ThaiPublica > เกาะกระแส > “ยุทธศาสตร์ไทย ก้าวไกลไปกับ CLMV” เศรษฐกิจโตปีละ 7-8% ตลาดส่งออกแซงหน้ายุโรป

“ยุทธศาสตร์ไทย ก้าวไกลไปกับ CLMV” เศรษฐกิจโตปีละ 7-8% ตลาดส่งออกแซงหน้ายุโรป

14 พฤศจิกายน 2015


เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2559 “ยุทธศาสตร์ไทยก้าวไกลไปกับ CLMV” เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนไทยในการมองทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจใน CLMV โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

CLMV ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ ความเสี่ยงและความน่าลงทุน

ดร.กิริฎา กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ในปัจจุบันว่า ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเล็ก การเติบโตจึงค่อนข้างเร็ว มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ประมาณ 7-8% และในอนาคตจะเปิดประเทศมากขึ้น ฉะนั้น โอกาสที่จะโตเร็วในอนาคตยังมีเวลาอีกหลายปี และการที่ CLMV อยู่ใกล้ประเทศไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้การค้าการลงทุนเป็นไปได้ง่ายขึ้น

CLMV4

CLMV3

“นอกจากการเติบโตเร็วแล้ว รายได้ต่อหัวของเขาค่อนข้างน้อย ดังนั้นยังมีโอกาสที่จะโตขึ้นอีก อาทิ เวียดนาม หลายเสียงอาจบอกว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งของไทย แต่เมื่อดูรายได้ต่อหัวหรือจีดีพีแล้วคิดเป็น ¼ ของไทยเท่านั้น ฉะนั้นเขายังต้องไล่ตามเราอีก แต่เขาได้เปรียบเรื่องกำลังแรงงาน คือมีคนจำนวนมาก 80-90 ล้านคน เช่นกันกับเมียนมาที่มีจำนวนประชากรประมาณ 50 ล้านคน ที่สำคัญประชากรเหล่านี้อยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเป็นประเทศกำลังเติบโต ทั้งเรื่องรายได้ กำลังซื้อ และวัยด้วย ถือว่าไทยโชคดีที่อยู่ใกล้เขา เนื่องจากระดับการพัฒนาไม่เท่ากันจึงเติมเต็มซึ่งกันและกันได้” ดร.กิริฎากล่าว

ที่ผ่านมาไทยมีการค้าขายกับทาง CLMV อยู่แล้ว หากคิดมูลค่าการส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 10% ขณะที่การส่งออกไปยุโรปอยู่ที่ประมาณ 8% เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้คนของเขาชอบสินค้าไทย จึงเป็นโอกาสที่เราจะค้าขายกับ CLMV ได้โดยการส่งออก อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ เหล็ก

ด้านการนำเข้า เนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงมีทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทย อาทิ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แร่โลหะ และสินค้าเกษตรบางชนิด

ดร.กิริฎากล่าวต่อไปว่า ความต้องการลงทุนจากบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนโดยตรงใน CLMV นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าบริษัทธุรกิจไทยมีศักยภาพที่จะออกไปข้างนอก ออกไปทำอะไรนั้นอาจจะเป็นบริษัทที่ต้องการแหล่งวัตถุดิบ เช่น สินค้าเกษตร ที่เข้าไปตั้งโรงงานแปรรูปที่นั่น และแรงงาน ที่เป็นอีกวัตถุดิบที่สำคัญมาก ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่ออกไปจะเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานค่อนข้างสูง

“ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อคนไทยออกไปลงทุนใน CLMV เนื่องจากเราทราบว่าเขามีแรงงานจำนวนมาก และราคาถูกกว่าในประเทศ ฉะนั้น สิ่งที่เคยทำในประเทศไทยแล้วมีความเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง สิ่งทอ หรือจิวเวลรี ก็ย้ายฐานออกไปผลิตในต่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาจะเป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่ออกไป บริษัทขนาดกลางและเล็กยังไม่ค่อยได้ออกไป เนื่องจากแม้จะมีโอกาสแต่ก็ยังคงมีความเสี่ยง ฉะนั้น บริษัทใหญ่จะรับความเสี่ยงได้มากกว่า” ดร.กิริฎากล่าว

