ThaiPublica > คนในข่าว > “ดุจดาว วัฒนปกรณ์” เคลื่อนไหวบำบัดจิต นครไม่เป็นไร กับความป่วยไข้ที่สังคมไทยไม่รู้ตัว

“ดุจดาว วัฒนปกรณ์” เคลื่อนไหวบำบัดจิต นครไม่เป็นไร กับความป่วยไข้ที่สังคมไทยไม่รู้ตัว

6 พฤศจิกายน 2015


สังคมไทยกำลังป่วยทางจิต …ถ้าพูดคำนี้ อาจดูรุนแรง เหมารวม และด่วนพิพากษาเกินไป

ลองเปลี่ยนคำใหม่ คนไทยหลายคนอาจมีปัญหาทางใจ จากวัฒนธรรมที่กล่อมเกลามาตั้งแต่เด็กให้เก็บอาการ ไม่แสดงอารมณ์ โกรธคือโง่-โมโหคือบ้า แม้จะเจออะไรที่ทำให้ไม่พอใจ ก็ต้องบอกว่า “ไม่เป็นไร”

ดุจดาว วัฒนปกรณ์
ดุจดาว วัฒนปกรณ์

“ดุจดาว วัฒนปกรณ์” นักบำบัดจิตด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคนแรกของประเทศไทย เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างเป็นห่วง เพราะการแสดงอารมณ์เป็นพื้นฐานของมนุษย์ ภาวะ “ไทย(แสร้ง)เฉย” อาจสะสมตะกอนแห่งปัญหาไว้ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบัน สาวสวยวัย 36 คนนี้ ทำหน้าที่หลายบทบาท เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในสิ่งที่เธอคิดว่าพอจะทำได้ ทั้งเป็นนักบำบัดในมีรักคลินิก-คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นย่านติวานนท์ เป็นนักสื่อสารองค์กรเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และเป็นผู้กำกับการแสดงและนักแสดงของกลุ่มบีฟลอร์

“สังคมไทยไม่อนุญาตให้ตัวเองรู้สึก เก็บอาการ ทำให้ต้นเหตุของปัญหาบางอย่างยังคงอยู่ หลายอย่างจึงเกิดขึ้นซ้ำๆ นอกจากนี้ การที่เราไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอะไรยังทำให้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ลดลง การอยู่ร่วมกันอย่างประคับประคองจึงไม่เกิด”

แล้วการเต้นรำ การเคลื่อนไหว การแสดงงานศิลปะ จะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร ติดตามในสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ไทยพับลิก้า: การบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคืออะไร

มันเป็นศาสตร์ที่ใช้การเคลื่อนไหวของคน เพื่อเสริมสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับทั้งอารมณ์และความคิด ถ้าอยากจะเข้าใจหรืออยากจะปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับตัวเอง เราใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นสื่อกลางในการเข้าไปหาสิ่งนั้นๆ

จิตบำบัดทั่วๆ ไป คือการเข้าไปนั่ง 2 คน หรือเป็นกลุ่ม แล้วคุยกัน นั่นคือใช้ภาษากับสิ่งที่พูดเป็นสื่อกลาง ส่วนการบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว จะใช้ภาษาร่างกายเป็นตัวพูด เป็นสื่อกลางที่คุยกัน

ไทยพับลิก้า: การจัดการแสดงในที่สาธารณะหลายครั้ง (เช่น การแสดงชุด Secret Keeper เพิ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ปลายเดือนสิงหาคม 2558) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด

เราเป็นนักบำบัด รู้ว่าทำอะไรที่จะทำให้คนรู้สึกว่าได้รับการ support ทางใจโดยที่ไม่ต้องไปหานักบำบัดที่คลินิกเลย พอเรารู้หลักก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นี่คือสิ่งที่เอามาใช้ในการทำงานที่นี่ (โรงพยาบาลกรุงเทพ) เหมือนกัน เราสอนวิธีการสื่อสารให้คนที่ดูแลรักษาคนอื่น

ตอนทำการแสดงชุด Secret Keeper มันไม่เหมือนการเยียวยา แต่เป็นการคุยกัน เพราะคนคุยกันก็เยียวยา แต่คุยกันแบบปลอดภัยจริงๆ จะมีข้อตกลงบางอย่าง คือยืมหลักการของการบำบัดมาใช้ ให้มั่นใจว่าเราจะอยู่กันอย่างปลอดภัย ต้องใส่ใจอะไรบ้าง ต้องไม่ตัดสินกัน คุณจะพูดอะไรก็ได้ที่นี่ เราไม่เอาเรื่องคุณไปบอกข้างนอกนะ ไว้ใจได้ พอมีกฎพวกนี้ก็ทำให้คนสบายใจ

เรามาสายศิลปะการเคลื่อนไหว คือชอบการเต้น การเคลื่อนไหว และสนใจเรื่องร่างกายอยู่แล้ว แต่พอไปเรียนก็พบว่า ร่างกายไม่ใช่แค่ก้อนที่แบกเลือดเนื้อพาเราไปทำงานอย่างเดียว มันยังแบกจิตใจและอารมณ์ไปด้วย พอรู้ตรงนี้ก็จะเข้าใจว่าร่างกายสัมพันธ์กับจิตใจอย่างไร จึงเริ่มใช้มันเพื่อให้ส่งผลต่อจิตใจด้วย พอเป็นเช่นนี้ เราก็เลยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหลักในการแสดง ในการแสดงชุด (In) sensitivity เมื่อปี 2556 เราทำงานกับร่างกายนักแสดงในเชิงที่ละเอียดมากๆ เพื่อให้คนดูเข้าใจเขาอย่างละเอียดอ่อน โดยที่ไม่ต้องคิด พอเห็นร่างกายแล้วรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง คือหลักคิดเราจะต่างจากการแสดงประเภทอื่นๆ เล็กน้อย ของเขาจะเอา “สาร” ไว้ที่ตัวการแสดง เช่น ฉันเสียใจ ฉันแข็งแกร่ง ทุกอย่างจะอยู่ที่ตัวนักแสดง แต่ของเราจะให้ความแข็งแกร่งไปอยู่ที่ตัวคนดูด้วย โดยใช้การเคลื่อนไหวของเรา

ไทยพับลิก้า: ก่อนจะจัดการแสดงแต่ละชุด มีวิธีในการคิดงานอย่างไร เพื่อส่งสารไปให้ถึงคนดูจริงๆ

เราจะคิดก่อน การแสดงชิ้นนี้อยากให้คนดูได้รับประสบการณ์อะไร เช่น การแสดงชุด Secret Keeper เราอยากให้เขาได้รับ “ประสบการณ์การไว้ใจ” ซึ่งยากมาก เพราะจับต้องไม่ได้ วิธีเดียวที่จะทำให้คนดูเข้าใจ จึงต้องทำให้เขาเข้าใจจากประสบการณ์ จะเดินไปบอกเขาเลยว่า มาไว้ใจฉันเถอะ ก็ไม่ได้ การจะทำให้ใครไว้ใจ อย่างแรกก็คือเขาต้องรู้สึกว่าปลอดภัย เราจึงสร้างพื้นที่ให้เขารู้สึกปลอดภัย ทั้งเรื่องการจัดแสง ลักษณะเสียง น้ำเสียงที่ใช้ ทำให้คนดูอยากเข้ามามีส่วนร่วม

การแสดงชุดที่ผ่านๆ มามักเป็นเรื่องของ “คนกับจิตใจ” เพราะเท่าที่สังเกตคนในสังคมไทยมักไม่ยอมอนุญาตให้ตัวเองรู้สึก เก็บอาการ เพราะถ้ายอมให้ตัวเองรู้สึก ให้อารมณ์พาไป จะกลายเป็นความอ่อนแอ ก็เลยไม่เรียนรู้ ไม่ได้บทเรียนอะไรเลย จึงทำผิดซ้ำๆ ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่เรื่องพวกนี้ถ้าไปพูดตรงๆ มันจะชนกันง่าย เราจึงใช้วิธีการแสดง โดยใช้เทคนิคจากห้องบำบัด ที่พอทำให้เขามีประสบการณ์ เขาก็จะปิ๊งขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ต้องมีคนบอก

แต่เรื่องของการรู้สึก บ้านเราไม่ค่อยรู้สึกกัน เช่น ถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร ไปเที่ยวมาเป็นไงบ้าง ไปดูหนังมาสนุกไหม ก็มักจะตอบว่า เฉยๆ ไม่มีอะไร มันมีด้วยเหรอไม่รู้สึกอะไรเลย คำถามคือทำไมไม่ยอมให้ตัวเองรู้สึก เพราะมันทำให้ดูอ่อนแอหรือ ก็คงไม่ใช่ ก้อนอารมณ์แบบนี้แหละที่จะทำให้เราทะลุไปไม่ถึงความเข้าใจว่าปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ทำให้เรามีประสบการณ์เจ็บ เจ็บแล้วจะได้จำ แต่เรากลับเลือกเก็บอาการ ทั้งที่มันโอเคที่จะได้แสดงความรู้สึกออกมา

ไทยพับลิก้า: ปัญหาของสังคมไทยเวลานี้เกิดจากคนไม่ยอมบอกความรู้สึกจริงๆ ออกมา

เราว่ามันคือส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ไม่บอกความรู้สึก แต่เราไม่อนุญาตให้สิ่งต่างๆ มามีผลกระทบ จึงไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมต่างๆ ทำให้แต่ละคนเกิดภาวะนิ่งเฉย เป็น “ไทยเฉย” ไปเรื่อยๆ เฉยกับทุกอย่าง

พอไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับอะไร มันก็จะไม่นำไปสู่ความอยากจะเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านความคิดและพฤติกรรม

ดุจดาว-4

ไทยพับลิก้า: ในฐานะนักบำบัด คิดว่าอะไรคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ “ไทยเฉย” นี้ขึ้นมา

วัฒนธรรมไทยไม่ได้ให้ค่ากับความรู้สึกของปัจเจกอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการเลี้ยงดูและข้อจำกัดทางสังคม ทำให้คนไทยจัดการกับอารมณ์ไม่เก่งเลย มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) ต่ำมาก บางคนหน้าตาโกรธมาก แต่บอกว่าไม่โกรธ หรือบางคนนั่งเศร้าซึม พอไปถาม ก็บอกว่าเฉยๆ 1. คือยังไม่รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองเลย 2. พอคนอื่นมีอารมณ์ก็รับมือไม่ได้อีก

ไทยพับลิก้า: ภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไรในภาพรวม

ทำให้การเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์น้อยลง เพราะความเห็นอกเห็นใจคือ feeling with people รู้สึกร่วมกับคนอื่น ซึ่งมันทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร ถ้าเราเห็นอกเห็นใจกัน ก็จะอยู่ร่วมกันแบบประคับประคอง

เช่น เราเห็นเพื่อนคนหนึ่งที่ดูไม่โอเค มีปัญหา ถ้าเราจับความรู้สึกได้ ก็จะรู้สึกเชื่อมโยง เกิดความเห็นอกเห็นใจ แล้วเข้าไปช่วยประคับประคอง ถ้าเรามัวแต่เก็บอาการ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่เกิด

ในสังคมตะวันตก เพื่อนผิดนัดเรา วันต่อมาเราเอาขนมไปฝาก เพื่อนก็งงว่าจะเอาขนมมาฝากทำไม ต้องเป็นเขาต่างหากที่จะเอาขนมมาขอโทษ เขาสงสัยว่าทำไมเราไม่โกรธ เพราะคนไทยถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่กล้าโกรธกัน ไม่กล้าหงุดหงิดใส่กัน ทั้งที่เป็นสถานการณ์ที่ควรจะโกรธ คือเราไม่ได้โกรธคนคนนั้น แต่โกรธสิ่งที่คนคนนั้นทำ

