ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์กรุงเทพปักธงเมียนมา “Land of Golden Opportunity”

แบงก์กรุงเทพปักธงเมียนมา “Land of Golden Opportunity”

6 พฤศจิกายน 2015


จากขวาไปซ้าย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ, นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายคเนศร์ บูรณสิน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้จัดการสาขาย่างกุ้ง ธนาคารกรุงเทพ, ทศทิศ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการฝ่ายการตลาด สาขาย่างกุ้ง ธนาคารกรุงเทพ
จากขวาไปซ้าย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ, นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายคเนศร์ บูรณสิน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้จัดการสาขาย่างกุ้ง ธนาคารกรุงเทพ, ทศทิศ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการฝ่ายการตลาด สาขาย่างกุ้ง ธนาคารกรุงเทพ

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ได้เดินทางไปทอดกฐินพระราชทานและเยี่ยมชมสาขาที่ประเทศเมียนมา ซึ่งนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ได้กล่าวถึงโอกาสของการทำธุรกิจในประเทศเมียนมาว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของเมียนมาเรียกได้ว่ามีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างทวีคูณในระยะต่อไป ด้วยจำนวนประชากรระดับ 60 ล้านคน ถือว่าเมียนมาเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และน่าสนใจ และยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหรือแร่ อัญมณีต่างๆ

“ถ้าเราไปดูข้อมูล ผมคิดว่ากระแสของเงินมันสูงกว่าสถิติที่ปรากฏ เช่น มีvilla (ห้างสรรพสินค้า)เหมือนที่เมืองไทย แสดงว่าคนที่ซื้อสินค้าแบบนั้นได้ แปลว่าคนมีเงิน แล้วคนก็ใช้เงินสดทั้งนั้น ซื้อรถซื้ออะไรใช้เงินสดทั้งนั้นเลย ฉะนั้น ที่นี่มีเงิน แล้วเขาพร้อมที่จะใช้ ขอให้แค่มีคุณภาพและสิ่งที่ดี แน่นอนอาจจะมีความแตกต่างของสังคมเศรษฐกิจ แต่เวลาไปต่างจังหวัด จะพบว่าเขาก็อยู่ได้อย่างสบายๆ อย่างดี” นายชาติศิริกล่าว

นอกจากนี้ตลาดเมียนมาประกอบด้วยลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้าท้องถิ่น ลูกค้าคนไทย และลูกค้าระดับภูมิภาค ซึ่งประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมตั้งแต่เรื่องการค้าขาย นำเข้า ส่งออก การลงทุนผลิตสินค้า ทั้งในอุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงานสูงจนไปถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนสูง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามว่าจะขยายธุรกิจได้อย่างไรได้บ้าง เนื่องจากธนาคารได้เริ่มเปิดสาขามาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันใบอนุญาตที่ได้รับมายังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ทุกประเภท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการปกป้องธุรกิจท้องถิ่น เหมือนตอนที่ไปเปิดสาขาในประเทศจีนที่ทำธุรกิจได้เฉพาะลูกค้าต่างชาติหรือลูกค้าร่วมทุนต่างชาติเท่านั้น รวมไปถึงทำธุรกรรมได้เฉพาะเงินสกุลต่างประเทศ หรือมีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น

