ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารต้นไม้ “ปลูกป่า ปลูกรายได้” 7 ปี เพิ่มพื้นที่ป่า 2.5 แสนไร่ – ธ.ก.ส. ผลักดันสู่การขายคาร์บอนเครดิต

ธนาคารต้นไม้ “ปลูกป่า ปลูกรายได้” 7 ปี เพิ่มพื้นที่ป่า 2.5 แสนไร่ – ธ.ก.ส. ผลักดันสู่การขายคาร์บอนเครดิต

13 ตุลาคม 2015


ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102 ล้านไร่ คิดเป็น 31.62% จาก 138 ล้านไร่ในปี 2516 และเคยลดลงเหลือเพียง 81 ล้านไร่ในปี 2541 พื้นที่ป่าที่หายไปปัจจุบันถูกแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัย รีสอร์ทตากอากาศ ทั้งมีส่วนที่ผันแปรสู่อุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยวอีกจำนวนไม่น้อย ขณะเดียวกัน รัฐเองก็พยายามใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดจัดการกับผู้บุกรุกป่าภายใต้ปฏิบัติการ “ยุทธการทวงคืนผืนป่า”

นอกเหนือจากการจัดการขั้นเด็ดขาด หลายๆ หน่วยงาน หลายองค์กรพยายามใช้วิธีผ่อนปรนผ่านการสร้างจิตสำนึก จัดทำโครงการปลูกป่าในวันสำคัญต่างๆ แต่หน่วยงานอย่าง “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” (ธ.ก.ส.) มองมากกว่าการปลูกป่า

จากการสำรวจปัญหาของเกษตรกร ผนวกกับได้รับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และการต้องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเกิดโครงการ “ธนาคารต้นไม้” ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “ต้นไม้” เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง มีราคา สามารถถือครองได้ สามารถใช้เป็นบำนาญยามชรา และเป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไปได้

การลงพื้นที่ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี เป็นการต่อยอดจากประเด็นแนวคิด ว่าที่ ร.ต. ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารต้นไม้ เคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปโครงการนี้ในข่าว “ ‘ไสว แสงสว่าง’ เปลี่ยนผ่านวิธีคิด ‘ธกส.’ …สร้างธนาคารต้นไม้ เขตปลอดหนี้ -ปลอดทุกข์”

พื้นที่ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ
พื้นที่ธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ

ปลูกต้นไม้-ปลูกรายได้

นายสุเทพ พิมพ์ศิริ ประธานธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ ควบตำแหน่งประธานธนาคารต้นไม้ภาคตะวันตก บอกเล่าถึงการเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ให้ฟังว่า ตนมีอาชีพรับจัดสวน และไม่ใช่คนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี แต่ได้มาแต่งงานและมีครอบครัวที่นี่ และเมื่อก่อนที่บ้านถ้ำเสือเองก็ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีในการทำเกษตร

เมื่อปี 2549 ตนได้รับมอบหมายจากอดีตผู้ใหญ่บ้านให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมอบรมโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อศึกษาว่าโครงการนี้ให้ประโยชน์อะไร เมื่อผ่านการอบรมแล้วจึงเกิดความสนใจที่จะทำต่อ

“ธนาคารต้นไม้เป็นเรื่องที่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าอนาคต หรือปัจจุบัน และสิ่งที่ได้ตามมาจากแนวพระราชดำริคือ เรื่องไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ให้ทั้งเรื่องกิน การใช้สอย เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องระบบนิเวศ ตรงกับความต้องการที่อยากใช้ชีวิตแบบนี้ ซึ่งแรกๆ ปัญหาเยอะมาก และผมไม่ใช่คนในพื้นที่ ชาวบ้านเองก็มีความเชื่อเดิมๆ ของเขา หลายคนบอกว่าผมบ้า ที่จะปลูกต้นไม้ กว่าจะปรับเปลี่ยนได้ต้องขอให้คนรอบข้างช่วยทำให้เห็นก่อนว่าการเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ดีจริง มีรายได้เพิ่มขึ้นจริง”

