ThaiPublica > คนในข่าว > “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ต้องทำระบบการเงินของไทย “แข่งได้-เข้าถึง-เชื่อมโยง-ยั่งยืน” ในภาวะ New Normal

“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ ต้องทำระบบการเงินของไทย “แข่งได้-เข้าถึง-เชื่อมโยง-ยั่งยืน” ในภาวะ New Normal

22 ตุลาคม 2015


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พบปะสื่อมวลชนเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของโลกและไทย รวมไปถึงทิศทางของ ธปท. ในอนาคต ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ติดภารกิจการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2558 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู

3 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจโลก-ไทย

“ต้องขอประทานโทษที่ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะพบกัน หลายท่านเปรยๆ ว่าหายไปไหนตั้ง 20 กว่าวันหลังจากที่รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 พอดีตรงกับระยะเวลาประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จึงได้มาพบกันช้าไปหน่อย ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จะมีโอกาสได้พูดคุยกัน”

ขออนุญาตเริ่มต้นเล่าให้ฟังก่อนว่า ที่ไปประชุมที่ไอเอ็มเอฟ มีข้อกังวลเรื่องสำคัญอะไรบ้างในระบบการเงินโลก แล้วก็กลับเข้ามาที่ระบบการเงินระบบเศรษฐกิจไทย อย่างที่เราเห็นตามข่าวไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงอีกครั้ง ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจอเมริกา แต่เศรษฐกิจที่เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น มีความกังวลมากขึ้นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในวงไหนก็ตามที่มีการคุยกัน ก็จะพูดกันถึงเรื่องความเสี่ยงอยู่ 3 ประการที่สำคัญของระบบการเงินโลกและระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่กระทบกับประเทศไทยด้วย ได้แก่

1) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน เป็นเครื่องหมายคำถามกันใหญ่ที่ไม่ว่าจะเป็นแวดวงผู้ว่าการฯ ด้วยกันเอง แวดวงของสถาบันกึ่งทางการ พวกไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก หรือภาคเอกชน จะกังวลค่อนข้างมากกับทิศทางของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจีน

2) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ในช่วง 10 ปี อาจจะเรียกว่าเป็นช่วง Supercycle ของสินค้าโภคภัณฑ์ คือราคาสินค้าทุกประเภทเพิ่มขึ้นไปสูงมาก ทำให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ก็ได้อานิสงส์ หลายประเทศได้นำเงินตรงนั้นไปพัฒนาความก้าวหน้า แต่ในช่วงข้างหน้าก็ค่อนข้างชัดเจนว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ มีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าที่เรียกว่า Hard Commodity พวกน้ำมันก็ดี เหล็กก็ดี ไปถึงสินค้า Soft Commodity พวกสินค้าเกษตร ในกรณีของประเทศของประเทศไทยได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่เราเป็นผู้นำเข้าลดลงมาโดยต่อเนื่อง อย่างราคาน้ำมันก็เห็นได้ชัด แต่อีกข้างหนึ่ง เราก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในสภาพที่ตกต่ำ

3) เรื่องของทิศทางนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย/หรือที่เรียกว่า Fed’s Normalization มันเป็นความผันผวนที่เกิดขึ้นในระบบการเงินโลก ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร จะขึ้นเร็วขึ้นช้ามากน้อยแค่ไหน สิ่งที่จะมีความกังวลกันก็คือว่า ในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยรวมมีการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น มีสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นสูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยของเฟดขึ้น ในแวดวงการเงินจะกังวลกันว่าจะมีผลกระทบกับความสามารถในการ Rollover หนี้ และอัตราดอกเบี้ยของสินค้าพวกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะบริษัทเอกชน

มั่นใจเสถียรภาพเข้มแข็ง

ทีนี้ กลับมามองประเทศไทย ก็จะถูกถามเยอะว่าภายใต้กรอบอันนี้ ภายใต้ความเสี่ยงอันนี้ ในกรณีของประเทศไทย เราต้องกังวลหรือต้องกลัวมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นที่ประหลาดใจว่าถูกถามว่าเหมือนกับวิกฤติปี 2540 ไหม จะเกิดวิกฤติการเงินขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ของเราถ้าดูสถานการณ์หลายอย่าง ชัดเจนว่าดีกว่าปี 2540 มาก ขณะเดียวกันก็ดีกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศ

ถ้าอย่างที่ผมเรียนตอนต้น เวลาคนพูดถึงความเสี่ยง 3 ด้าน หลักๆ คนก็จะกังวล 2 เรื่อง คือ ผลกระทบต่อเสถียรภาพและผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

ด้านความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเรา ความกังวลมีไม่มากเท่ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ คือเราได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันลดลง ปริมาณเงินที่เราจ่ายไปนำเข้าน้ำมันลดลงมาก ในขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่าจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือคิดเป็น 6% ของจีดีพี ซึ่งทำให้เรามีเสถียรภาพต่างประเทศด้านของบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างดี อาจจะมีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่เมื่อเทียบกับบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลก็ค่อนข้างต่ำ

พอมาดูการพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในกรณีของประเทศไทย ก็เรียกว่าอยู่ในระดับที่สบายใจได้ ในหลายๆ ประเทศที่มีปัญหา เขาออกตราสารการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน แล้วไปขายในต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งขายในสกุลเงินต่างประเทศหรือขายในประเทศแล้วต่างชาติเป็นคนถือ แต่เมื่อมาดูของประเทศไทยคือส่วนที่เรียกว่า Non-Resident Holding หรือนักลงทุนนอกประเทศที่มาถือพันธบัตรไทย ถือหุ้นกู้ไทยที่เป็นส่วนที่เป็นของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาล อย่างพันธบัตร ธปท. ก็อยู่ที่ประมาณ 8-9% ของพันธบัตรทั้งหมดที่ออก ดังนั้น การพึ่งพิงของภาครัฐต่อเงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ด้านภาคเอกชนก็เช่นกัน เราเห็นหุ้นกู้เอกชนที่ออกเยอะ แต่ก็เป็นหุ้นกู้เอกชนที่พึ่งตลาดในประเทศ คือออกในรูปเงินบาทและขายให้คนในประเทศเป็นส่วนใหญ่

ด้านตลาดหลักทรัพย์ เราก็เห็นความตื่นตระหนกบ้างในบางช่วง แต่เราเห็นนักลงทุนที่ขายหุ้นออกไปโดยนักลงทุนต่างประเทศและลดสัดส่วนการถือหุ้นไทยโดยต่อเนื่อง จาก 37% ของขนาดตลาดหลักทรัพย์ (Market Capitalization) วันนี้เหลือเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งจำนวนมากก็เป็นการถือหุ้นระยะยาว หรือถือแบบ Strategic Holder

ดังนั้น ถ้ามองแบบนี้เราก็ไม่ได้มีความเสี่ยงในด้านต่างประเทศมากเหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ เรามีเพื่อนบ้านหลายประเทศที่เห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าเงินก็ดี ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงมากก็ดี จากปัจจัยเสี่ยงที่ผมได้เรียนข้างต้น ส่วนสำคัญเป็นเพราะว่าเขาพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น เมื่อมีความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือมีความกังวลว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะลดลงต่อเนื่อง หลายๆ ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันด้วย ก็จะกระทบสองเด้ง

ขณะที่ของเรากลับได้อานิสงส์เด้งแรกจากราคาน้ำมันที่ลดลง อีกด้านหนึ่งเรื่องความเสี่ยงที่มีผลต่อสภาพคล่องเราไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไร สภาพคล่องของระบบการเงินไทยก็อยู่ในระดับที่สูง เช่น สินทรัพย์ส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น ถ้ามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็คงไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย ในด้านของเสถียรภาพเราก็ค่อนข้างจะสบายใจกันได้เพราะเราค่อนข้างแตกต่างจากประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออก

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

เร่งลงทุน รับมือ New Normal

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจยังเป็นด้านที่เป็นความกังวลของเรา อันที่มีผลกระทบกับเราค่อนข้างมากก็คือราคาสินค้าเกษตรที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป ส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาคชนบท ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของการบริโภคในประเทศ เมื่อไปรวมกับสินเชื่อครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงด้วย ทำให้ปัจจัยเรื่องของการบริโภคไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก

อย่างที่เรามักจะได้ยินคนพูดเรื่อง New Normal ของเศรษฐกิจไทย อัตราการเติบโตศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ก็ชัดเจนว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ทำอะไรก็จะลดต่ำลง เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ดูเหมือนข้างหนึ่งจะอ่อนแอลง แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะวิ่งตามไม่ทันพัฒนาการที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามอง New Normal ของเรา มันค่อนข้างต่ำลง สิ่งที่สำคัญคือนโยบาย ถ้าพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจมันจะมี 2 กลุ่ม 1) ด้านอุปสงค์ 2) ด้านอุปทาน ถ้าเรามองว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจมีการชะลอลง อุปสงค์บางช่วงน้อยลงไป ก็จะใช้นโยบายด้านอุปสงค์ แต่ปัญหาที่เผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ อาจจะเป็นปัญหาด้านอุปทานมากกว่า ดังนั้น ถ้าเราจะลดความเสี่ยงหรือเพิ่มศักยภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็หนีไม่พ้นว่าเราต้องทำนโยบายทางด้านอุปทานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เราเห็นว่ามีคอขวดอยู่ในหลายๆ จุด เรื่องของประสิทธิภาพแรงงานก็ดี โครงการลงทุนที่เราต้องแข่งขันมากขึ้น

ดังนั้น จริงๆ ถ้าจะดูเรื่องการส่งเสริมให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโตได้ต่อเนื่อง ต้องกลับมาดูนโยบายด้านอุปทานมากขึ้น ด้านส่งเสริมการลงทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการลงทุนของเราได้ชะลอลงไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ เช่น การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือมาตรการที่ส่งเสริมเรื่องการลงทุนของเอกชน คิดว่าเป็นการดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้องและจะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้

ต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจัยที่จะกระทบของเราคือราคาสินค้าเกษตรที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน เวลาที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ก็หนีไม่พ้นที่ราคายางจะอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น โจทย์คือคงไม่สามารถทำให้ราคาเพิ่มมาได้ในช่วงสั้นๆ แต่จะทำอย่างไรให้รายได้ของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการผลิตได้มากขึ้น เพิ่มผลิตภาพการผลิต หรือการกระจายความเสี่ยงไปยังงานประเภทอื่นๆ ที่จะทำให้รายได้เขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เข้าใจว่าทุกประเทศก็เผชิญเหมือนกันว่าในภาวะเศรษฐกิจโลก มันเจอกับความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง แล้วทุกประเทศก็พยายามทำคล้ายๆ กัน คือพยายามทำให้มีการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้าง นี่เป็นโจทย์ เป็นสูตรที่ถ้าไปดูแทบทุกประเทศเกิดใหม่ก็ทำคล้ายๆ กัน อย่างเช่นจีนที่เราก็เห็นว่าเขาพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้เศรษฐกิจในระยะสั้นไม่มีการเจริญเติบโต คือหดตัว และก็เยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบในบางภาคด้วย

นโยบายการเงินกับบทบาท “พระรอง” หนุนเศรษฐกิจ

ส่วนรายละเอียดในประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ก็ได้ใส่สิ่งที่รัฐบาลทำมาต่อเนื่อง เพราะว่าอย่างที่เราทราบกับว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้กดปุ๊ปติดปั๊ป หลายเรื่องมันมีผลต่อเนื่อง มาตรการหลายๆ อย่างที่ออกมาอาจจะเป็นปีหน้ามากกว่า เราก็ให้น้ำหนักเรื่องพวกนี้พอสมควร ขึ้นอยู่กับแต่ละมาตรการ ก็มีทีมเข้าไปดูผลที่จะเกิดขึ้น อยู่ในประมาณการปีหน้าที่คาดว่าจะโต 3.7% ถ้ามีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอาจจะต้องทบทวนอีก

ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนในปีหน้า ส่วนหนึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำต่อเนื่องมากในช่วง 2 ปี อันหนึ่งที่เห็นคือโครงการลงทุนของรัฐ เป็นไปได้ที่แผนที่วางไว้นอกจากเม็ดเงินของรัฐแล้ว เม็ดเงินของเอกชนที่ได้จากการลงทุนใหม่ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยได้ เรื่องการส่งออกเราเห็นบางภาพของเศรษฐกิจที่เห็นการขยายตัวของการส่งออกได้ในบางตลาด อย่างเช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สินค้าบางประเภทก็มีการขยายตัว ตัวเลขการส่งออกที่เราเห็นก็หล่นลงไป 5% แต่ต้องลงไปรายละเอียดว่ามันก็มีปัจจัยด้านราคา โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้โดยรวมลดลง เรื่องท่องเที่ยวก็มีศักยภาพในการเติบโตสูง

