ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > รัฐอุ้มเอกชนลงทุนอัดสิทธิประโยชน์เพียบ ดันบีโอไอส่งเสริมเพิ่ม 15 โครงการ วงเงิน 3.7 หมื่นล้าน

รัฐอุ้มเอกชนลงทุนอัดสิทธิประโยชน์เพียบ ดันบีโอไอส่งเสริมเพิ่ม 15 โครงการ วงเงิน 3.7 หมื่นล้าน

17 พฤศจิกายน 2015


นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/business/264606.html
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/business/264606.html

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ แถลงผลการประชุมว่า บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติม จำนวน 15 โครงการ รวมเงินลงทุน 37,516 ล้านบาท ประกอบด้วย

กิจการด้านการเกษตร

1.-5. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตไข่ไก่และไก่รุ่น รวม 5 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,439 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศ มีมูลค่ากว่า 3,781 ล้านบาท/ปี และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาหารจากไข่ไก่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

6. บริษัท ที คิว อินดัสทรีสตาร์ช จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง (NATIVE STARCH) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.สระแก้ว โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหัวมันสำปะหลังสด ปีละประมาณ 600,000 ตัน มูลค่าปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลัง

7. บริษัท ไวส์วูดส์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง (MEDIUM DENSITY FIBERBOARD) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.เพชรบุรี โดยแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลางนี้ จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องเรือนและวัสดุก่อสร้าง ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น เศษไม้ กิ่งไม้ ปีกไม้ยางพารา มูลค่าประมาณ 1,158 ล้านบาท/ปี สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจากการส่งออกร้อยละ 80

8. บริษัท เมโทร อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดปาร์ติเกิลบอร์ด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.ปราจีนบุรี คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น เศษไม้ จากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และไม้มะม่วง ประมาณ 1,883 ล้านบาท/ปี โดยเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนและอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

9. บริษัท ไท่ผิง เอทานอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตเอทานอล 99.5% และก๊าซชีวภาพ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.สระแก้ว โครงการนี้มีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง ประมาณ 1,215 ล้านบาท/ปี เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ

กิจการในกลุ่มแร่เซรามิก

10. บริษัท เซรามิค อุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตกระเบื้องเซรามิก เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,573 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.สระบุรี ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 62 ล้านบาท/ปี ก่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นช่างเทคนิคและวิศวกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการทำลวดลาย การขึ้นรูปเซรามิกเป็นหลัก

11. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก กลาส จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขวดแก้ว เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,464 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยวัตดุดิบส่วนหนึ่งจะนำเศษแก้วกลับมาใช้ ทำให้ช่วยลดปัญหาสภาพแวดล้อม โดยมีมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 287 ล้านบาท

12. บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตท่อเหล็กไร้สนิม (STAINLESS STELL TUBE OR PIPE) เงินลงทุนทั้งสิ้น 875.3 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.ระยอง โครงการนี้มีแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการให้พนักงานเรียนรู้เทคนิคการผลิตจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนี

กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา

13. บริษัท ไทย ยูนิจิกะ สปันบอนด์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิต SPUNBOND NON-WOVEN FABRIC เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,124.5 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.ปทุมธานี โครงการนี้ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น PET CHIP, PAPER TUBE มูลค่าปีละประมาณ 310 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ

กิจการบริการ และสาธารณูปโภค

14. บริษัท สยามเคเบิล โฮลดิ้ง จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,500 ล้านบาท ตั้งกิจการที่ จ.สงขลา โครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานลม สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (ปี 2555-2564 )

15. บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,440.8 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนเครื่องบินเพื่อเสริมเส้นทางบินในประเทศ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ยังใช้มาตรการภาษีจูงใจเอกชน ขยายย้อนถึงปี 57 – หลังพบเริ่มทำแค่ 38%

นางหิรัญญายังกล่าวว่า บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนเร่งเปิดโครงการทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่ทั่วไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยให้รวมถึงโครงการที่ยื่นขอตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมา ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ที่จะเริ่มมีการผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 1-4 ปี ซึ่งวิธีการให้สิทธิประโยชน์ขึ้นอยู่กับมูลค่าเงินลงทุนจริงในแต่ละช่วงเวลา มี 4 กรณี

1. มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 70% ของเงินลงทุน ภายในเดือนมิถุนายน 2559

  • พื้นที่ทั่วไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 4 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี

2. มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 50% ของเงินลงทุน ภายในเดือนมิถุนายน 2559

  • พื้นที่ทั่วไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี

3. มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 50% ของเงินลงทุน ภายในเดือนธันวาคม 2559

  • พื้นที่ทั่วไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี + ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี

4. มีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 50% ของเงินลงทุน ภายในเดือนธันวาคม 2559 แต่สามารถเริ่มผลิตหรือให้บริการภายในปี 2560

  • พื้นที่ทั่วไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี
  • เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี

“ในปี 2557 มีโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 2,320 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 8.75 แสนล้านบาท แต่มีโครงการลงทุนเพียง 38% ส่วนปี 2558 (มกราคม-สิงหาคม) มีจำนวน 362 โครงการ เงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท เห็นได้ว่าการลงทุนปีนี้ถือว่าน้อย จึงกระตุ้นโครงการที่ได้รับอนุมัติในปี 2557 ด้วย ส่วนปี 2559 กระทรวงการคลังได้ประเมินว่า มูลค่าโครงการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ขอยื่นสิทธิบีโอไอประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการลงทุนที่ไม่ได้ขอใช้สิทธิอีกราว 1 แสนล้านบาท”

เลขาฯ บีโอไอ ยังเปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการลงทุนของภาคเอกชน เพราะรัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างมาก ทั้งมาตรการการเงิน ภาษี งบประมาณ รวมถึงการลดขั้นตอนต่างๆ รัฐเต็มที่ทุกด้านแล้ว ตอนนี้เหลือเพียงแค่ภาคเอกชนจะต้องตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ เท่าที่ได้พูดคุยกับภาคเอกชนก่อนหน้านี้ ทุกคนบอกว่ากำลังรอดูสถานการณ์อยู่(ดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส3)

“แต่หลังจากได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไม่กี่วันก่อน ทั้ง 2 หน่วยงานพูดตรงกันว่า ภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้เห็น่วาเริ่มมีสัญญาณที่ดี”

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบให้เพิ่มกิจการเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) อีก 10 ประเภทกิจการย่อย ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้เร็ว นักลงทุนในท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะดำเนินการผลิตและเป็นการผลิตสินค้าที่อยู่ในความต้องการของตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะทำให้กิจการเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนใน SEZ เพิ่มจาก 66 ประเภทกิจการย่อย เป็น 76 ประเภทกิจการย่อย จากทั้งหมด 13 กลุ่มกิจการ