ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติภัยแล้งภาคเกษตรปรับตัวหนัก ระบุกทม.-ปริมณฑล กลุ่มที่อยู่อาศัยใช้เยอะสุด แต่ยังไม่ตื่นตัวรับมือ

วิกฤติภัยแล้งภาคเกษตรปรับตัวหนัก ระบุกทม.-ปริมณฑล กลุ่มที่อยู่อาศัยใช้เยอะสุด แต่ยังไม่ตื่นตัวรับมือ

10 พฤศจิกายน 2015


จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะการทำนาเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการบริหารจัดการน้ำใหม่เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งนโยบายหรือข้อเสนอต่างๆ ที่เกิดขึ้นมุ่งตรงไปที่หยุดทำนาปรังชั่วคราว รวมถึงเลิกปลูกข้าวแล้วไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน โดยในทางปฏิบัติเมื่อน้ำไม่พอใช้กรมชลประทานก็จะงดการสูบน้ำเข้าคลองชลประทานและขอร่วมมือจากเกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทานงดสูบน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลลงไปเพื่อการทำประปาและรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะการผลักดันน้ำเค็ม

สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนของไทยตั้งแต่ปี 2549-2557 พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในปี 2554 หลังจากนั้นปริมาณน้ำฝนก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปี 2557 ปริมาณน้ำฝนลดลงจากปี 2556 ถึงร้อยละ 15 และล่าสุดในปี 2558 ปริมาณน้ำฝนลดลงอีกร้อยละ 4 จากปี 2557

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศจำนวน 33 แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับเกษตรกรรมและการอุปโภคบริโภคนั้น พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน มีน้ำในเขื่อนรวมปริมาตร 41,026 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ลดลงจากปี 2557 ที่มีน้ำเขื่อนรวมแล้วปริมาตร 45,438 ลบ.ม. ซึ่งปริมาตรน้ำเขื่อนนี้สามารถใช้การได้จริงเพียง 17,523 ล้านลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 37 เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนลดลงโดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมามีน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 22,000 ล้านลบ.ม. เท่านั้น

*ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน
*ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของเขื่อนเฉลี่ยแล้วมีปริมาณน้ำในอ่างอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ โดยมีอ่างเก็บน้ำ 5 แห่งที่มีปริมาณน้ำในเกณฑ์ดีมาก คือ ขุนด่านปราการชล ลำพระเพลิง หนองปลาไหล ประแสร์และรัชประภา มีอ่างเก็บน้ำ 8 แห่งที่มีปริมาณน้ำในเกณฑ์ดี คือ สิริกิติ์ วชิราลงกรณ์ ศรีนรินทร์ ป่าสัก คลองสียัด ลำนางรอง สิรินธรและบางลาน มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งที่มีปริมาณน้ำน้อยซึ่งอยู่ในภาคเหนือทั้งหมด คือ แม่งัด แม่กวง กิ่วลม และกิ่วคอหมา ส่วนที่เหลืออีก 16 แห่งมีปริมาณในเกณฑ์พอใช้

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์น้ำในอ่างเก็บกักน้ำทั้ง 33 แห่งข้างต้นในปี 2557 เทียบกับปี 2558 อ่างเก็บกักน้ำเกือบทุกแห่งมีปริมาณน้ำลดลง อย่างไรก็ตามหากดูเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่พึ่งพาน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเป็นหลัก พบว่า เขื่อนภูมิพลมีน้ำน้อยลง จากร้อยละ 45 เหลือร้อยละ 37 ของเขื่อน เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำน้อยลงจากร้อยละ 62 เหลือร้อยละ 52 ของเขื่อน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำน้อยลงจากร้อยละ 84 เหลือร้อยละ 44 ของเขื่อน และเขื่อนป่าสักมีน้ำลดลงจากร้อยละ 85 เหลือร้อยละ 66 ของเขื่อน

นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่สามารถน้ำไปใช้ได้จากอ่างเก็บน้ำโดยรวมแล้วก็มีปริมาณลดลงด้วย โดยปี 2557 มีปริมาตรน้ำประมาณ 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)หรือร้อยละ 64 มีน้ำใช้การได้ประมาณ 21,000 ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ในขณะที่ปี 2558 มีปริมาตรน้ำประมาณ 41,000 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 58 มีน้ำใช้การได้ประมาณ 17,000 ลบ.ม. หรือร้อยละ 25

*ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน
*ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน

ทั้งนี้กรมชลประทานทำแผนจัดสรรน้ำขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งภารกิจหลักที่จำเป็นต้องใช้น้ำแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ การเกษตร รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม โดย ณ วันที่ 30 เมษายน 2558 กรมชลประทานแบ่งสัดส่วนการใช้การน้ำของแต่ละกลุ่มรวมทั้งประเทศที่ 43 : 40 : 14 : 2 ตามลำดับ

จากสัดส่วนดังกล่าวจึงทำให้ภาคการเกษตรกลายเป็นภาคหลักที่ถูกบีบให้ต้องบริหารจัดการตัวเอง ทำการเกษตรให้ได้จากปริมาณน้ำที่มีจำกัดและมีปริมาณลดน้อยลงด้วย ดังจะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่บอกว่าภาครัฐหรือนักวิชาการ เสนอให้ชาวนาเลิกทำนาปรัง ไปจนกระทั่งเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถห้ามชาวนาปลูกข้าวนาปรังได้ ถ้าไม่มีภาคส่วนใดมีนโยบายที่จูงใจหรือเข้าไปให้ความรู้กับชาวนาเสียก่อน จึงทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำอยู่เสมอและเกิดปัญหาแม่น้ำแห้งคอดเนื่องจากการแย่งสูบน้ำเข้านา

แผนการจัดสรรน้ำปี 2558

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัยสำนักงานส่งเสริมการวิจัย (สกว.) จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ในงานวิกฤติภัยแล้ง: ทางออกของการจัดการน้ำและอนาคตเกษตรไทยของสกว. ว่า “ปริมาณน้ำสำหรับใช้ในปีหน้าเฉพาะภาคกลางของไทยมีประมาณ 4.2 พันล้านลบ.ม.จากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสัก ซึ่งประมาณร้อยละ 70 ใช้ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะข้าวอย่างเดียวใช้น้ำประมาณร้อยละ 60 ณ วันนี้ภาคการเกษตรยังมีน้ำพอใช้ถ้าไม่มีการปลูกข้าวนาปรัง แต่ถ้ามีนาปรังจำนวนมากก็จะเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำตามน้ำ แม้รัฐบาลจะควบคุมการทำนาปรังแต่ในการปฏิบัติไม่สามารถทำได้และตอนนี้ก็เริ่มมีการปลูกข้าวนาปรังแล้ว”

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลเพื่อลดการทำนาปรังทั้งกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทและตำบลละ 5 ล้านบาทนั้น ถ้าทำได้จริงก็จะช่วยลดนาปรังได้มาก โดยหมู่บ้านและตำบลต้องวางแผนการใช้น้ำและการทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งพื้นที่การเกษตรในเขตกรมชลประทานและนอกเขตกรมชลประทานของภาคกลางในปัจจุบันมีจำนวนเท่าๆ กันแล้ว โดยพื้นที่การเกษตรที่มีปัญหาเรื่องน้ำคือพื้นที่นอกเขตกรมชลประทานที่เกษตรกรจะสูบน้ำใช้เองทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการประมาณการณ์ใช้น้ำจึงประมาณการณ์คร่าวๆ ได้จากพื้นที่ชลประทานอีกเท่าตัว

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัยสกว. จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิจัยสกว. จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.สุจริตกล่าวต่อว่า พื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดใช้น้ำประมาณ 4 พันล้านลบ.ม. แต่ในปีที่ผ่านมาลดการปลูกข้าวลงทำให้ใช้น้ำประมาณ 1 พันล้านลบ.ม. ในพื้นที่นาประมาณ 2 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ปลูกข้าวจริงถึง 6 ล้านไร่ ดังนั้นปีนี้ก็คาดว่าน่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอีก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวเพื่อกินเอง ทำให้อัตราส่วนทำนาลดลงเรื่อยๆ ส่วนภาคอุปโภค-บริโภคใช้ปริมาณน้ำประมาณ 1 พันล้านลบ.ม. โดยภาคอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 110 ล้านลบ.ม. ซึ่งถือว่าใช้น้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคเกษตร แต่พยายามส่งเสริมให้แต่ละอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ของตนเองด้วย ส่วนภาคครัวเรือนที่ใช้น้ำประปา ปัจจุบันการประปานครหลวงเริ่มใช้นโยบายประหยัดน้ำลงร้อยละ 20 โดยการลดความดันน้ำและการรั่วซึมซึ่งเริ่มใช้บ้างแล้วในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ และจะขยายผลต่อไปให้ครอบคลุมถึงปริมณฑล และการประปาส่วนภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ในระยะยาวคาดหวังว่าการลดการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน จะช่วยลดการใช้น้ำจากเขื่อน และทำให้มีน้ำในเขื่อนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 80 หลังจากที่หมดหน้าฝน ซึ่งปัจจุบันมาตรการที่ทำอยู่เพียงแต่ป้องกันให้น้ำในเขื่อนไม่ลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่”

สำหรับการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเป็นปริมาณที่ตายตัวอยู่แล้วและไม่สามารถปรับลดลงได้มากนัก เช่น ปริมาณที่ต้องมีไว้เลี้ยงแม่น้ำ ลำคลอง เพื่อป้องกันตลิ่งพัง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่ของสัตว์น้ำ การระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ฯลฯ ด้านการอุปโภคบริโภค เป็นอีกส่วนที่ใช้น้ำปริมาณมากเช่นกันและมีวิธีการที่จะประหยัดน้ำได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นการตื่นตัวหรือการปรับตัวของผู้ใช้น้ำในกลุ่มนี้เลยไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือนหรือภาคอุตสาหกรรม(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนผู้ใช้น้ำของการประปานครหลวง

จากข้อมูลการใช้น้ำของการประปานครหลวงช่วงปีงบประมาณ 2553-2558 ซึ่งให้บริการประปาในพื้นที่กรุงเทพฯ มหานคร นนทบุรี และสมุทปราการ โดยใช้แหล่งน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลองนั้น พบว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กลุ่มที่อยู่อาศัยโดยปัจจุบันมีประมาณ 20 ล้านหน่วย รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจประมาณ 4.3 ล้านหน่วย กลุ่มราชการประมาณ 94,000 หน่วย อุตสาหกรรมประมาณ 63,000 หน่วย และอื่นๆ อีก 370,000 หน่วย แต่เมื่อดูจากปริมาณน้ำที่ใช้แล้วจะพบว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยใช้น้ำมากที่สุดประมาณ 650 ล้านลบ.ม. รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจประมาณ 384 ล้านลบ.ม. กลุ่มอุตสาหกรรมประมาณ 95 ล้านลบ.ม. กลุ่มราชการประมาณ 81 ล้านลบ.ม. และกลุ่มอื่นๆ ประมาณ 53 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำต่อหน่วยแล้วพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ปริมาณน้ำต่อหน่วยสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มราชการ กลุ่มอื่นๆ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มที่อยู่อาศัยตามลำดับ

นอกจากนี้ทั้งจำนวนผู้ใช้น้ำและปริมาณการใช้น้ำของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากข้อมูลของการประปานครหลวงพบว่า มีแนวโน้มต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ซึ่งกระทบภาคการเกษตรหนักที่สุดทั้งที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญทั้งของประเทศและของโลก อีกทั้งยังมีแหล่งต้นทุนน้ำมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นก็คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ปริมาณการใช้น้ำของกลุ่มผู้ใช้ประเภทต่างๆ ของการประปานครหลวง