ThaiPublica > เกาะกระแส > SCG ลงทุนสร้างโรงปูนในเมียนมากว่า 1.2 หมื่นล้าน – สร้างสัมพันธ์ทำโครงการผ่าต้อกระจก เมืองเมาะลำใย

SCG ลงทุนสร้างโรงปูนในเมียนมากว่า 1.2 หมื่นล้าน – สร้างสัมพันธ์ทำโครงการผ่าต้อกระจก เมืองเมาะลำใย

26 ตุลาคม 2015


หลังจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ได้เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมามานานกว่า 20 ปี เริ่มต้นด้วยจำหน่ายซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ก่อนขยายไปสู่สินค้าด้านบรรจุภัณฑ์ และการตั้งฐานการผลิต

ในภูมิภาคอาเซียน เอสซีจีขยายการลงทุนเข้าไปในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ลาว โดยมีบริษัทในเครือกว่า 200 แห่ง

สำหรับสัดส่วนตลาดรวมของเอสซีจีในเมียนมาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 11% เป็นตลาดสำคัญอันดับ 4 รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่หากดูเฉพาะด้านการส่งออก เมียนมาถือเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของเอสซีจี รองจากอินโดนีเซีย(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

scg

scg

นายชนะ ภูมี Country Director-Myanmar เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า SCG ส่งวัสดุก่อสร้าง หรือพวกซีเมนต์มาขายที่เมียนมานานแล้ว ด้วยเงื่อนไขทางการค้าเขาจะไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาขายเอง จะให้คนท้องถิ่นเป็นคนขาย ดังนั้นจึงต้องหาคู่ค้าว่ารายไหนสามารถจะนำเข้าและกระจายสินค้า ส่วนเอสซีจีเข้ามาให้ความรู้ในการบริหารงาน

“สิ่งที่ทำให้ฐานตลาดและแบรนด์ของเอสซีจีมีความเข้มแข็งคือ คุณภาพของสินค้า เมื่อสินค้ามีคุณภาพดีก็เป็นที่ยอมรับมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่เอสซีจีได้ทำการปรับแบรนด์จากตราช้างมาเป็นเอสซีจีในเมียนมาได้เพียง 2 ปี แต่ผลตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากมีการช่วยสื่อสารออกไปทางภาคประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ส่วนตัวสินค้าเองก็สื่อสารในเรื่องของคุณภาพและความพร้อมของสินค้า การที่เข้ามาก่อนไม่ได้หมายความว่าจะมีแต้มต่อหรืออย่างไร เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในกรณี SCG ที่เข้ามาไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากเวลาทำอะไร SCG ทำสม่ำเสมอตั้งแต่แรก พอเขาเติบโตก็ยังทำเหมือนเดิม อะไรที่เคยต้องประสานงานไปช่วยเขา หรือกับหุ้นส่วนธุรกิจที่ต้องดูแลก็ดูเหมือนเดิม อันนี้ผมว่าน่าจะเป็นจุดแข็งของทาง SCG” นายชนะกล่าว

ปัจจุบันเอสซีจีได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเมียนมาแล้วสองแห่ง แห่งแรก คือ Myanmar CPAC Services Co Ltd (M.C.S) ที่เมืองย่างกุ้ง ถัดมาก็คือโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แบบครบวงจร พร้อมโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ ขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เมืองเมาะลำไย ใช้งบประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,400 ล้านบาท) มีกำลังผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี และโรงงานนี้มีการนำเทคโนโลยีสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2559 ซึ่งจะเป็นฐานให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาและในอาเซียน

พื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แบบครบวงจรของเอสซีจี ในเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่มาภาพ: www.thaiembassy.org
พื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แบบครบวงจรของเอสซีจี ในเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่มาภาพ: www.thaiembassy.org

ปัจจุบันพนักงานชาวเมียนมาของเอสซีจีมีจำนวน 290 คน และมีผู้รับเหมาอีกประมาณ 1,000 คน ส่วนพนักงานชาวไทยมีเพียง 10 คน

นายชนะกลาวว่า นอกจากเรื่องคุณภาพสินค้า เอสซีจียังยึดคติความซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจ โดยการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเสียภาษี 100% ในทุกที่ที่ไปตั้งฐานการผลิต ในกรณีของเมียนมา การสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แบบครบวงจร มีการเก็บภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย (Commercial Tax) ก็มีการนำเงินไปจ่ายเต็มจำนวน ตั้งแต่เข้ามาดำเนินการตั้งโรงงานที่เมียนมาจนถึงปัจจุบัน เอสซีจีเสียภาษีไปประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ทางทีมที่เมาะลำไยก็เป็นผู้เอาไปจ่าย เงินจ๊าดจะใช้เยอะหน่อย ก็จะใส่กระสอบ แบกไปพร้อมเอกสาร ไปจ่ายเขาก็ตกใจเพระเขาไม่มีที่เก็บ เขาติดต่อไปที่ส่วนกลาง จึงทำการสอบถามคนของเรา เขาก็ค่อนข้างชื่นชม ผู้รับเหมาที่ปกติเขาไม่เคยทำการเสียภาษีเราก็ให้เขาทำ คือนอกจากองค์กรเราจะถูกต้องแล้ว คนที่ทำงานกับเราก็ต้องทำถูกต้องด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ขายของ แต่ต้องให้คืนสู่สังคมบ้าง แล้วความประทับใจเขาก็จะเอาไปพูดต่อบอกต่อ สิ่งนี้จะมีคุณค่ามาก และกลับมาสู่บริษัท เวลาทำอะไรเขาก็จะนึกถึงเอสซีจีก่อนโดยที่เราไม่ต้องไปโฆษณา” นายชนะกล่าว

นายชนะกล่าวว่า ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเอสซีจีมีแบ่งการช่วยโดยตรง คือ การจ้างงานตรงกับคนในพื้นที่ และทางอ้อมคือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมรอบๆ พื้นที่โดยเริ่มจากการสำรวจดูว่าในแต่ละพื้นที่ขาดเหลือสิ่งใด ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันที่ไปติดต่อราชการหรือทำอะไร เขาจะเริ่มให้ความสะดวก เพราะเขาจะเริ่มรู้ว่าเราทำเรื่อยๆ เราไม่ได้ทำเป็นพักๆ แล้วไป

ที่ผ่านมาเอสซีจีได้ทำกิจกรรมสังคม อาทิ โครงการมอบทุนการศึกษา SCG Sharing the Dream และการบูรณะพระนอน Win Sein Taw Ya ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา การพัฒนาถนน-ทางเดิน การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายกิจกรรม อย่างโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกครั้งนี้ก็จะส่งผลถึงตัวสินค้าด้วย

สำหรับโครงการผ่าตัดต้อกระจก “Sharing a Brighter Vision” เมื่อวันที่ 8-9 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ SCG และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) ในการนำทีมจักษุแพทย์จากเมืองไทยเดินทางมาผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจำนวน 209 คน ณ โรงพยาบาลประจำเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ โดยเอสซีจีมีส่วนช่วยในการสนับสนุนงบดำเนินโครงการ และล่ามแปลภาษาจากพนักงานในองค์กร

ทั้งนี้ ในการคัดกรองเบื้องต้น มีผู้ป่วยโรคต้อกระจกสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 2,000 ราย แต่ขีดจำกัดในการขนย้ายและการเตรียมเครื่องมือแพทย์ การคำนวณศักยภาพของทีมแพทย์ทั้ง 25 คน รองรับผู้ป่วยได้เพียง 200 คนเท่านั้น

scg

การผ่าตัดตาต้อกระจง ที่โรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา
การผ่าตัดตาต้อกระจกที่โรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ ประเทศเมียนมา

เนื่องจากต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวและนำไปสู่ภาวะตาบอดได้ หมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่จะแย่ลงอย่างถาวร และกลายเป็นภาระของครอบครัวหรือแม้แต่ของรัฐที่ต้องอุดหนุนงบช่วยเหลือ ฉะนั้น การให้การรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยการผ่าตัดและใส่เลนส์แก้วตาเทียมจะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านอายุมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดต้อกระจก

นพ.นาย แวน เท จักษุแพทย์โรงพยาบาลประจำเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ เปิดเผยว่า โรคต้อกระจกถือเป็นหนึ่งโรคสำคัญที่เมียนมากำลังเผชิญ เพราะประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน จากสถิติพบว่าผู้สูงวัยอายุ 60 กว่าปีในเมืองเมาะลำไย ร้อยละ 80 ล้วนป่วยเป็นต้อกระจก

ส่วนผู้ป่วยโรคต้อกระจกในรัฐมอญที่ผ่านการคัดกรองว่าต้องเข้ารับการรักษาที่เหลืออีก 1,600 คน ทางโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและผ่าตัดรักษาตามลำดับ แต่คาดว่าจะมีผู้กลับมารับการรักษาแค่ร้อยละ 10 เพราะมีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง และการดูแลหลังจากการผ่าตัด

ด้าน นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและต้อกระจก โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยชาวเมียนมากลับมามองเห็นอีกครั้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ต่อคนประมาณ 17,000-30,000 บาท) ซึ่งเรานำเครื่องสลายต้อกระจกที่ทันสมัยที่สุดจากไทยราคา 22 ล้านบาท มาช่วยทำการผ่าตัด บวกกับความชำนาญของทีมแพทย์ ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร ฟื้นตัวไว และใช้เวลาผ่าตัดเฉลี่ย 7-8 นาทีเท่านั้น ทำให้ ทางคณะแพทย์ทำการผ่าตัดได้ครบทั้งหมดได้ในระยะเวลาเพียง 2 วัน

จากการพูดคุยกับญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง พบว่าผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองมีอาการของต้อกระจกในระดับที่มองเห็นเพียงแสงลางๆ บางรายตาข้างหนึ่งบอดสนิทแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ภายหลังการเปิดตาบางรายกล่าวทั้งน้ำตาว่า ดีใจที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ประกอบอาชีพต่างๆ ได้อีกครั้ง ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน

ทั้งนี้ นายอู โอน์ มิ มุขมนตรีรัฐมอญ ที่เป็นประธานในการเปิดงานได้กล่าวขอบคุณทีมแพทย์และหน่วยงานจากประเทศไทย โดยระบุว่า รัฐบาลเมียนมาตระหนักดีว่าการมีสุขภาพที่ดีเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ดำเนินโครงการด้านสาธารณสุขมาโดยตลอด ตนดีใจที่ภาคเอกชนมีความตื่นตัวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชีวิตของประชาชนเมียนมา ซึ่งโครงการ Sharing a Brighter Vision นี้ก็เป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจของภาคเอกชนอย่างแท้จริง