ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้เเรื่อง คปป. แล้วแต่ “มีชัย” – ย้ำ “ซิงเกิลเกตเวย์” เป็นแค่แนวคิด-ไม่บังคับชาวนาเปลี่ยนการเพาะปลูก

นายกฯชี้เเรื่อง คปป. แล้วแต่ “มีชัย” – ย้ำ “ซิงเกิลเกตเวย์” เป็นแค่แนวคิด-ไม่บังคับชาวนาเปลี่ยนการเพาะปลูก

7 ตุลาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

คปป. แล้วแต่ “มีชัย”

ผู้สื่อข่าวได้ถามเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่าได้มีการพุดคุยกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กมธ. บ้างหรือยัง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้พูดคุย โดยระบุว่านายมีชัยกล่าวถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าจะนำรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาดู รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไปด้วย อะไรที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็จะทำการหารือกันใน กมธ. และในเมื่อตนมอบหมายหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ กมธ. แล้วทำไมตนต้องคุยว่าจะต้องบัญญัติอะไร บอกไปแค่เพียงว่าทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ แล้วไม่เกิดปัญหาเดิมๆ ขึ้นอีก

“คปป. เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่ กมธ. ชุดที่แล้วคิดขึ้นมาว่าควรจะมีกลไกให้รัฐบาลหน้าสามารถสืบทอดการแก้ปัญหาไประยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ทำตลอดชีวิตตลอดชาติ จะมีบทบัญญัติถึง คปป. ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหมนั้นยังไม่รู้เพราะยังไม่ได้ร่าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีมีกระแสข่าวว่าถึงการดึงตัว กมธ. ชุดเก่าบางคนเฉพาะผู้ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาใน กมธ. ชุดใหม่ นายกรัฐมนตรีตอบประเด็นดังกล่าวว่า การที่ กมธ. ชุดใหม่นี้ส่วนหนึ่งเป็นคนเดิม เนื่องมาจากเขามีความรู้อยู่แล้ว แต่ กมธ. ชุดใหม่นี้ก็เปิดโอกาสให้นักการเมืองและฝ่ายอื่นๆ อีกเข้ามา ไม่ได้เป็นการเลือกเฉพาะผู้ที่เห็นด้วยแต่อย่างใด

ยันเข้าร่วม TPP ต้องพิจารณาให้รอบครอบ

ผู้สื่อข่าวสอบถามนายกรัฐมนตรีถึงกรณีการลงนามของกลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของ 12 ประเทศ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีดังกล่าว รัฐบาลชุดที่แล้วมีความประสงค์จะร่วมลงนาม แต่ในรัฐบาลของตนขอให้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาทบทวนก่อน

“ถ้าได้อะไรแล้วไม่เสียอะไรก็โอเค แต่วันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมา มีเรื่องมาตรการในการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ เรื่องกองทุนต่างๆ เราก็ต้องพิจารณาก่อนเข้าไปร่วม โดยคำนึงว่าต้องไม่สร้างภาระให้ประเทศ ไม่ใช่ต้องไปยอมทุกอัน วันนี้สหรัฐอเมริกาก็มีมาตรการผ่อนผันหลายอย่างให้ไทย แสดงว่าท่าทีทางด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ซึ่งหากเขามีปัญหากับผมเขาก็คงไม่ให้ ทุกอย่างผมก็เดินหน้าไปตามโรดแมปของผมเท่านั้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว(อ่านเพิ่มเติม)

เตรียมปรับกฎหมายคนเข้าเมือง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการพูดคุยกับนายรอญับ ตอยยิบ เออร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีของตุรกี ระหว่างการไปประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกฎหมายไทย เพราะไทยไม่มีกฎหมายอื่น มีเพียงฉบับเดียวคือเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย วิธีการดำเนินการก็ทำโดยการพิสูจน์สัญชาติ หากชัดเจนว่าเป็นประเทศไหนก็ต้องส่งกลับไปที่นั่น แต่ก็ได้มีการผ่อนผันไปแล้ว มีการส่งบางส่วนไปยังตุรกีแล้ว

