ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลไทยกับคำสั่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรื่องการจัดตั้งองค์กรพิเศษ (Satgas) เพื่อขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย

รัฐบาลไทยกับคำสั่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เรื่องการจัดตั้งองค์กรพิเศษ (Satgas) เพื่อขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย

31 ตุลาคม 2015


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์
อดีตประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
อดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย

ที่มาภาพ : http://www.asianews.it/files/img/INDONESIA_-_0521_-_Pesca_(F).jpg
ที่มาภาพ : http://www.asianews.it/files/img/INDONESIA_-_0521_-_Pesca_(F).jpg

เมื่อหลายวันก่อน คุณชาตรี ทวิศักดิ์ศิริ อดีตผู้จัดการบริษัทประมงที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซียได้ส่งข่าวจากหนังสือพิมพ์ Jakarta Post ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2558 มาให้ผมดู ผมอ่านแล้วตกใจมากครับ

ที่ตกใจไม่ใช่เพราะผมมีเรือลักลอบทำการประมงอยู่ในประเทศอินโดนีเซียครับ แต่ตกใจเพราะผมมีเรือที่จำเป็นจะต้องใช้สิทธิในการผ่านน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากภูมิลำเนาของผมอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และมีเรือประมงที่จะต้องออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำ ทั้งในเขตทะเลหลวง และเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นในแถบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งการเดินเรือนั้น จำเป็นจะต้องผ่านน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งในเขตทะเลจีนใต้ (บริเวณหมู่เกาะ Natuna) และช่องแคบมะละกา (Malacca Strait) ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศต่างๆ ได้ใช้สิทธิตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (The United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) ในการขยายน่านน้ำออกไปเป็น 200 ไมล์ทะเล โดยเฉพาะประทศเพื่อนบ้านของเรา ทำให้ประเทศไทยไม่มีทางออกสู่ทะเลหลวงโดยตรง (Zone locked country) ดังนั้น การออกสู่ทะเลหลวงหรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นจึงต้องเดินเรือผ่านน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ รวมทั้งประเทศอินโดนีเซียด้วย

ภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว เราสามารถใช้สิทธิในการผ่านน่านน้ำของประเทศต่างๆ ได้ตามเขตทะเลที่มีเงื่อนไขต่างกันออกไป โดยอนุสัญญาฯ ได้บัญญัติให้เรือต่างชาติทุกลำสามารถที่จะใช้สิทธิ “การผ่านโดยสุจริต (Innocent Passage)” ในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งที่เรียกว่า “ทะเลอาณาเขต (Territorial waters)” และ “การผ่านโดยเสรี (Freedom of Navigation)” ในน่านน้ำของรัฐชายฝั่งที่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone)” ได้

ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงคำสั่งประธานาธิบดีที่ 115/2015 เรื่องการจัดตั้งองค์กรพิเศษ (Satgas) เพื่อขจัดการประมงที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ที่ให้อำนาจองค์กรนี้ “สามารถที่จะจมเรือต่างชาติที่ถูกจับในข้อหาทำการประมงโดยผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาในศาลตามกฎหมาย (The unit will have the authority to sink any foreign vessels caught fishing illegally in Indonesian territory without having to undergo prosecution in a court of law)” ผมกังวลครับ เพราะขนาดเรือประมงของผมเคยเดินทางกลับจากการทำประมงในประเทศโซมาเลียและใช้สิทธิในการผ่านน่านน้ำของอินโดนีเซีย “การผ่านโดยเสรี (Freedom of Navigation)” ในเขตช่องแคบมะละกา เพื่อกลับบ้านที่สมุทรสาคร ผมยังถูกจับและดำเนินคดีในศาล (เตี้ย) ของเขา สุดท้ายยังต้องเสียสตางค์ให้กับผู้พิพากษาเพื่อให้รอดจากการถูกยึดเรือ ทั้งๆ ที่มีพยานหลักฐานพร้อมทุกอย่าง นี่ถ้าไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลตามประกาศดังกล่าวแล้ว เรือประมงไทยที่ไม่ได้ไปลักลอบทำการประมงในบ้านเขาจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร น่ากลัวครับ

