ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.5% – เฝ้าระวังเพิ่ม “เศรษฐกิจโลกชะลอ-ตลาดการเงินผันผวน-ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง”

กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.5% – เฝ้าระวังเพิ่ม “เศรษฐกิจโลกชะลอ-ตลาดการเงินผันผวน-ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง”

4 พฤศจิกายน 2015


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่ากนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและการลงทุนของบางสาขาธุรกิจ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น และคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยลบจากต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสาคัญต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ามันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ขณะที่ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดมีจากัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อ ในระยะปานกลางของสาธารณชน

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กนง.ยังเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และจะติดตามผลของมาตรการทางการคลังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาวะการเงินในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center) หรืออีไอซี ระบุในรายงานวิเคราะห์ว่า กนง.มองเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน ในการประชุมครั้งนี้ กนง. กล่าวว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการใช้จ่ายในประเทศปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและการลงทุนของบางสาขาธุรกิจแตกต่างจากการประชุมวันที่ 16 กันยายน 2558 ที่กนง. แสดงความกังวลด้านรายได้ครัวเรือนและความเชื่อมั่นภาคเอกชน นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กนง. คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กนง. มองว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ปัจจัยข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง 2) การชะลอของเศรษฐกิจโลก จีน เอเชีย ขณะที่ภาวะตลาดการเงินโลกที่ความไม่แน่นอนสูง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและอาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยป็นผลสืบเนื่องจากภาวะการเงินหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของยูโรโซน และการดำเนินนโยบายทางการเงินของจีน

ทั้งนี้ อีไอซี ระบุว่าดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 1.50% ต่อไปจนถึงปลายปี 2016 โดยเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องได้รับการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนให้อยู่ในแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อไป ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินไทยและจะเป็นข้อจำกัดต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม