ThaiPublica > คนในข่าว > สนทนาเรื่อง (ไม่) ดราม่า กับ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” ความจริง-ความลวง ในโลกคู่ขนาน

สนทนาเรื่อง (ไม่) ดราม่า กับ “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” ความจริง-ความลวง ในโลกคู่ขนาน

19 ตุลาคม 2015


โลกออนไลน์เป็น “ดาบสองคม”

เพราะในขณะที่สามารถทำให้เราสื่อสารได้รวดเร็ว กว้างไกล ไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลา-สถานที่ เปลี่ยนผู้รับสารเป็นผู้ส่งสาร นำไปสู่การสร้างเครือข่าย ชุมชน สังคมบนโลกเสมือน สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับใครหลายคน บางคนหารายได้จากช่องทางใหม่นี้จนตั้งตัวได้ บางคนกลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คน ในระดับหลักแสน หลักล้านคน

แต่ข้อดีก็กลายเป็นข้อเสีย ไม่เฉพาะเรื่องใหญ่อย่างอาชญากรรมข้ามชาติในยุคที่เส้นแบ่งภูมิศาสตร์รางเลือน ยังรวมมาถึงเรื่องราวใกล้ตัว อย่างการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ ที่ระบบดิจิทัลทำให้เรื่องลวงไปได้ไกล ไปไว ไปจนถึงสุดขอบโลก กระทั่งหาต้นตอไม่พบ ทิ้งไว้เพียงความเข้าใจที่ผิดๆ ซึ่งยากจะขจัด และบางครั้งก็อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตใครบางคนในรูปแบบที่ไม่อาจหวนคืน

กลายเป็นดราม่า ที่ไม่ควรจะดราม่า

จ่าพิชิต1
จ่าพิชิต ขจัดพาลชน แอดมินเพจ Drama-Addict

“จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” แอดมินเพจ Drama-Addict ที่มีคนกดไลค์-ติดตาม เกือบ 9 แสนคน เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างเป็นห่วง

แม้เนื้อหาหลักของเพจคือการนำเสนอปมขัดแย้งระหว่างชาวเน็ตที่เกิดจากการใช้ตรรกะวิบัติ แต่ระยะหลังก็หันมาแก้ไขความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับการแพทย์มากขึ้น

ในฐานะหมอ เขาพบเห็นการแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวงการสาธารณสุขมาตั้งแต่ยุค forward mail กระทั่งยุคแชร์-รีทวีต แม้จะพยายามใช้สถานะผู้มีอิทธิพลบนโลกเสมือนร่วมมือกับเครือข่ายช่วยกันแก้ไขความเข้าใจผิดเหล่านั้นต่อเนื่องมาหลายปี แต่ข้อมูลเท็จเรื่องเดิมๆ ก็มักจะวนมาคอยให้ตามแก้อยู่เป็นประจำ

ที่สุดเขาจึงตัดสินใจออกหนังสือเล่มใหม่ “นิทานอีสัส” หยิบนิทานอีสปมาแปลงให้เห็นโทษของการเชื่อข้อมูลทางการแพทย์ผิดๆ บนโลกออนไลน์ โดยเหตุที่กลับไปใช้สื่อกระดาษเพราะประเมินว่า สมรภูมินี้อาจต้องสู้กันยาวๆ จึงอยากทำเป็นสื่อที่จับต้องได้ เผื่อว่าใครจะนำไปใช้อ้างอิง

“ถ้าเราแก้แต่บนออนไลน์ คนก็จะมาถามไม่จบไม่สิ้น ผมเลยอยากทำให้เป็น hard copy มีบันทึกไว้ เอามาอ้างอิงได้ อีกอย่างคือคนสูงอายุ บางทีเวลาแก้ข้อมูลบนเน็ต เขาไม่เชื่อ ต้องมีหนังสือที่เป็นอ้างวิชาการให้เขาอ่าน เขาถึงจะยอมเชื่อ นี่คือเหตุผลที่ทำหนังสือชื่อว่านิทานอีสัส”

ยังมีอีกหลายเรื่องที่จ่าพิชิตตอบคำถามอย่างไม่ปิดบัง ทั้งผลกระทบต่อการเป็นเซเลบในโลกเสมือนต่อการทำงานในโลกความเป็นจริง