ทั้งนี้ การที่กลุ่มประเทศ CLMV ยังได้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างมากจากประเทศที่เป็นตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ หรือยุโรป และเขาก็เข้า TPP ด้วย อย่างเช่นเวียดนาม จุดนี้ถือเป็นโอกาสของไทยที่สามารถใช้เป็นจุดที่จะขับเคลื่อนการส่งออกได้ โดยรวมแล้ว CLMV นั้นสำคัญต่อไทยมาก ไม่เพียงแต่ด้านการค้า การส่งออก ไม่ใช่แค่เป็นตลาดใหญ่ที่โตเร็ว แต่ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านแรงงาน พลังงาน อีกทั้งเป็นจุดที่จะขับเคลื่อนการส่งออกให้การส่งออกไทยไปสู่ประเทศที่ 3 ได้ง่ายขึ้น

4 ความเสี่ยง ใน CLMV

ดร.กิริฎา ได้กล่าวถึง 4 ปัจจัยความเสี่ยงจากกรณีที่ตนได้ศึกษา ได้แก่

กฎระเบียบ เนื่องจากบางครั้งประเทศเหล่านี้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบ่อยและไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ฉะนั้นจึงเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่บริษัทเล็กๆ จะรับไม่ได้ กรณีนี้อาจเป็นบทบาทหนึ่งของรัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือ

โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ในเมียนมาหรือเวียดนามมักเกิดไฟดับไฟตกบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ จะมีระบบปั่นไฟของตัวเอง ส่วนนี้ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งบริษัทเล็กอาจจะทำไม่ได้

CLMV2

คน หรือแรงงาน แม้แรงงานจะราคาถูกจริงเมื่อเปรียบเทียบตามรายได้ขั้นต่ำ ไทยมีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 9,000 บาท/เดือน รองจากไทยคือเวียดนามอยู่ที่ 3,000 บาท/เดือน แต่ก็เพียง 1/3 ของไทย ที่ถูกที่สุดคือเมียนมาอยู่ที่ 1,700 บาท/เดือน ภาพเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเห็นว่าจะได้เปรียบจากการใช้ค่าแรงที่ถูก แต่สำหรับนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนจะพบว่าทักษะอาชีพ (productivity) ของแรงงานใน CLMV ยังค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องลงทุนในการฝึกอบรมแรงงานในประเทศเหล่านั้นเพิ่ม ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่บริษัทเล็กอาจลำบาก แต่ก็มีวิธีแก้ไขโดยการรวมกลุ่มกันเข้าไป

ด้านการเงิน ตรงนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคของไทยในระดับหนึ่ง เพราะในการทำการค้าขายระบบเงินต้องมีการจัดการได้สะดวก ในสกุลเงินที่ต่างกันต้องแลกเปลี่ยนได้สะดวก

“โอกาสในการเข้าไปลงทุนนั้นมีตามที่ได้กล่าวไป แต่นักลงทุนยังคงต้องตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยที่เข้าไปลงทุนใน CLMV ส่วนใหญ่ตอนนี้นิยมไปตั้งโรงงานเลย คือเป็นเจ้าของเอง เพราะว่าจะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ การ joint venture หรือการจ้างผลิตก็มีบ้างแต่ไม่มาก” ดร.กิริฎากล่าว

นอกจากนี้ ดร.กิริฎา ยังกล่าวถึงเรื่องการค้าชายแดน ว่าจะช่วยพัฒนาจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนให้มีรายได้ มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีของ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่อัตราการเติบโตของการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นเร็วมาก เฉพาะปี 2556-2557 กัมพูชาโตขึ้นถึง 22% ด้านลาว 14.3% เมียนมาโต 8.9%

ในขณะที่นักลงทุนเริ่มเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากไทย ดร.กิริฎาแนะให้ไทยปรับตัวแบบญี่ปุ่น เนื่องจากไทยก็เปรียบเสมือนญี่ปุ่นของ CLMV ที่แยกประเทศคู่ค้าในแง่ตลาด-ฐานการผลิต และระหว่างที่การลงทุนไหลออกนอกประเทศ ภายในประเทศก็ปรับตัวเข้าสู่การผลิตสินค้าและบริการในอีกระดับหนึ่ง ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ

ดร.กิริฎากล่าวว่า ญี่ปุ่นเคยมองอาเซียนว่าบางประเทศเป็นตลาดใหญ่ของเขา ขณะเดียวกันก็ใช้ไทยเป็นแหล่งในการผลิตรถยนต์และส่งออก กรณีคู่ค้าในแง่ตลาดของไทยก็คือเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในหมู่ CLMV และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นตลาดที่ใหญ่มีคนถึง 90 ล้านคน เช่นกัน ใน CLMV ก็มีบางประเทศที่ไทยสามารถใช้เป็นแหล่งส่งออกได้ เช่น เมียนมา หรือกัมพูชาที่ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ สิ่งนี้ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่ง ขณะเดียวกันไทยก็ต้องพัฒนาตัวเองแบบที่ญี่ปุ่นพัฒนา

