ThaiPublica > เกาะกระแส > คนขายหวยแห่จองสลาก 28 ล้านฉบับ หมดเกลี้ยงใน 47 นาที “เสธฯ แดง” ปรับแผนใหม่ ซื้อได้ไม่เกิน 15 เล่ม/ราย – งวด 1 พ.ย.มีสลากขาย 100 ล้านฉบับ

คนขายหวยแห่จองสลาก 28 ล้านฉบับ หมดเกลี้ยงใน 47 นาที “เสธฯ แดง” ปรับแผนใหม่ ซื้อได้ไม่เกิน 15 เล่ม/ราย – งวด 1 พ.ย.มีสลากขาย 100 ล้านฉบับ

4 ตุลาคม 2015


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 เป็นวันแรกของการเปิดขายสลากวันแรกผ่านธนาคารกรุงไทยจำนวนเกือบ 28 ล้านฉบับ ประกอบด้วย 1.สลากที่เหลือจากระบบโควตาเดิม 1.89 ล้านฉบับของงวดวันที่ 16 ตุลาคม 2558 และ 2.สลากที่จะพิมพ์เพิ่มอีก 13 ล้านคู่ หรือ 26 ล้านฉบับ ของงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประกาศพิมพ์สลากเพิ่ม 13 ล้านฉบับคู่ (26 ล้านฉบับ) เปิดขายตรงให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตามมาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคา เฟสที่ 2 และเมื่อรวมปริมาณการพิมพ์สลากออกขายตามระบบโควตาเดิมจำนวน 37 ล้านฉบับคู่ (74 ล้านฉบับ) ทำให้สลากที่พิมพ์ออกขายในงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มียอดรวมทั้งสิ้น 50 ล้านฉบับคู่ (100 ล้านฉบับ)

จองสลากล่วงหน้าวันนี้

ยอดสลากสั่งซื้อวันนี้

พล.ต. ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า โครงการสั่งซื้อ-จองล่วงหน้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เริ่มเปิดให้สั่งซื้อสลากงวดวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เวลา 08.00 น.ในวันนี้(3 ตุลาคม 2558) ขายหมดภายในเวลา 13 นาที จากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เปิดให้จองสลากล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ สลากจำนวน 13 ล้านฉบับคู่ ขายหมดภายใน 47 นาที จากข้อมูลของธนาคารกรุงไทยพบว่า มีการทำรายการสั่งซื้อผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย 70%, ทำรายการผ่านสาขา 21% และทำรายการผ่านอินเทอร์เน็ต 9% โดยจังหหวัดที่ทำรายการสั่งซื้อ-สั่งจองล่วงหน้ามีดังนี้

ทั้งนี้เริ่มเปิดขายสลากสั่งซื้องวดประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2558 จำนวน 18,900 เล่มคู่ (1.89 ล้านฉบับ) ผ่านตู้เอทีเอ็ม, อินเทอร์เน็ต และสาขาของธนาคารกรุงไทย เวลา 08.00-08.13 น. ธนาคารกรุงไทยขายสลากลอตนี้หมดภายในระยะเวลา 13 นาที มีผู้ค้าสลากรายย่อยสั่งซื้อสลากทั้งสิ้น 1,425 ราย

เวลา 08.14 น. ระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารกรุงไทย เปิดขายสลากล่วงหน้างวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 13 ล้านฉบับคู่ (26 ล้านฉบับ) ถึงเวลา 09.01 น. ขายสลากล่วงหน้าหมดภายในเวลา 47 นาที มีผู้ค้าสลากรายย่อยสั่งซื้อสลากทั้งสิ้น 12,869 ราย(ดูตารางประกอบ)

10-อันดับ-จังหวัดที่สั่งซื้อมากที่สุด

10-อันดับ-จังหวัดที่สั่งจองมากที่สุด

พล.ต. ฉลองรัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่ทำรายการสั่งซื้อไม่สำเร็จหรือสั่งจองไม่ทันมี 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, สตูล, แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนจังหวัดที่ทำรายการสั่งจองล่วงหน้าไม่สำเร็จคือจังหวัดปัตตานี แต่อย่างไรก็ตาม การจัดสรรสลากครั้งนี้ถือว่ามีการกระจายอย่างทั่วถึง การจัดสรรสลากสั่งซื้อตรงงวดมีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ 73 จังหวัด สลากสั่งจองล่วงหน้ามีการกระจายถึง 75 จังหวัด

“ขอเตือนผู้ค้าสลาก การดำเนินโครงการสั่งซื้อ-จองล่วงหน้าครั้งนี้ อาจจะทำให้ผู้ค้าสลากขายสลากยากขึ้น เนื่องจากมีการพิมพ์สลากเพิ่มอีก 13 ล้านฉบับคู่ หรือ 26 ล้านฉบับ คาดว่าจะมีผู้ค้าสลากรายย่อยไปรับสลากจากพ่อค้าคนกลาง หรือยี่ปั๊ว-ซาปั๊วน้อยลง ซึ่งมาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อพ่อค้าคนกลางที่ไม่ใช่คนขายหวยจริง ขายสลากไม่ได้ สลากเหลือ ต้องลดราคาลง หรือทิ้งโควตาสลาก ทางสำนักงานสลากฯ จะรวบรวมโควตาสลากเหล่านี้เสนอที่ประชุมบอร์ดสลากอนุมัติ เพิ่มยอดสั่งจองสลากล่วงหน้า โดยระบบการจัดจำหน่ายสลากแบบใหม่จะปรับตัวเข้าสู่สมดุลได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังจากที่ได้ดำเนินโครงการสั่งซื้อ-จองล่วงหน้า” พล.ต. ฉลองรัฐ กล่าว

