ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจรายชื่อผู้สมัครเป็น ป.ป.ช. จาก 59 คน เป็น ขรก. พลเรือนมากสุด เชี่ยวชาญงานกฎหมาย 23 คน – ถ้าได้เป็นอยู่ยาว 9 ปี

สำรวจรายชื่อผู้สมัครเป็น ป.ป.ช. จาก 59 คน เป็น ขรก. พลเรือนมากสุด เชี่ยวชาญงานกฎหมาย 23 คน – ถ้าได้เป็นอยู่ยาว 9 ปี

5 ตุลาคม 2015


ผลการเปิดรับสมัครผู้เสนอตัวเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 5 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการ ป.ป.ช. รวม 5 คน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ซึ่งเปิดให้ยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 2 ตุลาคม 2558 ถือว่าคึกคักเป็นอันมาก เมื่อมีผู้มีชื่อเสียงและประสบการณ์จากหลากหลายวงการยื่นใบสมัครรวมกันถึง 59 คน นั่นหมายความว่า โอกาสการที่ผู้สมัครจะได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ที่อัตราส่วน 1:11.8 คน(ดู รายชื่อผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมด)

กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่ 5 คนด้านบนกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากอยู่ครบวาระเก้าปี เหลืออยู่เพียง 4 คนด้านล่างที่จะทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันต่อไป ที่มาภาพ: http://www.nacc.go.th/
กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่ 5 คนด้านบนกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากอยู่ครบวาระเก้าปี เหลืออยู่เพียง 4 คนด้านล่างที่จะทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันต่อไป ที่มาภาพ: http://www.nacc.go.th/

หากพิจารณาเฉพาะเรื่องของ “จำนวน” แม้ผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งนี้ จะมีมากถึง 57 คน แต่ก็ไม่มากที่สุดเมื่อเทียบกับการเปิดรับสมัครเป็นกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน

ขณะที่อัตราส่วนการแข่งขัน 1:11.8 ก็ยังไม่ถือว่าเข้มข้นที่สุด

โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2554-2558 มีการเปิดรับสมัครกรรมการองค์กรอิสระรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง

ปี 2554 (ไม่มีการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ)

ปี 2555 (ไม่มีการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ)

ปี 2556 (มี 4 ครั้ง)

  • รับสมัครตุลาการศาล รธน. จำนวน 1 คน แทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออก มีผู้สมัคร 9 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:9 (นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้รับเลือก)
  • รับสมัครกรรมการ กกต. จำนวน 3 แทนกรรมการ กกต. ชุดเก่าที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี มีผู้สมัคร 42 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:14 (นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายบุญส่ง น้อยโสภณ และนายประวิช รัตนเพียร ได้รับเลือก)
  • รับสมัครผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 1 คน แทนนายประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปเป็นกรรมการ กกต. มีผู้สมัคร 17 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:17 (นายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้รับเลือก)
  • รับสมัครกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 1 คน แทนนายกล้านรงค์ จันทิก ที่มีอายุครบเจ็ดสิบปี มีผู้สมัคร 10 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:10 (นายณรงค์ รัฐอมฤต ได้รับเลือก)

ปี 2557 (มี 4 ครั้ง)

  • รับสมัครผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน แทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีผู้สมัคร 16 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:16 (ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ได้รับเลือก)
  • รับสมัครกรรมการ ป.ป.ช. 1 คน แทนนายใจเด็ด พรไชยา ที่อายุครบ 70 ปี มีผู้สมัคร 14 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:14 (น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้รับเลือก)
  • รับสมัครเป็นกรรมการ คตง. ชุดแรก จำนวน 7 คน หลังแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถสรรหาได้สำเร็จ มีผู้สมัคร 31 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:4.4 (นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์, นางอุไร ร่มโพธิหยก, นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นางจิรพร มีหลีสวัสดิ์, นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร, และนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ได้รับเลือก)
  • รับสมัครผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 1 คน แทนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ลาออกไปเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผู้สมัคร 21 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:21 (พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ได้รับเลือก)

ปี 2558 (มี 3 ครั้ง)

