ThaiPublica > คนในข่าว > มองธุรกิจฟุตบอลไทยผ่านสายตาโลก กับ “แจ็คกี้ – อดิสรณ์ พึ่งยา” … “ผมกลัวว่าเราจะโตอยู่แค่ในกระถางเหมือนบอนไซ”

มองธุรกิจฟุตบอลไทยผ่านสายตาโลก กับ “แจ็คกี้ – อดิสรณ์ พึ่งยา” … “ผมกลัวว่าเราจะโตอยู่แค่ในกระถางเหมือนบอนไซ”

28 ตุลาคม 2015


ด้วยความชอบทำให้ได้มาเป็นนักข่าวกีฬา และด้วยอาชีพทำให้เขาถูกส่งไปทำข่าวฟุตบอลมาแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะการบินไปใช้ชีวิตช่วงเวลาหนึ่งบนเกาะอังกฤษ-แผ่นดินเกิดของกีฬามหาชนชนิดนี้

คุณวุฒิและวัยวุฒิ ทำให้ “แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา” คอลัมนิสต์และผู้บรรยายกีฬาชื่อดัง เห็นโลกของฟุตบอลในเชิงกีฬาและเชิงธุรกิจมาแล้วมากมาย

การต้องเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน จัดรายการโทรทัศน์อยู่ทุกอาทิตย์ และต้องบรรยายสดๆ เมื่อมีการแข่งขันนัดสำคัญ ยิ่งทำให้เขาต้องติดตามกีฬาลูกหนังอย่างใกล้ชิดทุกๆ แง่มุม เพื่อนำข้อมูลมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ชม

ในวันที่ฟุตบอลอาชีพไทยเริ่มหยั่งขา-ตั้งไข่ มูลค่าธุรกิจพุ่งทะยานยิ่งกว่าติดลมบน

แต่เมื่อนำสายตาที่เคยเห็นโลกกว้างมาทัศนาเรื่องราวภายใน แจ็คกี้-อดิสรณ์ กลับเห็นจุดเปราะบาง ที่อาจทำให้วงการลูกหนังบ้านเราไม่เติบโตสูงใหญ่อย่างมั่นคง และอย่างที่ควรจะเป็น

นายอดิสรณ์ พึ่งยา ผู้บรรยายกีฬาและคอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา Jackie
นายอดิสรณ์ พึ่งยา ผู้บรรยายกีฬาและคอลัมนิสต์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา Jackie

ไทยพับลิก้า: วงการฟุตบอลอาชีพไทยที่มีกระแสอยู่ในเวลานี้ ถือว่าบูมจริงหรือเป็นแค่ฟองสบู่

7-8 ปีที่เรียกว่าเป็นฟุตบอลอาชีพ ผมว่ากระแสนิยมมันดีกว่าสมัยก่อนเยอะมาก แต่ผมคิดว่าเรายังไม่ใช่อาชีพจริงๆ ยังเป็นแค่สมัครเล่น เป็นกึ่งอาชีพอยู่ แต่เรื่องความนิยม คนดูก็เยอะขึ้นจริง และลักษณะก็จะต่างกับสมัยก่อนที่แข่งกันในสนามกลาง กองเชียร์ 2 ฝ่ายนั่งปนกันได้ ใครเชียรทีมทหารอากาศ ใครเชียร์ทีมการท่าเรือ ก็ยังนั่งคุยกันได้ แต่พอแบ่งเป็นสนามของทีมนั้นทีมนี้ ก็มีการแบ่งกันชัดเจนขึ้น ก็ถือว่าบูมนะ ในเรื่องของคนดู บรรยากาศ

ไทยพับลิก้า: ทำไมยังเห็นว่าเป็นแค่กึ่งอาชีพ

เพราะเรายังอยู่ในบรรยากาศเก่าๆ จากสมัยที่ทีมฟุตบอลต้องมาจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทัพ หรือเอกชนก็มีพวกธนาคาร ที่พอมีงบมาทำทีมที ก็ส่งแข่ง ได้แชมป์ก็มีความสุข อะไรแค่นั้นเอง ปีหน้าก็รอเงินก้อนนี้มาใหม่ แต่ถ้าจะทำธุรกิจจริงๆ คงต้องไม่ใช่วิธีแบบนี้ เพราะธุรกิจต้องดำเนินงานในรูปแบบบริษัท มีการหารายได้ มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย มีวิธีคิดแบบธุรกิจเต็มตัว ทำอย่างไรถึงจะมีรายได้มากขึ้น การทำธุรกิจฟุตบอลต้องมองเรื่องตัวเลขเป็นหลัก แต่ของเราตอนนี้ก็ยังเป็นวิถีเก่าอยู่ คือรอให้มีงบลงมา

