ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยข้อพิพาทพลังงาน(อีกสักครั้งหนึ่ง)

ว่าด้วยข้อพิพาทพลังงาน(อีกสักครั้งหนึ่ง)

23 พฤศจิกายน 2015


หลังจากทะเลาะกันมาได้ร่วมสองปี… ข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายคือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ที่นำโดยคุณรสนาและมล.กรกสิวัฒน์ กับ กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน(ERS)ที่นำโดยดร.ปิยสวัสดิ์และคุณคุรุจิต กำลังจะต้องได้รับข้อสรุป โดยรัฐบาลต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งเพื่อมิให้นโยบายด้านพลังงานจะต้องสะดุด อันจะส่งผลถึงความมั่นคงทางพลังงานในระยะต่อไปซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย …การเลือกผิด การไม่เลือก ไม่ตัดสินใจ หรือพยายามประนีประนอมนำเอาสองหลักการที่ต่างกันสุดขั้วมาประสมประสานกันก็จะส่งผลร้ายพอๆกัน

ลองถอยออกมาพิจารณาในภาพใหญ่ จะเห็นได้ว่า ถ้าตัดการโจมตีดิสเครดิตส่วนบุคคลออกไป แนวทางข้อเสนอของทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นการยืนอยู่บนสองขั้วตรงข้ามของระบบการบริหารเศรษฐกิจอย่างชัดเจน คือเป็นการต่อสู้ของระบบ”สังคมชาตินิยม”(Socialism & Nationalism) กับระบบ”ทุนนิยมเสรี”(Capitalism)ซึ่งถือเป็นคู่ต่อสู้สุดคลาสสิคที่มีมาอย่างยาวนานทั่วโลก
แนวทางที่ คปพ.เสนอนั้น สะท้อนแนวคิดสังคมนิยมหรือที่เรียกอีกอย่างว่า”ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์”(Centrally Planned Economy) ซึ่งมีความเชื่อว่า ระบบตลาดนั้นมีแต่ความสกปรกเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐเท่านั้นจึงจะมีความเป็นธรรม

ดังนั้นทรัพยากรทุกอย่างควรจะเป็นของรัฐ รัฐจัดการเอง ผลผลิตที่ได้จะได้นำไปแบ่งกันอย่างเป็นธรรม ข้อเสนอของคปพ.จึงเป็นแนวทางทวงคืนอุตสาหกรรม ทวงคืนธุรกิจจากเอกชน มาจัดตั้ง”บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ซึ่งนอกจากจะใช้เจ้าหน้าที่รัฐกับภาคการเมืองเป็นหลักแล้ว คราวนี้ยังขอย้ายภาคประชาสังคมเหล่าNGOsจากเดิมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอยู่ข้างนอกให้เข้าไปอยู่ภายใน ทำหน้าที่บริหารซะเลย นัยว่าจะไปคานกันตั้งแต่เริ่ม …ซึ่งแนวนี้มาแปลก ล้ำเส้นไปเสียยิ่งกว่าสังคมนิยมปกติที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ สงสัยว่าจะทำให้ลดประสิทธิภาพเข้าไปอีก เพราะท่านเหล่า NGOs นั้น ล้วนแต่ฝึกมาแต่ทักษะ”การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย” หาได้เคยมีทักษะการบริหารจัดการให้เกิดผลผลิตแต่อย่างใด (ลองนึกภาพ NGOs นั่งหัวโต๊ะประชุม พยายามให้บริษัทปตท.เร่งทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้อีกสองล้านๆ ให้เร่งสร้างผลตอบแทนเพิ่มเพื่อROEจะได้มาตรฐานสากลซะที จะได้ระดมทุนมาขยายกิจการ ดูสิครับ ก็คงทำไม่เป็น …ได้แต่สั่งลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน และของขาดแคลน แล้วค่อยไปขอภาษีรัฐมาอุด) ส่วนในการจะเปิดเสรีเชิญชวนเอกชนให้เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้คงไม่มี แม้แต่การขุดเจาะหาแหล่งพลังงานซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยาก ใช้เทคโนโลยี่ขั้นสูงและมีความเสี่ยงมากที่สุด คปพ.ยังเสนอให้รัฐทำเองไปก่อน …ทั้งหมดนี่ล้วนเป็นเพราะความหวาดระแวง กลัวเอกชนจะเอาเปรียบรัฐ เอาเปรียบประชาชน

