ThaiPublica > คนในข่าว > “สเวตลานา อเล็กซีวิช” โนเบลสาขาวรรณกรรม “Voices from Chernobyl” ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าถึงมหันตภัยเชอร์โนบิล

“สเวตลานา อเล็กซีวิช” โนเบลสาขาวรรณกรรม “Voices from Chernobyl” ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าถึงมหันตภัยเชอร์โนบิล

11 ตุลาคม 2015


อิสรนันท์

สเวตลานา อเล็กซีวิช” (Svetlana Alexievich) ที่มาภาพ :https://62e528761d0685343e1c-f3d1b99a743ffa4142d9d7f1978d9686.ssl.cf2.rackcdn.com/files/97820/width668/image-20151008-9670-zodl1g.jpg
สเวตลานา อเล็กซีวิช” (Svetlana Alexievich) ที่มาภาพ :https://62e528761d0685343e1c-f3d1b99a743ffa4142d9d7f1978d9686.ssl.cf2.rackcdn.com/files/97820/width668/image-20151008-9670-zodl1g.jpg

สถาบันโนเบลสวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี 2558 ให้กับ“สเวตลานา อเล็กซีวิช”(Svetlana Alexievich)นักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนและนักเขียนแนวประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าชาวเบลารุส วัย 67 ปี นับเป็นนักเขียนชาวเบราลุสคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศนี้ เป็นผู้หญิงคนที่ 14 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากที่มีการมอบมาแล้ว 107 ครั้ง ที่สำคัญยังเป็นนักข่าวคนแรกที่ได้รับรางวัลสาขานี้ ซึ่งปรกติไม่ค่อยจะมอบให้กับนักเขียนแนวสารคดี โดยในช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา มีนักเขียนแนวนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมแค่ 2 คนคือเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์เมื่อปี 2493 และเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ในปี 2496

ในคำสดุดีของเลขาธิการสถาบันโนเบลสวีเดนได้กล่าวยกย่อง “งานเขียนที่หลากหลายของเธอ ซึ่งเป็นอนุสรณ์ถึงความทุกข์ยากแสนสาหัสและความกล้าหาญในช่วงเวลาของเรา”ด้วยการใช้ทักษะของความเป็นนักหนังสือพิมพ์ สร้างสรรค์งานเขียนด้วยวิธีการบันทึกเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์และน่าสะพรึงกลัวผ่านปากคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง แล้วบรรจงร้อยเรียงพรรณนาให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมที่กลายเป็นตำนานของสหภาพโซเวียตและยุคหลังการล่มสลาย รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน มหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อปี 2529 และการฆ่าตัวตายของประชาชนจำนวนมากหลังการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต

ขณะที่สเวตลานา อเล็กซีวิช ให้ความเห็นในเว็บไซต์ส่วนตัวว่าหนังสือของเธอถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางอารมณ์ หรือประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของผู้คนในยุคสหภาพโซเวียตและยุคหลังการล่มสลายอันเป็นเรื่องที่ไม่อาจจินตนาการหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาในรายละเอียดจริงๆที่มีอยู่มากมาย เธอย้ำว่าไม่ได้เขียนข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างไร้อารมณ์ความรู้สึก หากแต่เขียนประวัติศาสตร์ของความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าคิด, เข้าใจและจดจำอะไรในเหตุการณ์สำคัญๆนั้น อะไรคือสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ อะไรคือภาพลวงตา ความหวัง และความกลัวในสิ่งที่เคยประสบมา ผ่านการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักความริษยา ชีวิตในวัยเยาว์ และในวัยชรา โดยไม่มีการถามไถ่ในเรื่องของอุดมการณ์สังคมนิยม

สเวตลานา อเล็กซีวิชเกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2491 ที่เมืองอิวาโน-แฟงคิฟสค์ ทางตะวันตกของยูเครนซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เนื่องจากพ่อเป็นทหารเชื้อสายเบลารุสถูกส่งไปประจำการที่นี่ และได้แต่งงานกับสาวยูเครน หลังจากปลดประจำการแล้วก็พาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่เบลารุสเซีย จากนั้นก็ตั้งรกรากที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งแล้วสองสามีภรรยาก็ยึดอาชีพครู ส่วนสเวตลานามีโอกาสเรียนจบแค่ระดับมัธยมปลายก็ต้องลาออกมาเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ นอกจากต้องเขียนข่าวแล้วเธอยังเขียนเรื่องสั้นและบทกวีด้วยพร้อมๆกับการทำงานเป็นครู ก่อนจะสมัครเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเบลารุส จนจบเมื่อปี 2515 แล้วเริ่มทำงานควบทั้งครูและนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนหรือข่าวเจาะพิเศษ อีกทั้งยังเป็นนักเขียนประจำนิตยสารวรรณกรรม “เนมาน” ในกรุงมินสค์เมื่อปี 2519 และนักเขียนแนวสารคดีที่เรียบเรียงจากข้อเท็จจริงโดยเขียนด้วยภาษารัสเซีย อดีตภาษาแม่สมัยทีเบลารุสเซียยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ในฐานะนักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนและนักเขียนวรรณกรรม ทำให้อเล็กซีวิชต้องตระเวณเดินทางทั่วรัสเซียตลอดช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เพื่อสัมภาษณ์ประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆราว 500-1,000 คนในงานเขียนและชิ้น อาทิ ผู้ที่เคยอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกัน ช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและมหันตภัยเชอร์โนบิล งานเขียนแต่ละเล่มจึงต้องใช้เวลานานตั้งแต่ 5-10 ปี นอกจากงานเขียนแนวสารคดีชีวิตที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมนี ฝรั่งเศสและสวีเดน ตีพิมพ์ใน 19 ประเทศแล้ว เธอยังเขียนบทละคร 3 เรื่อง และบทภาพยนตร์สารคดี 21 เรื่อง

แม้ชื่อเสียงของอเล็กซีวิชจะโด่งดังเป็นที่รู้จักในแววงวรรณกรรมในหลายๆประเทศ แต่ในประเทศบ้านเกิดแล้ว แทบไม่มีใครรู้จักเธอมากนัก สืบเนื่องรัฐบาลประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ที่ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมานานว่า 20 ปี มองเธอว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสังคมและของประเทศชาติ จึงเซ็นเซอร์ผลงานทุกชิ้นที่เขียนเป็นภาษารัสเซียอย่างละเอียด ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาบรรดาสำนักพิมพ์ของรัฐไม่ยอมตีพิมพ์ผลงานต่างๆของเธอ ขณะที่สำนักพิมพ์เอกชนยอมพิมพ์งานแค่ 2 ชิ้นเท่านั้นคือ “Voices from Chernobyl” หรือ “เสียงจากเชอร์โนบิล”เมื่อปี 2542 และ “Second-hand Time” หรือ “เวลามือสอง” ในปี 2556 ซึ่งทั้ง 2 เล่มได้รับการแปลเป็นภาษาเบลารุส

ที่มาภาพ : http://media2.intoday.in/indiatoday/images/stories/literature_nobel_647_100815050157.jpg
ที่มาภาพ : http://media2.intoday.in/indiatoday/images/stories/literature_nobel_647_100815050157.jpg

เมื่อการข่มขู่คุกคามการกลั่นแกล้งผ่านการเซ็นเซอร์มีแต่หนักข้อมากขึ้นตามลำดับ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อปี 2543 โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายเมืองที่ใช้หลบภัยระหว่างประเทศที่เสนอให้ที่หลบภัยแก่เธอ ตลอดช่วง 10 ปีหลังจากนั้นอเล็กซีวิชได้โยกย้ายที่อยู่หลายแห่ง อาทิ ไปพำนักที่ปารีส โกเธนเบิร์กและเบอร์ลิน ก่อนจะเดินทางกลับไปที่กรุงมินสค์ในปี 2554 แล้วก็ยังทำตามเหมือนเดิมเฉกเดียวกับปัญญาชนและนักเขียนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดีลูกาเชนโกเรื่อยมา

นักเขียนและนักวิจารณ์ชาวรัสเซียผู้หนึ่งให้ความเห็นว่างานเขียนของอเล็กซีวิชล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจหรือต่อยอดมาจากแนวคิดของ อเลส อะดาโมวิช นักเขียนชาวเบลารุสที่ยืนยันว่าหนทางเดียวที่จะบอกเล่าหรือพรรณนาให้เห็นถึงความน่าสะพึงกลัวของศตวรรษที่ 20 ไม่ใช่ด้วยการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมขึ้นมาแต่จะต้องเป็นเอกสารบันทึกคำให้การของบรรดาประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ โดยหนังสือเล่มหนึ่งของ อเลส อะดาโมวิชที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการเขียนของเธอก็คือ “I’m from the Burned Village” หรือ”ฉันมาจากหมู่บ้านที่ถูกเผาวอด” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านหลายแห่งที่ถูกทหารนาซีเผาวอดในช่วงที่ยึดครองเบลารุสเซีย อเล็กซีวิชเองก็ยอมรับตามตรงถึงอิทธิพลของอะดาโมวิชที่มีต่องานเขียนของเธอ นอกเหนือจากวาซิล ไบคอ นักเขียนอีกคนหนึ่ง

ผลงานเล่มแรกของสเวตลานา อเล็กซีวิช คือ The Unwomanly Face of the War หรือ “โฉมหน้าของผู้หญิงที่หายไปในสงคราม” ตีพิมพ์เมื่อปี 2528 หลังจากถูกต่อต้านอย่างหนักทันทีที่เขียนเสร็จเมื่อปี 2526 และมีการเขียนเรื่องย่อลงในนิตยสารวรรณกรรมรายเดือนชื่อดังของโซเวียตก่อนจะรับการตีพิมพ์หลังจากนั้นหนึ่งปี จากนั้นก็มีการพิมพ์ซ้ำและจำหน่ายได้ว่า 2 ล้านเล่มภายในช่วง 5 ปี เป็นเรื่องของ “เสียง” หรือมุมมองของผู้หญิงหลายร้อยคนที่เคยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยต่อสู้กับทหารนาซีเยอรมัน แต่กลับเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อน

อีกเล่มหนึ่งก็คือ The Last Witnesses: the Book of Unchildlike Stories พูดถึงความทรงจำในวัยเยาว์ของผู้คนในช่วงสงคราม ภาพของสงครามในสายตาของเด็กและผู้หญิง ซึ่งเผยให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกใหม่ๆเกี่ยวกับสงครามที่ถูกละเลยมาตลอด

ปี 2536 ก็มีผลงานเล่มใหม่ชื่อ Enchanted with Death หรือ “เสียงเพรียกแห่งความตาย “ ว่าด้วยความพยายามฆ่าตัวตายจนสำเร็จของผู้คนจำนวนไม่ใช่น้อยที่รู้สึกสิ้นหวังและไม่สามารถปรับตัวให้กับสังคมใหม่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้

Voices from Chernobyl ที่มาภาพ : http://d.gr-assets.com/books/1181132374l/1116094.jpg
Voices from Chernobyl ที่มาภาพ : http://d.gr-assets.com/books/1181132374l/1116094.jpg

หนังสือที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วยังรวมไปถึงหนังสือ “ Zinky Boys: Soviet Voices from a Forgotten War ” หรือ “เสียงของทหารที่กลายเป็นศพในสงครามที่ถูกลืม” ซึ่งได้รวบรวมคำให้การของประจักษ์พยานในสงครามในอัฟกานิสถานที่ยังมีชีวิตอยู่ และเล่มที่ได้รับยกย่องมากที่สุดก็คือ “Voices from Chernobyl” หรือ “เสียงจากเชอร์โนบิล” ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าถึงมหันตภัยเชอร์โนบิล

ก่อนจะได้รับรางวัลเกียรติยศอันยิ่งใหญ่นี้ สเวตลานา อเล็กซีวิชเคยคว้ารางวัลต่างๆมากมายหลายรางวัล รวมไปถึงรางวัล “เพน” ของสวีเดนที่ยกย่อง “ความกล้าหาญและเกียรติยศในฐานะนักขียน” รวมทั้งรางวัล the National Book Critics Circle Award จากหนังสือเรื่อง “Voices from Chernobyl” เมื่อปี 2548

ด้วยวิญญาณของความเป็นนักข่าว ทุกวันนี้ สเวตลานา อเล็กซีวิช จึงมีบทบาทสำคัญในต่อต้านรัสเซียที่เข้าไปแทรกแซงปัญหาความขัดแย้งในยูเครน รวมทั้งกรณีผนวกแหลมไครเมียเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นการประทำเยี่ยงอาชญากร โจมตีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินว่าเป็นจักรวรรดินิยม ไม่นับรวมไปถึงการโจมตีประธานาธิบดีอเล็ซานเดอร์ ลูกาเชนโกแห่งเบลารุสเซียว่าว่าเป็นเผด็จการมานานกว่า 20 ปี

นอกเหนือจากใบประกาศเกียรติคุณที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2558 แล้ว สเวตลานา อเล็กซีวิช ยังได้รับเงินรางวัลเป็นของขวัญก้นถุงอีก 8 ล้านโครน (ราว 35 ล้านบาท) ซึ่งเธอกล่าวในเชิงหยิกแกมหยอกว่าต้องการนำเงินก้อนนี้ไปซื้อเสรีภาพให้กับประชาชน

นับเป็น”เสียง”ของเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ทั้งในฐานะผู้หญิง นักข่าวและนักเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวในเบลารุสเซียในยุคนี้สมัยนี้ได้ดีที่สุดเสียงหนึ่ง