สื่อใหม่กับสื่อดั้งเดิมจะอยู่ร่วมโลกกันอย่างไร

และทำไมช่วงหลัง ถึงไม่ค่อยพิมพ์คำว่า “ทำไมวันนี้ไม่มีมีดราม่ามันส์ๆ เบย”-วลีประจำตัว ไว้บนเพจที่ชูจุดเด่นการขายเรื่องราวดราม่า บนโลกมายาที่มีชื่อว่า social media

ไทยพับลิก้า: เป็นแอดมินเพจที่มีคนกดไลค์ตั้งหลายแสนคน ทำไมไม่ใช้ช่องทางนั้นในการแก้ข้อมูลผิดเรื่องทางการแพทย์ กลับมาทำหนังสือที่ใครต่อใครบอกว่ากำลังจะหายไป

ถ้าเราแก้แต่บนออนไลน์ คนก็จะมาถามไม่จบไม่สิ้น ผมเลยอยากทำให้เป็น hard copy มีบันทึกไว้ เอามาอ้างอิงได้ อีกอย่างคือคนสูงอายุ บางทีเวลาแก้ข้อมูลบนเน็ต เขาไม่เชื่อ ต้องมีหนังสือที่อ้างวิชาการให้เขาอ่าน เขาถึงจะยอมเชื่อ นี่คือเหตุผลที่ทำหนังสือชื่อว่านิทานอีสัส

ไทยพับลิก้า: ต้องการให้ถูกนำไปอ้างอิง แต่ทำไมถึงมาเล่าในรูปแบบนิทาน

เป็นประสบการณ์จากการทำเพจมาหลายปี ผมรู้สึกว่าอะไรที่เป็นสาระเพียวๆ คนไทยจะไม่ชอบ มันหนักหัวเกิน แต่ถ้าเรื่องไหนตลกโปกฮา บันเทิงไร้สาระ คนจะชอบ ถ้าใส่สาระลงไปนิดหนึ่ง เขาจะจำได้ขึ้นใจเลย นี่เป็นไปตามหลักวิทยาศาตร์ เพราะระบบลิมบิก (Limbic system) ในสมองซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความทรงจำ ถ้าความทรงจำใดมีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้จำได้ง่ายกว่าปกติ เหมือนเวลาเราเรียนวิชาไหนแล้วถูกด่าบ่อยๆ เราจะจำวิชานั้นฝังใจ ต่างกับไปอ่านหนังสือเอาเอง ที่สอบเสร็จก็ลืม

ผมเลยแบ่งเนื้อหาในนิทานอีสัสเป็น 3 ส่วน 2 ส่วนเป็นการ์ตูน อีก 1 ส่วนเป็นความรู้

ไทยพับลิก้า: เท่าที่ทำเพจคอยตามแก้มา กับคอยรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการแพทย์อะไรที่เจอบ่อยที่สุด

มีหลายรูปแบบ ทั้งจิ้มปลายนิ้วรักษาเส้นเลือดในสมองแตก กินมะนาวโซดารักษามะเร็งได้ มะนาวรักษาพิษงู มะนาวเหมือนยาเทวดากินแล้วรักษาได้ทุกอย่าง และยังมีอีกเยอะ เช่น การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ให้จับเด็กห้อยหัวลง ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไร เพราะน้ำที่ออกมาจากปากเด็กจะมาจากกระเพาะ ไม่ได้มาจากปอด ต้องปั๊มหัวใจและผายปอดจะดีที่สุด

ไทยพับลิก้า: หนังสือเล่มแรกที่ออกมา (ชื่อ “หมอติดเกาะดอย”) เขียนวิพากษ์วิจารณ์ระบบสาธารณสุขไทย ปัจจุบันยังเป็นอย่างนั้นหรือไหม และปัญหาสำคัญที่สุดคืออะไร

อาชีพนี้คนจะมองว่ามีเงินมีทอง สะดวกสบาย จริงๆ ไม่ใช่เลย เฮงซวยจะตาย เหมือนครั้งหนึ่งผมแขนหักยังต้องมาทำงาน ตรวจคนไข้ด้วยแขนข้างเดียว ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน มีประเทศนี้ประเทศเดียว ที่ผมเขียนหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาก็เพื่อให้คนที่มีลูกและคิดว่าจะส่งลูกเรียนหมอได้รู้ข้อเท็จจริงว่ามันเป็นอย่างไร

ปัญหาของวงการหมอไทย ไม่ใช่เรื่องหมอในโรงพยาบาลรัฐขาดแคลน แต่มันอยู่ที่การกระจายหมอ เพราะนักศึกษาแพทย์ที่จบออกมาส่วนใหญ่ ถ้าไม่ไปเรียนต่อ ก็ทำงานในเมือง มีส่วนน้อยมากๆ ที่มาทำงานในชนบท คือถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนหมอต่อประชากรใน กทม. หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ จะพบได้เลยว่าเราอยู่อันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ถ้าเป็นชนบทมันต่างกันมาก อย่างโรงพยาบาลบนเกาะที่ผมทำงานอยู่ มีประชากร 20,000 คน มีหมอแค่ 3 คน เฉลี่ยหมอ 1 คนต่อประชากรเกือบ 7,000 คน ทั้งที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำว่า สัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็น หมอ 1 คนต่อประชากร 1,500 คนเท่านั้น แต่ของเมืองไทยยังเกินอยู่ แม้ทุกวันนี้บางพื้นที่จะดีขึ้น แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งยังหนักอยู่ บางพื้นที่ หมอ 1 คน ต้องดูแลชาวบ้าน 5,000–6,000 คน ทั้งที่จริงๆ เรื่องเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ก็ใช้ได้นะ เพียงแต่การบริหารจัดการภายในของกระทรวงสาธารณสุขเองที่ทำให้เด็กไม่อยากอยู่ มีปัญหา หรือไม่ก็ไหลไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนหมด

ผมไม่โทษหมอที่ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนนะ เพียงแต่ระบบราชการเรามันห่วยจริงๆ จะทำอะไรก็ขัดไปหมด แล้วผู้บริหารก็ไม่ค่อยเห็นใจ เหมือนที่ผมเขียนไว้ในหนังสือว่าตอนที่ญาติผมซึ่งเป็นคนค้ำประกันเงินกู้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้ผมได้เรียนเสียชีวิต ผมจะไปงานศพเขา ก็หาคนมาแทนให้ไม่ได้ ทั้งที่แจ้งล่วงหน้าเป็นเดือน เวลามีปัญหาอะไรก็ไม่เคยช่วย ไม่เคยปกป้อง ปล่อยให้เราดิ้นรนกันเอง

ไทยพับลิก้า: ในต่างประเทศ มีวิธีกระจายหมอให้ไปอยู่ในชนบทอย่างไร และแตกต่างจากของไทยตรงไหน

ไม่แน่ใจ ต้องถามทางแพทยสภา แต่ทุกวันนี้ถ้าเราไม่มีระบบใช้ทุน หมอตามต่างจังหวัดน่าจะขาดแคลนกว่านี้ เพราะมันจะมากระจุกอยู่แถวในเมือง ตอนนี้เขาก็ถกเถียงกันอยู่ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เช่น อาจจะเพิ่มปริมาณเงินที่ต้องจ่ายถ้าทำผิดสัญญาการใช้ทุน เพราะหลายคนก็เลือกผิดสัญญา ยอมจ่ายเงินใช้ทุนแล้วไปอยู่ในเมือง เพราะมันไม่เยอะ แค่ 4 แสนบาทเอง โดยอาจจะเพิ่มเป็น 1 ล้านบาท หรือบางคนเสนอเป็นหลักสิบล้านบาทเลย ซึ่งถ้ามันสูงขนาดนั้น ไม่ต้องไปพูดเรื่องหมอลาออกเลย แต่ต้องไปพูดว่าจะมีคนมาเรียนหมอหรือไม่

ไทยพับลิก้า: ขอกลับไปที่เรื่องการแก้ข้อมูลเท็จบนโซเชียลฯ เท่าที่จ่าพิชิตกับเครือข่ายแพทย์ต่างๆ ช่วยกันทำมาหลายปี คิดว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นหรือไม่

ตอนหลังคนก็เริ่มหาข้อมูลอ้างอิงมากขึ้น คือไม่เชื่อง่ายๆ เหมือนกัน แต่ข้อมูลเท็จเดิมก็ยังอยู่นะ ยังมีคนชอบแชร์อยู่เรื่อยๆ ที่น่าแปลกก็คือ ข้อมูลเท็จเหล่านี้ พอเช็คต้นทางไปพบว่าส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แล้วมีคนเอามาแปลอีกทีหนึ่ง มีของไทยบ้างพวกยาผีบอก

แต่มันก็ต้องคอยตามแก้ข้อมูลอยู่ตลอด เพราะบางเรื่อง พอถึงเวลาหนึ่งก็กลับมาใหม่ เหมือนเป็นวัฏจักร เป็นฤดูกาล

ไทยพับลิก้า: เวลามีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการแพทย์หรือเรื่องอื่นๆ จะมีวิธีการเช็คข้อมูลอย่างไรว่าข้อมูลนี้มันจริงไหม

มันมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเด็น บางเรื่องก็ต้องเช็คจากข่าวที่ถูกนำเสนอหลายๆ แหล่ง บางอันพาดหัวอาจจะไม่ตรงกับเนื้อ บางอันแปลมาแต่พอไปดูต้นฉบับไปคนละเรื่องเลย บางอันเราต้องไปดูถึงเว็บต้นทางที่เป็นภาษาต่างประเทศ เพราะของฝรั่งจะมีเว็บพวกล้อเลียน เว็บเสียดสีเยอะ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

ผมว่าสังคมไทยยุคหลังก็เรียนรู้มากขึ้นเยอะนะ มันก็โตขึ้นเยอะ หลายอย่างเวลามีคนพูดอะไรก็เริ่มเบรกไว้ก่อน รอฟังข้อมูลอีกหน่อย ไม่ใช่เห็นอะไรมาก็แชร์เลย

ที่น่าเป็นห่วงคือสื่อกระแสหลักบางแห่ง ยังเอาข้อมูลที่ผิดๆ คลิปข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเสนอ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน สิ่งเหล่านี้เราจึงต้องช่วยกันอธิบาย อย่างตอนนี้ก็ร่วมมือกับเพจความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว และคนจากแพทยสภาอีกหลายคน ทำเพจที่มีชื่อว่า เพจ Doctor Rangers ที่จะให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว

ไทยพับลิก้า: ทั้งเพจของจ่าพิชิตรวมถึงเพื่อนๆ ก็มีคนกดไลค์ กดติดตามเป็นล้านคน คิดว่าตัวเองมีความสามารถในการ set ประเด็นทางสังคมแค่ไหน

ผมว่าก็พอมีอยู่บ้าง เช่น เรื่องยาลดความอ้วนหรือครีมที่มีส่วนผสมของปรอท บางเรื่องเราเปิดประเด็นเอง พอไปถึงสื่อกระแสหลักมันก็ไปต่อได้ คิดว่ามันก็เป็นการใช้เพจให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งต่อสังคม คืออย่างน้อยๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งตามเราอยู่ ถ้าประเด็นไหนที่เราเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อสังคมก็สามารถจุดประเด็นให้มีคนสนใจขึ้นมาได้

ไทยพับลิก้า: การที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาขึ้น คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น จนเกิดคนที่ชอบค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์ขึ้นมา อย่างเช่นพวกนักสืบพันทิป มันทำให้สังคมไทยโดยรวมดีขึ้นหรือไม่

ผมว่ามันแย่ลงมากกว่า อย่างนักสืบพันทิป บางครั้งก็มีการเมกเรื่องขึ้นมา เช่น กรณีที่บอกว่าผู้หญิงมีอะไรกับแฟนบนรถทัวร์มีการให้ข้อมูลจนตามได้ว่าเป็นใคร แต่สุดท้ายผู้หญิงก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอย่างที่นักสืบพันทิปกล่าวหา จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกัน คือมีเรื่องแบบนี้เยอะมาก แม้เรื่องดีๆ ก็มี เช่น การช่วยตามหาคนร้าย แต่การสืบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็มีขีดจำกัด ทำได้ไม่เต็มร้อยหรอก

ความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่สื่ออย่างเดียว แต่อยู่ที่ทุกคน เพราะทุกคนทำหน้าที่ประหนึ่งสื่อแล้ว มีใครมาโพสต์อะไรก็เผยแพร่ต่อได้ ตั้งแต่มีเรื่องการเมืองหนักๆ เมื่อปี 2553 ทวิตเตอร์เรื่องการเมืองก็มีมากขึ้น แต่ปรากฏว่าเป็นข้อมูลมั่วเยอะมาก ดังนั้น ถ้าเรามาช่วยกันคัดกรอง ช่วยกันตรวจสอบก่อนเผยแพร่ มันก็จะช่วยได้เยอะ

แรกๆ เราก็เริ่มเงิบก่อน เงิบเป็นตัวอย่าง แต่พอคนอื่นเห็นเราพลาด ก็จะช่วยกันตรวจสอบ ไม่ใช่เชื่ออย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน

นิทานอีสัส
“นิทานอีสัส” รวม 12 เรื่องแปลงจากนิทานอีสป ที่จะช่วยแก้ไขข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการแพทย์ที่มีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เป็นหนังสือเล่มที่ 3 ของจ่าพิชิตฯ ต่อจาก “หมอติดเกาะดอย” และ “ดราม่าเอยจนซับซ้อนยิ่งขึ้น”

ไทยพับลิก้า: ในฐานะที่มีคนติดตามเพจเกือบ 9 แสนคน จนพอจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในโลกสื่อใหม่ วาง position ตัวอย่างอย่างไรกับสื่อดั้งเดิม

คล้ายๆ เป็นคอนเน็กชั่นมากกว่า เหมือนเวลาที่คุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง) มีประเด็นอะไร เขาก็ไปติดต่อคนนั้นคนนี้ ผมว่ามันก็จะเป็นคล้ายๆ อย่างนั้น คือเป็นคนกลาง บางทีนักข่าวเขามีประเด็นที่สนใจและมาถามเราว่าติดต่อคนนี้ได้ไหม เราก็ช่วยติดต่อให้ คล้ายๆ ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เพราะไม่มีทางที่เฟซบุ๊กจะมาทำหน้าที่แทนสื่อดั้งเดิมได้แบบ 100% มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ ก็ต้องช่วยกันตรวจสอบเพื่อให้ได้ข่าวที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคม

ไทยพับลิก้า: สื่อดั้งเดิมบางแห่งมีการตั้งทีมมอนิเตอร์รอเกี่ยวข่าวจากโลกโซเชียลฯ มีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร

ผมว่าสื่อทำได้มากกว่านั้นนะ คุณสามารถไปสืบข้อมูลต่อได้ สมมติมีบางบริษัทถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกง คุณสามารถไปดูเลยว่าผู้ก่อตั้งเป็นใคร มีงบการเงินอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมารอเกี่ยวข้อมูลในเฟซบุ๊ก แต่หลังๆ สื่อก็เอาเรื่องไร้สาระไปทำกัน ผมคาดหวังว่าสื่อจะทำอะไรได้มากกว่านั้น เช่น จุดประเด็นสังคมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองทองคำ แต่หลายสื่อเวลานี้ก็กลายเป็น click-bait ไปแล้ว คือถ้าคุณนำเสนอข่าวงี่เง่าเยอะๆ โอเค คนไปดูข่าวจากคุณมากขึ้นจริง แต่ถามว่าสังคมไทยได้อะไร ถ้าไม่ได้อย่าทำเลย ไปทำเรื่องที่เป็นประโยขน์ดีกว่า ให้สังคมได้อะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเรื่องลิขสิทธิ์ สุขภาพ ศาสนา ฯลฯ ก็ว่ากันไป

ไทยพับลิก้า: หลายคนพูดว่าอิทธิพลของโซเชียลฯ ปัจจุบันน่าจะเยอะกว่าสื่อกระแสหลักแล้ว และอีกไม่นานคงจะขึ้นมาแทนที่ คิดว่าจริงหรือไม่

