียบร้อยเเล้ว (พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้า A เกิดขึ้นก่อน B ตามลำดับเเล้ว B ไม่สามารถที่จะมีผลกับการเกิดของ A ได้) แต่เพียงเเค่ว่าการจบเเบบเเย่ๆ ของหนังทำให้คุณผู้อ่านจำประสบการณ์ของการดูหนังเรื่องนี้ผิดเพี้ยนไปมากกว่า (คุณผู้อ่านยังจำ peak-end effect ที่ผมเคยเขียนลงไทยพับลิก้าไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนได้ไหมครับ ที่ว่าคนเรามักให้นำ้หนักกับประสบการณ์ที่ peak สุดๆ เเละประสบการณ์ตอนจบมากเกินไป)

เเละด้วยเหตุผลที่ว่าประสบการณ์ (experience) เเละความทรงจำของประสบการณ์ (memory of experience) นั้นมักมีค่าที่ไม่เท่ากัน วันนี้ผมเลยอยากมาทำการทดลองเกี่ยวกับความคิด (หรือ thought experiment) กับคุณผู้อ่านว่าจริงๆ เเล้วนั้นคุณผู้อ่านให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันระหว่างสองอย่างนี้

ลองย้อนกลับไปดูคำถามข้างบนนะครับ ถ้าทางบริษัทเรียกร้องให้คุณจ่ายเงินเป็นราคาของค่าของรางวัลที่เขาจะให้ทั้งหมดเพื่อที่จะยกข้อเเม้ทั้งสองข้อนี้ออก เเล้วสมมติว่าคุณผู้อ่านมีเงินพอที่จะจ่ายโดยที่ไม่เข้าเนื้อตัวเองจะมากเกินไป คุณจะยอมจ่ายไหม เเล้วถ้าเป็น 75% ของค่าของรางวัลล่ะ คุณจะยอมไหม เเล้วถ้าคุณไม่ยอมจ่ายในราคาที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้ คุณว่าคุณจะยอมจ่ายเงินเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของค่ารางวัลทั้งหมดครับ

ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความทรงจำของประสบการณ์เลยเเม้เเต่นิดเดียว ความยินยอมที่จะจ่ายเงิน (หรือ willingness to pay) ให้กับบริษัทเพื่อที่จะให้บริษัทยกข้อเเม้ทั้งสองออกก็จะเท่ากับศูนย์ เเต่ถ้าคุณผู้อ่านยอมที่จะจ่ายเงินถึง 100% ของค่าที่จะไปเที่ยวเเล้ว นั่นก็เเสดงว่าคุณผู้อ่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์จริงๆ เลยเเม้เเต่นิดเดียว สิ่งที่คุณเเคร์จริงๆ ก็คือความทรงจำของประสบการณ์นั้นๆ ต่างหาก

ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะยอมจ่ายเงินถึง 75% ของค่าของรางวัลทั้งหมดเพื่อที่จะได้เก็บความทรงจำของการไปเที่ยวเอาไว้ ซึ่งก็ไม่เเปลกเลยนะครับเพราะว่าความทรงจำเป็นสิ่งมีค่าในชีวิตของเรา เเต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันของเรานี้ เราอาจจะมองเห็นกันทั่วไปได้ว่าคนเราส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความทรงจำของประสบการณ์มากกว่าประสบการณ์จริงๆ มากเกินไป ยกตัวอย่างเวลาที่เราไปเที่ยว เกือบทุกคนมักจะใช้เวลาอยู่กับการ “มองวิวผ่านเลนส์กล้อง” มากกว่าการมองวิวผ่านสายตาของตัวเอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เราไม่สามารถที่จะทำการซึมซับประสบการณ์ในขณะนั้นได้อย่างเต็มที่

อีกอย่าง จะมีสัักกี่ครั้งกันครับที่เราจะเปิดดูอัลบั้มเก่าๆ ของการไปเที่ยวของเราเพื่อเรียกความทรงจำของเรากลับคืนมา พูดง่ายๆ ก็คือ การลงทุนเก็บความทรงจำเพื่อเเลกกันกับการซึมซับประสบการณ์ในขณะนั้นอย่างเต็มที่มักจะไม่ค่อยคืนทุนให้กับเราสักเท่าไหร่ ถ้าเราไม่ค่อยได้ใช้มันเพื่อเรียกความทรงจำของเรากลับมาบ่อยๆ

สิ่งที่ผมอยากจะสรุปก็คือว่า คนเรามักจะให้ความสำคัญกับความทรงจำที่มี bias หลายอย่าง (อย่าง peak-end effect เป็นต้น) มากกว่าประสบการณ์ เเละมักจะให้ค่ากับอนาคตมากเกินไปจนลืมปัจจุบัน เเต่ในความเป็นจริงเเล้วประสบการณ์ปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับความสุขของวันต่อวันของเรานะครับ ถึงเเม้ว่าเราอาจจะจำประสบการณ์นั้นๆ ผิดเพี้ยนไปบ้างในขณะที่เรากำลังนึกถึงมันอีกในอนาคตก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม
Kahneman, D. (2011). Thinking, fast and slow. Macmillan.