ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “TMB Analytics” มองเศรษฐกิจไทยปี 2559 แรงส่งดีขึ้น เน้นปรับโครงสร้าง – สร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค

“TMB Analytics” มองเศรษฐกิจไทยปี 2559 แรงส่งดีขึ้น เน้นปรับโครงสร้าง – สร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภค

14 ตุลาคม 2015


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)
ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองเศรษฐกิจปี 2559 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โตร้อยละ 3.5 ยังขับเคลื่อนโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยวที่สดใสต่อเนื่อง พร้อมการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมามีบทบาท ท่ามกลางการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากจีนชะลอตัว ส่งผลให้สินเชื่อรวมปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตที่ร้อยละ 6.1 นำโดยสินเชื่อภาคธุรกิจ และคุณภาพสินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้นช่วงปลายปี 2559

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวในงาน “จับประเด็นเศรษฐกิจ กับ TMB Analytics” โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายของปียังคงได้ผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวแรง และทำให้จีดีพีในปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 3 แต่เศรษฐกิจยังมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และได้อานิสงส์เพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน วงเงินรวม 1.36 แสนล้านบาท กอปรกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าคาด จึงยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้

สำหรับในปี 2559 ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเครื่องยนต์ด้านต่างๆ จะมีแรงส่งมากขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการอนุมัติในช่วงปลายปี 2558 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามได้ กอปรกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพิ่มขึ้น จะช่วยให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น

นอกจากการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐแล้ว การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทะลุ 30 ล้านคน การบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติ เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่คาดว่าจะพลิกขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 2.0 ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอยู่ โดยคาดว่าจีดีพีปี 2559 สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นที่ร้อยละ 3.5

ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจปี 2559 ยังมาจากต่างประเทศเป็นหลัก นำโดย อุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตลอดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักยังคงมีแนวโน้มลดลง และกดดันการฟื้นตัวของการส่งออก นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อในปี 2559 ยังมีจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อทิศทางเงินบาท รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังกดดันการบริโภคภาคเอกชน

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2559 โดยอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กอปรกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องปีหน้า โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้ภาพรวมของการเงินการธนาคารขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าสินเชื่อและเงินฝากขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.1 และ 6.8 ตามลำดับ สินเชื่อถูกขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่และ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงหนุนจากนโยบายของรัฐ เช่น อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวจากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ส่วนเงินฝากจะเติบโตตามแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับลดเพดานคุ้มครองของเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคมปีหน้า ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ภายใต้ภาวะการแข่งขันเงินฝากที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนั้น คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากกว่าปี 2558 โดยที่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (%NPL) มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ปัจจัยหลักๆ มาจากการปรับตัวดีขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐที่จะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนภายในระบบมากขึ้น ในส่วนคุณภาพของสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยรวมยังทรงตัว แต่ในส่วนที่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต %NPL ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแนวโน้มการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจลดการพึ่งพาการส่งออก ดร.เบญจรงค์กล่าวว่า “ต้องบอกว่า เราลดการพึ่งพาการส่งออกคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจเรามาในทิศทางนี้แล้ว แต่เราต้องเสริมเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่งมากขึ้น การพึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการยกระดับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ยกระดับรายได้ ซึ่งเครื่องยนต์ส่งออกทำได้ดีมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยหรือว่าจะบอกว่าถ้าโตไม่ได้จะเลิกสนใจ แต่ว่าตอนนี้เราต้องพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้เป็นเรื่องของการที่ให้สินค้าไทย อุตสาหกรรมไทย สามารถมีที่ยืนและแข่งขันได้ในเวทีโลก ตัวนี้เป็นตัวที่ต้องทำ แต่ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาเราให้น้ำหนักกับว่า “ให้ส่งออกโต” มากเกินไป แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องกลับมามุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศด้วย เพราะฉะนั้น ผมจะเลี่ยงการใช้คำว่าลดการพึ่งพาการส่งออก เพราะเป็นการบอกว่าเราจะสนใจการส่งออกน้อยลง มาสนใจในประเทศแทน ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น”

“จริงๆ ตัวเลขที่คนไม่ค่อยเข้าใจเวลาเราบอกว่าสัดส่วนส่งออกสินค้า 60% ของจีดีพี พอรวมท่องเที่ยวเข้าไปถึงจะได้ 75% ท่องเที่ยวจริงๆ เป็นการใช้จ่ายในประเทศ แต่ต่างชาติมาใช้ ถ้าเราส่งออกสินค้า 60% การบริโภคปัจจุบันอยู่ที่ 55% บวกการลงทุนอีก 20% อยู่ที่ 75% มันเท่ากัน เวลาพูดเรื่องการพึ่งพาการส่งออก นักวิเคราะห์ชอบพูดด้านเดียว โดยไม่ได้ชี้ให้คนเห็นว่าจริงๆ มันเท่ากัน เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่สมดุลกันระหว่างในประเทศและต่างประเทศ แต่ว่าทิศทางการพัฒนาเราให้น้ำหนักกับการส่งออกมากเกินไป อันนี้ผมเห็นด้วย เพราะฉะนั้น ทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้ไปต้องชัดเจนเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมกับการสนับสนุนเรื่องของการแข่งขันของเศรษฐกิจต่างประเทศให้ได้” ดร.เบญจรงค์กล่าว

ดร.เบญจรงค์ให้ความเห็นเรื่องการพึ่งพาในประเทศว่า ต้องมาจาก 1. การลงทุน ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน สองอันนี้ต้องไปด้วยกัน ซึ่งการลงทุนภาครัฐเริ่มเห็นการขับเคลื่อนแล้ว ปีหน้าถ้าการลงทุนเอกชนไม่มา ตนมองว่าเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญของภาคเอกชนที่จะต้องหันมามองในการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมตนเอง เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของเอกชนที่ต้องร่วมมือกับรัฐบาล เพราะคนที่ออกไปแข่งคือเอกชน ด้านกระทรวงพาณิชย์ช่วยภาคส่งออกได้แต่ไม่ได้ไปแข่งเอง เพราะฉะนั้น อย่างแรกคือการลงทุน ที่เราไม่ได้ทำกันมานาน

2. การบริโภคที่อ่อนแอมา1-2 ปี เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่เราไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค เน้นแต่การกู้ยืมเพื่อใช้จ่าย เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาดูเรื่องของโครงสร้าง เช่น การจ้างงาน รายได้ของเศรษฐกิจฐานราก คิดว่าเป็นหัวใจที่สำคัญ

“การเติบโตของการบริโภค ไม่ควรมอง 1-2 ปีนี้ ควรมองระยะยาว 10-20 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนผู้บริโภคแข็งแกร่ง เพื่อที่จะสร้างความต้องการในประเทศ เพราะอุปสงค์ในประเทศสำคัญ เป็นตัวช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่การส่งออกสำหรับเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ถ้าอยากให้เอสเอ็มอีไปถึงระดับนั้น ต้องมีการบริโภคในประเทศช่วยให้ไต่ระดับในประเทศก่อนไปแข่งกับต่างประเทศ ดังนั้น ในมุมมองของผมมันเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อมกัน ต้องทำไปด้วยกันตลอด ถ้ามองไกลๆ 10-20 ปี ถ้าแก้ไม่ได้ เราคงเหมือนเดิม เศรษฐกิจฐานรากก็ตามชื่อ เป็นฐานของเศรษฐกิจทั้งระบบ ถ้าเราแก้เรื่องภูมิคุ้มกันหรือความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากไม่ได้ สุดท้ายเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย รวมไปถึงผู้ส่งออกเองก็ตาม เพราะเศรษฐกิจฐานรากนอกจากเป็นผู้บริโภค ยังเป็นแรงงานเข้าสู่ระบบการผลิตการจ้างงานด้วย” ดร.เบญจรงค์กล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า “แต่ถามว่าในอนาคต ถ้าเราตั้งเป้าหมายจริงๆ สัดส่วนของการส่งออกและในประเทศสามารถโตไปพร้อมกันได้ โดยที่สัดส่วนการส่งออกเราหันมาพึ่งพาสินค้าที่มีมูลค่าสูง มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น พอมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีการเติบโตของมันเอง ขณะเดียวกัน การยกระดับรายได้ในประเทศ จะทำให้การบริโภคในประเทศมากขึ้น พอไปรวมกับการลงทุน ความสมดุลที่มีอยู่ก็ไปต่อได้โดยที่เศรษฐกิจยังเติบโตไปสู่กลุ่มประเทศรายได้สูงขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ว่าการมองหรือการทำยุทธศาสตร์ตรงนี้ต้องมองไปด้วยกัน อย่ามองแยกเป็นชิ้นๆ”