ThaiPublica > เกาะกระแส > รัฐบาลควัก 5,000 ล้าน หนุน SMEs เว้นภาษี ธุรกิจขนาดเล็กเพิ่งตั้ง – “ประยุทธ์” ไฟเขียว กสทช. ประมูล 4G ชี้ TOT ขวางมีแต่เสีย

รัฐบาลควัก 5,000 ล้าน หนุน SMEs เว้นภาษี ธุรกิจขนาดเล็กเพิ่งตั้ง – “ประยุทธ์” ไฟเขียว กสทช. ประมูล 4G ชี้ TOT ขวางมีแต่เสีย

28 ตุลาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/271015/271015-64940.html#joomimg
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/271015/271015-64940.html#joomimg

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ เปิดแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกือบ 30 เรื่อง โดยมีเรื่องสำคัญ ดังนี้

เริ่มปรองดองคดีการเมือง ปี 2560 – ไม่รวมปมทุจริต

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมองค์กรแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งประกอบด้วย คสช. ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่รัฐสภา ว่า ตนจะไปให้นโยบายและแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูปประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 – เดือนตุลาคม 2559 ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประยะที่ 1 เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปได้ดำเนินการปฏิรูประยะที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้จะให้อิสระสมาชิกแต่ละองค์กรได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่มีการปิดกั้น

“อย่ามองแค่เรื่องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะประเทศยังมีปัญหาอีกมาก ทั้งเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจ ผมเข้ามาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ จึงหวังว่าประชาชนจะเข้าใจตรงจุดนี้ ที่ผ่านมาหลายเรื่องที่คนดูแคลนว่าผมจะทำไม่สำเร็จ สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ เช่น การจัดระเบียบทางเท้า” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีบางฝ่ายวิจารณ์ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมว่า ตนได้ให้นโยบายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไปว่า คดีต่างๆ อยากให้เสร็จสิ้นภายในปี 2559 เพื่อที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองในปี 2560 โดยจะใช้กฎหมายปกติ ใช้กับทุกสี ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ทุกคดี ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วเท่านั้น

“คดีที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง จะมีเฉพาะคดีการเมืองเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีทุจริต” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการเรียกชดเชยค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ขณะนี้ยังไม่มีการเสนอมาให้ตนลงนามในคำสั่ง หากเสนอมาตนก็จะลงนามทันที ทั้งนี้ไม่เป็นห่วงเรื่องระยะเวลา เพราะเชื่อว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คงจะไม่ทำให้พ้นระยะเวลา

เดินหน้าประมูล 4G – ติง TOT ขวางไม่ได้อะไร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (คลื่นฯ 900 MHz) เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เนื่องจากสหภาพแรงงานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ต้องการนำคลื่นที่หมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 มาบริหารจัดการเอง ไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปเปิดประมูล ว่า การประมูลคลื่นฯ 900 MHz ต้องเดินหน้าต่อไป หากมีปัญหาข้อกฎหมายก็ไปฟ้องร้องเอา แต่ท้ายสุดเชื่อว่าคนที่ฟ้องจะไม่ได้อะไรทั้งสิ้น การนำคลื่นฯ 900 MHz ประมูลจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะ TOT เองก็จะได้เงินไปดูแลพนักงาน ส่วนประชาชนก็จะได้ใช้ 4G เท่าที่ทราบคือทั้ง 2 ฝ่าย คือ กสทช. กับ TOT กำลังพูดคุยหาทางออกกันอยู่ ตนคงไม่ไปสั่งการอะไรทั้งสิ้น แต่หาก TOT ต้องการคลื่นฯ 900 MHz คืนทั้งหมด เกรงว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน

พร้อมช่วยชาวสวนยาง วอนอย่าทำผิด กม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการดูแลชาวสวนยางที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณียางพารามีราคาตกต่ำ ว่า ตนอยากให้แกนนำชาวสวนยางเคารพกฎหมาย หากทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือประกาศ คสช. ก็ต้องถูกดำเนินคดี รัฐบาลพร้อมจะช่วยเหลือคนที่เคลื่อนไหวอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ตนเห็นใจคนยากจนแต่ขอว่าอย่าไปเป็นเครื่องมือให้คนบางกลุ่มใช้เป็นเส้นทางสู่การเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในองค์กรใดเลย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมจะหาวิธีช่วยเหลือชาวสวนยางที่ทำถูกกฎหมาย เช่น เรื่องเงินชดเชยชาวสวนยางไร่ละ 1,250 บาท โดยแบ่งกันระหว่างคนกรีดยางกับเจ้าของสวนยางในอัตราส่วน 60:40 รวมถึงการเพิ่มการบริโภคยางพาราภายในประเทศ ทั้งการนำไปทำถนนและการทำสนามฟุตซอล