นายสุเทพกล่าวต่อไปว่า การปลูกจะเน้นต้นไม้ หรือพันธุ์พืชเดิมๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การปลูกต้นไม้ต้องเลือกให้เหมาะสมตามภูมิสังคมเพราะแต่ละที่มีความเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน และธนาคารต้นไม้ไม่ได้เน้นปลูกเฉพาะไม้ที่ใช้เนื้อไม้ได้อย่างเดียว ไม้กิน ไม้ดอก ไม้ประดับ ก็เป็นธนาคารต้นไม้ได้ แต่ไม้ที่จะนำมาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้จะต้องเป็นไม้ที่ใช้เนื้อไม้ได้ในอนาคตเท่านั้น

นายสุเทพระบุว่า ผู้เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้จะต้องมีต้นไม้ 9 ต้นขึ้นไป โดยมีสมาชิกเริ่มแรกไม่ต่ำกว่า 30 คน เพื่อให้เกิดเป็นองค์กร ปัจจุบันกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือมีสมาชิกทั้งสิ้น 70 คน ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่เข้าร่วมโครงการยอดสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่าในพื้นที่มีจำนวนต้นไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. แล้วประมาณ 20,000 ต้น

นายสุเทพ พิมพ์ศิริ หรือพี่น้อย ประธานธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ
นายสุเทพ พิมพ์ศิริ หรือพี่น้อย ประธานธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ
ภาพที่ 1 เลขทะเบียนของต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ภาพที่ 2 ทำการวัดวงรอบต้นไม้ ภาพที่ 3 กำหนดพิกัดของต้นไม้ ภาพที่ 4 วัดส่วนสูงของต้นไม้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
ภาพที่ 1 เลขทะเบียนของต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ภาพที่ 2 ทำการวัดวงรอบต้นไม้ ภาพที่ 3 กำหนดพิกัดของต้นไม้ ภาพที่ 4 วัดส่วนสูงของต้นไม้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายสุเทพกล่าวต่อไปว่า การทำธนาคารต้นไม้ ถือเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน จริงๆ แล้วรายได้ของธนาคารต้นไม้เองยังไม่มี แต่มูลค่าต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม้แต่ละชนิดจะมีการวัดวงรอบส่ง ธ.ก.ส. เพื่อออมมูลค่าไว้ ปีหนึ่งๆ จะได้มูลค่าต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 40 บาท และจะได้รับดอกเบี้ยเป็นค่าดูแลรักษาต้นไม้ต้นละ 3 บาทต่อต้นต่อปี

“หลักๆ เขาก็ทำการเกษตรกันไป แต่ธนาคารต้นไม้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำนี่นั่นเพิ่มเติมเป็นรายได้พิเศษให้ชาวบ้านอยู่ได้ อย่างแม่ยายผมก็ทำร้านค้าสวัสดิการ รวมตัวกันได้ 60 คนแล้วจากสมาชิกธนาคารต้นไม้ มีการปันผลทุกปี ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อหุ้น สิ่งเหล่านี้ก็ได้เรียนรู้จาก ธ.ก.ส. เขาเข้ามาสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และสอนอาชีพให้เรื่อยๆ”

กลุ่มอาชีพต่างๆ ของธนาคารต้นไม้ที่เกิดขึ้นถือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งวันนี้มีการแตกแขนงออกมา อาทิ กลุ่มขนมไทย กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มผักอินทรีย์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน ซึ่งได้เงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. จากผู้ฝากเงินในโครงการเงินออมธนาคารต้นไม้ มาสนับสนุนเป็นเงินทุนสำหรับแต่ละกลุ่ม รวมทั้ง ธ.ก.ส. เองก็ยินดีสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพียงแต่ละกลุ่มสร้างกิจกรรมให้ต่อเนื่อง ก็จะได้รับทุนสนับสนุนไปเรื่อยๆ