พล.ต. ฉลองรัฐ ยืนยันว่า หลังจากที่ดำเนินการกับระบบการจัดจำหน่ายสลากทั้งสั่งซื้อตรงงวดและจองสลากล่วงหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำข้อมูลรายการสั่งซื้อและจองสลากเผยแพร่บนเว็บไซด์สำนักงานสลากฯ และธนาคารกรุงไทยอย่างละเอียด ทั้งรายชื่อผู้สั่งซื้อที่ได้รับการจัดสรรสลาก 1,425 ราย และผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากล่วงหน้า 12,869 ราย ได้รับการจัดสรรรายละกี่เล่ม มีภูมิสำเนาอยู่ที่จังหวัดใด ทุกครั้ง

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาพรวมของการสั่งซื้อและจองล่วงหน้าวันแรก(3 ตุลาคม 2558)มีผู้ค้าสลากรายย่อยมาลงทะเบียนทั้งหมด 74,000 คน ส่วนใหญ่ประมาณ 70% สั่งซื้อ-จองผ่านตู้เอทีเอ็ม, 21% ทำรายการผ่านสาขา และอีก 9% ทำผ่านอินทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ช่วงเวลา 8.00 น. มีลูกค้ามาใช้บริการสั่งซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยกันเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ แต่บางแห่งก็ไม่มีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเลย ครั้งต่อไปขอแนะนำให้ลูกค้าใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง น่าจะสะดวกกว่า หลังจากปิดทำการสั่งซื้อและจองล่วงหน้าแล้ว ครั้งที่ 2 จะเปิดให้บริการอีกครั้งช่วงวันที่ 18-22 ตุลาคม 2558

นายสมชัย นันตา ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่สำนักงานสลากฯ สรุปยอดคำสั่งซื้อสลากงวดประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่วงบ่ายของวันที่ 3 ตุลาคม 2558 บริษัทไปรษณีย์จะมารับสลากไปส่งให้กับลูกค้า สำหรับผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากในกรุงเทพมหานครให้นำบัตรประชาชนไปรับสลากได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ตามที่แจ้งความประสงค์ไว้ในช่วงที่ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2558 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด รับสลาก ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2558 ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่มารับสลากด้วยตนเอง ต้องทำหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีรายชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ ส่วนผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากล่วงหน้า รับสลาก ณ ที่ทำการไปรษณีย์ได้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2558

พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

ส่วนพล.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า การจัดสรรสลากครั้งนี้มีการกระจายไปถึงมือผู้ค้าสลากรายย่อยจริง จากข้อมูลของสำนักงานสลากฯ จะเห็นว่าผู้ที่สั่งซื้อ-จองซื้อสลากล่วงหน้าจำนวน 5-20 เล่ม/ราย ได้รับจัดสรรสลาก คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนสลากที่เหลือ อีก 40% เป็นผู้ที่สั่งซื้อ-จองซื้อสลากล่วงหน้า 25-50 เล่มคู่/ราย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ค้าสลากรายย่อยได้รับการจัดสรรสลากอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ในการเปิดทำการสั่งซื้อ-จองล่วงหน้าสลากครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 18-22 ตุลาคม 2558 สำนักงานสลากฯ จะเปิดให้สั่งซื้อ-จองสลากล่วงหน้าได้ไม่เกินรายละ 15 เล่มคู่ ทั้งสลากสลากสั่งซื้องวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 และสลากสั่งจองล่วงหน้างวดประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558

“การปรับลดยอดคำสั่งซื้อและคำสั่งจองสลากล่วงหน้า จาก 50 เล่มคู่ต่อราย เหลือ 15 เล่มคู่ต่อราย เป็นมาตรการชั่วคราวไปจนกว่าตลาดจะปรับตัว เข้าสู่จุดสมดุลเมื่อไหร่ สำนักงานสลากฯ จะเปิดให้จองซื้อสูงสุด 50 เล่มต่อรายอีกครั้ง ซึ่งการปรับลดยอดสั่งซื้อสลากสูงสุดไม่เกิน 15 เล่ม คาดว่ามีผู้ค้าสลากรายย่อยได้รับการจัดสรรสลากเพิ่มอีก 8,000-20,000 ราย ผมต้องขอย้ำเตือนผู้ค้าสลากอีกครั้ง อย่าซื้อสลากมากเกินกำลัง ผมเกรงว่าจะขายไม่หมด ขาดทุน เพราะตั้งแต่งวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จะมีสลากหมุนเวียนในตลาดมากถึง 50 ล้านฉบับคู่ หรือ 100 ล้านฉบับ ส่วนผู้ค้าสลากรายย่อยที่เคยไปรับสลากจากพ่อค้าคนกลางราคาแพง ถ้าอยากเป็นไท ก็หนีออกมารับสลากกับธนาคารกรุงไทย” พล.ท. อภิรัชต์ กล่าว

พล.ท. อภิรัชต์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 ตนได้รับแจ้งจากนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร จะเชิญตัวแทนจำหน่ายสลาก 1 ใน 5 รายใหญ่ มาตรวจสอบภาษีและชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ นอกจากนี้ ตนได้เข้าหารือกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ค้าสลากรายย่อยผ่านโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ค้าสลากรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนมารับสลากไปขาย ต้องไปขอยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