ให้ มท. ทวงคืนรุกที่ภูทับเบิก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินบนภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ว่า ที่ดินหลายร้อยไร่ต้องเอาคืนเพราะเป็นป่าอุทยานและป่าต้นน้ำ ส่วนป่าเสื่อมโทรมต้องไปดูว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ เดิมชาวบ้านเข้ามาขอใช้พื้นที่เป็นนิคมสร้างตนเอง มีการนำไปทำไร่ปลูกกะหล่ำปลี แต่ต่อมามีการนำไปทำเรื่องการท่องเที่ยว ตนจึงให้นโยบายกับกระทรวงมหาดไทยไปว่า เดิมขอมาเท่าไรก็ให้ไปเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องนำคืนมา โดยต้องหาวิธีให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนชาวบ้านคนไหนที่มีปัญหาเรื่องที่ทำกิน ก็ให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่ทำกินของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยเหลือไปได้หลายรายแล้ว แต่จะไม่ออกเป็นโฉนดที่ดินให้ ไม่เช่นนั้นก็อาจถูกนำไปขายอีก

คัดสินค้าไทยส่งออกตลาดโลก ยกตัวอย่าง 2 แบรนด์ดัง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังหาวิธีให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะบรรพวก Startup ทั้งหมด ให้สามารถไปวางขายในต่างประเทศไทย เช่น กรณีเครื่องสำอางยี่ห้อ THANN ที่สามารถวางขายคู่กับแบรนด์ดังระดับโลกได้ เช่นเดียวกับกระเป๋ายี่ห้อ NARAYA ที่ได้รับความนิยม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคัดเลือกสินค้าที่น่าจะขายในต่างประเทศได้เพื่อส่งออก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ไขเรื่องภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐว่า ตนเพียงแต่เสนอให้มีการทำงานวิจัยเพื่อหาทางเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐเท่านั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐมีภาระค่อนข้างมาจากรัฐสวัสดิการทั้งสาธารณสุขและการศึกษา หลายประเทศที่สามารถทำรัฐสวัสดิการได้อย่างเต็มที่เพราะมีระบบจัดการภาษีที่ดีทำให้มีรายได้อย่างเพียงพอ

EU พอใจไทยแก้ประมงผิด กม. – บี้สร้างโรงงานพลังงานทดแทน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และขาดการควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองกับไทย ว่า เรื่องนี้ถือว่ามีความก้าวหน้าที่ทาง EU ก็ให้การยอมรับ แต่เรื่อง IUU ก็มีบางเรื่องที่ผูกพันกับการค้ามนุษย์ด้วย จึงต้องเดินหน้าทำงานต่อไป

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนว่า ตนได้ให้นโยบายไปว่าให้โรงงานพลังงานทดแทนที่ได้รับการอนุมัติไปตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ให้เร่งก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2558 ใครที่ยังไม่ก่อสร้างจะขอโควตาคืน เพื่อจะได้มีโควตาไปสร้างโรงงานพลังงานทดแทนอื่นๆ

ควักงบ 5 พันล้านหนุน SMEs – เว้นภาษีช่วยธุรกิจขนาดเล็กเพิ่งก่อตั้ง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small Medium Enterprises: SMEs) แพ็คเกจที่สอง ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยจะใช้งบประมาณของปีงบประมาณ 2559 ของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมวงเงิน 5,097 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้ราว 1 แสนราย แบ่งเป็น

– การเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SMEs ที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว (Regular) จำนวน 55,338 ราย

– การสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Startup) จำนวน 22,715 ราย

– การช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ (Turnaround) ในการปรับแผนธุรกิจเป็นการเร่งด่วน จำนวน 17,000 ราย

– การสร้างและพัฒนาปัจจัยสนับสนุน (Enabling Business) จำนวน 2,450 ราย ในด้านการสนับสนุนเงินทุน การจดทะเบียนโรงงาน และการจดทะเบียนสัญญาธุรกิจ

“นายกฯ ยังได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดต่างประเทศ ทั้งสินค้าพวกเครื่องหนัง อัญมณี เครื่องสำอาง ธุรกิจสปา สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น” นางอรรชกากล่าว

วันเดียวกัน พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับ SMEs กลุ่มใหม่ ใน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. กลุ่มเกษตรแปรรูป และ 3. กลุ่มวิจัยพัฒนา โดยมีเงื่อนไขว่า SMEs เหล่านี้จะต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งทุนจดทะเบียนได้ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท

ตีตก แก้ กม.ภาษีบำรุงท้องถิ่น คาดประชาชนจ่ายเพิ่ม 38 เท่า

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 (ฉบับที่..) พ.ศ. .… ที่มีสาระสำคัญ คือให้ใช้ราคาปานกลางสำหรับประเมินภาษีบำรุงท้องที่เพื่อให้สะท้อนถึงราคาที่ดินที่แท้จริง เพราะเมื่อคำนวณแล้วจะทำให้ผู้เสียภาษีทั้งประเทศต้องจ่ายภาษีบำรุงท้องถิ่นเพิ่มเฉลี่ย 4,284 บาท/ไร่ หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 38 เท่า ซึ่งกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้เลื่อนการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ครั้งนี้ออกไปก่อน รอจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวค่อยนำมาพิจารณาใหม่

คลอดมาตรการจูงใจลงทุนอสังหาฯ ผ่านกองทรัสต์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เรื่อง มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยมีร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ อาทิ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้กับการโอนทรัพย์สินจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ไปเป็นกองทรัสต์, ยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ถือหน่วยลงทุนในกอง 1 ไปเป็นกองทรัสต์, ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดให้กับการโอนทรัพย์สินจากกอง 1 ไปเป็นกองทรัสต์ ฯลฯ เป็นต้น โดยมาตรการเหล่านี้จะมีผลงบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.ฎ. ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

“การใช้กองทรัสต์เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ภาษีและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนปี 2550 ประเทศไทยไม่มีกฎหมายทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ทำให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อาทิ คอนโดมีเนียม ฯลฯ สถาบันการเงินมักจะเปิดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกอง 1 ที่มีข้อจำกัดคือไม่สามารถนำเงินที่มีอยู่ไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นได้ การที่รัฐบาลอนุมัติให้แปลงกอง 1 ไปเป็นกองทรัสต์ได้ เพราะเห็นว่ากองทรัสต์มีความเหมาะสม ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมากกว่า

พม. เร่งรับคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐอีก 9 พันคน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือให้หน่วยงานของรัฐที่มีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รับผู้พิการที่สามารถทำงานได้ในอัตราส่วน 100 คนปกติ/1 คนพิการ หากเหลือเศษเกิน 50 คน ให้สามารถรับคนพิการเพิ่มได้อีก 1 คน

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มพบว่าในหน่วยงานของรัฐทั้ง 290 แห่ง มีการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ 218 แห่ง ช่วยเหลือคนพิการได้ 1,456 คน คิดเป็น 13% จากที่คำนวณว่าหน่วยงานของรัฐ จะต้องรับคนพิการเข้าทำงานทั้งหมด 10,929 คน ทาง พม. จึงขอความเห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ ภายในปี 2561

หัวหน้า คสช. ตั้งอนุ คตร. 6 กลุ่มเก็บข้อมูลทุกกระทรวง

โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่มี พล.อ. ชาตอุดม ติตถะศิริ เสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คตร. ประกอบกลุ่มกระทรวง ทั้ง 6 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มกระทรวงด้านความมั่นคง มี พล.ท. ธนกร จงอุตส่าห์ เป็นประธาน 2. กลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ 1 มี พล.ท. เดชา เดชะชาติ เป็นประธาน 3. กลุ่มกระทรวงด้านเศรษฐกิจ 2 มี พล.ท. วิบูล ขยันกิจ เป็นประธาน 4. กลุ่มกระทรวงด้านสังคมจิตวิทยา มี พล.ท. ไชยพร รัตแพทย์ เป็นประธาน 5. กลุ่มกระทรวงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและอื่นๆ มี พล.ท. สรชัช วรปัญญา เป็นประธาน และ 6. กลุ่มกระทรวงด้านต่างประเทศและกิจการอื่นๆ มี พล.ต. อาทิตย์ วัฒนะบุตร เป็นประธาน