“ก็ต้องมีการหารือต่อไปว่าจะต้องมีกฎหมายอะไรขึ้นมาใหม่ไหม แต่ก็ไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นชุมทางของการลำเลียงคนไปนั่นไปนี่ เพราะที่มาเขาไม่ได้ขอลี้ภัยแต่อย่างใด หากมาโดยการขอลี้ภัยก็ไม่มีอะไรขัดข้อง แต่การเข้ามาแบบหลบหนีเข้ามานั้นผิดกฎหมาย ใครหลบหนีเข้ามาก็ต้องถูกจับทุกประเทศ” นายกรัฐมตรีกล่าว

ชี้ปัญหาหมอกควันภาคใต้

ส่วนปัญหาหมอกควันในภาคใต้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีนี้ปัญหาหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหารือกับประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศต้นทางว่ามีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างไร

สำหรับประเทศไทยตนได้สั่งการไปแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมรถฉีดละอองน้ำเพื่อทำให้อากาศดีขึ้น และอาจจะต้องไปดูถึงเรื่องการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนเพิ่มเติม

“ปัญหาไม่ได้เกิดในบ้านเรา นี่เป็นความร่วมมือที่มีการประชุมไปแล้วในอาเซียนแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบทั้งไทยและมาเลเซีย ส่วนนี้ก็ต้องคุยกับประเทศต้นทาง แล้วทำการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ สำหรับไทยเองก็มีปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ก็มีการจัดความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐในการดูแลแก้ปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจงไม่บังคับชาวนาเปลี่ยนการเพาะปลูก

งบภัยแล้ง 8 มาตรการ

งบภัยแล้ง 8 มาตรการ2

สืบเนื่องจากปัญหาหมอกควัน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนเป็นประเทศที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาที่ดินทำกิน หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ก็จะมีการบุกรุกป่าเผาทำลายป่าไปเรื่อยๆ

“นี่เรากำลังแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรประชาชนเราจะมีรายได้ที่สูงขึ้น วันนี้ก็มีการพูดคุยเพื่อหามาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการเร่งด่วนในเรื่องการดูแลการขาดน้ำที่ยังเหลืออยู่ 8 มาตรการ และจะทำการจัดโซนนิ่งพื้นที่อย่างไร ซึ่งรัฐอาจจะต้องดูแลช่วยเหลือในเรื่องต้นทุนการประกอบอาชีพที่จะต้องเปลี่ยนการปลูกพืชใหม่ ในเมื่อบังคับไม่ได้ ก็จะส่งเสริมผู้ที่สมัครใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า หากให้ชาวนาปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนข้าว รัฐบาลจะจัดหาตลาดรองรับพืชดังกล่าวหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนนี้ต้องดูในเบื้องต้นก่อนว่าผู้ที่สมัครใจจะทำการเปลี่ยนการเพาะปลูกนั้นอยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าไร เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีระดับการขาดแคลนน้ำแตกต่างกัน พืชที่เพาะปลูกก็จะต่างกัน กรณีที่ที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้เลยก็ต้องเข้าไปดูในเรื่องอาชีพเสริมอื่นๆ เพื่อให้เขาผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้ (ดูเพิ่มเติมข้อมูลภัยแล้ง)

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข้อสั่งการและมติที่สำคัญ ดังนี้

ย้ำ “ซิงเกิลเกตเวย์” เป็นแค่แนวคิด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์นั้น ได้มีการอธิบายชี้แจงมาโดยตลอด แต่ก็มีบุคคลที่พยายามที่จะบิดเบือนข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังไม่เคยสั่งทำโครงการอะไรเกี่ยวกับซิงเกิลเกตเวย์ เป็นเพียงการปรารภกันในที่ประชุมว่ามีข้อมูลหลายอย่างที่แพร่ในโลกโซเชียลมีเดียและเป็นผลร้ายต่อสังคม

สำหรับกรณีที่มีผู้เข้าไปก่อกวนทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ พล.ต. สรรเสริญ ระบุว่า การทำแบบนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิดได้

“ข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องไอทีที่มีอยู่กำหนดเอาไว้ชัดเจน สรุปง่ายๆ มาตรา 9 ใครทำให้ข้อมูลผู้อื่นเสียหายมีโทษ มาตรา 10 ใครทำให้ข้อมูลของผู้อื่นต้องระงับชักช้า มีความผิด มาตรา 12 เหตุที่เกิดวันนี้ส่งผลกระทบวันนี้หรือวันหน้ามีความผิด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง และสุดท้าย ผู้ที่เผยแพร่ชุดข้อมูลที่จะชักจูงให้คนไปถล่มเว็บไซต์ก็มีความผิด ทั้งจำทั้งปรับ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต. สรรเสริญ ระบุว่า เว็บไซต์ทั้งหลายของราชการส่วนใหญ่มีไว้บริการประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการค้าขาย ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การทำตลาดเอสเอ็มอีออนไลน์ ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งใช้บริการเว็บไซต์อยู่ ก็จะมีผู้ได้รับความเดือดร้อน