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มERS ก็ชัดเจนว่าเป็นแนวทางทุนนิยมเสรี หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า”เศรษฐกิจแบบตลาด”(Market Economy) ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวทางการพัฒนาการพลังงานของเดิม ที่ริเริ่มตั้งไข่มาตั้งแต่ยุค 2523 เมื่อพลอ.เปรม เป็นนายกและวางรากฐานการพลังงานไว้ ทั้งการจัดตั้งปตท.(จริงๆพลอ.เกรียงศักดิ์จัดตั้ง) การเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนทั้ง ต้นน้ำ(ขุดเจาะ) กลางน้ำ(โรงกลั่น) ปลายนำ้(ปิโตรเคมี) โดยรัฐอำนวยความสะดวกเต็มที่ด้านหนึ่ง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอีกด้านหนึ่ง และหน่วยงานรัฐเองก็เข้าแข่งขันด้วยตามสมควร ซึ่งการดำเนินการตามแนวนี้มาตลอดต้องนับว่ามีผลดีไม่น้อย …ทำให้เราได้ก้าวเข้าสู่ยุค”โชติช่วงชัชวาล” และประเทศปรับตัวจนเป็นประเทศอุตสาหกรรม แถมพลังงานก็ไม่เคยขาดแคลนเพราะตั้งแต่วิกฤติพลังงานครั้งสุดท้ายที่ทำให้พล.อ.เกรียงศักดิ์ต้องลาออกเปิดทางให้ป๋าเปรมมานั่งแทนเมื่อปีพศ.2523แล้ว ประเทศไทยก็เรียกได้ว่าไม่เคยมีวิกฤติพลังงานครั้งใหญ่อีกเลย

เราไม่เคยขาดแคลนน้ำมันถึงกับต้องปันส่วน(Quota) ไม่เคยเกิดไฟฟ้าดับ(Blackouts) แถมสามารถลดสัดส่วนการนำเข้าได้เกือบครึ่งเพราะมีการพัฒนาแหล่งทรัพยากร ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องทุ่มเทงบประมาณในด้านนี้จนเป็นภาระเกินไป สามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นๆได้ตามควร สิ่งเดียวที่ถือว่าพัฒนาการด้านพลังงานของเรายังนับว่ามีปัญหาก็คือการที่เราใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือย คือใช้ถึง 18% ของGDP ซึ่งในความเห็นของผมเป็นเพราะเรากดราคาต่ำเกินไป เราเก็บภาษีน้อยเกินไป(ปกติภาษีจากน้ำมันควรจะเพียงพอกับงบประมาณด้านlogisticทั้งหมด)

คงไม่ต้องบอกว่า คนที่มีแนวคิด”เสรีนิยมแบบอนุรักษ์”(Conservative Liberism)อย่างผม จะสนับสนุนแนวคิดแบบไหน ผมกระโดดเข้าร่วมกับกลุ่มERSอย่างเต็มใจตั้งแต่ต้น เพราะเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของคปพ.นั้น เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะต่ออุตสาหกรามพลังงานหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นปิโตรเคมีเท่านั้น แต่สามารถฉุดรั้งให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดมีปัญหาร้ายแรงได้เลย