“อนุกรรมการ คตร. ตามกลุ่มกระทรวงเหล่านี้ ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการบริหารราชการของกลุ่มกระทรวงนั้นๆ แต่เป็นการเก็บข้อมูลและปัญหาของการบริหารงานของแต่ละกลุ่มกระทรวง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาเสนอต่อ คตร. เพื่อแบ่งปันข้อมูลให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบ 3 มาตรการอุ้มชาวนา

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2558/59 เฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ใน 3 มาตรการ ได้แก่

– มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 โดยเกษตรกรที่มีหนี้กับ ธ.ก.ส หรือสถาบันเกษตรกร จะได้รับการลดดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี จากต้นเงินกู้ไม่เกิน 80,000 บาทแรก เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

– มาตรการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร อาทิ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการเท่ากับ MLR (ปัจจุบันเท่ากับ 5%) และรัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยแทนสถาบันเกษตรกรในอัตรา 3% ระยะเวลาในการขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลไม่เกิน 12 เดือน ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559

– สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 สำหรับชาวนาที่มียุ้งฉาง โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกัน จำนวนประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก ดำเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินสินเชื่อ 26,740 ล้านบาท ทั้งนี้กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 จำแนกตามชนิดและชั้นคุณภาพข้าวเปลือก

สั่ง 3 หน่วยงานสำรวจไทยขาดแคลนแรงงานด้านใด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการในที่ประชุม ให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปสำรวจตลาดแรงงานในวันนี้และวันข้างหน้าตามระยะเวลา 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี ว่าขาดแรงงานที่มีความรู้ด้านใดเท่าไหร่ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น จากการสำรวจตลาดแรงงานพบว่าวิศวกรในด้านที่เกี่ยวกับรถไฟมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งในปีหน้าจะมีรถไฟเกิดขึ้นหลายสาย ทั้งที่ยังดำเนินการสร้างอยู่และสร้างเสร็จแล้ว

“ประยุทธ์” ลุยตรวจงาน กรอ.จังหวัด 12 พ.ย. เริ่มอุบลฯ ที่แรก

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมเพื่อรับทราบความก้าวหน้าและปัญหาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนประจำจังหวัด ที่ จ.อุบลราชธานีเป็นที่แรก โดยดูในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการน้ำ ภัยแล้ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยความสมัครใจในเรื่องการปลูกพืช เรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหลาย โดยเน้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการให้ชัดเจนเพื่อบรรยายสรุปในสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จะใช้กฎหมายพิเศษ หากกฎหมายปกติแก้ไม่ได้

สั่ง คค. ศึกษาติดอุปกรณ์คุมความเร็วรถเพื่อลดอุบัติเหตุ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงเทศกาลเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการประหยัดงบประมาณในทุกเรื่อง เช่น งบด้านสาธารณสุข ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ และเงินประกันภัย โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ไปพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเป็นไปได้ของการติดอุปกรณ์ควบคุมความเร็วที่รถให้บริการสาธารณะ มีผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ส่วนรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 2559 ให้พิจารณว่า มีสภาพเป็นอย่างไร เก่าเกินไปที่จะสามารถติดตั้งได้หรือไม่ โดยอาจประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ทำเรื่องการลดอุบัติเหตุทางถนนอยู่แล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระทางงบประมาณของกันและกัน

แต่งตั้ง “ไพสิฐ” นั่งอธิบดีดีเอสไอ – “สุเทพ” อธิบดีชลประทาน

รายงานข่าว ครม. แจ้งว่า สำหรับวาระแต่งตั้งที่สำคัญ มีอาทิ แต่งตั้ง พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นอธิบดีดีเอสไอคนใหม่ แต่งตั้งนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นอธิบดีกรมชลประทาน แต่งตั้ง พล.ต.ต. ไกรบุญ ทรวดทรง เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นต้น