ThaiPublica > คอลัมน์ > Wood Job! มายาคติชีวิต Slow Life

Wood Job! มายาคติชีวิต Slow Life

27 ตุลาคม 2015


Hesse004

Wood Job! หนังญี่ปุ่นที่ว่าด้วยอาชีพคนตัดไม้ ที่มาภาพ : https://mibih.files.wordpress.com/2015/01/wood-job.jpg
Wood Job! หนังญี่ปุ่นที่ว่าด้วยอาชีพคนตัดไม้
ที่มาภาพ: https://mibih.files.wordpress.com/2015/01/wood-job.jpg

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของชีวิตในเมือง เชื่อว่าหลายคน “ถวิลหา” ถึงวิถีชีวิตที่ไม่รีบร้อน จนทุกวันนี้คำว่า Slow Life ได้กลายเป็นกระแสของคนเมืองที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตให้ “ช้าลง”

…เปิดเข้าไปดูนิยามของคำว่า Slow Life หรือ Slow Living ในหนังสือชื่อ Slow Living-Learning to Savor and Fully Engage with Life ของ Beth Meredith และ Eric Storm ซึ่งอธิบายความหมายของ Slow Living ไว้ว่า เป็นวิถีที่มุ่งไปในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสมดุลชีวิตทุกด้านภายใต้แนวทาง “น้อยๆ แต่งดงาม”

กระแส Slow Life จึงถูกนักธุรกิจหัวใสหยิบมาเป็นจุดขาย เปิดตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่แสวงหาชีวิตแบบไม่เร่งเร้า เน้นความเท่ โก้เก๋ เรียบง่าย ดูดี มีสไตล์ โดยเน้นคอนเซปต์ผูกพันกับธรรมชาติ รวมถึงดูแลสุขภาพใส่ใจเรื่องอาหารการกินจำพวกรับประทานอาหารคลีน (Clean Food)

… อย่างไรก็ดี เหล่าสาวก “Slow Life” มักถูกค่อนแคะและโดนประชดประชันเสมอว่าการใช้ชีวิตแบบ Slow Life เป็นแค่งานอดิเรกของคนเมือง หรือ หากโดนค่อนขอดแรงขึ้นก็เหมาเอาว่าเป็นความดัดจริตของมนุษย์เมืองที่เมื่อใดที่เบื่อหน่ายกับความเป็นเมืองแล้วก็หนีไปถ่ายรูปอัป Facebook หรือลง Instagram โชว์หน้าวอลของตนเอง พร้อมตั้งสเตตัสเก๋ๆ ว่า กำลังใช้ชีวิตแบบ Slow Life อยู่

กระแส Slow Life ทำให้นึกถึงหนังญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่งที่สะท้อนภาพชีวิต Slow Living ของเด็กหนุ่มในเมืองที่เลือกออกไปตามหาความหมายชีวิตหลังจากสอบ Entrance ไม่ติด

หนังที่ว่านี้มีชื่อว่า Wood Job! Kamusari Nana Nichijo (2014) ผลงานการกำกับของชิโนบุ ยากุชิ (Shinobu Yagushi) ที่ได้ถ่ายทอดมุมมองการใช้ชีวิตสวนทางกันของผู้คนสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน

…ที่ว่าสวนทางนั้น หมายถึง เราได้เห็นภาพเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารทันสมัยที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่งยังเป็นชนบทที่ผู้คนอยู่อย่างเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม

บทหนังเรื่อง Wood Job! ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Kamusari Nana Nichijo ของชิวอน มิอุระ (Shiwon Miura) ที่เล่าเรื่องอาชีพคนตัดต้นไม้ในญี่ปุ่น

อาชีพตัดไม้เป็นอาชีพเก่าแก่ที่ผูกพันกับธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร

แน่นอนว่า คนตัดไม้ย่อมเคารพ “เจ้าป่าเจ้าเขา” มีความเชื่อศรัทธาที่ผูกพันกับต้นไม้จนกลายเป็นวิถีชีวิตของ “คนเขา” รวมทั้งมีธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดบูชาเจ้าป่าเจ้าเขาสืบต่อกันมานาน

หนังเปิดเรื่องด้วยความผิดหวังของยูกิ ฮิราโนะ (Yuki Hirano) เด็กหนุ่มผู้ผิดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ยูกิ ตัวละครนำก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใช้ชีวิตสนุกสนาน ติด Social Media ติดเกมส์ ทำอะไรหยิบหย่ง ไม่เป็นโล้เป็นพาย