ถ้าเป็นฟุตบอลอาชีพจริงๆ ยกตัวอย่างลีกอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน หรือเยอรมัน รายได้เขาจะมาจากหลายทาง โอเค แชมป์อาจจะไม่ได้เงินเยอะ แต่ก็ได้มาก้อนหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด มีโฆษณาของตัวเองทั้งสปอนเซอร์หลัก-สปอนเซอร์รอง มีการคิดแพ็กเกจใหม่ๆ ไปขายลูกค้า

ยกตัวอย่างทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของอังกฤษ ที่เป็นต้นแบบของทีมฟุตบอลที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ เขาเริ่มจากการพัฒนาของที่ระลึกซึ่งคนที่เป็นแฟนบอลต้องซื้อ ไม่ว่าจะผลิตอะไรมา ปากกา ดินสอ ยางลบ เสื้อผ้า ขอแค่มีตราสโมสร แฟนบอลของแมนยูฯ ก็ยินดีซื้อหมด อย่างเมื่อก่อน เสื้อทีมเขาก็จ้างดีไซเนอร์ชื่อดังมาทำ ดังนั้น เสื้อทีมของแมนยูฯ จึงไม่ใช่แค่เสื้อกีฬาที่ใช้เตะฟุตบอล แต่มีเสื้อทุกประเภท เรื่องสปอนเซอร์ไม่ต้องพูดถึง เวลาเซ็นแต่ละครั้งมูลค่ามหาศาล แน่นอนว่าเป็นเพราะแบรนด์เขาแข็งแกร่งด้วย ทำให้ได้เงินส่วนนี้เข้ามาเยอะมากๆ ซึ่งต่อมาแมนยูฯ ก็พัฒนาจนมีรายได้อย่างอื่นเข้ามา เช่นช่วงพรีซีซั่น จากที่เมื่อก่อนก็ซ้อมกันธรรมดาๆ ให้ไปไกลจากประเทศตัวเองหน่อย เพื่อให้มันผ่อนคลาย นักฟุตบอลจะได้มีสมาธิ แต่มายุคนี้มีการไปซ้อมแล้วได้เงินด้วย ถ้าจะให้แมนยูฯ ไปอุ่นเครื่องด้วย คุณต้องจ้างนะ ก็วิน-วิน เป็นรายได้ที่เข้ามาอีกทางซึ่งค่อนข้างเยอะ เลยกลายเป็นธุรกิจที่มีรายได้มหาศาล จนที่สุดแมนยูฯ ก็เอาทีมเข้าตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเทียบโมเดลแมนยูฯ กับของบ้านเรา จะเห็นว่ายังไกลกันอยู่มาก ของไทยทุกวันนี้ยังเป็นรูปแบบส่งทีมแข่ง คือมีงบเข้ามาก็ใช้ๆๆ หลายทีมจึงมีปัญหาเรื่องเงินไม่พอ ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักฟุตบอล ค่าจ้างโค้ช ทีมเล็กๆ จะมีปัญหานี้ตลอด ส่วนทีมใหญ่ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นนักการเมือง เพราะนักการเมืองไทยเงินเยอะ และ 3-4 ปีที่ผ่านมา การเมืองบ้านเราไม่ค่อยนิ่ง คนเหล่านี้จึงหันมาทำทีมฟุตบอลเพื่อใช้เป็นสื่อให้ได้ใจคนในพื้นที่ อย่างทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมชลบุรี เอฟซี ทีมสุพรรณบุรี เอฟซี ทีมจังหวัดเหล่านี้มีนักการเมืองเป็นเจ้าของหมด ก็ได้ใจคนในพื้นที่ มีคนดูการแข่งขันนัดละ 1-2 หมื่นคน ยิ่งบุรีรัมย์ ถ้าไปเจอทีมใหญ่ๆ ต้องมีมากกว่า 3 หมื่นคน เขาก็ได้ฐานเสียงตรงนั้น

ไทยพับลิก้า: การมีนักการเมืองเป็นเจ้าของทีม ถือเป็นข้อดีหรือข้อเสียสำหรับวงการฟุตบอลอาชีพไทยโดยรวม

ถ้าเอามาตรฐานสากล วงการฟุตบอลอาชีพในยุโรปจะไม่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของทีมเลย คนที่ทำทีมคือนักธุรกิจ ส่วนราชการก็ไม่เข้ามายุ่ง เพราะถือว่าการทำทีมฟุตบอลอาชีพเป็นเรื่องของเอกชน เพราะเขาถือว่าการทำทีมมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่แล้ว ทำให้คนมีอาชีพ มีรายได้ มีเม็ดเงินหมุนเวียน นี่คือสิ่งที่ฝรั่งคิดมานานแล้ว แต่บ้านเรา พอนักการเมืองมาทำ ผมมองว่ามันจะมีปัญหามากกว่าในระยะยาว เพราะนักการเมืองที่เข้ามาทำทีมก็ไม่ได้มีอยู่พรรคเดียว แต่มีแทบทุกพรรค เลยกลายเป็นว่าฟุตบอลเป็นแค่สื่อที่เขาจะมาใช้ต่อสู้กัน