ไทยพับลิก้า: ในสังคมไทยจะมองว่าการโกรธกันเป็นเรื่องผิด ต้องบอกว่า “ไม่เป็นไร” ไว้ก่อน

การ “ไม่เป็นไร” มันไม่ healthy และมีปัญหามาก คนอะไรโกรธไม่ได้ หงุดหงิดแล้วผิด ทำไมเราจะโกรธและหงุดหงิดไม่ได้ สมัยเป็นเด็ก เราเป็นเด็กที่ขี้แยมาก ถูกผู้ใหญ่ทำให้ร้องไห้ แต่พอเขาเห็นเราร้องไห้ ก็สั่งให้หยุด เราก็หยุด ทั้งที่สิ่งที่ทำให้ร้องไห้ก็ยังอยู่ ต้นเหตุก็ยังอยู่ สังคมไทยเวลานี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ไม่ว่าจะในระดับครอบครัว ญาติพี่น้อง โรงเรียน พิมพ์เขียวมันไม่ต่างกันเท่าไร อยู่ที่ขนาดเท่านั้น แต่รูปแบบเหมือนกัน

ที่เราทำงานเชิงปัจเจก ใครบอกว่าไม่ได้ทำงานเพื่อสังคม เราว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน

ไทยพับลิก้า: ถ้าแก้ปัญหาเชิงปัจเจกได้ จะแก้ปัญหาเชิงสังคมได้

เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะโครงสร้างสังคมเป็นสิ่งที่คนสร้าง ฉะนั้น เราทำงานกับคน ถ้ามันเปลี่ยนคนละนิดละหน่อย ก็จะเปลี่ยนแปลงมหาศาล ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่ทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

การแสดงชุด Secret Keeper ของกลุ่มละครร่วมสมัยบีฟลอร์ ซึ่งเปิดการแสดงที่หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา
การแสดงชุด Secret Keeper ของกลุ่มละครร่วมสมัยบีฟลอร์ ที่ดุจดาวเป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดง เพิ่งเปิดการแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

ไทยพับลิก้า: คนที่เข้ามาบำบัดส่วนใหญ่มีลักษณะอย่างไร

ในคลินิกที่ทำงานอยู่ เป็นคลินิกสำหรับเด็กและวัยรุ่น แต่เคสส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่มีพ่อแม่พามา ซึ่งก็มีทั้งกรณีลูกเขามีปัญหาจริงๆ กับกรณีที่จริงๆ ลูกเขาไม่ได้มีปัญหา แต่พ่อแม่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร

ระยะหลังคนเข้ามาบำบัดมีมากขึ้น มีทั้งปัญหาหลากหลาย เช่น เห็นหน้าเพื่อนร่วมงานแล้วจี๊ดไม่รู้ทำไม หรือใจลอยตลอดเวลา ก็มาหาเราให้ช่วยสะท้อนว่าเกิดจากอะไร หลายกรณีไม่ใช่การป่วย เพียงแต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร มันเป็นเรื่องของความรู้สึก บางคนก็ไม่อยากมาคลินิกจิตเวช เพราะกลัวจะถูกตีตรา ซึ่งเราก็เข้าใจเขานะ เพราะบางคนก็ต้องการแค่มีใครมา support ชีวิตของเขาเท่านั้น

ไทยพับลิก้า: ใช้คำว่ารักษาได้ไหม

คำว่ารักษาหรือเยียวยาพอเป็นภาษาไทย มันผิดจากความหมายดั้งเดิมไปไกล มันดูว่าป่วยแล้ว ปกติน่าจะใช้คำว่า support หรือประคับประคองกันไป