ผมคิดว่าสื่อกระแสหลักไม่มีทางหายไป เพราะเพจต่างๆ ถ้าไม่แปรรูปเป็นองค์กรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การเข้าถึงข้อมูลก็จะทำได้แค่ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยๆ เวลาจะลงพื้นที่คนที่ทำก็ต้องเป็นนักข่าวของสื่อกระแสหลักอยู่ดี

ทุกวันนี้เวลาผมทำเพจผมก็ประสานกับนักข่าวนะ ไม่ได้ทำคนเดียว บางทีตำรวจมาแจ้งข้อมูลก็เอาไปคุยกับพวกนักข่าว เขาก็มาขอให้เราช่วยเผยแพร่ข้อมูล ส่วนเราก็ฝากให้เขาช่วยตามประเด็น คล้ายๆ กับเพจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ข่าวมันขับเคลื่อนไปได้ แต่มันจะไม่มาแทนที่เด็ดขาด

ไทยพับลิก้า: การเป็นเซเลบในโลกออนไลน์ เป็นต้นทุนหรือข้อเสียอะไรหรือไม่

ผมว่ามันน่าเบื่อ โพสต์อะไรก็มีคนจ้องจะจับผิด ข้อดีก็คือเวลาเรามีประเด็นอะไรที่อยากจะให้สังคมตื่นตัว เราก็จุดประเด็นได้ง่ายกว่าการที่ไม่มีคนรู้จัก สมัยก่อนต้องไปตั้งกระทู้ในพันทิป รอให้คนมาคอมเมนต์ ต้องหลายร้อยคอมเมนต์ถึงจะมีคนสนใจ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ยาก แค่ให้เครือข่ายช่วยกัน เล่นประเด็นนี้พร้อมๆ กัน แป๊บเดียวก็ได้แล้ว

ไทยพับลิก้า: แล้วแง่ดีหรือแง่ลบต่อชีวิต

ผมค่อนข้างแยกกันเด็ดขาด ระหว่างชีวิตจริงกับเพจ ชีวิตจริงก็รักษาคนไข้ไปตามเรื่องตามราว ในเพจก็ทำเรื่องดราม่าไป ยกเว้นมีประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพที่เราจะเอามาเชื่อมโยงกันบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนมากก็ไม่ค่อยเกี่ยวกัน

ไทยพับลิก้า: แต่ก็เคยมีคนตั้งกระทู้ในพันทิปว่า ถ้าเป็นคนไข้ก็จะไม่รักษากับจ่าพิชิต

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตในอินเทอร์เน็ต ก็มีความเห็นเยอะ ถ้าเราจะฟังทุกเรื่อง ก็เครียดตาย เราก็ต้องรู้จักปล่อยให้มันผ่านไปบ้าง คือรับฟัง แต่ไม่จำเป็นต้องคล้อยตาม อ่านก็อ่าน แต่ไม่ต้องสนใจมาก อันไหนคิดว่าไม่จำเป็นก็ผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา

เคยมีคนไข้คนหนึ่งอายุ 70-80 ปี พอรักษาเสร็จก็เอาหนังสือมาให้เซ็นแล้วบอกว่าผมกดไลค์เพจหมอแล้วนะ ส่วนตัวจึงยังไม่เคยเจอท่าทีในแง่ลบ

ไทยพับลิก้า: ที่มาที่ไปของเพจ Drama-Addict คืออะไร รักษาคนไข้อยู่ดีๆ ทำไมถึงมาสนใจทำเรื่องดราม่าบนโลกออนไลน์

มันว่าง ตอนแรกโรงพยาบาลมีหมอ 3 คน คนไข้ยังไม่เยอะมาก ก็คุยกับเพื่อนว่าจะทำอะไรกันดี มีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อนก็บอกว่าไปเปิดเว็บไซต์ไหม ก็เปิดตอนนั้นเลย แค่นี้แหละ ตอนแรกจะทำเป็นเว็บรวบรวมกระทู้พันทิป ไม่ได้คิดจะเป็นแบบทุกวันนี้เลย แต่รูปแบบก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนเป็นอย่างทุกวันนี้