ความจริงข้อถกเถียงกันว่า ระหว่าง Centrally Planned Economy VS Market Economy อันไหนจะเป็นระบบที่ดีกว่านั้น ในสากลโลกน่าจะปรากฎผลชัดเจนมานานแล้ว …เพราะหลังจากที่ถกเถียงกันในหลักปรัชญาไม่สามารถเอาชนะกันได้ โลกก็แยกกันเป็นสองค่ายเป็นเวลากว่าสี่สิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (1946-1990) แล้วก็เห็นชัดเจนว่าถึงเจตนาเป้าหมายจะดีเพียงใด

ระบบ”สังคมนิยมคอมมิวนิสต์”นั้น ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอเมื่อเทียบกับระบบทุนนิยมที่มีแรงจูงใจผลักดันให้พัฒนา ความเท่าเทียมที่มุ่งหวังนั้น บรรลุได้ก็แค่ทำให้คนส่วนใหญ่อดอยากแร้นแค้นทัดเทียมกันเท่านั้น รัฐที่หวังว่าจะ”แสนเก่งแสนดี”ก็มักจะจบที่”แสนเฉื่อย แสนโกง”ไปทั้งสิ้น …ตั้งแต่ เติ้งเสี่ยวผิง ริเริ่มโดยการประกาศนโยบายเศรษฐกิจจีนใหม่ พาประเทศจีนละทิ้งอุดมการณ์ Marxist เข้าสู่ระบบตลาดในปี 1979แล้ว ทั้งเกือบสี่สิบประเทศหลังม่านเหล็กต่างก็ทะยอยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบMarket กันแทบทั้งสิ้น เยอรมันก็มีการรวมประเทศใหม่ในปี1989 …USSRเจ้าตำรับเองก็แยกตัวเองในปี 1991 เป็น 12 ประเทศที่ล้วนสมาทานระบบตลาดไปทั้งสิ้น …เวียตนามและพม่าก็ยอมเปิดประเทศออกมาไล่กวดเราหลังจากหลงผิดไปนาน …แม้คิวบาก็ยังทำท่าจะหันไปสมาทานทุนทั้งๆที่ท่านคาสโตรก็ยังนั่งหัวโด่อยู่ทนโท่ …อเมริกากลางอย่างเวเนซูเอล่า ฮอนดูรัส ที่ผู้นำพาเขวจนเศรษฐกิจแทบพินาศก็คงจะปรับตัวกลับหลังใหม่ในเร็ววันนี้ …ก็คงเหลือแต่คุณคิม จอง อึน อยู่เจ้าเดียว ที่มุ่งมั่นอุดมการณ์เดิมอย่างบ้าคลั่ง จนคนเกาหลีเหนือจะอดอยากกินแกลบกันอยู่ชาติเดียว …แล้วเราจะเรียกร้องระบบแบบนั้นหาพระแสงอะไรกัน (ผมอยากถามพวกคปพ.อย่างนี้จริงๆนะครับ แต่ไม่ทันอ้าปาก พวกเค้าก็ด่าสวนว่าผมเป็นทาสทุนพลังงานต่างชาติเสียก่อน)

ยิ่งในเรื่องของพลังงานยิ่งมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน อย่างเวเนซูเอลา ที่วันนี้ยังมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก(มีเหลือเกือบสามร้อยปี) เวเนฯนั้นเป็นผู้ริเริ่มการCartelของOpecในยุคทศวรรษ 1970’s ที่ทำให้เกิดวิกฤติ Oil Shock ทั้งสองครั้ง แล้วก็เลยทำให้เวเนฯถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้ เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก …แต่นโยบายที่พลาดอย่างมหันต์คือ การNationalize ยึดกิจการของเอกชน ของต่างชาติ มาเป็นของรัฐ (เรีบกว่า”ทวงคืน”นั่นแหละครับ) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ประธานาธิบดี Carlos Andres Perez ออกกฎหมายยึดกิจการพลังงานทุกแห่งเป็นของรัฐในปี 1976 พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ”บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” Petróleos de Venezuela, S.A. (PDVSA) ขึ้นมาดำเนินกิจการเป็น Monopoly ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลผลิตก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากวันละกว่าสี่ล้านบาร์เรล มาปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2 ล้าน ต้องนำเข้านำ้มันครั้งแรกในรอบร้อยปี เมื่อปลายปีที่แล้ว แถมนโยบาย “สังคมชาตินิยม” สุดขั้วจอง Hugo Chavez ยิ่งทำลายเศรษฐกิจเข้าไปใหญ่

ปัจจุบันถือได้ว่าเศรษฐกิจเวเนฯเลวสุดๆ เงินเฟ้อกว่าร้อยละหกสิบ(ขณะที่ทั้งโลกเขาเจอสภาวะเงินฝืดกัน) ทุกๆอุตสาหกรรมล้มเหลวต่อเนื่อง สินค้าขาดแคลน จนคนต้องเอาธนบัตรไปใช้แทนกระดาษชำระ (นี่เรื่องจริงนะครับ ไม่ได้แต่งเติม) ถือว่าเป็นประเทศที่หมดตัว ไม่มีอะไรเหลือนอกจากน้ำมันใต้ดิน ที่มีปริมาณสำรองเกือบสามร้อยปีเข้าไปแล้ว แต่ไม่มีปัญญาลงทุนเอาขึ้นมาใช้ …ซึ่งถ้าสังเกตุให้ดี ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอของกลุ่มคปพ.นั้น ก็คือแนวทางของเวเนซูเอลานั่นเอง (ซึ่งแกนนำหลายท่านก็ประกาศเชิดชูชาเวซตรงๆ)

ข้อเสนอของERSนั้น ไม่ได้ต้องการรักษาระบบทุกอย่างโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยนะครับ …เราเห็นด้วยว่าต้องปรับเรื่องราคา แต่ต้องปรับเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และให้เป็นตามกลไกตลาด …ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ราคาถูกเพื่อเอาใจประชาชนเท่านั้น (มีวิจัยยืนยันมากมายว่า การขายพลังงานราคาต่ำผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นคนรวย เช่น ถ้าลดราคาเบนซิน 1 บาทประโยชน์จะตกกับคนรวยที่สุดยี่สิบเปอร์เซ็นแรกถึง 61 สตางค์ แต่คนจนยี่สิบเปอร์เซ็นล่างจะได้แค่ 6 สตางค์) …ในเรื่องการขุดเจาะก็เหมือนกัน เราก็อยากให้รัฐได้มากขึ้น แต่ต้องแน่ใจว่ายังจูงใจพอให้เอกชนลงทุน …ที่สำคัญเราก็เสนอให้มีความโปร่งใสเปิดเผยข้อมูลให้มากโดยการนำมาตรฐานสากลEITI มาใช้

ก็ถึงเวลาแล้วครับ ที่รัฐและผู้มีอำนาจบริหารจะต้องตัดสินใจเดินหน้า ต้องเลือกว่า เราจะเดินหน้าตามอย่างสากล หรือจะถอยหลังไปนำระบบที่ล้มเหลวมาลองใช้ มาให้”เหล่าคนดี” NGOs ทดลองขึ้นมาเป็นผู้กุมบังเหียนบริหารบ้างอย่างที่ท่านเรียกร้องต้องการ …เราเสียเวลามามากแล้วครับ ประเทศจะได้เดินหน้าเสียที

ขอปิดท้ายด้วยคำคมของท่าน Sir Winston Churchill นะครับ ท่านเคยว่าไว้ว่า “Who hasn’t been caught by leftist ideas before 30 has no heart. Who is still obsessed by them after 30 has no common sense.” แปลตรงๆว่า “ใครที่ไม่เคยเป็นซ้ายก่อนอายุ 30 เป็นพวกที่”ไร้หัวใจ” แต่ใครที่ยังเป็นซ้ายหลังอายุ 30 ก็ต้องเป็นพวก”ไร้สมอง””
ขอให้โชคดีครับ …พลังงานไทย

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 22 พ.ย.2558