เรามีหน้าที่ประคับประคอง และเราก็ถูกฝึกมาให้ดูว่าคนที่มาเขาต้องการอะไร เอาเขาเป็นที่ตั้ง เขาอยากถูกประคับประคองด้านนี้เท่านี้ ก็เอาเท่าที่เขาอยากได้ ไม่ใช่ว่ามีเรื่องมานิดเดียว แล้วไปบอกให้เขาเล่าเรื่องสมัยเด็ก แต่มันก็มีบางกรณีที่ต้องไปไกล ขึ้นอยู่กับ level ของแต่ละคน เพราะบางกรณีก็เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิบปีก่อนที่ฝังไว้ใน body memory ที่ใช้คำนี้ เพราะคนมักคิดว่า มีเฉพาะสมองที่มีความทรงจำ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะร่างกายเองก็มีความทรงจำด้วย

ไทยพับลิก้า: การที่คนรุ่นใหม่หันไปใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลต่อจิตใจอย่างไร

มันหล่อหลอมบุคลิกภาพคนละแบบ เพราะวิธีที่เขาเชื่อมโยงกับโลกนี้ก็ไม่เหมือนกัน เราโตมาจากยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ใหญ่รุ่นกลางๆ ยังพอเชื่อมโยงกับผู้ใหญ่รุ่นปลายๆ และวัยรุ่นได้ แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่รุ่นปลายๆ กับวัยรุ่นจะคุยกันลำบาก คนสมัยก่อนเวลาจะติดต่อกันต้องใช้วิธีเขียนจดหมาย ต้องคิดแล้วคิดอีก มีการกลั่นกรอง ในขณะที่คนรุ่นใหม่โตมากับเทคโนโลยี คิดอะไรก็คิดทีละหลายอย่าง การเรียนรู้จึงไปได้เร็ว และไม่มีอะไรเป็นเส้นตรงเหมือนสมัยก่อน แต่ความอดทนก็แตกต่างกัน เราอาจมองสิ่งเดียวกัน แต่ความเชื่อมโยงเป็นคนละแบบ

คนรุ่นใหม่จะเป็นมนุษย์ข้อมูล หาข้อมูลเก่ง แต่ความลึกซึ้งต่ออะไรค่อนข้างน้อย เพราะไม่ต้องทำอะไรที่ออกแรงทางร่างกายเหมือนคนสมัยก่อน

ไทยพับลิก้า: ความลึกซึ้งที่หายไปคืออะไร

นี่คือมุมมองของเรา คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยผูกพันกับอะไร เพราะไม่ค่อยมีประสบการณ์กับอะไร เลยไม่อินกับอะไร ทุกอย่างจึงผ่านไปเร็วมาก อีกอย่าง แม้คนรุ่นใหม่จะจัดการกับเรื่องต่างๆ ได้ดี แต่ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคน ทั้งเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานจริงๆ ล่ะ เราอยู่ในองค์กรใหญ่ เห็นคน 2 รุ่นไม่เข้าใจกัน ต่างคนต่างคิดว่าของฉันดี ทั้งที่จริงๆ ก็ควรจะหาจุดกึ่งกลาง ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับว่าเราไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: รับฟังปัญหาคนมาเยอะๆ มีอะไรมากระทบกับชีวิตบ้างไหม

ถ้าเราไม่มีการจัดการจิตใจตัวเองที่ดี ก็เป็นไปได้ที่อาจจะกระทบ คือเวลาเราฟังคนอื่น เราก็มีเรื่องของเรา ถามว่ากระทบไหม ก็กระทบนะ เพราะเราอยู่ร่วมในสถานการณ์นั้นๆ แต่ต้องมีสติ อย่าดึงตัวเองเข้าไป หลายครั้งที่เราอ่อนแอแล้วต้องฟังเรื่องอะไรที่มันใกล้เคียงกับเรื่องที่ทำให้เราอ่อนแอ ก็ต้องรีเช็คกับเพื่อนสนิทหรือกับหัวหน้าว่าขณะนั้นเราเป็นอย่างไร อาชีพนี้ต้องสำรวจตัวเองบ่อยมากๆ ยิ่งต้องสำรวจคนอื่นเท่าไร ก็ยิ่งต้องสำรวจตัวเองให้สูงกว่า