“อย่างหนึ่งคือญี่ปุ่นเองเขาก็ขยับขึ้นไปผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นโอกาสหนึ่งของประเทศไทย ที่สามารถเอาธุรกิจที่มีแรงงานสูงเทคโนโลยีต่ำออกไป แต่เราก็ต้องกลับมาพัฒนาตนเองให้ขึ้นไปในระดับบนของห่วงโซ่การผลิต ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้วย (Research and Development: R&D) มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่เราออกไป กลับมาประเทศตนเองก็ไม่เหลืออะไรเพราะว่าสิ่งที่เราจะแข่งขันก็เอาออกไปต่างประเทศหมดแล้ว และอีกเซกเตอร์คือ ภาคบริการ ไมว่าจะเป็น โลจิสติกส์ เทรดดิง หรือแบงก์กิง เรามีโอกาสพัฒนาของเราไปได้ และอันนี้ก็ดีเพราะคนแก่ก็ทำได้ในภาคบริการ ไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ (Labor Intencive) ” ดร.กิริฎากล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติม: CLMV กับประเทศไทย

ชี้โลจิสติกส์ใน CLMV สกัดขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย

อีกประเด็นที่สำคัญและถือเป็นจุดในการเชื่อมโยงการค้าให้กับ CLMV และไทยคือเรื่องโลจิสติกส์ โดย รศ.ดร.รุธิร์ กล่าวถึงภาพรวมของระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทยและ CLMV ว่า ส่วนของโลจิสติกส์ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนน จุดเชื่อมโยงต่างๆ ไม่มีปัญหาติดขัดอะไร

ส่วนที่ตนมองว่าเป็นปัญหา และหลายๆ ฝ่ายมักมองข้าม ทั้งที่ถือหัวใจอันหนึ่ง คือเรื่องของข้อตกลง กฎระเบียบต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วจะเป็นตัวที่ทำให้โลจิสติกส์สามารถเคลื่อนย้ายได้ระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เห็นเป็นเพียงโลจิสติกส์เฉพาะในแต่ละประเทศ การเชื่อมโยงระหว่างประเทศจริงๆ นั้นยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่มีข้อตกลงด้านการค้าเสรีต่างๆ มีข้อตกลงในระดับภูมิภาค คือ Greater Mekong Subregion (GMS) แต่สิ่งที่ยังขาดคือข้อตกลงในการเชื่อมโยงทางด้านขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างกลุ่มประเทศเอง เพราะแม้ทุกประเทศได้รวมกันเป็นภาคีแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะสามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากยังมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่ตกลงจะทำกับขั้นตอนการดำเนินงาน

CLMV1

“การเชื่อมโยงทางด้านโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศ CLMV สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ถนน สะพาน ที่สร้างไปได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อจะต้องมาวางกรอบกฎระเบียบในการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเคลื่อนย้ายติดต่อกันข้ามประเทศก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ และทางออกคืออะไร ก็คือหากเรายังจะเชื่อมโยงกับ CLMV ก็ต้องมาดูในลักษณะของทวิภาคี คือ สร้างข้อตกลงระหว่างด่านสองประเทศ ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายการขนส่งระหว่างประเทศสามารถดำเนินการได้ แต่ส่วนนี้ไทยก็ยังไม่มีการดำเนินการให้ครบกับทุกประเทศรอบบ้าน” รศ.ดร.รุธิร์กล่าว

อีกประเด็นคือ เวลาพูดถึงบริการโลจิสติกส์ มักจะพูดถึงจากประเทศไทยข้ามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ได้พูดถึงว่าโลจิสติกส์ในแต่ละประเทศดำเนินการอย่างไร ซึ่งบริบทของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน โดยผลการจัดอันดับโลจิสติกส์ของธนาคารโลกในปี 2557 ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ขณะที่ CLMV อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น ตรงนี้จึงถือเป็นความท้าทาย

“ในธุรกิจโลจิสติกส์ การเข้าไปสู่ประเทศ CLVM ไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยตัวเอง เพราะว่าโลจิสติกส์เป็น Invite Demand ต้องมีความต้องการทางด้านโลจิสติกส์ และความต้องการทางด้านโลจิสติกส์เกิดได้เมื่อมีความต้องการทางด้านสินค้า ทางฝั่งบริการ ที่ต้องการให้มีบริการโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมกันได้ แต่สิ่งที่เห็นกับผู้ให้บริการเองเวลาเขาเข้าไปเชื่อมต่อในประเทศต่างๆ เขาต้องกลายเป็นคนที่เป็นพ่อค้าเองในตัว เพราะไม่มีใครเชื่อมต่อ” รศ.ดร.รุธิร์กล่าว

