ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีมเศรษฐกิจเร่งยกระดับความยาก-ง่าย การทำธุรกิจของไทย กางขั้นตอนไหนเร็ว-ช้า หรือดีกว่าประเทศอื่น

ทีมเศรษฐกิจเร่งยกระดับความยาก-ง่าย การทำธุรกิจของไทย กางขั้นตอนไหนเร็ว-ช้า หรือดีกว่าประเทศอื่น

10 พฤศจิกายน 2015


ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 50 ประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นมิตรมากที่สุดในการทำธุรกิจทั่วโลก

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ธนาคารโลกได้รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2016) ที่จัดทำโดยกลุ่มธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทยได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้คงอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และติดอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ในรายงานการวัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกได้จัดให้สิงคโปร์เป็นที่ 1 ของโลกติดต่อกัน 10 ปี ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ที่ติด 20 อันดับแรก ได้แก่ นิวซีแลนด์ (2) เกาหลีใต้ (4) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (5) ไต้หวัน (11) ออสเตรเลีย (13) และมาเลเซีย (18)

รายงาน Doing Business 2016: Measuring Quality and Efficiency พบว่า ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ 2 ในกลุ่ม 20 ประเทศแรกในด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจรองจากภูมิภาคยุโรป นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคดังกล่าวยังได้มีการปฏิรูปเพื่อช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่เอื้อต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงปีที่ผ่านมาร้อยละ 52 ของ 25 ประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีการปฏิรูป 27 รายการเพื่อให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น

ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่รายงาน Doing Business ได้พยายามใช้ระเบียบวิธีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ และเพิ่มตัวเปรียบเทียบมาตรฐานซึ่งช่วยวัดคุณภาพของกฎระเบียบ รวมไปถึงประสิทธิภาพของกรอบกฎระเบียบทางด้านกฎหมายเพื่อช่วยให้การเก็บข้อมูลในการวิจัยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นกว่าเดิม

ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากภาพรวมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในลำดับที่ 49 ในรายงาน Doing Business ปี 2016 เมื่อเปรียบเทียบกับลำดับที่ 46 ในปี 2015 ซึ่งได้นำระเบียบวิธีใหม่มาปรับปรุงลำดับเพื่อการเปรียบเทียบที่สมบูรณ์ขึ้น

นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจในการประกอบธุรกิจสำหรับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ ในอนาคตประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงตัวชี้วัดด้านการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีคุณภาพโดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบฐานข้อมูลที่ดินเพื่อความสะดวกในการสืบค้น การปฏิรูปนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางที่มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุนอย่างจริงจังตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

ในกลุ่มประเทศที่ได้ทำการปฏิรูปกฎระเบียบนั้นพบว่า เวียดนาม (5) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (4) อินโดนีเซีย (3) เป็นผู้นำการปฏิรูปในภูมิภาคนี้ อาทิ อินโดนีเซียได้มีการนำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาใช้และอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ ในเวียดนาม ผู้กู้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อของตัวเองได้ และได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อขยายฐานข้อมูลของผู้กู้ให้ครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามที่มีประวัติทางการเงินดีมีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินสามารถประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

การจัดตั้งธุรกิจเป็นหัวข้อที่มีการปฏิรูปมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา เมียนมาได้มีการปรับปรุงเรื่องการจัดตั้งธุรกิจครั้งใหญ่ระดับโลก โดยการลดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทในประเทศ และปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานจัดตั้งธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้ช่วยให้วิสาหกิจขนาดเล็กประหยัดเวลาและทรัพยากรอันมีค่า บรูไนดารุสซาลามก็ได้มีการปฏิรูปขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคลด้วยเช่นกัน ทำให้การใช้เวลาในการจัดตั้งธุรกิจลดลงเหลือเพียง 14 วันจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 104 วันเมื่อปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงการดำเนินงานระบบออนไลน์ การทำให้ขั้นตอนการลงทะเบียนและกระบวนการหลังการจดทะเบียนง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อก้าวไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีเลิศแล้วก็ตาม หากแต่ยังคงมีความท้าทายในเรื่องการแก้ไขปัญหาล้มละลาย การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการจดทะเบียนทรัพย์สิน ตัวอย่างเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สิน ผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกใช้เวลาเฉลี่ย 74 วันในการถ่ายโอนทรัพย์สินเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ใช้เวลา 48 วัน

ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่รายงาน Doing Business ได้เพิ่มตัวเปรียบเทียบมาตรฐานที่สามารถวัดคุณภาพของกฎระเบียบ รวมทั้งประสิทธิภาพของกรอบกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจเพื่อช่วยให้การเก็บข้อมูลในการวิจัยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้มีการปรับปรุงตัวชี้วัดจำนวน 5 รายการ ดังนี้ การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง, การจดทะเบียนทรัพย์สิน และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ (อ่านรายงานฉบับเต็มและชุดข้อมูลได้ที่ http://www.doingbusiness.org)

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ธนาคารโลกจะเปิดเผยรายงานนี้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหอการค้าไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน ผลการประชุมวันนั้นได้ข้อสรุปว่า การประกอบธุรกิจในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท ขยายกิจการ จนถึงเลิกกิจการ มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ประชุมจึงแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการยกระดับการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ ศึกษาในรายละเอียดร่วมกับภาคเอกชน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมการดำเนินการเพื่อยกระดับการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมการดำเนินการเพื่อยกระดับการจัดอันดับความยาก–ง่ายในการประกอบธุรกิจ Ease of Doing Business ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2558 นายอภิศักดิ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เชิญ ส.อ.ท. และสภาหอการค้าไทยมาประชุมที่กระทรวงการคลัง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนซึ่งมี 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การจัดตั้งธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การจองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบออนไลน์ ชำระเงินค่าหุ้น ทำตรายาง จดทะเบียนธุรกิจ ยื่นข้อบังคับการทำงานกว่าจะได้รับการอนุมัติใช้เวลา 21 วัน ขณะที่สิงคโปร์ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ทางภาคเอกชนเสนอให้ลดเหลือ 1 วัน

2. การขออนุญาตก่อสร้างใช้เวลา 6 เดือน ขณะที่ฮ่องกงใช้เวลาไม่เกิน 66 วัน ภาคเอกชนจึงเสนอให้รัฐบาลปรับลดเหลือไม่เกิน 1 เดือน และขอให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริการในการออกใบอนุญาตเพียงจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าสินค้าบางประเภทต้องไปขอใบอนุญาตนำเข้าจากหน่วยงานที่กำกับดูแลถึง 36 แห่ง

3. การชำระภาษี ขอให้ปรับลดจำนวนครั้งในการยื่นภาษีลง ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนต้องยื่นภาษีรวมทุกประเภทอย่างน้อย 22 ครั้งต่อปี ใช้เวลา 264 ชั่วโมง รวมทั้งปรับปรุงแบบฟอร์มและลดจำนวนเอกสารประกอบการยื่นภาษี และยกเลิกการยื่นแบบรายการสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต เช่น เครื่องปรับอากาศไม่เกิน 7.2 ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต แต่ผู้ประกอบการยังต้องยื่นเอกสารนำส่งกรมสรรพสามิต นอกจากนี้ ยังขอให้กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บจากการโอนหุ้น หรือแลกหุ้น (Share Swap) และนำผลขาดทุนสะสมของบริษัทเดิมมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับบริษัทที่โอนหุ้น กรณีปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มบริษัท

4. การนำเข้า-ส่งออก ขอให้เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ ปรับปรุงบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรโดยเร็ว ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการตีความพิกัดสินค้า ปรับลดการขั้นตอนและระยะเวลาในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยเร่งเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ National Single Window

5. การท่องเที่ยว-แรงงาน ในการทำ VISA Work Permit ขอให้เร่งผลักดัน Multiple VISA เข้าประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยว และยกเว้นการตรวจลงตรา VISA สำหรับการเดินทางทางอากาศ 14 วัน ยกเลิกกรอกเอกสารการเดินทางเข้าออกประเทศ (ตม.6) สำหรับคนไทย

6. ข้อเสนออื่นๆ เช่น ขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎรให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเชื่อมข้อมูลได้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและยืนยันตัวตน กรณีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ขอให้ใช้แนวทางวินิจฉัยของ BOI เป็นหลักในการเสียภาษี

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงตัวชี้วัดต่างๆ ตามข้อเสนอของภาคเอกชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 ก่อนที่ธนาคารโลกจะมีการประเมินจัดอันดับใหม่ช่วงเดือนมกราคม 2559 (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทย