ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (8): “เกรย์มาร์เก็ต” ร้องป.ป.ช. ขอข้อมูลจ่ายภาษีนำเข้ารถหรู “2 ดีลเลอร์” จากกรมศุลกากร

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (8): “เกรย์มาร์เก็ต” ร้องป.ป.ช. ขอข้อมูลจ่ายภาษีนำเข้ารถหรู “2 ดีลเลอร์” จากกรมศุลกากร

2 ตุลาคม 2015


เปรียบเทียบราคานำเข้ารถหรู1

จากกรณีที่กฎระเบียบคลุมเครือ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเลือกได้ว่าจะ “สงสัย” หรือ “ไม่สงสัย” ผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำ โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจเจ้าหน้าที่ศุลกากร ช่วงปี 2551 มีชิปปิ้งรายใหญ่หลายรายเริ่มมองเห็นช่องทางการทำมาหากิน เปลี่ยนอาชีพจากตัวแทนผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกในการผ่านพิธีการศุลกากร มาเป็น “ผู้นำเข้าอิสระ” หรือ “เกรย์มาร์เก็ต” สั่งนำเข้ารถยนต์หรูจากต่างประเทศมาขายให้โชว์รูมจำหน่ายรถยนต์

ปี 2552 ราคาสำแดงรถยนต์หรูที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรยอมรับและตรวจปล่อยรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น CLS 350 เดือนตุลาคม 2552 สำแดงราคาคันละ 762,337 บาท เดือนกันยายน 2553 สำแดงราคาคันละ 458,554 บาท หรือลดลง 303,783 บาท

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าในอัตรา 328% (รวมภาษีสรรพสามิต และ VAT)

หากผู้นำเข้าอิสระสำแดงราคานำเข้าต่ำ ทุกๆ 100,000 บาท ทำให้ต้นทุนผู้นำเข้าลดลง 328,000 บาท อย่างกรณีนำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น CLS 350 สำแดงราคาลดลง 303,783 บาท ช่วยประหยัดเงินค่าภาษีคันละ 996,408 บาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้โชว์รูมจำหน่ายรถยนต์ตั้งราคาขายรถยนต์ที่หน้าร้านต่ำกว่าตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผลิตรถยนต์โดยตรง

ปริมาณการนำเข้ารถหรู

หลังจากที่กระบวนการดังกล่าวแพร่พลาย จากเดิมมีชิปปิ้ง 4 ราย ในช่วงปลายปี 2552 มีชิปปิ้งรายเล็กๆในวงการเรียกกว่า “ชิปปิ้งผี” เปิดกิจการนำเข้ารถยนต์หรูกว่า 100 ราย

ช่วงปี 2552-2555 จึงถือเป็นยุคทองของ “เกรย์มาร์เก็ต” ราคารถยนต์หรูที่ผู้นำเข้าอิสระเหล่านี้สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรทยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณนำเข้ารถยนต์หรูเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ปี 2553 มีการนำเข้ารถยนต์หรู 6,708 คัน ปี 2554 นำเข้ามา 11,025 คัน ปี 2555 นำเข้ามาอีก 12,831 คัน

จนกระทั่งมาถึงยุคของนายสมชาย พูลสวัสดิ์ เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรต่อจากนายประสงค์ พูนธเนศ นายสมชายใช้อำนาจในทางบริหารขอให้ผู้นำเข้าอิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต” ปรับราคานำเข้ารถยนต์หรูถึง 3 ครั้ง และดำเนินมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ปริมาณนำเข้ารถยนต์หรูเริ่มปรับตัวลดลง นายสมชายพยายามยกร่างแก้ไขคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบหายไป และนายสมชายถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต

นางเบญจา หลุยเจริญ เข้ารับตำแหน่งแทนนายสมชาย ได้รับรายงานผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร หน่วยงานในสังกัดองค์การการค้าโลก (WTO) ว่ากรณีศุลกากรไทยใช้ฐานข้อมูลราคาสินค้ามากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำ เพื่อใช้คำนวณภาษี ขัดแย้งกับข้อตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร นางเบญจาจึงสั่งให้สำนักมาตรฐานและพิธีการศุลกากรออกหนังสือเวียนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านศุลกากร ไม่ให้ใช้ราคาจากฐานข้อมูลราคาดังกล่าวมากำหนดเป็นราคาศุลกากร

ต่อมาในสมัยของนายราฆพ ศรีศุภอรรถ เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ได้ออกคำสั่งกรมศุลกากรที่ 25/2557 แต่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ (วปส.) แต่ยังไม่ทันได้ออกมาตรการอะไร นายราฆพถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ กลับมารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเป็นสมัยที่ 2 และในวันที่ 3 กันยายน 2557 นายสมชัยออกมาตรการตรวจสอบควบคุมการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป เข้าตรวจสอบการนำเข้ารถหรูอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเกรย์มาร์เก็ต หากสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่า “ราคาทดสอบ” ไม่เกิน 2% ต้องส่งเรื่องให้ผู้อำนวยการส่วนเป็นผู้ลงนามอนุมัติการยอมรับราคาที่สำแดงเป็นราคาศุลกากร แต่ถ้าเป็น 2% ขึ้นไป ต้องส่งให้ผู้อำนวยการสำนักหรือนายด่านศุลกากรเป็นผู้ลงนามอนุมัติ

ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจปล่อยรถยนต์หรูเป็นมาตรฐานเดียวกัน วันที่ 8 เมษายน 2558 นายสมชัย แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปที่นำเข้า” หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ดึงอำนาจการอนุมัติตรวจปล่อยรถยนต์หรูจากด่านศุลกากรทั่วประเทศเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชุดนี้ และดำเนินการตรวจสอบรถยนต์หรูที่นำเข้าโดยเกรย์มาร์เก็ตอย่างเข้มงวด ยกเว้นรถยนต์หรูที่นำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง 75 ราย มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำด่านศุลกากรดำเนินการตรวจปล่อยรถยนต์ตามปกติ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 พ.ต.อ. อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือเลขที่ ปช 01.38/323ถึงนายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร โดยขอให้จัดส่งข้อมูลการเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ของบริษัท Millennium Auto ผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ Rolls-Royce, Aston Martin และ Mini Cooper และบริษัท City Automobile ผู้นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ Jaguar และ Land Rover ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงปัจจุบัน ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ ป.ป.ช. ทำหนังสือขอข้อมูลตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรู 2 ราย เนื่องจากมีบริษัทเกรย์มาร์เก็ตบางราย ทำหนังสือร้องเรียน ป.ป.ช. เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูทั้ง 2 ราย ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจสอบจากซูเปอร์บอร์ด