“ถ้ามองในแง่การทำธุรกิจของเรา มันมีบางอย่างที่สาขาของเราที่สามารถดำเนินการได้ตอนนี้ แต่บางอย่างต้องอาศัยจากสาขาอื่น เช่น ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย ดำเนินการเข้ามา แต่ประเด็นที่สำคัญคือประเทศที่มีการพัฒนาแบบนี้ มีทั้งลูกค้าท้องถิ่น ต่างประเทศ ไทย มีการค้าขาย มีอุตสาหกรรมเบา-หนัก แล้วเขามีการวางนโยบายพัฒนาประเทศ รัฐบาลเองมีความตั้งใจในการปรับปรุงและเปิดประเทศ ทีมงานมีแนวคิดที่ก้าวหน้า มีการวางแผนที่เป็นระบบ ส่วนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมา คิดว่าเส้นทางการเติบโตเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นความก้าวหน้า ก็คงจะต้องการเห็นความก้าวหน้าต่อไปในวันข้างหน้า เป็นการปรับตัวที่ค่อยเป็นค่อยไปและอย่างน้อยที่สุดคือไม่ได้เกิดจากความไม่พอใจของประชาชน จากปัจจัยเหล่านี้ เราจึงมั่นใจที่จะเข้ามาและขยายธุรกิจต่อไป ซึ่งเชื่อว่าพอร์ทของเราจะขึ้นเป็นทอป 3 ในเครือข่ายทั่วโลก 30 กว่าสาขาแน่นอน” นายชาติศิริกล่าว

BBL Myanmar-739
ธนาคารกรุงเทพ สาขาย่างกุ้ง

ส่วนนายคเนศร์ บูรณสิน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้จัดการสาขาย่างกุ้ง ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจว่าเป็นธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านสินเชื่อธุรกิจ บริการเงินฝาก บริการเพื่อธุรกิจส่งออกและนำเข้า บริการโอนเงินระหว่างประเทศ บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยตามกฎหมายจะให้บริการได้เฉพาะ 2 กลุ่มลูกค้าเท่านั้น ได้แก่ ธนาคารท้องถิ่น และธุรกิจร่วมทุนต่างชาติ (โดยต่างชาติต้องถือหุ้นอย่างน้อย 1 หุ้น) ซึ่งธุรกิจร่วมทุนต่างชาติจะมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่แล้ว เช่น เปิดเป็นธุรกิจการค้าอย่างห้างสรรพสินค้าต่างๆ ไม่ได้ เป็นต้น โดยจะไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสาขามีพนักงานรวม 30 คน เป็นคนไทย 10 คน และพนักงานท้องถิ่น 20 คน เพื่อทำการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับพนักงาน

ทั้งนี้ สกุลเงินที่ใช้ในธุรกรรมต่างๆ จะใช้เพียง 4 สกุลหลัก คือ ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สิงคโปร์ ยูโร จ๊าด แต่ในอนาคตคาดว่าจะมีการพิจารณาเพิ่มสกุลเงินบาทไทย และริงกิตมาเลเซียเพิ่มเติมด้วย

ด้านประเภทของลูกค้าที่เข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคาร นายคเนศร์กล่าวว่า มีการประกอบธุรกิจเกือบทุกประเภท เนื่องจากประเทศเมียนมากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ มีโครงการก่อสร้างต่างๆ มากมาย มีการได้สิทธิจีเอสพีช่วยด้านการส่งออก คล้ายกับประเทศไทยในช่วงที่เริ่มพัฒนาประเทศเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตต่างๆ เข้ามา ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเสื้อผ้า ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม รับเหมาก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การประกอบธุรกิจในประเทศเมียนมา ถือว่ายังมีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบต่างๆ เนื่องจากเมียนมาได้ปิดประเทศ 40-50 ปี ทำให้โครงสร้างหลายๆ อย่างอาจจะยังไม่ได้รับการปรับปรุงมากนัก เช่น การจ่ายเชคเด้งที่เมียนมาไม่ถือว่าเป็นผิดอาญาแบบไทย แต่เป็นการผิดสัญญาธรรมดา ทำให้การใช้เชคไม่ได้รับความนิยม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถือว่าได้รับการพัฒนาปรับปรุงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แม้ว่าระบบการเงินของเมียนมาเป็นสังคมเงินสดอาจจะทำให้ต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้น แต่เรียกได้ว่าดีขึ้นมาตามลำดับ โดนรัฐบาลได้มีการพยายามปรับปรุงกฎหมายธนาคารพาณิชย์และระบบการเงินให้ทันสมัยมากขึ้น

เมียนมา 2020 – ประเทศแห่งโอกาสทองคำ

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงความน่าสนใจของเศรษฐกิจเมียนมาว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถ้าทุกคนมาที่เมียนมาจะไม่ใช่แบบนี้ รถจะไม่ติด ผมจำได้ว่าผมมาครั้งแรก ผมวิ่งฉลุยจากสนามบินมาที่โรงแรมสบายๆ แล้วสิ่งต่างๆ ก็ไม่อำนวยความสะดวกขนาดนี้ เอทีเอ็มไม่เคยเห็น มีอยู่น้อยมาก บัตรเครดิตใช้ไม่ได้ ไม่มีใครรับ ตึกต่างๆ ยังเก่ากว่านี้เยอะมาก ดังนั้น 3 ปีที่ผ่านมาเมียนมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยกระดับอย่างก้าวกระโดด แล้วผมคิดว่าในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงของความคึกคัก

“ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ ตัวเมียนมากำลังเข้าสู่กรอบใหม่ของการพัฒนาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มเมื่อ 3 ปีที่แล้วหลังจากตัดสินใจเปิดประเทศ เรียกได้ว่าพลิกทุกอย่างเลย เป็น 3 ปีของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสำคัญๆ สมัยก่อนเขามีอัตราแลกเปลี่ยนแบบหลายอัตรา ส่งออกอันหนึ่ง นำเข้าอีกอัน อยู่ที่ 7-8 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ วันหนึ่งมีการประกาศรวม แล้วให้อยู่ที่ 800 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐทันที 100 เท่า เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการทำเรื่องส่งเสริมการลงทุน การทำเรื่องธนาคารกลาง การส่งเสริมเรื่องต่างๆ ออกมามากมาย”

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่าตอนนี้มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แล้วการเชื่อมโยงการลงทุนโดยตรงต่างๆ นักท่องเที่ยวต่างๆ พวกนี้จะเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งสนามบินบ่อยครั้งที่ต้องบินวนสนามบินย่างกุ้งหลายครั้งเพราะเครื่องบินเยอะ ซึ่งเมียนมาเพิ่งพัฒนามา 2 ปี เหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าคิด

“เรื่องพวกนี้ทำให้ทุกคนสนใจอยากจะมาที่เมียนมา เรียกว่าเป็น Land of Golden Opportunity เหมือนเจดีย์ชเวดากอง เรียกว่าเป็นผืนดินของทองคำ ขอให้บอก เดินออกไปเท่านั้นจะเห็นโอกาสที่จะทำได้ หลายคนบอกว่านี่เป็น Last Economic Frontier เพราะว่าเป็นประเทศใหญ่สุดท้ายของโลกที่เพิ่งเปิดประเทศ ไม่มีเหลืออีกแล้วที่จะอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ มีทั้งหยก ทั้งกุ้ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจมาก และคิดว่าในช่วงต่อไปจะเริ่มเห็นอัตราเติบโตของเมียนมาเพิ่มขึ้น แล้วก็เมียนมาจะเข้าสู่ยุคทองของการพัฒนาอย่างที่เมืองไทยเคยเป็นมาก่อน อันนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เกินรอ พอถึงตอนนั้นคนจะยิ่งอยากจะเข้ามาที่นี่ คิดว่านี่เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่ต้องรอ รออย่างเดียวคือเลือกตั้งให้เสร็จก่อน แต่ว่าอย่างน้อยทุกคนรู้ว่าถ้ามันไม่มีอะไรเกิดขึ้นและออกมาดี ทุกคนพร้อมจะลงทุน ถ้ามาครั้งหน้าจะเห็นสารพัดอย่างมาเยอะแยะเลย เราก็จะเห็นยุคของการสร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างสะพาน สร้างสนามบินต่างๆ หลังจากนั้นจะมีเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมืองใหญ่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น”นายกอบศักดิ์กล่าว

นายชาติศิริ โสภณพนิช(ซ้าย) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล(ขวา)
นายชาติศิริ โสภณพนิช(ซ้าย) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล(ขวา)

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า”ถ้าดูการคาดการณ์การเติบโต บอกเลยว่าต่ำกว่าที่เป็นจริง คือคนเคยคาดว่าโต 8% อีกไม่นานจะมากกว่านี้ แล้วหลังจากนั้น หลายอย่างที่เราดูน่าสนใจทั้งนั้น คิดว่าเราโชคดีว่าที่เราได้มาทำธุรกิจที่นี่ เพราะนี่เป็นโอกาสของทั้งคนไทยและของธนาคารกรุงเทพเอง ดูเมืองไทยส่งออกนำเข้ารวมกันที่ 110% ของจีดีพี ของเมียนมาอยู่แค่ 60% ถ้าเกิดกลับขึ้นมาเท่ากับเรา โอกาสส่งออกนำเข้าจะมีเท่าไหร่ แล้วคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ด้านการค้าการลงทุน ส่วนการค้าชายแดนถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะเพิ่มมากกว่า 3 เท่าตัวจากปัจจุบันที่ค้าขายกันประมาณ 100,000 ล้านบาท เป็นโอกาสของทั้งประเทศไทยและเมียนมา โดยด่านสำคัญๆ ต่างๆ เช่น แม่สอด แม่สาย พุน้ำร้อน ต่างมีความแตกต่างกัน มีจุดแข็งไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ถ้าเมียนมามีการตัดถนนเพิ่มเติมในอนาคต โอกาสการค้าขายย่อมที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน ขณะที่การลงทุนโดยตรงที่ประมาณการไว้เมื่อปี 2557 ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่า 80,000 ล้านดอลลาร์

“อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” สร้างจะเสร็จแล้วและจะเริ่มดำเนินการเดือนตุลาคมนี้ คือที่ติลาวา (Thilawa) ซึ่งญี่ปุ่นมาช่วยก่อสร้าง ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของที่เมียนมาและจะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด เหมาะสำหรับผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เนื่องจากอยู่ห่างจากย่างกุ้งเพียง 20 กิโลเมตร ประมาณกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นเมืองที่มีตลาดใหญ่มาก นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือ มีมหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมผลิตแรงงานต่างๆ ป้อนเข้านิคมได้”

ด้านการท่องเที่ยวเอง เคยประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวมา 1.5-3 ล้านคน แต่ของจริงปีนี้มีนักท่องเที่ยวมาเกือบ 5 ล้านคนแล้ว ในด้านอื่นๆ ลูกค้าที่มาคิดว่าจะขายได้ 30 ล้านบาท เมื่อมาจริงๆ ขายได้ 60 ล้านบาท เกินกว่าเป้า เพราะฉะนั้น การประมาณการต่างๆ มีโอกาสก้าวกระโดดไปมากเลย เป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก

“ดังนั้น ถ้าฉายภาพไปทุกอย่างที่นี่เขาใช้คำว่า “ก้าวกระโดด” เรามาที่นี่ทุกครั้งเขาจะพูดทุกครั้งเลยว่าเราจะก้าวกระโดดอย่างไร ไม่ใช่ประเภทที่ต้อง 1จี 2จี ก่อนแล้วค่อย 3จี เขาไป 3จี เลยครับแล้วจะไป 4จีแล้ว เป็นเรื่องที่ประเทศนี้น่าจับตามอง เคยได้ยินผู้ใหญ่ของเมียนมา เปรียบเปรยว่าเมียนมาเหมือนดักแด้ มันได้แปลงกลายเป็นผีเสื้อไปแล้ว ผีเสื้อไม่กลับเป็นดักแด้อีกแล้วแน่เลย คือทุกคนชอบถามว่ามันจะย้อนกลับไปเหมือนเดิมไหมหลังเลือกตั้ง เขาอยากให้คิดถึงการเปรียบเปรยดังกล่าว ตอนนี้เขาได้เบ่งตัวเองออกมาจากดักแด้เป็นผีเสื้อไปแล้ว จะจับยัดกลับไปเป็นดักแด้อีก เขาบอกไม่เป็นแล้ว”นายกอบศักดิ์กล่าว