ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วิกฤตทีโอที (2): “โลกเปลี่ยน” แม้จะมี “wake up call ” ไม่ปรับตัวหนี-ไม่มีจุดแข็ง

วิกฤตทีโอที (2): “โลกเปลี่ยน” แม้จะมี “wake up call ” ไม่ปรับตัวหนี-ไม่มีจุดแข็ง

31 ตุลาคม 2015


จากตอนที่1 นอกจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที จะต้องเผิชญการสูญเสียรายได้นับหมื่นล้านบาท หลังจากต้องส่งคืนคลื่นความถี่โทรคมนาคม 900 MHz ที่หมดอายุสัมปทานให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูลใหม่ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 จนนำไปสู่ความพยายามยื้อคลื่น 900 MHz ของทีโอทีในปัจจุบัน เพื่อรักษารายได้ขององค์กรเอาไว้

Print

ตลาดโทรคมนาคม

อีกด้านหนึ่ง ทีโอทียังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของ “อุตสาหกรรมโทรคมนาคม” ที่เรียกว่าแทบจะพลิกโฉมหน้าไปในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ในช่วง 9 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2558 มูลค่าตลาดการสื่อสารเติบโตขึ้นมากกว่า 1.5 เท่า จาก 335,117 ล้านบาท เป็น 561,418 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ถ้าเจาะลึกถึงประเภทอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตามข้อมูลที่ กสทช. ได้สำรวจไว้ 3 ประเภท คือ ธุรกิจโทรศัพท์บ้าน ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจอินเทอร์เน็ต จะพบว่าธุรกิจแรกกำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากที่มีผู้ใช้ 7.56 ล้านรายในปี 2550 เหลือ 6.06 ล้านรายในปี 2556 และมีแนวโน้มจะลดลงมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ธุรกิจอีกสองประเภทต่างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มจาก 40.12 ล้านรายในปี 2549 เป็น 92.93 ล้านรายในปี 2556 ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ต มีผู้ใช้บริการเพิ่มจาก 11.4 ล้านรายในปี 2549 เป็น 26.1 ล้านราย

ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์บ้าน

ส่วนแบ่งตลาดhi-speedอินเตอ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวนักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำหรับทีโอที เรียกได้ว่าแทบไม่มีการปรับตัวใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวหนีการหดตัวของธุรกิจหลักของทีโอทีคือโทรศัพท์บ้าน ที่กำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมดาวร่วง ขณะที่การทำธุรกิจอื่นๆ ของทีโอที ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (fixed broadband) ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดและรายได้ที่ไม่มากนัก ซึ่งไม่มีทางชดเชยเงินรายได้ที่เคยได้จากเอกชนได้เมื่อสัญญาสัมปทานหมดลง

เมื่อดูรายละเอียดจากข้อมูลของ กสทช. จะพบว่า ในธุรกิจโทรคมนาคม 3 ประเภทที่ทีโอทีแข่งขันอยู่ มีเพียงธุรกิจโทรศัพท์บ้านซึ่งกำลังหดตัวลดเรื่อยๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จาก 50% ในปี 2549 เป็น 60% ในปี 2556 ขณะที่ธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรงทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต ส่วนแบ่งตลาดของทีโอทีกลับมีน้อยหรือมีแนวโน้มลดลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่ส่วนแบ่งลดลงจาก 44.73% ในปี 2551 เหลือเพียง 36.71% ในปี 2556 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.25% ในปี 2552 เพิ่มเป็น 0.57% ในปี 2556

ส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์คเลื่อนที่

“จริงๆ แล้ว ทีโอทีไม่เคยมีจุดแข็งเลย ต่อให้โทรศัพท์บ้านก็ไม่ใช่จุดแข็ง fixed broadband ก็เสียส่วนแบ่งตลาดตลอดเวลา ที่อยู่ได้เพราะว่าโทรศัพท์มือถือมันโต แล้ว AIS ทำได้ดีมาก เป็นผู้นำตลาด AIS ก็แบ่งเข้ามา 25% ของรายได้ตัวเอง AIS โต ทีโอทีก็โตตามไปด้วย แต่ธุรกิจทีโอทีไม่เคยเปลี่ยน เขาแย่มาโดยตลอด เมื่อหยุดรับรายได้จากสัญญาสัมปทาน มันเหมือนโดนปลุก เป็น wake up call แล้วพนักงานเยอะมาก 20,000 คน เคยเทียบรายได้ต่อพนักงานดูในธุรกิจโทรคมนาคมทั้งโลกที่เรามีข้อมูล เขาต่ำที่สุดแล้ว ไม่ใช่แค่ในประเทศ ในโลกเลย ทำไมเขาถึงต่ำที่สุด เพราะว่าไม่เคย lay-off พนักงาน แล้วทำไมไม่เอาออก เพราะ AIS จ่ายเงินเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเอาออก จริงๆ ต้องเอาออก ธุรกิจโทรศัพท์บ้านมันหดตัวลดไปเรื่อยๆ แบบนี้ ก็ต้องปรับขนาดองค์การให้มันเล็กลงด้วย” แหล่งข่าวกล่าว