ถามว่าจะฟังอย่างไรไม่ให้เข้าตัว ก็จะคิดว่าเหมือนมีถังอยู่ใบหนึ่ง เรื่องของเราอยู่นอกถัง ส่วนข้างในถังใส่เรื่องของคนอื่น เราต้องรักษามันไว้อย่างดี ประคับประคอง รู้สึกถึงน้ำหนัก อุณหภูมิ ความรู้สึกของมัน มันอาจจะวิ่งอยู่ในนั้น แต่ไม่มาโดนเรา มันต้องมีภาชนะแบบนี้ พอเรากลับบ้านก็ปิดมันไว้ในถัง

ไทยพับลิก้า: มีข้อแนะนำอะไรต่อสังคมที่คิดว่าการเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดแสดงว่ามีอาการป่วย ทั้งๆ ที่บางครั้งอาจมาเพื่อพัฒนาตัวเองหรือเสริมบุคลิกภาพ

ถ้าตอนนี้ คุณมีอะไรในใจที่อยากปรับแก้ แล้วเห็นภาพว่าจะทำอย่างไร หรือนึกอยากจะออกไปคุยกับเพื่อน กับคนในครอบครัว ยินดีด้วย คุณโชคดีมาก แต่ถ้าคุณมีอะไรในใจที่อยากปรับแก้ ทั้งเรื่องที่หนักและไม่หนัก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร หรือไม่รู้จะคุยกับใคร ก็ยังมีจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดที่ถูกฝึกมาให้เป็นเพื่อนมนุษย์อีกคนที่สามารถดูแลความรู้สึกหรือจิตใจของคุณได้ นี่เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง

“เคลื่อนไหว” บำบัดใจ

ดุจดาวเคยอธิบายถึงคำถามที่ว่า “ศิลปะการเคลื่อนไหว” จะช่วย “บำบัดจิต” ได้อย่างไร ไว้ว่า ศิลปะบำบัดแขนงนี้อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า การเคลื่อนไหวของร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละบุคคลได้

“ร่างกายและจิตใจมันแยกออกจากกันไม่ได้ จิตใจมันอยู่ในร่างกายของเรา ถ้าเรารู้สึกอะไรมันต้องรู้สึกผ่านทั้งตัว มันไม่ได้รู้สึกในเชิงความคิดเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากรู้เรื่องของใจ เราจะพุ่งตรงไปใจเลยมันยาก เพราะใจมันเป็นนามธรรม มันลอยอยู่ในอากาศ”

ร่างกายกับจิตใจเหมือนขนมโดรายากิที่โดราเอม่อนชอบกิน ทั้ง 2 ด้านแปะกัน ถ้าอยากทำงานกับแผ่นขวา ลองขยับแผ่นซ้าย อีกแผ่นก็จะขยับ มันมีความเชื่อมโยงกัน การเคลื่อนไหวร่างกายมีผลต่อจิตใจแน่นอน ทุกความเคลื่อนไหวจะ sync (เชื่อมต่อ) ไปสู่จิตใจ บนพื้นฐานของอจัวนภาษา หรือ body language (ภาษากาย) ซึ่งเป็นภาษาแรกที่เราใช้ก่อนจะพูดเป็นด้วยซ้ำ เด็กยังพูดไม่ได้ อยากกอดแม่ ก็สื่อสารด้วยการยิ้ม แม่ก็ตอบสนองลูกด้วยกิริยาท่าทางต่างๆ เหล่านี้

“ภาษากายมันไปได้ไกลกว่าภาษาพูด มันทำให้รู้สึกได้มากกว่าพูดออกมา การที่เขาไม่ได้พูด ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราเลยมองว่าภาษากายเป็นสิ่งที่มีความหมาย ถ้าเราฟังตรงนั้น เราแคร์ เราก็จะรู้สึก” ดุจดาวกล่าว