ThaiPublica > คอลัมน์ > FIFA อื้อฉาวมาถึงไทย

FIFA อื้อฉาวมาถึงไทย

28 ตุลาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คนทั้งโลกชอบฟุตบอลมากแค่ไหนก็จับตามอง “ความเน่า” ของ FIFA มากเท่านั้น ล่าสุดประธาน FIFA คือ Sepp Blatter และประธาน UEFA (Unión Europea de Fútbol Asociado) คือ Michel Platini ถูกสั่ง “พักงาน” 90 วัน โดยคณะกรรมการจริยธรรมซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นายวรวีร์ มะกูดี (บังยี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและกรรมการ FIFA) โดนสั่งพักงานโดย FIFA เช่นกัน ลองมาดูกันว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงโดนกันทั่วหน้า

ผู้เขียนเขียนเรื่อง “ความเน่า” ของ FIFA มาหลายครั้งในปี 2014 ขอนำเอาข้อเขียนบางส่วนมาลงอีกครั้งเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนที่จะเจาะลงไปเรื่องการพักงานดังกล่าว

นิตยสาร The Economist ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 2014 มีปกเป็นรูปคนกำลังเตะฟุตบอลบนหาดทรายในบราซิลซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งฟุตบอลโลก 2014 และมีอักษรตัวโตประกอบว่า Beautiful Game, Ugly Business การขึ้นปกเช่นนี้มีความหมายลึกซึ้ง

ที่มาภาพ : The-Economist-7-13-June-2014.jpg
ที่มาภาพ : The-Economist-7-13-June-2014.jpg

“…..จำเลยคนสำคัญคือ FIFA (Fédération Internationale de Football Association) ผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทุก 4 ปี และทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันฟุตบอลทั่วโลก โดยมีสมาชิกรวม 209 ประเทศไทยก็เป็นสมาชิกประเทศหนึ่ง

การ ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่นบางคนหรือทั้งทีม ในการแข่งขันนัดสำคัญทั่วโลกตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมาเป็น ‘ความลับที่เปิดเผย’ กันในหมู่ผู้รู้เรื่องฟุตบอล รายงานลับของ FIFA ที่ถูกแฉโดย New York Times ระบุการ ‘ซื้อ’ กรรมการเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่เจ้าพ่อนักพนันต้องการโดยผ่านสมาคมผู้จัดท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของ FIFA ในการแข่งขันหลายแมทช์มิตรภาพในแอฟริกาใต้ในปี 2010 เพื่อประชาสัมพันธ์การแข่งขันฟุตบอลโลก

Europol หน่วยข่าวกรองของ EU ระบุว่ามี 680 แมทช์ระหว่างปี 2008-2011 ในการแข่งขันลีกใหญ่ในยุโรป และรอบคัดเลือกเพื่อไปแข่งขันฟุตบอลโลกที่น่าสงสัยว่าจะมีทุจริต ‘ซื้อ’ ผู้ตัดสิน ผู้เล่น และ ‘ล้มบอล’ แต่ FIFA ก็ไม่เคยลงโทษใคร

ชื่อเสียงของ FIFA เน่ายิ่งขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษลงข่าวก่อนหน้าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ไม่กี่วันโดยตีแผ่อีเมลของคนวงในที่เล่าเรื่องการ ‘ซื้อ’ กรรมการหลายคนของ FIFA ด้วยเงิน 5 ล้านเหรียญเพื่อให้การ์ตาได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 2022 หลักฐานการติดสินบนมีท่วมท้นจนมีข่าวว่าหลังการแข่งขันที่บราซิลอาจมีการพิจารณาทบทวนใหม่

จะไปแข่งในการ์ตาทำไมท่ามกลางทะเลทรายที่ไม่มีผู้คนจำนวนมากดูและร้อนจัดจนต้องเลื่อนไปจัดในเดือนธันวาคมแทนที่จะเป็นมิถุนายนดังที่เคยจัดกันมา เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันที่มีความพร้อมในการจัดมากกว่าอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็จะยิ่งเห็นความบ้ายิ่งขึ้น

FIFA ใหญ่โตท่วมโลกเพราะมีจำนวนสมาชิกมากและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดกฎกติกา การยอมรับผลการแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียง NGO ที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และได้สิทธิพิเศษทางภาษี เหตุที่ชื่อสมาคมเป็นฝรั่งเศสก็เพราะตั้งในปารีสเมื่อปี 1904 และเติบโตมีอำนาจเป็นลำดับตามความนิยมกีฬาฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น (มีการคำนวณว่าในปัจจุบันมีผู้เล่นฟุตบอลจริงจังและเป็นครั้งคราวในโลกกว่า 300 ล้านคน)

ความอื้อฉาวในเรื่องการทุจริตและความหรูหราฟู่ฟ่าของกรรมการ FIFA โดยใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว มีคฤหาสน์ใหญ่โต มีความเป็นอยู่ที่เกินความพอดี ทำให้เกิดความหมั่นไส้และเกลียดชังในหมู่แฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในตัวนาย Sepp Blatter ประธานผู้มีอายุ 78 ปี ผู้ครองตำแหน่งมายาวนาน 16 ปี…..

ทั้งหมดนี้คือที่มาของการสอบสวนโดยคณะกรรมการจริยธรรมของ FIFA หลังจากที่ถูกหน่วงเหนี่ยวมานานโดย Blatter สมาชิกฝั่งอังกฤษพยายามผลักดันให้มีการสอบสวนจนกระทั่งเมื่อต้นตุลาคมนี้ก็ประกาศลงโทษ “พักงาน” มิให้ประธาน FIFA และ Platini พร้อมกับเลขาธิการ FIFA นาย Jerome Valcke ยุ่งเกี่ยวกับกิจการฟุตบอลทั้งปวง ตลอดจนพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 90 วัน

ข้อหาของ Blatter และ Platini ซึ่งเป็นรองประธานด้วย (คงจำยอดนักเตะฝรั่งเศสคนนี้กันได้) ก็คือร่วมกันกระทำความผิดโดย Blatter มอบเงิน 2 ล้านยูโร (80 ล้านบาท) ให้ Platini ก่อนหน้านี้จะมีการเลือกตั้งประธาน FIFA ในปี 2011 หลังจากนั้นไม่นาน Platini ซึ่งเป็นตัวเก็งก็ถอนตัวจากการลงสมัคร

ที่โดนหนักกว่าเพื่อนก็คือ Chung Mong-joon มหาเศรษฐีทายาทบริษัทฮุนไดแห่งเกาหลีใต้ ผู้กำลังจะเป็นผู้สมัครแข่งตำแหน่งประธาน FIFA โดนคณะกรรมการชุดนี้สั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานฟุตบอลเป็นเวลา 6 ปี และปรับ 100,000 ฟรังก์สวิส (3,699,000 บาท) โดยโดนข้อหาเสนอสินบนต่อกรรมการ FIFA โดยเขียนเป็นจดหมายเพื่อให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

Chung ออกมาโวยว่า Blatter โดนเบามากแค่ 90 วัน แต่เขาโดน 6 ปี และ Blatter กำลังวางแผนจะลงสมัครเป็นประธานอีกหลังจากการ “พักงาน” จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2016 สิ้นสุดลงพอดี คณะกรรมการชุดนี้จริงๆ แล้วก็คือ Hit Man ของ Blatter เพื่อกำจัดเขาผู้กำลังจะสมัครแข่ง

Sepp Blatter ที่มาภาพ : http://venturesafrica.com/wp-content/uploads/2015/06/Sepp.jpg
Sepp Blatter ที่มาภาพ : http://venturesafrica.com/wp-content/uploads/2015/06/Sepp.jpg

เมื่อ Blatter ทำหน้าที่ประธาน FIFA ไม่ได้ FIFA ก็ให้ Issa Hayatou ผู้เป็นรองประธานมายาวนานรักษาการแทน ที่ตลกก็คือเขาเคยถูกลงโทษในข้อหารับสินบนเป็นเรื่องอื้อฉาวของ FIFA ในอดีตเหมือนกัน (FIFA หากรรมการที่มีประวัติดีไม่ได้เลยหรือ)

ฟังๆ ดูแล้วราวกับว่าการลงโทษ Blatter เป็นเรื่อง “เล่นละครต้มคนดู” เนื่องจากถูก “พักงาน” ชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน พร้อมกับ Platini ผู้อื้อฉาวร่วมคดี โดยไม่มีการลงโทษอะไรเพิ่มเติม คำสั่งของคณะกรรมการจริยธรรมระบุเพียงแค่การ “พักงาน” เท่านั้น

สื่อต่างประเทศมิได้ลงข่าวว่า “บังยี” กรรมการ FIFA อีกคนซึ่งโดนลงโทษในลักษณะเดียวกันมีข้อหาใด ถ้ากรรมการชุดนี้เล่น “ละคร” จริง สถานการณ์ก็ดูจะคล้ายกับกรณีของ Blatter บังยีก็สามารถลงเลือกตั้งได้อีกหลังจากพ้นการถูก “พักงาน”

คำถามก็คือเหตุใด FIFA ตัวแทนสโมสรสมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งก็คือตัวแทนของนักดูฟุตบอลของทั้งโลกจึงไม่ทำหน้าที่ที่ดี มีเรื่องอื้อฉาวมายาวนาน คำตอบอาจเป็นว่าไม่มีสิ่งใดผูกพันหรือบังคับให้กรรมการ FIFA เป็นตัวแทนที่ดี (Agents) ตราบที่ผู้ดู (Principals) ขาดกลไกในการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และ FIFA ซึ่งถูกครอบงำโดย Blatter ก็มิได้ตั้งใจที่จะเป็นตัวแทนที่ดี

ดังนั้นอย่าได้คาดหวังเลยว่าคนดูจะได้รับสิ่งที่ตนเองคาดหวัง แม้แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่านี้ ทฤษฎีตัวแทน (Principal-Agent Theory) ระบุว่าอย่าคาดหวังว่าตัวแทนจะทำการแทนเราได้เป็นอย่างดีที่สุดเป็นอันขาด ตัวอย่างมีมากมาย เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทนายความ กรรมการบริษัท เอเย่นต์ทำการแทนต่าง ๆ ฯลฯ

FIFA มีเรื่องอื้อฉาวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงจัง เมื่อมีการลงโทษ ก็เป็นเพียงแค่ “เขกเข่า” เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารเหล่านี้ดำรงตำแหน่งกันมายาวนานและครอบงำเกือบทุกองคาพยพของ FIFA

ผู้กล้าหาญแห่งประเทศไทยในเรื่องคอร์รัปชันทั้งหลายโปรดทราบด้วยว่าบัดนี้ “การเขกเข่า” เริ่มมีให้เห็นน้อยลงเป็นลำดับแล้ว ถ้าจะหลีกเลี่ยงมิให้ถูกลงโทษในทุกดีกรีก็มีหนทางเดียวเท่านั้น คือการเดินในเส้นทางสุจริต

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 20 ต.ค. 2558