ThaiPublica > คอลัมน์ > ภูมิคุ้มกันความผิดหวังในชีวิต

ภูมิคุ้มกันความผิดหวังในชีวิต

25 ตุลาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

สมมติว่าคุณผู้อ่านต้องเผชิญกับความผิดหวังรุนแรงในชีวิต อย่างเช่นการถูกแฟนทิ้ง ถูกบริษัทไล่ออก หรือจากการลงทุนผิดพลาด บุคคลที่คุณผู้อ่านจะไปหาเพื่อปรับทุกข์นั้นเป็นใครครับระหว่าง 1. เพื่อนสนิท หรือ 2. คนในครอบครัว หรือ 3. ศัตรูของเรา/คนที่เราเกลียดและคนที่เกลียดเรา

ถ้าให้ผมทายผมก็คงจะทายว่าคุณผู้อ่านทุกท่านคงจะเลือกไม่คนในข้อ 1 ก็ข้อ 2 และก็คงจะไม่มีใครที่ไหน (ที่ยังเป็นคนที่มีเหตุมีผลอยู่) ที่จะเลือกไปปรับทุกข์กับกลุ่มบุคคลในข้อ 3 เป็นแน่แท้ นั่นก็เป็นเพราะว่าเวลาที่เรากำลังประสบกับความผิดหวังอยู่นั้น พวกเราทุกคนก็คงอยากจะมีคนรอบข้างปลอบใจและให้กำลังใจมากกว่าการได้ยินคำว่า “สมน้ำหน้า” จากคนที่ไม่ชอบเราแน่ๆ

สมองของคนเราก็ทำงานคล้ายๆ กันกับพฤติกรรมของการหาคนมาปลอบใจเวลาผิดหวังอย่างนี้นะครับ นั่นก็คือเวลาที่เราพบเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องผิดหวังและเสียใจอย่างรุนแรงนั้น ภูมิคุ้มกันความผิดหวัง หรือ psychological immune system ของเราก็มักจะเริ่มทำงานโดยอัตโนมัติ คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าภูมิต้านทานความผิดหวังของเราทำงานกันยังไง ผมขอยกตัวอย่างข้างล่างดังนี้นะครับ สมมติว่า

1.แฟนทิ้งเราไปมีคนใหม่ สิ่งแรกๆ ที่เราจะพยายามบอกกับตัวเอง (พร้อมๆ กันกับการหาคนปลอบใจ) ก็คือ “แฟนตัดสินใจผิด/โง่ มีคนดีๆ อย่างเราอยู่เขายังไปมีคนใหม่”

2.ไปสัมภาษณ์งานแล้วไม่ได้ สิ่งแรกๆ ที่เราจะพยายามบอกกับตัวเองก็คือ “งานมันไม่ตรงเสปกกับประสบการณ์การทำงานของเรา” “เราดีเกินไปสำหรับงาน” “บริษัทไม่มีคนที่มีความสามารถพอในการมองเห็นความสามารถที่แท้จริงของเรา” “ดีที่ไม่ได้ ไม่อยากได้งานนี้อยู่แล้ว”

3.การลงทุนผิดพลาด สิ่งแรกๆ ที่เราจะพยายามบอกกับตัวเองก็คือ “กลไกตลาดมันก็เป็นอย่างนี้แหละนะ ช่วยไม่ได้” “ถ้าตอนนั้นไม่ลงทุนไป เราอาจจะผิดหวังมากกว่านี้ก็เป็นได้”

ผมหวังว่าคงจะมีน้อยคนนักที่จะลงโทษตัวเองให้หนักขึ้นไปอีกโดยการบอกกับตัวเองว่า “ก็เรามันโง่เอง ไม่มีความสามารถเอง เรามันผิดเอง” (แต่ถ้าคุณผู้อ่านเป็นคนที่ชอบลงโทษตัวเองเพื่อที่จะทำให้ตัวเองทุกข์หนักขึ้นไปอีก ผมขอแนะนำให้คุณผู้อ่านฟังเพลงเศร้าๆ ให้น้อยลง และหาคนช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้กับตัวเองนะครับ ผมเป็นห่วงสุขภาพจิตของท่าน) พูดง่ายๆ เลยก็คือ สมองของคนส่วนใหญ่ทั่วไป เมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวังอย่างรุนแรง จะหาเหตุผลอะไรก็ได้มาบอกกับตัวเองเพื่อที่จะทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นมาจากความผิดหวังนั้นๆ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ตามทฤษฎีของการวิวัฒนาการของคนนั้น (evolutionary theory) คนที่มีความสุขจะมีโอกาสของการสืบพันธุ์และโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่รอดจากภัยมากกว่าคนที่มีความทุกข์

แล้วภูมิคุ้มกันความผิดหวังมันสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรายังไง

ภูมิคุ้มกันความผิดหวังมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของเรามากเพราะว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะลืมกันว่าเรามีภูมิคุ้มกันตัวนี้อยู่ในสมองของเรา และการที่คนเราส่วนใหญ่ลืมกันว่าเรามีภูมิคุ้มกันตัวนี้อยู่ในสมองของเรานั้นก็เป็นสาเหตุสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เรามักตัดสินใจอะไรผิดๆ หลายอย่างในชีวิต

ยกตัวอย่างนะครับ สมมติว่าคุณผู้อ่านแอบชอบเพื่อนสนิทของคุณผู้อ่านอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทั้งคุณผู้อ่านกับเพื่อนสนิทคนนี้ก็โสดด้วยกันทั้งคู่ แต่คุณผู้อ่านไม่กล้าบอกความในใจของคุณผู้อ่านให้กับเพื่อนของคุณได้รู้เพราะกลัวว่าบอกไปแล้วอาจจะต้องผิดหวัง และความเป็นเพื่อนสนิทก็จะหายไปตามๆ กัน

แต่สิ่งที่คุณผู้อ่านไม่ทราบก็คือ สมมติว่าคุณผู้อ่านบอกความในใจกับเพื่อนสนิทไปแล้วคุณผู้อ่านต้องผิดหวังเพราะเขาไม่รู้สึกเหมือนกันคุณ แต่ไม่นานนักภูมิคุ้มกันความผิดหวังของคุณผู้อ่านก็จะเริ่มทำงาน – “อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันก็ดีกว่าไม่ได้บอกแล้วไม่รู้” – เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเศร้าแต่คุณผู้อ่านก็จะเศร้าไม่นาน แต่ถ้าคุณผู้อ่านไม่บอกความในใจของคุณผู้อ่านให้เพื่อนของคุณผู้อ่านรู้ เหตุการณ์เหล่านี้ (ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้) ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ภูมิคุ้มกันความผิดหวังก็จะไม่เริ่มทำงานเช่นเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าคุณผู้อ่านก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ของการที่คุณผู้อ่านมีภูมิคุ้มกันความผิดหวังตัวนี้ในการปลอบใจตัวเองกับสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นได้ และคุณผู้อ่านก็จะติดอยู่ในหลุมของ “เอ จะบอกดี หรือไม่บอกดีนะ” ไปเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม
Gilbert, D. (2006). Stumbling upon happiness. New York, NY: Random House Publishing.