เกษตรฯ ของบกลางแก้ภัยแล้งเพิ่ม 4 พันล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้นำเสนอในที่ประชุมถึงปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับวิกฤติ โดยมีการนำเสนอรายละเอียดปลีกย่อยของ 8 มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง และใช้งบประมาณแต่ละส่วนเท่าไร และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และ คสช. ทำการสำรวจความสมัครใจของเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ก่อนรายงานต่อที่ประชุมในอีก 1 เดือนข้างหน้า

“สรุปใจความสำคัญของ 8 มาตรการ งบประมาณปกติที่จะใช้มีทั้งสิ้น 6,752 ล้านบาท เป็นงบกลางที่ได้รับจัดสรรแล้วจำนวน 327 ล้านบาท และวันนี้ได้มีการเสนอขอใช้งบกลางเพิ่มเติมอีก 4,071 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินการในมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร รวมต้องใช้งบประมาณทั้งหมดในการแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558–2559 เป็นจำนวน 11,151 ล้านบาท”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมาตรการที่ 4 คือ โครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากในที่ประชุมกรณีมีการลงพื้นที่สำรวจจะพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าปรับการเพาะปลูกพืชตามคำแนะนำ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์และความชำนาญ ซึ่งเรื่องเหล่านี้บังคับลำบากและเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลจึงขอความร่วมมือและชักชวนผู้สมัครใจ

“ในประเด็นนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นว่ากรณีเหล่านี้ก็มีในต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมทางความคิด หากไปอธิบายโดยไม่มีตัวอย่างให้เห็นก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชได้ ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน โดยหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องลงพื้นที่ถามความสมัครใจ แล้วทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงที่เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ เมื่อเกิดผลแล้วจะขยายปากต่อปากไปเองว่าได้ผลจริง ใช้น้ำน้อย มีตลาดรองรับ ขายได้ราคา รองนายกรัฐมนตรีจึงบอกว่าอย่าเป็นกังวล เมื่อจุดเล็กๆ ประสบผลสำเร็จจะขยายไปเอง เมื่อขยายครบทุกพื้นที่ รัฐบาลจะสามารถดำเนินการจัดโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้ทั้งประเทศ จะต้องใช้งบประมาณมากขนาดไหน แต่หากทำได้เช่นนี้ถือว่าคุ้มค่า” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ปรับเกณฑ์จ่ายปันผล ธ.ก.ส. ส่งคลัง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้น ให้เป็นการนำส่งเงินปันผลเข้าสู่กระทรวงการคลังโดยตรงเช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจัดสรรตามความเหมาะสมต่อไป เนื่องจากในปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีกำไรและเงินกองทุนจากกำไรสะสมที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การนำส่งเงินให้กับรัฐ แม้ว่าจะกระทบต่อกับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ให้ลดลงบ้าง แต่ถือว่ายังเพียงพอกับการดำเนินงานและนโยบายของรัฐในอนาคต โดยในอดีตช่วงปี 2530-2535 ธ.ก.ส. มีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพียง 400 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2551-2557 มีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพิ่มสูงเป็น 8,000 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสะสม ณ สิ้นปี 2557 ที่ 52,688 ล้านบาท

ทั้งนี้ เดิมตามมติ ครม. วันที่ 29 มิถุนายน 2535 กำหนดให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินปันผลในส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ ธ.ก.ส. โดยอัตโนมัติ และไม่ต้องขออนุมติจาก ครม. เป็นกรณีไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐที่จะต้องจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชำระค่าหุ้นในการเพิ่มทุนทุกปี

คาดใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ปีหน้า 14,000 ล้านบาท

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติให้โอนเงินสภาพคล่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2559 เบื้องต้น 14,000 ล้านบาท โดยให้กองทุนฯ ทยอยโอนเงินเข้ากองทุนฯ ตามปริมาณสภาพคล่องที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ อาจจะพิจารณาโอนเงินเพิ่มได้ในกรณีที่มีเงินมีสภาพคล่องเหลือจากการรับเงินอื่นๆ ระหว่างปี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานชำระคืนเงินต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ ในปี 2558 กองทุนฯ ได้ทยอยชำระเงินรวมทั้งสิ้น 65,029 ล้านบาท และเหลือหนี้ที่ต้องชำระอีก 9.8 แสนล้านบาท จากยอดรวมในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจกว่า 1.13 ล้านล้านบาท

โยกรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติยุติการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานระบบไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 ก่อนจะให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 แทน

ทั้งนี้ เดิม ครม. มีมติในวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ให้เอกชนร่วมทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 ในลักษณะ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ทั้งหมดและจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ต่อมาในช่วงต้นปี 2558 คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนฯ ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 มีมติในการประชุมเมื่อ 31 มีนาคม 2558 เห็นว่าไม่ควรใช้วิธีประมูลแต่ควรใช้วิธีเจรจาตรงกับผู้ให้บริการเดิมของรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน เพื่อให้การเดินรถมีความต่อเนื่องตลอดสาย

เช่นเดียวกับคณะกรรมการ รฟม. ที่มีมติเมื่อ 3 เมษายน 2558 เห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนจึงควรเดินรถต่อเนื่องทั้งสายสีน้ำเงิน และควรปรับรูปแบบการร่วมทุนให้ไปเป็น PPP Net Cost ก่อน หากไม่สำเร็จจึงใช้รูปแบบ PPP Gross cost เนื่องจากรูปแบบหลังรัฐจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเรื่องรายได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ไม่อนุมัติให้ดำเนินการเจรจาตรงกับผู้บริการเดิมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และเห็นว่าควรใช้วิธีการประมูลต่อไป นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่าการปรับรูปแบบร่วมทุนจาก PPP Gross Cost เป็น PPP Net Cost อาจจะอยู่นอกเหนือความเห็นชอบของ ครม. ตามมติเดิมและควรจะเสนอโครงการใหม่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 อีกครั้ง

สุดท้าย คณะกรรมการ รฟม. จึงมีความเห็นในการประชุมเมื่อ 21 กันยายน 2558 ให้ยุติการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2535 และเปลี่ยนไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 แทน

ลดหย่อนภาษีหนุนกองทุนการออมแห่งชาติ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โดย 1) ลดหย่อนภาษีกรณีส่งเงินสะสมเข้า กอช. ในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง 2) เว้นภาษีเงินได้จากเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกของ กอช., บุคคลที่สมาชิกได้แสดงเจตนาไว้แก่ กอช. หรือทายาทของสมาชิก กอช. ได้รับจาก กอช. หลังจากสิ้นสภาพสมาชิกตามกฎหมาย กอช. ยกเว้นการลาออกจากกองทุน 3) ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของ กอช. รวมไปถึงยกเว้นอากรแสตมป์ด้วย

เพิ่มวงเงินอีก 1,830 ล้านบาท หนุนความเป็นอยู่ระดับตำบล

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมติงบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลาง วงเงิน 1,830 ล้านบาท สำหรับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 39,743.8 ล้านบาท ทั้งนี้ เดิม ครม. มีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 อนุมัติกรอบวงเงินแรก ตำบลละ 5 ล้านบาท 7,255 ตำบล รวม 36,275 ล้านบาท ก่อนจะอนุมัติเพิ่มเติมอีก 1,638.8 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2558 ครม. มีมติให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาความซ้ำซ้อนของมาตรการต่างๆ 3 โครงการ เพื่อจัดหางบประมาณรองรับกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งผลปรากฏว่าวงเงินเดิมได้รับการจัดสรรแล้ว 36,749.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล 33,282 ล้านบาท 2) โครงการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน 3,213 ล้านบาท และ 3) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนโดยสนับสนุนการจัดหาเครื่องกลการเกษตรฯ 254.3 ล้านบาท ขาดอีก 1,830 ล้านบาท จึงต้องขออนุมัติจาก ครม. ในวันนี้

เว้นภาษีคณะบุคคลฯ อุดช่องเสียซ้ำซ้อน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลบางกรณี เนื่องจากเดิมพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีผลทำให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลฯ จะต้องนำเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีผลกระทบต่อห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลบางส่วนที่มิได้มีเจตนาเข้ากันเพื่อประกอบกิจการตั้งแต่แรก จึงเห็นสมควรให้ยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ได้มาโดยทางมรดกหรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา, การเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเครือญาติส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน หรือการเปิดบัญชีเงินสดย่อยของนิสิตมหาวิทยาลัย

ไฟเขียวงบสร้างสนามบินเบตง 1,900 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงคมนาคมเสนอขอความเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ของกรมการบินพลเรือน โดยใช้วงเงินงบประมาณ 1,900 ล้านบาท (มีการเพิ่มงบจากเดิม มติ ครม. ปี 2555 จาก 1,200 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี คือปี 2559-2561 ดังนี้

1. สร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และอื่นๆ 1,500 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปี
2. จ้างควบคุมงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและอื่นๆ 50 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปี
3. ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบ สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 50-70 ที่นั่ง 350 ล้านบาท ใช้เวลา 2 ปี

รวมใช้ที่ดินทั้งหมด 920 ไร่ ที่ดินสัดส่วนขาดอีกประมาณ 14 ไร่ ของประชาชน 19 ราย ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา

มีการสำรวจความเหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งรายงานตามการวิเคราะห์ของโครงการ (EIA) แล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 โดยให้กรมบินพลเรือนดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการย้ายถิ่นของคนในพื้นที่ การลดผลกระทบทางเสียง รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไข จนถึงดำเนินการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผลตอบแทนด้านการเงินอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนทางการเงิน ทว่า ภาพรวมของโครงการนั้นมีความเหมาะสมในมิติทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันโครการมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) -568.22 ล้านบาท

ระบายข้าวจีทูจี 4.5 พันล้าน

พล.ต. วีรชน รายงานผลการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ระหว่างไทยกับหน่วยงาน National Food Authority (NFA) ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคาขายข้าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาในปริมาณ 3 แสนตัน โดยการยื่นซองเสนอราคามีประเทศเวียดนามร่วมด้วย ซึ่งประเทศไทยชนะการประมูลขายข้าวให้แก่ฟิลิปปินส์ในราคาตันละ 426.60 ดอลลาร์สหรัฐ รวมมูลค่า 127.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,536.89 ล้านบาท

รองโฆษกกล่าวต่อไปว่า มีการปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการปฏิบัติตาม FATCA เนื่องจากมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ตรงกัน นอกจากนี้ การหารือระหว่างไทย–สหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ ได้มีการแจ้งประกาศกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ว่าให้มีการขยายเวลาในการลงนามในร่างความตกลงดังกล่าวจากเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ออกไปไม่มีกำหนด

“สิ่งที่มีผลตามมาคือ สถาบันการเงินของไทยในสหรัฐฯ จะยังไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากที่ปกติจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 30 และมีการขยายเวลาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางภาษี เดิมกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2558 แต่หลังจากที่มีการลงนามในแล้วจะขยายระยะเวลาไปอีก 12 เดือน ซึ่งถือเป็นท่าทีในการผ่อนปรนด้านความร่วมมือในการทำงานร่วมกับประเทศไทยของสหัรฐฯ” พล.ต. วีรชน กล่าว

พล.ต. วีรชน กล่าวต่อไปว่า ครม. เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreign Workers: EPS) โดยส่วนที่เปลี่ยนแปลงคือ กรณีแรงงานไทยที่สิ้นสุดสัญญาจ้างสามารถกลับเข้าไปทำงานในเกาหลีได้อีกหลังจากที่ออกจากเกาหลีแล้ว 3 เดือน โดยไม่ต้องสอบภาษาเกาหลี และให้แรงงานที่หมดสัญญาจ้างเดินทางกลับไทยเพื่อลดจำนวนแรงงานผิดกฎหมาย

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลเพิ่มเติมถึงปฏิทินวันหยุดยาวในปี 2559 ว่า ครม. อนุมัติวันหยุดเพิ่มเติมในปีหน้า คือ ช่วงวันฉัตรมงคล 5-8 พฤษภาคม โดยให้วันศุกร์ที่ 6 เป็นวันหยุดเพิ่มเติม และช่วงวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา 16-20 กรกฎาคม โดยให้วันจันทร์ที่ 18 เป็นวันหยุดเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว