ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอซีที เผยคืบ 8 ร่าง กม. เศรษฐกิจดิจิทัล จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ถูกชะลอ – ความมั่นคงไซเบอร์ยังอยู่ที่กฤษฎีกา

ไอซีที เผยคืบ 8 ร่าง กม. เศรษฐกิจดิจิทัล จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ถูกชะลอ – ความมั่นคงไซเบอร์ยังอยู่ที่กฤษฎีกา

19 ตุลาคม 2015


เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับ บนเวทีสัมมนาเรื่องตามติดกฎหมายดิจิทัล ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

– อยู่ระหว่างการพิจารณาของไอซีที จำนวน 1 ฉบับ

– อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 3 ฉบับ

– รอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 2 ฉบับ

– รอเสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 1 ฉบับ

– อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สนช. จำนวน 1 ฉบับ

เศรษฐกิจดิจิทัลTDRI1
ดั้งเดิม ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีร่างกฎหมายรวม 10 ฉบับ แต่ต่อมา มีการรวมร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. เข้าเป็นกฎหมายฉบับเดียว คือ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….” ที่มาภาพ: http://tdri.or.th/multimedia/thinkx2-81-2/

นายพันธ์ศักดิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้า จำแนกเป็นรายร่างกฎหมาย ดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาแทนไอซีที ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ในวาระที่หนึ่งแล้ว มีการตั้ง กมธ. วิสามัญขึ้นมาพิจารณา แต่เท่าที่ตนได้ไปชี้แจง กมธ. ครั้งหนึ่ง ได้รับการบอกว่าการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อนว่าจะเอาอย่างไร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะมีเนื้อหาอย่างไร ภาษาชาวบ้านก็คือแขวนไว้ก่อน

2. ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. และ 3. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. เดิมส่งไปให้ที่ประชุม สนช. เตรียมพิจารณาในวาระที่หนึ่งแล้ว แต่พอมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีไอซีที ทาง ครม. มีมติให้นำร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับกลับมาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

4. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างรอเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา

5. ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ทาง ครม. ได้ส่งกลับมาให้ไอซีทีทบทวน

6. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มีการปรับถ้อยคำหลายจุดให้มีความชัดเจนมากขึ้น อยู่ระหว่างรอเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา

7. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างแก้ไขกฎหมาย กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้เสร็จแล้ว ครม. เห็นชอบ อยู่ระหว่างรอที่ประชุม สนช. พิจารณาในวาระที่หนึ่ง

8. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ภารกิจหลักของไอซีทีนับจากนี้ไป คือการใช้ดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เราต้องถามกลับมาก็คือ ในการพัฒนาทั้ง 2 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ที่จะสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายไว้วางใจได้ และสอดรับกับมาตรฐานของนานาชาติ

“โลกของอินเทอร์เน็ตไม่ใช่โลกของการควบคุม แต่เป็นโลกของการส่งเสริม แต่การจะนำเครื่องมืออะไรมาใช้ต้องสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยด้วย ที่หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐจะเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้นั้น ยืนยันว่าเรื่องนี้จะต้องขออำนาจศาลก่อนตรวจค้น” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

(ตรวจสอบความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง 8 ฉบับ)

581018พันธ์ศักดิ์
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (แฟ้มภาพ) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/pansak.siriruchatapong

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ที่ในร่างแรกซึ่งที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบ มีบางมาตราที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล นำไปสู่การจัดตั้งแคมเปญให้ลงชื่อคัดค้านในเว็บไซต์ change.org ที่ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านถึง 2.2 หมื่นคน

ขณะที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เนื้อหาในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและกลุ่มทุนมากกว่าประชาชน