นายสุเทพกล่าวว่า หากไม่ทำอะไรพวกนี้ไว้เลย เด็กที่ไปเรียนในกรุงเทพฯ กลับมาบ้านเขาก็จะไม่อยู่เพราะมีแต่ความแห้งแล้ง กลุ่มอาชีพก็ไม่มีรองรับเขา จึงต้องทำพื้นฐานในการดำรงชีวิตไว้ให้เขา เราได้ใช้พลังงานจากต้นไม้ การตัดแต่งกิ่งทุกปีสามารถเอามาเผาด้วยเตาอิวาเตะเป็นพลังงานทดแทนได้ และถ่านที่เผาด้วยเตาความร้อนสูงมีความบริสุทธิ์ สามารถนำมาทำน้ำส้มควันไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชได้หลายอย่าง

สร้างงานสร้างอาชีพ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มผักอินทรีย์ กลุ่มผู้สูงอายุบ้านถ้ำเสือ

สำหรับบ้านถ้ำเสือนั้น โครงการธนาคารต้นไม้ที่นี่ถือเป็นโครงการต้นแบบให้กับอีกหลายๆ ที่ นายสุเทพเล่าว่า การที่ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้จึงก่อเกิดกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้น เนื่องจากการมาดูโครงการต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา การเปิดโฮมสเตย์ให้พักอาศัยจึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาศึกษาโครงการ และเป็นการสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน นอกจากนี้ สิ่งที่ได้กลับมาคือมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับคนภายนอก บ้านถ้ำเสือจึงได้เริ่มทำโฮมสเตย์ และส่งประกวดในปี 2554 และผ่านมาตรฐานทั้ง 5 หลัง ในปี 2557 ที่มีการประเมินครั้งล่าสุดโฮมเตย์ที่นี่ก็ยังคงผ่านมาตรฐาน ราคา 500 บาท/คน โดยเงินจำนวน 250 บาทเป็นของเจ้าของบ้าน ส่วนที่เหลือเป็นค่าอาหาร และเก็บเข้ากองกลาง

การรวมกลุ่มของชาวบ้าน ภาพที่ 1 โฮมเสตย์ ภาพที่ 2 ผลิตภัณฑ์ทองม้วนจากกลุ่มขนมไทย ภาพที่ 3 ร้านค้าสวัสดิการ ภาพที่ 4 การทำยาสมุนไพรจากกลุ่มผู้สูงอายุ
การรวมกลุ่มของชาวบ้าน ภาพที่ 1 โฮมเสตย์ ภาพที่ 2 ผลิตภัณฑ์ทองม้วนจากกลุ่มขนมไทย ภาพที่ 3 ร้านค้าสวัสดิการ ภาพที่ 4 การทำยาสมุนไพรจากกลุ่มผู้สูงอายุ

ด้านกลุ่มผักอินทรีย์นั้น หลังจากผ่านการอบรมจาก ธ.ก.ส. แล้วจึงนำมาขยายผล ปัจจุบันมีผู้ร่วมทำผักอินทรีย์ 13 คน โดยใช้ชีวพันธุ์จากสิ่งที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาต่อยอดทำปุ๋ยน้ำ ยาสำหรับไล่เชื้อรา กันโรคกันแมลง ซึ่งจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมา โดยผักเหล่านี้พี่น้อยระบุว่าจะมีโรงแรมจากตัวจังหวัดมารับซื้อ ราคากิโลกรัมละ 70 บาท 300 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ รวมทั้งส่งขายที่ตลาด และการสั่งซื้อจากภายนอกอีก ซึ่งผักที่ส่งขายปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ชาวบ้านจะทำเรื่อยๆ เท่าที่ทำไหว เพราะพวกเขายังคงมีอาชีพหลักของตนเองอยู่

นอกจากนี้ การรวมกลุ่มยังส่งผลต่อผู้สูงอายุที่นี่ นางวรรณา อินมี ตัวแทนผู้สูงอายุบ้านถ้ำเสือ บอกเล่าถึงการทำงานของพวกตนว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุบ้านถ้ำเสือมีสมาชิกจำนวน 32 ราย ผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี จะเป็นผู้ปลูกสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน มะรุม เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตากแห้ง รอให้ผู้สูงอายุวัย 70-80 ปี นำมาใน่แคปซูลและบรรจุภัณฑ์ ในกระปุกหนึ่งจะบรรจุแคปซูล 100 เม็ด ราคา 80 บาท วางจำหน่ายที่บ้านถ้ำเสือเองและบูธร้านค้าเมื่อไปออกงาน โดยการผลิตสมุนไพรนี้ไม่ได้มีการกำหนดตายตัว เพียงแต่เป็นการหากิจกรรมยามว่างให้ผู้สูงอายุทำ เงินที่ได้ก็จะนำมาปันผลคืนให้กับสมาชิก

“มันไม่ได้มาทันทีทันใดในปีสองปี แต่ว่ากลุ่มอาชีพอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาโดยที่ไม่ต้องไปขวนขวายออกไปนอกบ้านหางานอื่นทำ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างการทำเกษตรอินทรีย์ก็ไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาขวดละหลายร้อย ทำใช้เองต้นทุนแค่ 10-20 บาท มันมีผลกลับมาที่สุขภาพของเกษตรกรเอง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันเราต้องสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้มั่นคง โดยใช้ต้นไม้เป็นตัวชี้วัด” นายสุเทพกล่าว

อนาคต ทรัพยฺสินจากต้นไม้

นอกเหนือจากการรวมกลุ่มสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชนแล้ว ได้มีการวางแผนที่จะนำต้นไม้มาใช้ประโยชน์แล้ว โดยการรวมกลุ่มทำโรงเลื่อยชุมชน

“ตอนแรกก็มึนว่าหากจะแปรรูปจะทำอย่างไร เขาก็บอกว่าถ้าเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว เรามีกลุ่มธนาคารต้นไม้อยู่แล้ว เราสามารถทำโครงการเสนอขอเงินอุดหนุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มาร่วมกิจกรรมได้ โดยไม้มี 4 กลุ่ม เนื้ออ่อน เนื้อปานกลาง ไม้สัก และ เนื้อแข็ง เราให้ปลูกทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อให้รอบตัดฟันสลับกัน และต้องมีการปลูกทดแทนไม้ที่ตัดไปก่อนโค่นต้นไม้มาใช้”

สำหรับเรื่องการตัดหรือไม่ตัดต้นไม้ ชาวบ้านถ้ำเสือได้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้พี่น้อยกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีใครอยากตัด แต่อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าก็จะเริ่มทำโรงเลื่อยชุมชน คือทุกคนก็จะมีไม้ที่พร้อมสำหรับแปรรูปแล้ว ชาวบ้านแต่ละคนล้วนมีทักษะในด้านนี้ แต่ว่าทุกคนพร้อมจะตัดหรือเปล่า หากไม้โตเต็มที่พร้อมตัด ก่อนจะตัดฟันต้องวางแผนอย่างน้อย 2-3 ปีในการปลูกทดแทน

นอกจากนี้ ต้นไม้ที่ปลูกแต่ละปี ถ้าวัดแล้ววงรอบต้นไม้เพิ่มขึ้น มูลค่าต้นไม้ก็เพิ่ม สามารถนำไปต่อรองเป็นหลักประกันเงินกู้ของสถาบันการเงินชุมชนได้ ประเมินได้เหมือนที่ดินเลย ต่อไปในอนาคตเกษตรกรไม่ต้องสูญเสียที่ดินในการกู้ยืมเงิน