แล้วนักการเมืองก็มักจะติดเวลาไปไหนต้องมีอำนาจตลอดเวลา ซึ่งคนที่จะได้รับผลกระทบก็คือผู้ตัดสิน ทั้งที่เป็นบุคคลซึ่งได้รับการเคารพและยอมรับมากที่สุด นี่คือสิ่งที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) รวมถึงสมาคมฟุตบอลในประเทศอื่นๆ พยายามจะทำให้เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่เคารพผู้ตัดสิน ไม่เคารพกติกา มันก็จะอยู่ร่วมกันยาก โอเค การตัดสินผิดพลาดมันมีอยู่แล้ว แม้แต่กับผู้ตัดสินระดับโลก มีประสบการณ์เป็นสิบๆ ปี ก็ยังมีโอกาสที่จะตัดสินผิดพลาด เพราะการวินิจฉัยมันต้องเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นทันที เรื่องนี้สังคมและแฟนบอลควรจะเข้าใจร่วมกันก่อน ฝรั่งส่วนใหญ่จะเข้าใจ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาด อาจจะด่าบ้างก็ปกติ แต่ไม่ถึงกับขนาดลงไปไล่กระทืบผู้ตัดสิน หรือเจ้าของทีมเอาปืนไปขู่เหมือนบ้านเรา มันก็กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไป

ไทยพับลิก้า: แต่คนบางกลุ่มก็มองว่าการที่นักการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าของทีมจะส่งผลดี เพราะจะช่วยดึงทั้งเรื่องทุน สปอนเซอร์ แฟนบอล ให้เข้ามา

ข้อเสียของบ้านเรา คือถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก เราต้องการคนมานำ ทั้งที่จริงๆ มันไม่จำเป็น ทีมฟุตบอลไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองเป็นเจ้าของทีม อาจจะเป็นนักธุรกิจของทีมบางกอกกล๊าส เอฟซี ของตระกูลภิรมย์ภักดี ที่มีการจ้างทีมงานมาบริหารในรูปแบบบริษัท คุณปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี ก็เคยบอกเมื่อ 2-3 ปีก่อนว่า รายได้ที่เข้ามาก็ค่อนข้างดี แม้จะยังขาดทุนอยู่ 3 ล้านบาท แต่ถือว่าน้อยมาก แต่เขาสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ล่าสุดยังเข้าไปเป็นเจ้าของทีมวอลเลย์บอลอาชีพ ซึ่งก็เพิ่งคว้าแชมป์ในประเทศ เมื่อปี 2557 นี่คือรูปแบบการบริหารงานแบบมีโครงสร้าง มีองค์กร ไม่ใช่ให้ใครมาเป็นผู้นำ แล้วถ้าเขาเป็นอะไรไป ใครจะมาทำทีมต่อ ทีมมันต้องอยู่ได้ด้วยองค์กรมากกว่าตัวบุคคล

การมีนักการเมืองมาเป็นเจ้าของทีม ระยะสั้นมันก็โอเค แต่ระยะยาว ผมไม่แน่ใจนะ เพราะมีสินค้าหลายตัวที่เป็นแบรนด์ดังๆ เวลาจะวางแผนซื้อโฆษณา เขาก็ลังเลไม่อยากซื้อกับทีมที่มีเจ้าของเป็นนักการเมือง ผมยังบอกเขาเลยว่า ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไปซื้อโฆษณากับกีฬาประเภทอื่นดีกว่า เพราะทีมฟุตบอล 95% มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ

ไทยพับลิก้า: เท่าที่ดูมีทีมฟุตบอลในไทยกี่สโมสรที่เริ่มบริหารงานแบบมืออาชีพแล้ว

ก็มีทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด ของเครือสยามกีฬา ทีมบีอีซี เทโรศาสน ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กับคุณไบรอัน มาร์คาร์ จริงๆ ทีมเทโรฯ ก็เป็นทีมแรกที่ทำ แต่ไม่สามารถสร้างฐานแฟนบอลได้ เคยประสบความสำเร็จ แต่ต้องใช้เงินเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น และทีมบางกอกกล๊าสฯ ของตระกูลภิรมย์ภักดี

… (นิ่งคิด) เท่าที่ดูมีอยู่ 3 ทีมในลีกสูงสุด ส่วนทีมอื่นๆ ยังไม่มี ส่วนใหญ่ยังมีนักการเมืองเป็นเจ้าของ

ไทยพับลิก้า: ด้วยโครงสร้างของสังคมไทยเองหรือเปล่า ทำให้การทำทีมฟุตบอลอาชีพ ซึ่งต้องใช้คนและเงินเยอะ จึงต้องพึ่งพานักการเมือง

(ตอบทันที) ต้องพึ่งพาผู้นำท้องถิ่น เพราะสามารถสั่งได้หมด เหมือนกับอยู่ในมือคนคนเดียว ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ แต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบการทำงานของบริษัทฟุตบอลจริงๆ โดยโครงสร้างเจ้าของทีมควรจะเป็นคนกำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ จากนั้นคนข้างล่างก็นำไปปฏิบัติ แต่วันนี้หลายทีม เจ้าของทีมกลับมาเป็นโค้ชเสียเอง มาจัดตัวผู้เล่น เพราะมองว่าผมเป็นเจ้าของเอาเงินมาลงทุน แค่คิดแบบนี้ก็ไม่ใช่รูปแบบฟุตบอลอาชีพแล้ว ควรจะแยกบทบาทให้ชัดเจน คุณเป็นผู้บริหาร ยังมานั่งจัดตัวผู้เล่นอยู่ ถ้าโค้ชคนไหนยอม ก็ทำๆ กันไป

ทีมฟุตบอลของไทยทุกวันนี้ยังเป็นรูปแบบส่งทีมแข่ง คือมีงบเข้ามาก็ใช้ๆๆ หลายทีมจึงมีปัญหาเรื่องเงินไม่พอ ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักฟุตบอล ค่าจ้างโค้ช ทีมเล็กๆ จะมีปัญหานี้ตลอด ส่วนทีมใหญ่ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่มีเจ้าของเป็นนักการเมือง …ลีกอาชีพไทยเพิ่งเกิดขึ้น 7-8 ปี ความคิดเก่าๆ อย่างเรื่องเชิงบริหารก็ยังมีอยู่ ในอนาคตอาจจะมีนักธุรกิจเข้ามาเป็นเจ้าของทีมมากขึ้น ทำเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจ บริหารงานในรูปแบบบริษัทจริงๆ แต่มันต้องใช้เวลาพอสมควร

ไทยพับลิก้า: มีโอกาสที่ฟุตบอลไทยจะเปลี่ยนไปใช้การบริหารจัดการแบบมืออาชีพเหมือนในยุโรปแค่ไหน

ต้องใช้เวลา ลีกอาชีพไทยเพิ่งเกิดขึ้น 7-8 ปี ความคิดเก่าๆ อย่างเรื่องเชิงบริหารก็ยังมีอยู่ ในอนาคตอาจจะมีนักธุรกิจเข้ามาเป็นเจ้าของทีมมากขึ้น ทำเป็นอาชีพ เป็นธุรกิจ บริหารงานในรูปแบบบริษัทจริงๆ แต่มันต้องใช้เวลาพอสมควร ผมยังไม่คิดในแง่ลบ “เคยมีคนมาถามเยอะว่าฟุตบอลไทยโตหรือไม่ ผมก็บอกว่า ฟุตบอลไทยโตแล้ว แต่โตในกระถางเหมือนต้นบอนไซ” ผมกลัวจะเป็นแบบนั้น คือโตอยู่แค่ในกระถาง มันไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่อย่างต้นจามจุรีหรือต้นอะไรที่แผ่กิ่งก้านสาขา ผมกลัวว่าจะเป็นแค่ต้นบอนไซ

ไทยพับลิก้า: ต้องทำอย่างไรถึงจะทะลุกระถางออกไป

ต้องมีคนมาทุบมั้ง (หัวเราะ) ผมอยากให้มีนักธุรกิจเข้ามาทำเยอะๆ ผมว่าคนที่ทำธุรกิจจริงๆ น่าจะศึกษาเรื่องฟุตบอลอาชีพแล้วก็แตกไลน์มาทำให้มากขึ้น อย่างคนอเมริกันที่ไม่ชอบเรื่องฟุตบอล เพราะเขามีอเมริกันเกมของตัวเองอยู่แล้ว ทุกวันนี้ก็มาไล่ซื้อทีมในยุโรป เพราะคงศึกษามาเรียบร้อยแล้วว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ อย่างทีมแมนยูฯ ผมเชื่อเลยว่าตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของทีมแฮปปี้แล้ว เพราะเข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ก ปันผลทีหนึ่งก็ 20 ล้านปอนด์ หรือพันกว่าล้านบาทแล้ว ยังไม่เกี่ยวกับรายรับอื่นๆ ของสโมสร

ถ้ามีนักธุรกิจเข้ามาทำเยอะๆ แล้วนักการเมืองกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง คือเล่นการเมือง เพราะถ้าเป็นในอังกฤษ นักการเมืองจะเป็นเจ้าของทีม คนเขาไม่ยอมเลยนะ แฟนบอลไม่ยอมรับอยู่แล้ว แล้วแฟนบอลที่อังกฤษหรือหลายๆ ประเทศเขามีพลังมาก กระทั่งปลดโค้ชหรือไล่เจ้าของทีมออกได้ อย่างทีมลิเวอร์พูล ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อ 5-6 ปีก่อน เจ้าของทีมบริหารงานแล้วทำให้สโมสรมีหนี้สินมาก แฟนบอลก็ออกมาขับไล่ ประจวบเหมาะกับที่ศาลมาเคลียร์พอดี สุดท้ายจึงมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีม

ไทยพับลิก้า: ฟุตบอลอาชีพจริงๆ แฟนบอลควรจะมีเสียงดัง ไม่ใช่เจ้าของทีมเสียงดังอยู่คนเดียว

เจ้าของทีมก็เป็นคนดูแลทีม แต่เขาต้องการแฟนบอลซึ่งเป็นลูกค้าของเขา ทีมฟุตบอลของคุณก็เป็นสินค้าตัวหนึ่ง เขาตามเชียร์ จ่ายค่าตั๋ว ค่าสินค้าที่ระลึก แล้วผลพลอยได้ก็คือมีสปอนเซอร์เข้ามา แฟนบอลทีมแมนยูฯ อาจจะซื้อรถยนต์ยี่ห้อ Chevrolet ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ของสโมสรมากขึ้น เช่นเดียวกับแฟนบอลทีมลิเวอร์พูลอาจจะฝากเงินกับธนาคาร Standard Chartered มากขึ้น เขามีความภักดีกับทีมอยู่ ดังนั้นคุณต้องบริหารให้ดี มันเป็นความผูกพันที่ไม่เหมือนกับสินค้าประเภทอื่น เช่น คุณชอบดื่มโค้กแต่ถ้าไม่มีโค้กก็ดื่มเป๊บซี่แทนได้ แต่แฟนบอลทีมลิเวอร์พูล ไม่มีทีมลิเวอร์พูลเตะ ถามว่าจะไปดูทีมแมนยูฯ เตะไหม ก็ไม่ดู ฉะนั้น เจ้าของจึงต้องรักษาฐานแฟนบอลไว้ ถ้าทำไม่ได้ คุณก็จบ เพราะแฟนบอลปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่นั้นๆ แล้ว แต่มัน worldwide การแข่งขันแต่ละนัดมีคนดูถ่ายทอดสดเป็นร้อยล้านคน นี่คือลูกค้าของคุณ ที่มีมูลค่ามหาศาล

ไทยพับลิก้า: มีทีมฟุตบอลไทยทีไหนบ้างที่แฟนบอลมีความภักดีต่อทีมสูง

ตอนนี้ก็มีแฟนบอลทีมบุรีรัมย์ฯ แต่ส่วนตัวอยากให้คุณเนวิน ชิดชอบ เจ้าของทีมบุรีรัมย์ฯ ถอยออกมาอยู่เบื้องหลัง แต่มันก็คงยาก เพราะเขายังอยู่ใกล้ๆ โค้ชตลอดเวลา อารมณ์เหมือนถ้าเขาอยู่ตรงนั้น นักฟุตบอลจะสู้ ผมก็เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนทำทีม เพราะนักฟุตบอลไทยยังกลัวหน้าผู้นำอยู่ พอเห็นคุณเนวินก็วิ่งลืมตาย แต่จริงๆ มันควรจะเล่นเพื่อทีม เพื่อตราสโมสร เพื่อแฟนบอลหรือเปล่า แต่เราก็ยังติดแบบนั้นอยู่ เราไม่รู้จะไปทำอย่างไร

ไทยพับลิก้า: ถ้าอยากให้ทีมฟุตบอลอยู่ได้ในเชิงสถาบัน เจ้าของทีมก็ควรจะถอยไปอยู่เบื้องหลัง

ถ้านักการเมืองทำ ผมก็อยากให้อยู่เบื้องหลังดีกว่า แต่ในทัศนะส่วนตัว ไม่ควรมาทำเลย เพราะอาชีพของคุณก็คือเป็นตัวแทนของประชาชนอะไรไป

ไทยพับลิก้า: การพัฒนาวงการฟุตบอลไทยให้ไปสู่มืออาชีพอย่างแท้จริงในอนาคต อะไรเป็นอุปสรรคที่สุด ระหว่างโครงสร้างเจ้าของทีม ผู้ตัดสิน ทุน หรือเรื่องอื่นๆ

เรื่อง know how ผมมองว่าสำคัญ เช่น know how ในการทำบริษัทฟุตบอลอาชีพ ของเรายังเป็นประสบการณ์ใหม่ ตรงนี้ยังไม่มีใครรู้เยอะขนาดนั้น ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนเรื่องของฟุตบอลเอง นักฟุตบอลดีขึ้น เห็นได้จากผลงานของทีมชาติ ผู้ตัดสินยังต้องใช้เวลา เพราะสมัยก่อนผู้ตัดสินยังตัดสินฟุตบอลถ้วย ใช้สนามกลาง แฟนบอลยังไม่แบ่งทีมเชียร์อย่างชัดเจนเหมือนปัจจุบันที่เป่าแต่ละครั้งก็จะมีข้อถกเถียง มันก็ต้องเรียนรู้ ผมว่าต้องใช้เวลา เพราะผู้ตัดสินเรามีน้อยมาก ผลิตขึ้นมาไม่ทัน ประสบการณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ก็ขนาดคนที่มีประสบการณ์มากๆ ยังพลาดได้เลย

แฟนบอลก็ต้องเรียนรู้มากขึ้นในการดูฟุตบอลในสนาม ไม่ต้องเป็นแฟนบอลที่ดีหรอก แค่ดูให้สนุกก็พอ ตอนนี้เรื่องตีกันก็ลดลงไปแล้ว เพราะมีข้อกำหนดเข้มขึ้น ถ้าคุณตีกัน ทีมเสียหาย โดนตัดแต้ม แฟนบอลอาจจะโดนแบนไม่ให้เข้าชม ทำให้เห็นว่าเวลาคุณทำอะไร ผลเสียไม่ได้ตกอยู่ที่ตัวคุณคนเดียว

ไทยพับลิก้า: ปัญหาเรื่องการพนัน ล้มบอล ยังมีอยู่หรือไม่

มีข่าวบ้าง แต่ผมว่าเป็นส่วนน้อย เต็มที่ก็ไม่เกิน 5% เพราะตอนนี้รายได้นักฟุตบอลมันเยอะมาก นักเตะไทยตัวท็อปๆ ได้เดือนละ 4-5 แสนบาท ต่างชาติไม่ต้องพูดถึง เดือนละเป็นล้านบาท

ไทยพับลิก้า: ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ทั้งทีม นักเตะ ผู้ตัดสิน และแฟนบอล

ทุกอย่างเลยครับ

ไทยพับลิก้า: ประเมินว่า สักกี่ปี ฟุตบอลไทยถึงจะเป็นอาชีพเต็มร้อย

ญี่ปุ่นเขาทำลีกกึ่งอาชีพมาก่อนถึงจะเป็นอาชีพ แต่ของญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ทำง่าย เพราะเขามีความพร้อม คนของเขามีวินัย พอทำอะไรเป็นทีมถึงได้ประสบความสำเร็จเร็ว แล้วทีมของเขาส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจจริงๆ อย่างญี่ปุ่นก็ง่ายหน่อยเพราะมีสินค้าอยู่ตามเมืองต่างๆ อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: อย่างเจลีกของญี่ปุ่น หรือเคลีกของเกาหลีใต้ กว่าจะเป็นอาชีพจริงๆ ก็ต้องใช้เวลา 20-30 ปี

ญี่ปุ่นเริ่มเป็นอาชีพ ก่อตั้งเจลีกในปี 2535 ก่อนหน้านั้นนักฟุตบอลไทยรุ่นคุณวิทยา เลาหกุล คุณวรวรรณ ชิตะวณิช คุณนที ทองสุขแก้ว คุณประเสริฐ ช้างมูล ยังไปเล่นกึ่งอาชีพที่ญี่ปุ่นอยู่เลย เขาใช้เวลา 25 ปีที่จะเปลี่ยนจากกึ่งอาชีพมาเป็นอาชีพ แล้วตอนนี้เขาก็ส่งนักฟุตบอลญี่ปุ่นไปเล่นในยุโรปได้ แต่อะไรที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ทำสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง ของไทยอาจจะต้องคูณสองคูณสาม อาจจะ 50 ปีขึ้นไป เพราะคนไทยยังมีวินัยไม่สูงเท่าเขา ยังทำงานเป็นทีมไม่ค่อยดี

ไทยพับลิก้า: แนวโน้มฟุตบอลไทยคือเป็นขาชึ้นจริง แต่จะให้เป็นอาชีพ 10% อาจต้องใช้เวลามากกว่าชาวบ้านนิดหน่อย

มันก็ต้องค่อยๆ เกลากันไป ผมแค่กลัวว่ามันจะเป็นต้นบอนไซ คือเกิดมา โตได้ แต่อยู่แค่นี้

อดิสรณ์2
นายอดิสรณ์ พึ่งยา กับนายวีรศักดิ์ นิลกลัด 2 ผู้บรรยายกีฬาชื่อดัง ที่ล่าสุดไปให้เสียงพากษ์ภาษาไทยในเกมฟุตบอลระดับโลก FIFA Online 3 ที่มาภาพ: http:www.gamevanz.com

ขาขึ้นของ “อาชีพผู้บรรยายกีฬา”

อย่าแปลกใจ หากคำพูดที่ว่า “แฟนบอลไทยโชคดีเพราะเป็นไม่กี่ชาติในโลกที่ได้ดูบอลปีละนับพันนัด” จะเป็นเรื่องจริง

จาก 20-30 ปีก่อน ที่ต้องรอถึงการแข่งขันนัดสำคัญ-เอกอุจริงๆ เช่น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศรายการสำคัญ คนไทยถึงจะได้ดูการแข่งขันฟุตบอลผ่านทางโทรทัศน์ แถมบางนัดยังเป็นการอัดเทปมาถ่ายทอดภายหลัง ไม่ใช่การถ่ายทอดสด

มาปัจจุบัน แฟนบอลไทยสามารถเลือกดูการ “ถ่ายทอดสด” การแข่งขันฟุตบอลจากทั่วทุกมุมโลก เพราะสถานีโทรทัศน์ต่างแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์มาไว้บนหน้าจอตัวเอง

เราสามารถดูถ่ายทอดสดการแข่งขันลีกสำคัญระดับโลกได้ผ่านหน้าจอทีวี

– อิงลิชพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ครบทั้ง 380 นัด ผ่านช่อง CTH

– ลาลีกาของสเปน ครบทั้ง 380 นัด ผ่านช่องในเครือ RS

– บุนเดสลีกาของเยอรมันนัดสำคัญ 102 นัด ผ่านช่อง PPTV

– ลีกเอิงของฝรั่งเศสนัดสำคัญ ผ่านช่องในเครือ Grammy

ไม่รวมถึงการดูการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก-ลีกสูงสุดของเมืองไทย ครบทั้ง 306 นัด ผ่านช่อง Truevision

ขณะที่การแข่งขันทัวร์นาเมนต์สำคัญ อย่างฟุตบอลโลก, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชีย, ยูฟ่า แชมป์เปียนลีกส์, ยูฟ่า ยูโรปา คัพ, เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก ฯลฯ ไปจนถึงลีกรองทั้งจากฮอลแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ที่หาดูได้หมด

ที่กล่าวมาข้างต้น ยังแค่เฉพาะ “ฟุตบอล” ยังไม่รวมถึงกีฬายอดนิยมอื่นๆ เช่น บาสเกตบอล เทนนิส วอลเลย์บอล กอล์ฟ รถแข่ง ฯลฯ จนอาจเรียกได้ว่าคนไทยได้ดูการถ่ายทอดสดกีฬา ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งปี!

ความเฟื่องฟูของ “ธุรกิจถ่ายทอดสดกีฬา” โดยเฉพาะฟุตบอล ก็นำความเฟื่องฟูมาสู่อาชีพ “ผู้บรรยายกีฬา” ด้วยเช่นกัน

อดิสรณ์ที่อยู่ในวงการบรรยายกีฬามากว่า 20 ปี มองว่า ปัจจุบัน ผู้บรรยายกีฬาน่าจะถือเป็นอาชีพอย่างหนึ่งได้แล้ว และจากที่สิบปีก่อน เคยมีอยู่แค่ 4-5 คน ปัจจุบันมีเพิ่มนับร้อยคน จนนับไม่หวาดไม่ไหว

การจ่ายค่าตอบแทนที่ได้รับจากการบรรยายกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

  1. เซ็นสัญญารับค่าตอบแทนรายเดือนกับช่อง แล้วทำชั่วโมงบรรยายให้ครบตามสัญญา กรณีนี้เท่าที่เขาทราบมีเพียงช่อง Truevision ที่ใช้วิธีนี้
  2. เป็นฟรีแลนซ์ รับบรรยายกีฬาโดยคิดค่าตอบแทนเป็นชั่วโมง ผู้บรรยายกีฬาประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีงานประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวงการสื่อ ไม่ว่าจะเป็นจัดทีวีหรือวิทยุ โดยเฉพาะคนในคลื่นเอฟเอ็ม 96 MHz Sport Radio และคลื่นเอฟเอ็ม 99 MHz Active Radio

คุณสมบัติของผู้บรรยายที่ดีในความเห็นของอดิสรณ์ คือต้องมีข้อมูลพื้นฐานที่รู้มากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะถ่ายทอดให้ผู้ชมได้รับทราบเมื่อถึงจังหวะโอกาสที่เหมาะสม

“การบรรยายกีฬาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ด้วย บางทีเรารู้อะไรเยอะแยะ แต่ไม่สามารถพูดอะไรได้ทันทีในทีวี เพราะหัวใจสำคัญของการแข่งขันมันอยู่ที่เกม อารมณ์ของเกมขณะนั้น ใครส่งบอลให้ใคร ไม่ใช่ข้อมูล ดังนั้น เราต้องบรรยายไปตามรูปเกมที่เกิดขึ้น ข้อมูลจะค่อยๆ มาทีหลัง มาตามจังหวัด นี่คือสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ ผมเคยมีเพื่อนมาบอกว่า จะพูดอะไรนักหนา คนจะดูบอล ก็รู้ว่ามีข้อมูล แต่ไม่ต้องมาแจก นี่คือเสียงสะท้อนที่ทำให้ผมปรับตัวจากตรงนั้น”

เขาว่า ศาสตร์ในการบรรยายกีฬา จริงๆ ก็คือพื้นฐานการทำรายการทีวีทั่วไป คือ “ข้อมูลต้องตรงกับภาพ” อาจจะมีสคริปต์เหมือนกัน แต่เป็นสคริปต์ธรรมชาติที่ไม่ได้ตั้งใจ

“อย่างทีมแมนยูฯ ถูกทีมอาร์เซนอล ยิงไป 3-0 กล้องก็จะจับไปที่หลุยส์ ฟานกัล ผู้จัดการทีมแมนยูฯ นั่งหน้าเครียด คนบรรยายจะไปพูดสถิติอะไรที่ไม่เกี่ยวกับภาพไม่ได้ เพราะต้องดูภาพเป็นหลัก แล้วก็ใช้ความรู้ ประสบการณ์ ถ่ายทอดข้อมูลออกไปให้สอดคล้องกับภาพ ภาพอยู่ไหน บทต้องอยู่ที่นั่น และหลายๆ ครั้ง ความรู้รอบตัวก็ต้องมี เพราะบางทีฝรั่งก็ตัดภาพดื้อๆ ไปที่นักร้องชื่อดัง ดาราฮอลลีวูด หรือนักฟุตบอลเก่าๆ ที่เคยเป็นฮีโร่ของทีม ถ้าเราไม่พูด คนดูก็จะรู้สึกว่า อะไร ไม่รู้จักเหรอ ยิ่งสมัยนี้คนดูยิ่งเรียกร้องสูง”

อดิสรณ์สารภาพว่า เขาไม่มีต้นแบบหรือ idol ในการเป็นผู้บรรยายฟุตบอล แต่ก็พยายามเรียนรู้วิธีการทำงานจากมืออาชีพ อย่างเช่น มาร์ติน ไทเลอร์ ผู้บรรยายฟุตบอลอันดับหนึ่งของอังกฤษ ทั้งในแง่วิธีการบรรยายและการดูจังหวะว่าแต่ละช่วงของเกมควรจะใส่ข้อมูลอะไรบ้าง

ถามว่ามีคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากมาเป็นผู้บรรยายฟุตบอลหรือไม่?

เขาตอบว่า เรื่องข้อมูลพื้นฐานต้องมี ต้องรู้จริง รู้ละเอียด ถ้าเป็นนักข่าวมาก่อนจะได้เปรียบเรื่องประเด็นแล้ว และหัวใจสำคัญของการบรรยายคือการให้เสียงตามภาพ ถ้าเราไม่ตามภาพ มัวแต่ให้เสียงอย่างเดียว คนดูก็จะไม่ชอบ ไม่สนุก

“แต่ปัจจุบันอาชีพผู้บรรยายกีฬาไม่ว่าประเภทไหนก็ยังถือว่าเสี่ยงอยู่ เพราะถ้าทีวีไม่ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดต่อ มีการเลิกจ้าง ก็อาจจะตกงานได้ง่ายๆ หลายคนจึงทำเป็นอาชีพเสริม เป็นฟรีแลนซ์มากกว่า จะให้เป็นอาชีพหลักในขณะนี้ ยังไม่น่าได้ ยกเว้นเซ็นสัญญาเป็นพนักงานของช่องนั้นๆ แล้ว ถึงจะมั่นคงหน่อย” คือเสียงสะท้อนภาพรวมธุรกิจบรรยายกีฬา จากหนึ่งในผู้บรรยายกีฬาที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