ดร.วิรไท สันติประภพ

พอหันมาดูบทบาทหน้าที่ของ ธปท. พบว่าหน้าที่สำคัญของ ธปท. ก็คือเรื่องรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้นเรื่องเสถียรภาพไม่ได้มีความกังวลมาก ไม่ได้มีความเสี่ยงมาก แต่เรามีความเสี่ยงด้านของการเติบโตที่อาจจะช้าลงไป ดังนั้น นโยบายการเงินในช่วงสั้นๆ ก็มีช่องทางที่อาจจะช่วยดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ คือต้องให้แน่ใจว่าภายใต้กรอบเงินเฟ้อ เราสามารถจัดการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการฟื้นตัวได้ ไม่เป็นอุปสรรคของการฟื้นตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท. ทำโดยต่อเนื่องและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำมาต่อเนื่อง ถึงได้มีการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องระวังคือการมีสภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมามาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วง 5-6 ปี มันก็อาจจะเกิดผลในเรื่องของเสถียรภาพขึ้นมาได้ ในระยะสั้นอาจจะไม่ต้องกังวลมาก แต่การอยู่ในสภาพการเงินที่ผ่อนคลายมามากๆ ดอกเบี้ยต่ำมากๆ อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่เราไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาความเสี่ยงมากเกิดควร หรือว่าอาจจะเป็นเรื่องฐานเงินออมของประเทศ ถ้าดอกเบี้ยต่ำนานๆ จะกระทบต่อฐานเงินออมในประเทศได้ ซึ่งเป็นประเด็นของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะปานกลางและยาว

ส่วนระยะปานกลางและยาว หนีไม่พ้นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้ศักยภาพของเราสูงขึ้น นโยบายการเงินเป็นพระรอง โดยพระเอกอาจจะเป็นนโยบายด้านอุปทานมากกว่า ดังนั้น นโยบายการเงินจึงดำเนินให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะปานกลาง-ยาว ตรงนี้ต้องเข้าใจตรงกันว่าบทบาทของ ธปท. เป็นพระรอง เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. ช่วยได้หลายๆ เรื่อง แต่จะเป็นการสนับสนุนมากกว่า ยกเว้นจะเรื่องที่เป็นหน้าที่ตรงอย่างเรื่องระบบชำระเงิน เรื่องระบบการเงิน อันนั้นสามารถลุกมาเป็นผู้นำที่จะทำได้

หนุนระบบการเงิน “แข่งได้-เข้าถึง-เชื่อมโยง-ยั่งยืน”

บทบาทของ ธปท. ด้านการกำกับและพัฒนาระบบการเงิน ภาพรวมตอนนี้ของตลาดทุนตลาดเงิน ประการแรก ด้านตลาดทุนจะเห็นว่ามีความสำคัญมากขึ้นชัดเจนมาก วันนี้ไปดูปริมาณธุรกรรมตลาดทุนมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับปริมาณธุรกรรมที่ผ่านระบบธนาคารพาณิชย์แต่เดิม

ประการที่ 2 จะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีบทบาทในตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น พวกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นลูกธนาคารก็มีสัดส่วนตลาดที่สูงโดยเฉพาะ บลจ. ผลิตภัณฑ์ทางการเงินตลาดทุน หรือแม้กระทั้งประกันก็ขายผ่านธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

“ผมได้คุยกับเลขา ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) หลายครั้งว่าวันนี้เรื่องของกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ อาจจะยังมองลักษณะที่เอาตัวนิติบุคคลเป็นที่ตั้งอยู่ เช่น ก.ล.ต. ก็มองกฎเกณฑ์ของ บลจ. และ บล. เป็นหลัก ธปท. ก็มองกฎเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แต่ว่ามันมีเรื่องที่ทับซ้อนค่อนข้างมาก แล้วเราก็เห็นช่องทางที่สามารถทำงานร่วมกันมากขึ้น ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการเงินทั้งหมด ที่ดีมากขึ้นตอบโจทย์ประเทศไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย อันนี้เป็น “วาระ” ท่านเลขา ก.ล.ต. ก็นั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินของ ธปท. ผมก็นั่งอยู่ในคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยตำแหน่ง อันนี้ก็จะเป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะทำงานร่วมกัน”

ส่วนทิศทางของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยรวมภาพใหญ่ที่สำคัญ ส่วนที่เป็นหน้าที่ก็คือ ต้องทำให้แน่ใจว่าเรามีสถาบันการเงินที่มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ แต่ประเด็นเหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งทาง ธปท. ก็ได้พัฒนาแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 3 ขึ้นมา ก็จะมีหลายมิติที่เรากำลังจะเดินหน้า ขณะนี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง รอส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

โดยหลักการก็อยากให้ระบบการเงินของเรา “แข่งได้-เข้าถึง-เชื่อมโยง-ยั่งยืน” แข่งได้คือมีธุรกรรมประเภทใหม่ๆ มีความสามารถในการแข่งขันที่ดี เรื่องของการเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ Digitalization เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรื่องเข้าถึงคือให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือคนที่ได้รับบริการไม่ดีพอ เข้าถึงบริการทางการเงินได้ เชื่อมโยงก็เป็นเรื่องสำคัญกับทั้งภูมิภาค รอบๆ บ้านเราและเอเชียโดยรวม รวมถึงการเชื่อมโยงกับตลาดเงินตลาดทุนประเภทอื่นๆ และสุดท้ายให้แน่ใจว่าทุกอย่างที่เราทำมีเสถียรภาพนำไปสู่ความยั่งยืน มีกฎเกณฑ์กติกาที่ถูกต้อง บางเรื่องกฎหมายที่ผ่านมาไม่มีการปรับปรุงก็ต้องปรับ

ส่วนเรื่องที่ว่าจะปรับกฎเกณฑ์ผ่อนปรนให้กับสถาบันการเงินบ้าง คงต้องกลับมาโจทย์เรื่องเสถียรภาพอีกว่าระยะกลาง-ยาวมันมีปัญหาหรือไม่ เช่น ถ้าเราไปผ่อนปรนเรื่องกติกาการปล่อยกู้สินเชื่อต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะมาคำนึงถึงผลแต่ช่วงสั้น มันมีผลกับระยะปานกลางและยาว

ดร.วิรไท สันติประภพ

รับไม้ต่อลุยกำกับ SFIs

สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) อันนี้แน่นอนว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ได้ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลสถาบันการเงินของภาครัฐไม่ให้เป็นปัญหาระยะยาว อย่างที่เราทราบกันว่าที่ผ่านมา นอกจาก ธปท. จะมีบทบาทเรื่องของการเข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว ตอนนี้ยังมีบทบาทที่รัฐบาลมอบหมายเพิ่มขึ้น เรื่องของการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล เรื่องของการดูคุณสมบัติความเหมาะสมของผู้บริหารกรรมการที่จะเข้าไป

ตรงนี้รัฐบาลได้มอบให้ ธปท. มาช่วยวางกฎเกณฑ์กับกระทรวงการคลัง ว่าจะสร้างกฎกติกาแบบไหนถึงเหมาะสม ซึ่งเราคงไปใช้กฎเกณฑ์ที่ใช้กับธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งมาต่างกัน อย่างไรก็ตาม วันนี้มิติของการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เราคิดว่าพอที่จะใช้รูปแบบของสถาบันการเงินทั่วไปมาเป็นตัววางกฎกติกาพื้นฐานได้ เช่น เรื่องการบริหารความเสี่ยง เรื่องการปล่อยสินเชื่อ ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่มีหน้าที่สำคัญในสถาบันการเงินต่างๆ ตรงนี้อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ หลังจากนั้นต้องไปแก้กฎหมายธุรกิจสถานบันการเงินมอบอำนาจให้ ธปท. ต่อไป อย่างไรก็ตาม สถานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งเองก็มีความหลากหลาย ซึ่งบางอันอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวบ้าง

“เรายังต้องยอมรับความจริงว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นเครื่องมือกลไกที่สำคัญของภาครัฐในการดำเนินนโยบาย สิ่งที่เราจะต้องหาคือดุลยภาพของการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นเครื่องมือด้านนโยบาย แต่ต้องไม่สร้างปัญหาในระยะยาวให้กับตัวสถาบันการเงินดังกล่าว ซึ่งจะกลายเป็นภาระระยะยาวของภาครัฐเอง การใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ที่ตั้งขึ้นมาเพราะมีหน้าที่แบบนั้น เหมือนรัฐวิสาหกิจที่ตั้งมาเป็นกลไกของรัฐ แต่การใช้กลไกเหล่านี้ต้องใช้แบบรับผิดรับชอบ มีกฎกติกาที่ชัดเจน”

เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ได้หมายความว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะทำตามนโยบายของรัฐบาลไม่ได้นะ ต้องแยกกัน อันนี้มีความเข้าใจผิดอยู่เยอะ เรื่องนโยบายยังเป็นเรื่องของรัฐบาลของกระทรวงการคลัง เพราะว่าเป็นกลไกของรัฐบาลของกระทรวงการคลัง สิ่งที่รัฐบาลของให้ ธปท. ช่วยทำ คือช่วยดูแลและยืนยันว่าการทำงานของสถาบันการเงินพวกนี้โดยรวม ทั้งจากนโยบายรัฐบาลและไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นการทำงานตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นของสถาบันการเงิน เพราะหลายแห่งรับเงินฝากจากประชาชน ขณะที่บางแห่งถ้าเกิดปัญหามันจะเกิดปัญหากับภาครัฐด้วย สุดท้ายคือขนาดมันใหญ่มาก 30% ของระบบการเงินแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันมีผลกระทบต่อประเทศ

อย่างที่มีคำถามว่า ทำตามนโยบายรัฐแล้วมาสั่งตั้งกันสำรองหมดหรือ ไม่ใช่ โดยธรรมชาติเขาเกิดมาเป็นกลไกของรัฐอยู่แล้ว เพียงพอเราเข้าไปช่วยว่าการทำหน้าที่ตามปกติและตามนโยบายของรัฐ มันทำบนความเสี่ยงที่เหมาะสม ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเขาทราบไหมว่าเพิ่มขึ้น การรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่ได้ผิดนะ แต่คุณต้องเข้าใจว่ามันคืออะไรและมีกลไกบริหารความเสี่ยงที่ดีพอ จะบอกว่าห้ามทำเลย ห้ามเสี่ยงเลย มันไม่ใช่ ต้องเข้าใจภารกิจของเขา แล้วถ้าทำเกินภารกิจหรือมีความเสียหาย แน่นอน อาจจะมีการแยกบัญชีแล้วชดเชยให้แทนก็ได้

มุ่งพัฒนา ธปท. สู่ธนาคารกลาง World Class

อีกคำถามที่ถูกถามตลอดเวลาเมื่อได้เข้ามาที่ ธปท. คือจะนำอะไรใหม่ๆ มาสู่องค์กรบ้าง ก็ต้องเรียนว่า ธปท. เป็นสถาบันที่คิดอย่างเป็นระบบ ทำอย่างเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง หลายๆ เรื่องที่ท่านอดีตผู้ว่าการฯ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และผู้บริหาร ธปท. ได้วางไว้ก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อ เป็นเรื่องที่ได้คิดไว้อย่างครบถ้วนรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสถียรภาพหรือพัฒนาการ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเรื่องระยะยาว เพราะฉะนั้น หลักๆ ผมจะสานต่อเรื่องที่ได้มีการทำไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผนพัฒนาระบบชำระเงิน หรือ Payment System เรื่องแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงิน หรือ Financial Master Plan

ขณะเดียวกัน ถ้ามองไปในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ยังมีความท้าทายหลายเรื่องที่จะมากระทบต่อสภาพแวดล้อมของระบบการเงินไทยที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมืองจีน บทบาทของจีนในระบบการเงินโลกการเงินเอเชียจะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เราจะเตรียมพร้อมอย่างไรที่จะทั้งรับโอกาสและรับความท้าทายที่จะมา

เรื่องความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจของเพื่อนบ้านจะมีความสำคัญมากขึ้น ในระบบการเงินไทยเองเราก็เห็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างธุรกรรมการเงินประเภทต่างๆ ที่บางลง ตลาดทุน ตลาดเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ มีความใกล้ชิดกันมาขึ้น เชื่อว่าจะมีโอกาสที่ ก.ล.ต. และ ธปท. จะได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจไทย จริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่มีการวางแผนมีการคิดเอาไว้แล้ว แต่น้ำหนักบางเรื่องอาจจะให้เพิ่มมากขึ้นให้สอดคล้องกับช่วง 4-5 ปีข้างหน้า

อีกด้านหนึ่งที่ได้คุยกับผู้บริหารทุกท่าน ก็คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนคือเรื่องของการพัฒนาองค์กร ทำอย่างไรที่เราจะพูดได้ว่า ธปท. เป็นธนาคารกลางที่มีความเป็นเลิศระดับ World Class ในเรื่องต่างๆ เพราะหนีไปพ้นว่าระบบการเงินไทยมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลกมากขึ้น เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระบบการเงินโลกที่ก้าวล้ำก้าวหน้าไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก หน่วยงานที่เรากำกับดูและธนาคารพาณิชย์ก็มีพัฒนาการ เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นระดับโลก เพราะฉะนั้น หนีไม่พ้นที่ ธปท. จะต้องเป็นองค์กรธนาคารกลางระดับ World Class

แล้วพอดีปีหน้าก็ครบกำหนดที่เราจะต้องทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของ ธปท. อีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้จะออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อจะรักษาความเป็นเลิศขององค์กรได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากร ระบบการทำงาน ระบบฐานข้อมูล วิธีการทำงานของเราที่จะตอบโจทย์การทำงาน ไม่ได้บอกว่าวันนี้ไม่ได้เป็น แต่ให้แน่ใจว่าหลายๆ ด้านที่มีความท้าทายมากขึ้น เราต้องแน่ใจว่าเราเท่าทันและสามารถที่จะเป็นผู้นำได้

ดร.วิรไท สันติประภพ

ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ เรื่อง Payment System เรื่อง National E-Payment อย่างที่กระทรวงคลังพยายามผลักดัน เป็นทิศทางที่สำคัญมาก จะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยได้ สอดคล้องกับแผนของ ธปท. ที่ได้ดำเนินมา 2-3 แผน ถ้าทำได้มันจะมีธุรกรรมการเงินดิจิทัลมากขึ้น มีฐานข้อมูลมากขึ้น เรื่องการวิเคราะห์ Big Data ที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทำหลายแห่ง บริษัทมือถือต่างๆ เริ่มทำ หนี้ไม่พ้นว่า ธปท. จะต้องมีขีดความสามารถที่จะทำเรื่องพวกนี้ เพราะฐานข้อมูลหลายๆ อย่างของเราเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ ทั้งเรื่องกำกับดูแลและดำเนินนโยบาย เป็นข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจหลายๆ ด้าน เป็นกระจกเงาที่สะท้อนเศรษฐกิจไทยได้ อันนี้จะเป็นทักษะใหม่ที่ต้องแน่ใจว่าเรามีทัดเทียมกับการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นตัวอย่างที่พูดให้ฟัง

นอกจากนี้ การประสานงานของผู้ว่าการ ธปท. กับหน่วยงานอื่นๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต่างกับผู้ว่าการธนาคารกลางอื่นๆ ในโลก มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายได้รับทราบและรวมไปในการพิจารณาแล้ว ดังนั้น การพูดคุยกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ คงไม่มีใครอยากให้มีข้อขัดแย้ง แต่ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องผิดและนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้มีสูตรเดียวที่เป็นเรื่องถูกเสมอไป

ธปท. กับบทบาททางวิชาการ

ในด้านบทบาทของ ธปท. เรื่องวิชาการ ยอมรับว่ามีความคาดหวังค่อนข้างสูง ที่จะให้ ธปท. เป็นผู้นำทางความคิดในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่หลายเรื่องต้องยอมรับตามตรงว่าบางเรื่องมีความรู้วามเชี่ยวชาญ แต่บางเรื่องอาจจะไกลไปจากหน้าที่ของเราไป เรื่องของการปรับดอกเบี้ยของเฟดก็มีการติดตามอยู่ พนักงานของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เราเพิ่งตั้งขึ้นมาก็มีนักวิจัยที่ตามเรื่องพวกนี้อยู่ รวมทั้งมีนักวิจัยจากภายนอกที่เชิญมาร่วมทำงานกันด้วย เพราะเราตระหนักดีกว่านักวิชาการของ ธปท. ไม่ได้รู้ในทุกเรื่อง หลายเรื่องเราต้องพึ่งองค์ความรู้จากภายนอก อย่างเรื่องที่ไกลตัวออกไปเช่น TPP ก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ธปท. คงไม่ใช่ผู้ที่จะทำวิเคราะห์วิจัยได้ดีเท่ากับองค์กรอื่นที่ตามเรื่องพวกนี้ อย่างสำนักวิจัยสำนักยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ติดตามใกล้ชิด เราอาจจะช่วยได้เรื่องผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศที่เป็นหน้าที่โดยตรง