ThaiPublica > เกาะกระแส > 4 บริษัทยื่นซองประมูล 4G “AIS-DTAC-TRUE” มาครบ – สหภาพ TOT บี้ผู้บริหารทวงคืนคลื่น 900 จาก กสทช.

4 บริษัทยื่นซองประมูล 4G “AIS-DTAC-TRUE” มาครบ – สหภาพ TOT บี้ผู้บริหารทวงคืนคลื่น 900 จาก กสทช.

1 ตุลาคม 2015


พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (กลาง) รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. แถลงผลการยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (กลาง) รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค. แถลงผลการยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามายื่นคำขอรับใบอนุญาต (ยื่นซองประมูล) ให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G โดยมีผู้มายื่นซองประมูลทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบด้วย

  1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด
  2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
  3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
  4. บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

โดยผู้ที่ยื่นคำขอ นอกจากจะต้องส่งแบบคำขอที่กรอกรายละเอียดครบถ้วนพร้อมค่าพิจารณาคำขอ 535,000 บาท ยังจะต้องวางหลักประกันการประมูล 796 ล้านบาท กับสำนักงาน กสทช. โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต แล้วจึงนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่มี พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธาน พิจารณา โดยจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติมีสิทธิเข้าร่วมประมูลภายใน 15 วัน จากนั้นจะมีการสาธิตขั้นตอนการประมูลแก่สื่อมวลชนและผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ก่อนเริ่มประมูลจริงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายใน 7 วัน

581001DTAC
ผู้บริหาร บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด นำเอกสารมายื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHz ที่มาภาพ: www.nbtc.go.th

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สำนักงาน กสทช. ได้เปิดประมูลเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz มีอายุใบอนุญาต 18 ปี คือระหว่างปี 2558-2575 กำหนดราคาตั้งต้นการประมูล 15,912 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 80% ของมูลค่าคลื่น โดยแต่ละครั้งที่เคาะราคาประมูล มูลค่าจะเพิ่มครั้งละ 796 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 5% ของมูลค่าคลื่น

แต่หากราคาการประมูลขึ้นไปถึง 19,890 ล้านบาท ซึ่งเป็น 100% ของมูลค่าคลื่น แต่ละครั้งที่เคาะราคาประมูล มูลค่าจะเพิ่มครั้งละ 398 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.5% ของมูลค่าคลื่น ลดลงจากเดิมที่เพิ่มขึ้น 5% ของมูลค่าคลื่น

สำนักงาน กสทช. ประเมินว่า การประมูลรูปแบบนี้ จะทำให้รัฐได้รายได้ขั้นต่ำ 33,416 ล้านบาท

สหภาพบี้ผู้บริหาร TOT ทวงคืนคลื่น 900 จาก กสทช.

ส่วนความคืบหน้าในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G สำนักงาน กสทช. ได้เปิดรับเอกสารคำขอรับใบอนุญาต (ขอรับเอกสารการประมูล) ระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 21 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 22 ตุลาคม 2558 และจะจัดประมูลในวันที่ 15 ธันวาคม 2558

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำนักงาน กสทช. ได้เปิดประมูลเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี คือระหว่างปี 2561-2575 กำหนดราคาตั้งต้น กรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 2 รายขึ้นไป คือ 12,864 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 80% ของมูลค่าคลื่น และกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย หรือน้อยกว่า คือ 16,080 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 100% ของมูลค่าคลื่น

581001TOT
ตัวแทนสหภาพบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีที่ กสทช. นำคลื่น 900 MHz ไปประมูล ที่มาภาพ: http://www.nationtv.tv/main/content/economy_business/378473045/

อย่างไรก็ตาม ทางสหภาพบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นำโดยนายอนุชิต ธูปเหลือง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของบอร์ด TOT บางคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กร ปล่อยให้ กสทช. นำคลื่น 900 MHz ที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS หมดสัญญาสัมปทานกับ TOT ในวันที่ 30 กันยายน 2558 ไปประมูล ทั้งที่คลื่นต้องกลับมาที่ TOT กสทช. ไม่มีสิทธินำไปประมูล นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานทั้งสามตรวจสอบการทำงานของ กสทช. ด้วย

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวว่า เรื่องการประมูลคลื่น 900 MHz ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เชิญตัวแทนทุกฝ่ายมาหารือ ทาง TOT ก็ยืนยันว่า เมื่อสัญญาสัมปทานกับ AIS หมดลงคลื่นจะต้องกลับมาสู่ TOT แต่ทาง กสทช. ก็ยันยืนว่า เมื่อสัญญาสัมปทานหมดลง คลื่นจะต้องกลับมาเป็นของแผ่นดิน และ กสทช. มีหน้าที่นำไปจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้บริการ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปหาข้อยุติกันในศาล รัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือใช้อำนาจพิเศษตามมาตราอะไรในการแก้ไขปัญหา