  • รับสมัครกรรมการ กสม. จำนวน 7 คน แทนกรรมการ กสม. ชุดเดิมที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีผู้สมัคร 121 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:17.2 (นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง, นายบวร ยสินทร, นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์, นายวัส ติงสมิตร, นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์, นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย และนางอังคณา นีละไพจิตร ได้รับเลือก)
  • รับสมัครกรรมการ กสม. รอบสอง แทนนายบวร ยสินทร และ นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ ซึ่งที่ประชุม สนช. ไม่ให้ความเห็นชอบ มีผู้สมัคร 63 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:31.5 (นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนายชาติชาย สุทธิกลม ได้รับเลือก)
  • รับสมัครตุลาการศาล รธน. แทนนายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่มีอายุครบเจ็บสิบปี มีผู้สมัคร 10 คน อัตราส่วนการแข่งขัน 1:10 (นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับเลือก)

แต่แม้จะมีจำนวนผู้สมัครไม่มากที่สุด และมีอัตราการแข่งขันอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเปิดรับสมัครผู้เสนอตัวเข้าสรรหากรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 5 คน (มากกว่าครึ่งของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมด คือ 9 คน) ครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นที่จับตาอยู่ดี ด้วยการทำงานของ ป.ป.ช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลต่อการเมืองของประเทศค่อนข้างมาก เห็นได้จากการที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกศาลตัดสินให้จำคุกและยึดทรัพย์เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ขณะที่ยังมีอดีตนายกฯ 2 คน อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มไต่สวนโดย ป.ป.ช. ในชั้นศาล

ทั้งนี้ หากนำผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาจำแนกตามกลุ่มอาชีพ ก็จะพบว่า มาจาก “ข้าราชการพลเรือน” มากที่สุดถึง 22 คน (เป็นระดับปลัดกระทรวง 3 คน รองปลัดกระทรวง 2 คน และอธิบดีกรมอีก 6 คน) ตามมาด้วยศาล 7 คน ทหาร 5 คน ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 คน นักการเมือง 4 คน อัยการ 4 คน องค์กรอิสระ 4 คน ตำรวจ 2 คน นักวิชาการ 2 คน เอกชน 2 คน สื่อมวลชน 1 คน และทนายความ 1 คน

เมื่อแยกตามความเชี่ยวชาญ พบว่าส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการ 26 คน ด้านกฎหมาย 23 คน ด้านการจัดทำบัญชี/งบประมาณ 4 คน ด้านวิชาการ 2 คน ด้านประชาสังคม 2 คน และด้านอื่นๆ อีก 2 คน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เคยเอ่ยปากชม น.ส.ชุติมาว่าเป็นหนึ่งในยอดวีรสตรี กรณีที่เป็นพยานให้ข้อมูลในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จน ป.ป.ช. สามารถชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ที่มาภาพ: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1408595346
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ก่อนหน้านี้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เคยเอ่ยปากชม น.ส.ชุติมาว่าเป็นหนึ่งในยอดวีรสตรี กรณีที่เป็นพยานให้ข้อมูลในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) จน ป.ป.ช. สามารถชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ที่มาภาพ: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1408595346

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรรมการ ป.ป.ช. มักถูกวิจารณ์ว่ามีแต่นักกฎหมาย กระทั่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังระบุไว้ในพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศ หัวข้อการปฏิรูปองค์กรอิสระ ว่าต้องทำให้กรรมการ ป.ป.ช. มีที่มาให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้พิพากษา/นักกฎหมาย ยังต้องรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งด้านรัฐศาสตร์ ด้านการเงินการบัญชีและเศรษฐศาสตร์ ด้านประชาสังคม (และสื่อมวลชน) ด้านการบริหารงานภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ เป็นต้น

จึงน่าสนใจว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ ที่ต่างเป็นนักกฎหมายทั้งสิ้น (นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมาย) จะมีแนวทางในการพิจารณาคัดเลือก ป.ป.ช. ชุดที่สี่ สำหรับกรรมการ ป.ป.ช. ลำดับที่ 32-36 นี้อย่างไร

ใครได้เป็นอยู่ปราบโกงยาว 9 ปี – เงินเดือนเทียบเท่ารองนายกฯ/รัฐมนตรี

แม้ผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคน จะให้เหตุผลในการมาสมัครแตกต่างกัน แต่สาเหตุที่มีผู้สนใจอยากเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จำนวนมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่สังคมไทยดูเหมือนจะตั้งความหวังกับ ป.ป.ช. ไว้ค่อนข้างสูง เห็นได้จากการที่กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. ไว้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ถึง 3 ครั้ง ที่แม้การแก้ไขแต่ละครั้งจะมาจากเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ก็มีผลเป็นการขยายอำนาจของ ป.ป.ช. ไปโดยปริยาย

– การแก้ไขครั้งแรก เมื่อปี 2550 เปลี่ยนแปลงให้ในการไต่สวนคดีทุจริต ป.ป.ช. สามารถหยิบจากเรื่องที่เห็นเองว่ามีเหตุอันควรสงสัย หรือเรื่องที่บุคคลใดก็ได้ยื่นคำร้องเข้ามา จากเดิมที่กำหนดว่าต้องเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เท่านั้น (ว่ากันว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ซึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ในขณะนั้น ทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และไม่เกิดปัญหาในภายหลัง)

– การแก้ไขครั้งที่สอง เมื่อปี 2554 เพื่อให้สอดรับกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เปลี่ยนแปลงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. หลายประการ อาทิ สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินจากสถาบันการเงินเพื่อประกอบการไต่สวนคดี, สั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวในคดีร่ำรวยผิดปกติได้, จัดให้มีการคุ้มครองพยานและจ่ายเงินสินบนหรือเงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสได้, สามารถกันผู้ถูกกล่าวหาบางส่วนไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีหากให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์, ให้หยุดนับอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีในชั้นศาล ฯลฯ

– การแก้ไขครั้งที่สาม เมื่อปี 2558 เป็นการแก้ไขเพื่ออนุวัติเนื้อหาให้สอดรับกับภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2556 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน ผลก็คือ ทำให้ ป.ป.ช. สามารถไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติได้หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในไทย, เพิ่มโทษกรณีเรียกรับสินบนเป็นจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต, กำหนดโทษปรับแก่นิติบุคคลกรณีที่ลูกจ้างหรือตัวแทนบริษัทไปให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ, ให้หยุดนับอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปตั้งแต่ชั้นไต่สวน (จากเดิมให้หยุดนับเฉพาะเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว) ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กรรมการ ป.ป.ช. ยังเป็นกรรมการองค์กรอิสระที่มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด คือ 9 ปี เทียบเท่ากับตุลาการศาล รธน. มากกว่ากรรมการ กกต. (7 ปี) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6 ปี) กรรมการ คตง. (6 ปี) กรรมการ กสม. (6 ปี)

สำหรับค่าตอบแทน ประธานกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ที่เดือนละ 119,420 บาท แบ่งเป็นเงินเดือน 74,420 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท (เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ที่เดือนละ 115,740 บาท แบ่งเป็นเงินเดือน 73,250 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท (เทียบเท่ารัฐมนตรี)

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. หนึ่งในคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุว่า การสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/thailand/217179.html
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. หนึ่งในคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุว่า การสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน จะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/thailand/217179.html

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. หนึ่งในคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ สนช. ในการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติด้านจริยธรรมและความประพฤติในเชิงลึกอีก 30 วัน ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ก่อนที่จะนำรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่ง กล่าวว่า ก่อนที่กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ช่วงปลายปี 2558 กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันจะเร่งเคลียร์คดีสำคัญให้เสร็จสิ้น โดยมี 3 คดีความที่คาดว่าอนุกรรมการไต่สวนจะทำงานแล้วเสร็จแล้วส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ได้พิจารณาวินิจฉัยได้ ประกอบด้วย คดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, คดีสั่งสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติโดยมิชอบ และคดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทนจำนวน 396 แห่งทั่วประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ส่วนคดีที่คาดว่าจะทำไม่ทันจะทยอยส่งมอบให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่เหลืออยู่ ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ. สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ร่วมถึงกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาใหม่ ให้ดำเนินการต่อไป”

ทั้งนี้ จะมีการแถลงผลการทำงานของ ป.ป.ช. ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ระหว่างการหาเวลาที่เหมาะสม

ข้อสอบด่านแรก

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ รวม 9 ข้อ (หมายความว่าหากผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน หรือมีลักษณะต้องห้ามแม้แต่ข้อเดียว ก็จะสอบตกตั้งแต่ด่านแรก ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทันที)

– คุณสมบัติ (4 ข้อ)

  1. ต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
  2. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
  3. มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์
  4. เคยเป็นรัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ หรือเคยเป็นทนายความ หรือผู้แทนองค์การพัฒนาเอกชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีองค์กรวิชาชีพตามกฎหมายโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งสภาทนายความ หรือองค์การพัฒนาเอกชน หรือองค์กรวิชาชีพนั้นให้การรับรองและเสนอชื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหา

– ลักษณะต้องห้าม (5 ข้อ)

  1. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  2. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสามปีก่อนดำรงตำแหน่ง
  3. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลปกครอง หรือกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
  4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง