ThaiPublica > คอลัมน์ > Baahubali: The Beginning การเติบโตของภาพยนตร์ Tollywood

Baahubali: The Beginning การเติบโตของภาพยนตร์ Tollywood

27 พฤศจิกายน 2015


Hesse004

หากกล่าวถึงภาพยนตร์อินเดียหรือ “หนังแขก” ภาพคุ้นชินของเราคือ ฉากพระนางร้องเล่นเต้นรำ พระเอกวิ่งไล่ตามนางเอกขึ้นเขาลงห้วย มีฉากบู๊ล้างผลาญที่สุดจะเกินบรรยาย

การชมภาพยนตร์อินเดียนับเป็น “ความบันเทิง” ราคาไม่แพงสำหรับชาวอินเดีย และนับวันอุตสาหกรรมการทำหนังอินเดียจะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ดาราดังอินเดียได้รับการยอมรับจากตลาดหนังตะวันตกมากขึ้น เช่น อมิตาภ พัจจัน (Amitabh Bachchan) อภิมหาซูปเปอร์สตาร์ของบอลลีวูด (Bollywood) ที่ข้ามไปเล่นหนังฮอลลีวูด (Hollywood) เรื่อง The Great Gatsby (2013) เวอร์ชั่นล่าสุดของบาซ เลอมานห์ (Baz Luhrmann)

ปีๆ หนึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียสร้างรายได้ระดับหลักหมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว (อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

ตัวเลขรายได้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะอุตสาหกรรมหนังอินเดียดึงดูดบุคลากรชั้นนำด้านภาพยนตร์มาจากทั่วทุกมุมโลกได้

ตลาดผู้ชมภาพยนตร์อินเดียมีทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา

หนังอินเดียมักวางพล็อตเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แบ่งแยกตัวละครชัดเจน ไม่ต้องตีความกันมาก แถมสร้างความบันเทิงจากฉากร้องเพลง เต้นรำ ที่กลายเป็น “ซิกเนเจอร์” ที่ยากนักจะหาใครเลียนแบบได้

บรรดา “ซุปตาร์” หนังอินเดียไม่ว่าจะเป็น ชารุก ข่าน (Shahrukh Khan) หรือ คารีนา คาปูร์ (Kareena Kapoor) ตำนานคู่พระนางแห่งบอลลีวูด ต่างมีทักษะร้องเล่นเต้นระบำชนิดเอกอุกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียไม่ได้มี “บอลลีวูด” เพียงแห่งเดียว หากแต่เมืองอื่นๆ ของอินเดียพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จนก้าวขึ้นมาเทียบบอลลีวูดบ้างแล้ว

ชื่อ “บอลลีวูด” เป็นชื่อที่ถูกตั้งให้คล้องจองกับเมืองมายา “ฮอลลีวูด” ในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ผลิตภาพยนตร์ส่งออกและเป็นแหล่งสะสม “ทุนวัฒนธรรม” จนเติบโตเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกในศตวรรษนี้

บอลลีวูดมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองมุมไบ (Mumbai) หรือที่ชื่อเดิมเรียกว่าบอมเบย์ หนังบอลลีวูดจะใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาหลักในการดำเนินเรื่อง ดังนั้น คนอินเดียจึงผูกพันกับหนังบอลลีวูดมาแต่อ้อนแต่ออก

นอกเหนือจากหนังภาษาฮินดีแล้ว ยังมีหนังอินเดียภาษาทมิฬ (Tamil Language) ที่มีที่มั่นในโกดามบัคคัม (Kodambakkam) เมืองใกล้ๆ กับเชนไน (Chennai) เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาดูล (Tamil Nadul)

ด้วยเหตุที่ศูนย์กลางการผลิตหนังอินเดียภาษาทมิฬตั้งอยู่ในเมืองโกดามบัคคัม จึงเอาตัว K หน้าชื่อเมืองมาใช้เรียกพ้องกับบอลลีวูดว่า คอลลีวูด (Kollywood)

คนอินเดียดูหนังหลายภาษาตามภาษาถิ่นที่ตัวเองอยู่ นอกจากหนังฮินดี หนังภาษาทมิฬแล้ว ยังมีหนังภาษาเตลูกู (Telugu) ซึ่งเป็นภาษาหลักทางตอนใต้ของอินเดีย

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีการเปิดตัวหนังฟอร์มยักษ์ที่ใช้พล็อตเรื่องประวัติศาสตร์อินเดียโบราณเป็นโครงเรื่องหนังที่ว่านี้ ชื่อ Baahubali: The Beginni ng (2015) ผลงานกำกับของ เอส เอส ราจามูลิ (S.S. Rajamouli) ผู้กำกับอินเดียที่ได้รับงบประมาณมหาศาลถึง 18 ล้านดอลลาร์ เพื่อเนรมิตฉากต่างๆ ใน Baahubali ให้ดูยิ่งใหญ่อลังการ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