การตัดสินใจจากสังคมเมืองเพื่อไปเรียนรู้การเป็น “คนดูแลป่า” ของเขาภายใน 1 เดือน และฝึกงานต่ออีก 1 ปี ในหมู่บ้านชนบท ดูจะเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่สำหรับคนคนหนึ่ง แต่สำหรับยูกิแล้วเขาเลือกเส้นทางนี้เพียงเพราะว่าหน้าปกโบรชัวร์ที่มีรูปของสาวน้อยน่ารัก (นางเอกในเรื่อง) ที่โพสท่ายืนยิ้มข้างต้นไม้เชิญชวนให้ผู้สนใจมาทำงานด้วย

การเดินทางไกลแบบมีจุดหมายของยูกิจึงเริ่มต้นขึ้น แต่เป็นจุดหมายที่มาจาก “แรงขับ” เรื่องผู้หญิงบนหน้าปกโบรชัวร์เช่นนี้ซึ่งดูจะเป็นเรื่องตลกไร้สาระ แต่เอาเข้าจริงการเดินทางครั้งนี้กลับทำให้ยูกิเรียนรู้อาชีพคนตัดไม้จากผู้คนรอบข้างโดยเฉพาะในสังคมชนบทที่ใช้ชีวิตแบบ Slow Life มาแต่อ้อนแต่ออก

หนังเรื่องนี้มี Plot เรื่องที่คอหนังดูแล้วคงเดาออกว่าเรื่องจะจบอย่างไร แต่สิ่งที่ ชิโนบุ ยากุชิ ผู้กำกับเลือกถ่ายทอดให้เห็นคือ รายละเอียดในการใช้ชีวิตแบบ Slow Living ของคนทำอาชีพตัดไม้

Wood Job! เล่าเนื้อหาของคนตัดไม้ได้ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นจะเข้ามาทำอาชีพนี้ต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการตัดไม้ทั้งในแบบโบราณและแบบสมัยใหม่ การแปรรูปไม้ไปใช้ปลูกบ้าน การนำซุงไปขายที่ตลาดประมูลไม้ ความเชื่อต่างๆ ในการตัดไม้ รวมถึงปรัชญาของคนตัดไม้ ที่กว่าจะ “ล้มไม้” ได้สักต้น พวกเขาต้องให้เกียรติและเคารพต้นไม้

…เพราะต้นไม้เป็นแหล่งทำมาหากินและมีบุญคุณกับพวกเขา

ในหนังมีฉากน่าสนใจอยู่ฉากหนึ่ง เป็นฉากที่กลุ่มเพื่อนยูกิขอเข้ามาทำวิจัยศึกษาชีวิตคนตัดไม้ในหมู่บ้าน แต่เจตนาเป็นแค่เพียงมาเที่ยวเล่นเปลี่ยนบรรยากาศ

กลุ่มเพื่อนยูกิมองเห็นพื้นที่ส่วนนี้เป็นแค่พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยไม่ให้ความเคารพในวิถีชาวบ้านที่นี่ แม้พวกเขาได้กล่าวชื่นชมอย่างคนเมืองว่าเป็นวิถีชีวิตที่งดงามแบบ Slow Life ก็ตาม

แต่ไอ้คำว่า Slow Life ในที่นี้ กว่ายูกิจะเข้าใจ เขาต้องใช้เวลาร่วมปี เพราะมันไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนสถานที่พักผ่อนมาอยู่กับธรรมชาติ แต่หมายถึงวิถีชีวิตที่ผู้คนดำเนินไปอย่างเรียบง่าย กลมกลืน ไม่ฝืนกับธรรมชาติ

ท้ายที่สุด ยูกิเลือกจะไล่กลุ่มเพื่อนพวกเขาออกจากหมู่บ้านไป เพราะมองเห็นแล้วว่ายังไงเสียคนที่คุ้นเคยกับวิถีเมืองมาตลอด ยากยิ่งนักที่จะเข้าใจคนตัดไม้พวกนี้ได้

Wood Job! นับเป็นหนังประเภทที่ดูแล้วรู้สึกดี (Feel Good) อีกเรื่องหนึ่ง ที่ให้คุณค่ากับวิถี (Way) มากกว่าจะมองแค่รูปแบบ (Pattern) ที่เป็นเปลือกห่อหุ้มกระแสที่เรียกว่า Slow Life

ป้ายคำ :