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในมุมมองทางด้านโลจิสติกส์ ถูกระงับทางการค้าไป พอจะทำการค้าขาย แต่ไปไม่ได้ หรือถ้าหากจะไป ก็ต้องมาหยุดทำการขนถ่ายบริเวณชายแดน ด่านข้ามแดนจึงกลายเป็น “คอขวด” สิ่งนี้ไม่ใช่โลจิสติกส์ที่สามารถสร้าง ความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

จากปัญหาดังกล่าว รศ.ดร.รุธิจ์ ระบุว่า ทำให้โลจิสติกส์ของไทยขาดตอน ไปถึงเวียดนามได้ยาก นอกจากนี้ บริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ทางแก้คือการทำข้อตกลงระหว่างรัฐให้เรียบร้อย ผนวกกับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ต้องสร้างเครือข่ายในแต่ละประเทศแล้วทำการเชื่อมโยงกัน

เล็งพัฒนาระบบ ATM ลดต้นทุนผู้ประกอบการ

การเงินเป็นอีกอุปสรรคที่นักลงทุนที่จะก้าวเข้าไปใน CLMV กังวล ทั้งนี้ นางฤชุกรระบุว่า ใน CLMV ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ของไทย 4-5 รายได้เข้าไปตั้งสาขาแล้ว แต่การดำเนินการของธนาคารเหล่านี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาของแต่ละประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวเหมือนในประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามที่จะเชื่อมโยงกติกาต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน

ขณะที่ฟากของธนาคารพาณิชย์ก็พยายามลดข้อจำกัด และกฎระเบียบต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความเท่าเทียมกันทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้เขามั่นใจในการบริหารความเสี่ยงของเขา และพร้อมจะให้การสนับสนุนภาคการเงินของไทยให้เข้าไปปักธง และให้บริการในพื้นที่เหล่านี้

“ถามว่าในระยะข้างหน้า ตัวธุรกิของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสที่จะเข้าหากันรวมเป็นรูปแบบเดียวกันไหมนั้น ขณะนี้เรามีกรอบกติกาที่ตกลงร่วมกัน ที่เรียกว่า Qualified ASEAN Banks (QABs) นั่นก็คือจะมีการเปิดให้มีการเจรจาคู่กันว่าจะให้เขาเข้ามาเปิดธนาคารในประเทศไทยในรูปแบบใด ในทางกลับกัน เขาพร้อมที่จะให้ธนาคารไทยเข้าไปอยู่ในรูปแบบใด ก็เป็นการปรับกติกาเข้าด้วยกัน” นางฤชุกรกล่าว

นอกเหนือจากรูปแบบธนาคารพาณิชย์แล้ว เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นทางด้านการเงินให้กับนักลงทุน ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใน CLMV และไทย ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ กติกาในการกำกับดูแลนโยบายการเงินระหว่างกัน

จากบริบทการใช้จ่ายของแต่ละประเทศที่ต่างกัน นางฤชุกรยกตัวอย่างกรณีของเมียนมา ว่าการใช้จ่ายที่นั่นยังคงนิยมใช้เงินสด สิ่งที่จำเป็นจะต้องพัฒนาคือระบบการโอนเงิน และปัจจุบันไทยเองก็มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น จึงต้องจัดให้มีระบบโอนเงินที่สะดวกขึ้น ซึ่งปัญหาอยู่ที่เครือข่ายในต่างประเทศมีจำนวนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนการโอนเงินสูงกว่านอกระบบ ภายในภูมิภาคอาเซียนเองจึงมีความพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยการเชื่อมโยงระบบ ATM เข้าด้วยกัน เรียกว่า ASEAN Payment Network

“การแก้ไขปัญหาการโอนเงินตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้ายมาก สิ่งหนึ่งที่อยากชวนคิดกันคือการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งขณะนี้มีการเชื่อมต่อระบบ ATM เข้าด้วยกัน การขยายเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการระบบ ATM ให้กว้างขวางมากขึ้นก็แปลว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าคนไทยจะไปเที่ยวหรือคนต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาใช้ในบริการประเทศไทยก็จะสะดวก ฉะนั้น อีกหน่อยถ้าหากระบบ ATM สามารถผูกโยง (ATM Pool) ได้กว้างขวางมากขึ้น ระบบโอนเงินจะเป็นตัวช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม (Transaction Cost) ให้ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งมีจำนวนมากได้” นางฤชุกร กล่าว