ที่มาเล่นเรื่องดราม่าคงเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า เพราะช่วงนั้นจะมีดรามาเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเรื่องดราม่าแล้ว ดราม่าสมัยก่อนจะสนุกมาก หักเหลี่ยมเฉือนคมกันสุดๆ เดี๋ยวนี้มีน้อย อาจเพราะเกี่ยวกับการเมืองด้วย พอไปดราม่าเกี่ยวกับการเมืองผมก็เบื่อๆ

ไทยพับลิก้า: ดราม่าสมัยก่อนที่ว่าดีๆ เป็นลักษณะไหน

หักเหลี่ยม เฉือนคม เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทำเว็บ Drama-Addict เลย คือมีผู้หญิงคนหนึ่งแอบอ้างว่าเป็นคนในวัง เป็นเมียเจ้า รู้เรื่องในวังสารพัด มาตั้งกระทู้ในพันทิป โม้ไม่หยุด จนคนบางส่วนก็ชื่นชมว่าสุดยอดเลย เป็นคนในวังแน่ๆ แต่ต่อมาก็มีคนเข้ามาจับผิด คนในวังของแท้ก็ตามอ่านอยู่ รู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้มั่วนี่หว่า สืบไปสืบมา สุดท้ายกลายเป็นแค่เมียทหารระดับประทวน แต่ชอบสร้างเรื่องไปหลอกคนนั้นคนนี้ ภาพวังใหญ่ๆ อลังการที่เอามาลงก็เป็นฉากถ่ายละคร ไม่ใช่บ้านของเขา มีคนจำได้ ก็เอามาแฉ มันส์ สุดท้ายมีการบุกไปถึงบ้าน เป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล นี่เป็นต้นกำเนิดให้ผมทำเว็บดราม่า แรกๆ มันสนุกมาก หลังๆ ไม่ค่อยมีแล้ว

ไทยพับลิก้า: นิยามคำว่าดราม่าของจ่าพิชิตคืออะไร

ผมได้อิทธิพลจากต่างประเทศ ที่เวลามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งจะใช้คำว่าดราม่ามาแทน อาจจะมีอิทธิพลมาจากคำว่า dramatize คือทำให้เป็นละครมากขึ้น เพราะบางเรื่องที่เถียงกัน ไม่มีขาว-ดำหรอก แต่พอเอาไปทำเป็นละคร ต้องแยกขาว-ดำชัดเจน เกิดการแบ่งฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน มีการใช้ตรรกะวิบัติมาโต้เถียงกัน ผมก็เลยคิดว่าใช้คำว่าดราม่าเหมาะที่สุดแล้ว

ไทยพับลิก้า: เคยบอกว่า ดราม่าเกิดขึ้นได้เพราะยังมีคนใช้ตรรกะวิบัติ อะไรทำให้สนใจเรื่องตรรกะวิบัติเป็นพิเศษ

ดราม่ายุคแรกๆ แทบทุกเรื่องจะเกิดจากตรรกะวิบัติล้วนๆ จนผมเอาไปเขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งเลย (ชื่อ “ดราม่าเอยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น”) ผมคิดว่าทุกวันนี้ก็ยังมีตรรกะวิบัติอยู่ แต่มันเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การบิดเบือนข้อมูล ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นอะไร คอนเซปต์มันก็อยู่ที่การอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง หรือเชื่อมโยงอะไรแปลกๆ อยู่ดี

ไทยพับลิก้า: ทำไมช่วงหลังถึงไม่ค่อยพิมพ์คำว่า “วันนี้ไม่มีดราม่ามันส์ๆ เบย” ซี่งเป็นวลีฮิตประจำเพจ และส่งสัญญาณกลายๆ ว่าวันนี้จะมีเรื่องดราม่ามานำเสนอ

คือดราม่ามันเยอะ แต่ไม่น่าสนใจ อ่านแล้วเบื่อ ประเด็นซ้ำ อาจจะเพราะเราเจอมาเยอะ เขียนไปก็ไม่รู้สึกดราม่าแล้ว พอเห็นต้นมาปุ๊บก็รู้บทสรุปเลย มันเดาได้ว่าจะจบอย่างไร อย่างเรื่องนางพยาบาลที่ไปขอให้คุณตัน (ภาสกรนที เจ้าของชาเชียวอิชิตัน) เปลี่ยนรางวัลจากรถหรูเป็นรถพยาบาล ก็มีการโยงไปเรื่องการเมืองแล้ว ไล่ให้ไปขอกำนันสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ซึ่งมันไม่เกี่ยวกันนะ เป็นตรรกะวิบัติ ควรจะเถียงกันในประเด็นสิ

เรื่องที่สนุกล่าสุดก็คือกรณีวงโยฯ หลังๆ ไม่ค่อยมีอะไรที่มันบันเทิง หายาก มีแต่เรื่องซีเรียส เช่น ยาลดความอ้วนที่เอารูปดาราคนหนึ่งไปใช้ เราได้คุยกับดาราคนนั้นก็แนะนำให้ไปฟ้องร้อง มีการประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจให้ หลังๆ จะเป็นเรื่องแบบนี้

เส้นทางแสนไลค์ “ไม่มีทางลัด”

การเป็นแอดมินเพจที่มีคนติดตามหลักแสนหลักล้าน ไม่เพียงเป็นความเท่ ที่โพสต์อะไรก็มีอิทธิพลต่อผู้คน ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่แปลกที่ใครหลายคนจะอยากเป็น “แอดมินเพจดัง”

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคนพยายามทำเพจขึ้นมากมาย แต่ที่พอพูดได้ว่าดัง มีชื่อเสียง-มีอิทธิพล ยังมีอยู่แค่หยิบมือเดียว

จ่าพิชิต กล่าวถึงเคล็ดที่จะทำให้เพจให้ได้รับความนิยมก็คือ “ทำอะไรก็ได้ ที่คิดว่าทำแล้วดีกว่าคนอื่น ที่สำคัญจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง” เขาบอกว่า อย่างเพจ Drama-Addict ยังใช้เวลาถึงครึ่งปีกว่าจะเริ่มมีคนรู้จัก หรืออย่างเพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วน ก็ใช้เวลาเป็นปี เริ่มจากแซวคนนั้นคนนี้ แซววงการบันเทิง เปลี่ยนวิธีการมาเรื่อยจนลงตัว และมีคนกดไลค์เกือบ 1.5 ล้านไลค์ในปัจจุบัน

“มันไม่มีทางลัด ต้องค่อยๆ ทำไป ใช้เวลา ทำในสิ่งที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่าคนอื่น”

เขาว่า ขณะนี้หลายๆ เพจ อย่าง เพจ Drama-Addict (ยอดไลค์ 8 แสน) เพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วน (ยอดไลค์ 1 ล้าน) เพจ Jaytheraabit (ยอดไลค์ 7 แสน) และเพจบันทึกของตุ๊ด (ยอดไลค์ 6 แสน) ก็จะคุยกันอยู่ตลอดเพื่อดูว่าจะขยับเล่นประเด็นอะไร หรือจะช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องใด เพราะเพียงแค่ 4 เพจยอดนิยมนี้ ก็มีคนไลด์รวมกันถึง 3.6 ล้านไลค์ ถ้าทำอะไรพร้อมกัน ก็แทบการันตีได้เลยว่าจะมีคนได้รับเมสเสจอย่างน้อย “นับล้านคน”

ปัจจุบันแอดมินเพจดังหลายๆ เพจยอมเปิดหน้า-โชว์ตัวตนต่อสาธารณะชน ยกเว้นอยู่เพจเดียวคือเพจอีเจี๊ยบฯ ที่หลายคนคงอยากรู้ว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังจิกกัดคนไปทั่วอันแสบสันต์

“แอดมินเพจที่ไม่ยอมเปิดหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมือง ที่เหลือก็เปิดกันเกือบหมดแล้ว”

“ส่วนอีเจี๊ยบฯ ผมว่าอีกไม่นานคนก็จะรู้ว่าเป็นใคร เพราะมันไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ทำสินค้าเยอะ แล้วต้องดีลงานกับคนมากมาย ทั้งเอกชนและเอเจนซี่” จ่าพิชิตคู่กัดของอีเจี๊ยบฯ กล่าวปิดท้ายการสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