อันที่จริง ตามข่าวข้างต้น รัฐมนตรีของเขาก็ยอมรับครับว่า ศาลของเขาเป็น “ศาลเตี้ย” เพราะ “ซื้อได้” (We don’t any illegal vessels buying their way out of punishment in a court of law) แต่การจัดตั้งองค์กรพิเศษดังกล่าว จะรับประกันได้อย่างไรว่า “เรือที่สุจริต” จะได้รับการคุ้มครองใน “สิทธิการผ่านน่านน้ำ” ตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด

ในฐานะของเจ้าของเรือประมงผู้ได้รับการรบกวนสิทธิ (ในการผ่านน่านน้ำ) ที่มีอยู่ โดยรัฐบาลของประเทศอินโดนีเซีย ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ทำการประท้วงหรือโต้แย้งสิทธิตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 เพื่อขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะของรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ นี้ ได้กระทำการอันขัดต่ออนุสัญญาฯ กล่าวคือ มีการ “จมเรือประมง” ที่ทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆ ที่อนุสัญญาฯ บัญญัติให้มีเพียง “โทษปรับตามสมควร” หากอินโดนีเซียไม่ดำเนินการตามคำร้องขอ รัฐบาลไทยควรที่จะใช้สิทธิในการนำประเด็นนี้ขึ้นร้องต่อศาลทะเลระหว่างประเทศ (the International Tribunal for the Law of the Sea) เพื่อให้มีคำวินิจฉัย และอย่างกังวลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลยครับ เพราะในอาเซียนเราก็มีหลายประเทศที่ตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเหล่านี้ เช่น มาเลเซียกับสิงคโปร์ก็เคยยกประเด็นเรื่องของเกาะไปให้ศาลวินิจฉัยมาแล้ว (โดยไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ)

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าว ยังละเมิดหลักกฎหมายทั่วไป ที่สิทธิของบุคคลย่อมจะได้รับการคุ้มครองและพิจารณาอย่างเป็นธรรมในกระบวนการทางศาล ไม่ใช่การตัดสินโดยองค์กรของรัฐที่เรียกได้ว่ามี “อคติ” ต่อเรือประมงต่างชาติ โดยเข้าใจว่า “เรือประมงของชาติอื่นที่อยู่ในน่านน้ำของตน เป็นเรือประมงที่ลักลอบทำการประมงโดยผิดกฎหมาย” ทั้งหมด ดังเช่นที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว

จริงอยู่ครับ ประเทศไทยอาจมีเรือประมงที่ไปทำการประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศอินโดนีเซียอยู่บ้าง ถึงแม้การจมเรือเหล่านั้นอาจจะละเมิดอนุสัญญาฯ ด้วย แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยอมรับว่า เรือเหล่านั้น “กระทำผิดกฎหมาย” จริง แต่มีเรืออีกส่วนหนึ่งที่มิได้กระทำความผิด ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย เพราะการใช้สิทธิการผ่านน่านน้ำทั้ง “โดยสุจริต” และ “โดยเสรี” ตามอนุสัญญาฯ เราจะปล่อยให้เรือเหล่านี้ต้องถูกจับกุมและลงโทษโดยมิชอบจากรัฐชายฝั่ง เช่น อินโดนีเซีย ตามอำเภอใจตามที่บัญญัติไว้ในคำสั่งนี้หรือ

ผมขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย (กระทรวงการต่างประเทศ) ครับ วันนี้ประเทศอินโดนีเซียได้ละเมิด “สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights)” ทางทะเลของประเทศไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 แล้ว เราจะนิ่งดูดายไม่รักษา “สิทธิอธิปไตย” ของประเทศเราหรือ