หนังเรื่องนี้เปิดตัวอย่างยอดเยี่ยม โกยรายได้ไปแล้วเกิน 91 ล้านเหรียญ ส่วนหนึ่งได้รับการโปรโมตว่าเป็นหนังใช้ทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อินเดีย

อย่างไรก็ดี Baahubali: The Beginning ไม่ได้สร้างจากบอลลีวูด หากแต่เป็นการสร้างและถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไฮเดอราบัด (Hyderabad) ฐานที่มั่นของหนังอินเดียทีใช้ภาษาเตลูกู

Baahubali: The Beginning หนังที่ใช้งบลงทุนสร้างมากที่สุดในอินเดีย ที่มาภาพ: http://1.bp.blogspot.com/-_KgAReLtycc/VbO-zD3GjzI/AAAAAAAAB8A/Fh_1CukKq_c/s1600/bahubali_Prabhas_Rana.jpg
Baahubali: The Beginning หนังที่ใช้งบลงทุนสร้างมากที่สุดในอินเดีย ที่มาภาพ: http://1.bp.blogspot.com/-_KgAReLtycc/VbO-zD3GjzI/AAAAAAAAB8A/Fh_1CukKq_c/s1600/bahubali_Prabhas_Rana.jpg

อีกหนึ่งผลงานสุดยอดของหนังภาษาเตลูกูหรือ Tollywood

ภาพยนตร์ที่ใช้ภาษาเตลูกู ซึ่งได้รับความนิยมในแถบตอนใต้ของอินเดีย จึงมีชื่อเรียกว่า ตอลลีวูด (Tollywood) โดยตัว T มาจากอักษรตัวแรกของภาษาเตลูกู

น่าสนใจว่า ศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียนั้นไม่ผูกขาดอยู่แค่บอลลีวูดแห่งเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะทั้งคอลลีวูดและตอลลีวูดเริ่มก้าวขึ้นมา “ทาบรัศมี” เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชมกระจายกันอยู่ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในอินเดียตอนใต้ อาหรับ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อาเซียน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างหนังบอลลีวูดกับตอลลีวูด คือ รูปลักษณ์หน้าตาของดารานักแสดง กลุ่มนักแสดงจากบอลลีวูดมีลักษณะกระเดียดไปทาง “แขกขาว” คล้ายดาราฝรั่ง ตัวใหญ่ จมูกโด่ง ส่วนนักแสดงจากตอลลีวูดมีหน้าตาแบบชาวอินเดียพื้นเมืองหรือพวก “ดราวิเดียน” ซึ่งมีผิวเข้มกว่า

Baahubali: The Beginning สื่อให้เห็นถึงวิธีคิด วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อของชาวอินเดียตอนใต้ ขณะเดียวกัน ราจามูลิ ผู้กำกับ พยายามทำให้หนังเรื่องนี้ “ร่วมสมัย” โดยสอดแทรกแนวคิดสมัยใหม่เข้าไปในบท เช่น การให้ Baahubali พระเอก ปฏิเสธการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัณห์ก่อนออกรบ

การสร้างหนังสงครามโดยเฉพาะหนังแนวอีพิคที่ว่าด้วยการยกย่องเชิดชูบรรพบุรุษของชนชาติตนเองนั้น ผู้สร้างต้องระมัดระวังไม่ทำให้อีกชนชาติหนึ่งกลายเป็น “ผู้ร้าย” อย่างไม่มีเหตุผลในการก่อสงคราม เพราะหนังแนวนี้ย่อมสร้างอารมณ์ร่วมและจุดกระแสชาตินิยมขึ้นได้ง่าย

สำหรับ Baahubali แล้ว ผู้สร้างหลีกเลี่ยงจุดเปราะบางนี้ออกไป และมุ่งเสนอไปที่วิถีชีวิตของชาวอินเดียที่ผูกพันกับศาสนาฮินดู เทพเจ้า รวมทั้งสร้างคติความเชื่อเกี่ยวกับคุณธรรมการเป็นกษัตริย์ที่ดีที่ต้องเน้นเความเมตตามากกว่าความเด็ดขาดหรือมุ่งทำลายล้างเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม หนังอีพิคไม่ได้จบลงง่ายๆ เพราะ Baahubali จะฉายตอนจบ หรือบทสรุป Baahubali: The Conclusion ในปีหน้า… ซึ่งจะลงเอยอย่างไรนั้น คอหนังอินเดีย ห้ามพลาด