ว่าที่ ร.ต.ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารต้นไม้
ว่าที่ ร.ต. ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารต้นไม้

“ถามว่าตัดไปขายใครก็เป็น ธ.ก.ส. อีกแล้วที่จะสนับสนุนโรงเลื่อยชุมชนเป็นวิสาหกิจชุมชน ให้คนในชุมชนแปรรูปแล้วขายกันเอง หากแปรรูปแล้วไม่ทำเฟอร์นิเจอร์ก็ขายเป็นตัวไม้ให้กับพ่อค้าได้ ไม่ต้องให้พ่อค้าคนกลางเข้ามายุ่ง รายได้จะยิงตรงเข้าหาเจ้าของต้นไม้เอง และถ้าที่่บ้านถ้ำเสือไม่มีใครตัดเลย ธ.ก.ส. ก็จะทำโครงการคาร์บอนเครดิตเสนอยูเนสโก เพื่อเป็นรายได้ให้กับชาวบ้านถ้ำเสือและคนปลูกต้นไม้”

ด้านว่าที่ ร.ต. ไสว ระบุว่า ขณะนี้ทาง ธ.ก.ส. ได้ติดต่อผู้รับซื้อไม้จากต่างประเทศไว้รองรับตลาดไม้ของชาวบ้านในอนาคตแล้ว เท่ากับลดความเสี่ยงให้กับชาวบ้านด้วยการมีตลาดในการขายสินค้าแน่นอน

คาร์บอนเครดิต ต้นไม้ช่วยโลก

จากผลการดำเนินงานโครงการธนาคารต้นไม้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 พบว่า สมาชิกในโครงการธนาคารต้นไม้ทั้งประเทศมีจำนวน 5,608 ชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 90,188 ราย ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้นำมาฝากธนาคารต้นไม้แล้ว 9,271,625 ต้น กินเนื้อที่ประมาณ 2.5 แสนไร่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินมูลค่าต้นไม้ จับพิกัด GPS และจัดทำแผนที่ GIS (โฉนด-ต้นไม้)

โดยภายในปี พ.ศ. 2563 มีเป้าหมายว่าจะขยายเป็น 20,000 ชุมชน โดยมีสมาชิก 1 ล้านครัวเรือน ปลูกต้นไม้ 1,000 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้ 1 ล้านล้านบาท (1,000 บาท/ต้น) และต้นไม้ที่ปลูกยังสามารถสร้างหลักประกันหนี้เงินกู้ถึง 5 แสนล้านบาท (50% ของมูลค่าต้นไม้)

นอกจาก “ธนาคารต้นไม้” ได้ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย “ทุน” ผ่านการดำเนินงานโครงการ “เงินออมธนาคารต้นไม้” สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ในอนาคต “ธนาคารต้นไม้” ยังจะกลายเป็น “แหล่งคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)” โดย การขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่ภาคเอกชนต่างๆ ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

ทั้งนี้ ผู้จัดการธนาคารต้นไม้ระบุว่า ในปี 2558 นี้เองทาง ธ.ก.ส. ได้เริ่มทำเรื่องคาร์บอนฟุตพรินท์ เหมือนกับกระบวนการของภาคอุตสาหกรรม แต่มาดูในระบบของธนาคาร ว่าตั้งแต่กระบวนการทำงานต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร แล้วก็คำนวณออกมา เช่น แอร์ น้ำมันรถ การใช้กระดาษ เป็นต้น (คลิกภาพเพื่อขยาย)

คาร์บอนเครดิต

“เป้าหมายต่อไปของ ธ.ก.ส. คือการผลิตคาร์บอนออกขาย และมีเป้าหมายที่จะทำการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้กักเก็บ และนำไปเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม เพราะต่อไปหากภาคอุตสาหกรรมไม่ทำคาร์บอนฟรุตพรินท์ก็จะไม่สามารถส่งสินค้าไปขายที่ยุโรปหรืออเมริกาได้” ว่าที่ ร.ต. ไสว กล่าว

ว่าที่ ร.ต. ไสว กล่าวต่อไปว่า การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมทำโดยการสำรวจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อากาศ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ผลิตในโรงงานของตัวเองปล่อยคาร์บอนเท่าไร สมมุติว่า 10,000 ตัน เราก็ขายไปให้เขา เขาก็จ่ายเงินมาให้ชุมชน ปีนี้ได้เตรียมประชุมเรื่องนี้และคำนวณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน หลังจากนั้นก็จะเสนอขาย

“เพราะต้นไม้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเข้าไป และเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้ เนื้อไม้นี่แหละคือคาร์บอน ถ้ายิ่งต้นโตก็เท่ากับกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้น ในการคำนวณก็จะทำการวัดต้นไม้ก่อน ก็จะรู้ปริมาตรไม้ สมมติว่าต้นกันเกรามีปริมาตร 0.229 ลูกบาศก์เมตร ก็จะคำนวณกลับมาว่าเป็นคาร์บอนเท่าไร เวลาขายก็จะคำนวณต้นไม้ในแต่ละที่ อย่างที่บ้านถ้ำเสือก็ดูว่าต้นไม้ที่นี่สามารถดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้กี่ตัน และนำไปขายกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ราคาต่อตันอยู่ที่ประมาณ 7 ยูโรต่อตัน” ว่าที่ ร.ต. ไสว กล่าว

เมื่อถามถึงความสำเร็จของโครงการ ผู้จัดการธนาคารต้นไม้กล่าวว่า ตามโรดแมปการทำโครงการธนาคารต้นไม้ตอนนี้ถือเป็นช่วงของการขยาย ช่วงหน้าจะเป็นช่วงของการสร้างมูลค่าให้โครงการ คือจะทำอย่างไรให้ต้นไม่มีคุณค่าระหว่างที่ยืนต้นมีอายุ เช่น ใช้เป็นหลักประกันได้ ใช้ชำระหนี้ได้ ขายคาร์บอนได้ ในบริเวณที่ร่มรื่นสามารถทำโฮมสเตย์ได้ และสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ นี่เป็นขั้นตอนที่จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้

การจัดกลุ่มเนื้อไม้

กลุ่มที่ 1 ไม้โตเร็วเนื้ออ่อนราคาต่ำ ลูกบาศก์เมตรละ 2,500 บาท ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็ว รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ ต้นไม้ในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างเร็ว เช่น กระถินเทพา ปอ ทุเรียนบ้าน ฯลฯ

กลุ่มที่ 2 ไม้โตปานกลางเนื้อปานกลางราคาไม่สูง ราคาลูกบาศก์เมตรละ 5,000 บาท ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง ต้นไม้ในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 เช่น มะฮอกกานี พะยอม ยาง ฯลฯ

กลุ่มที่ 3 ไม้โตค่อนข้างเร็วถึงโตช้า เนื้อแข็ง ลูกบาศก์เมตรละ 7,500 บาท ต้นไม้ในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 โดยมีการเติบโตใกล้เคียงกับต้นไม้ในกลุ่มที่ 2 แต่มูลค่าของเนื้อไม้สูงกว่าไม้ในกลุ่มที่ 2 เช่น มะค่าโมง แดง ประดู่ ฯลฯ

กลุ่มที่ 4 ไม้ราคาสูงเป็นพิเศษ ลูกบาศก์เมตรละ 10,000 บาท ต้นไม้ในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตช้ามาก ราคาแพง รอบตัดฟันยาว โดยเฉพาะในระยะแรก มีมูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก และเติบโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 โดยมีเติบโตใกล้เคียงกับต้นไม้ในกลุ่มที่ 2 แต่มูลค่าของเนื้อไม้สูงกว่าไม้ในกลุ่มที่ 2เช่น พะยูง สัก จำปาทอง ฯลฯ