ThaiPublica > เกาะกระแส > เอ็นพีแอล ธ.ก.ส. ครึ่งปีแรกแตะ 5.66% – 6 เดือนอุ้มนโยบายรัฐแตะ 1 แสนล้าน

เอ็นพีแอล ธ.ก.ส. ครึ่งปีแรกแตะ 5.66% – 6 เดือนอุ้มนโยบายรัฐแตะ 1 แสนล้าน

22 ตุลาคม 2015


เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ธานาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้แถลงผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในรอบ 6 เดือนของปีบัญชี 2558 (เมษายน–กันยายน 2558)

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BAACmagazine
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/BAACmagazine

ครึ่งปี NPL แตะ 5.66% ผลจากราคาข้าว-ยากตก

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม ณ ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ มียอด 1,388,605 ล้านบาท ธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,195,707 ล้านบาท รวมสินเชื่อคงเหลือ 1,160,584 ล้านบาท ขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2557 คิดเป็น 6.50% สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 3.38% ในยอดปิดบัญชีปี 2557 เป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 5.66% ของสินเชื่อรวม เป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

นายลักษณ์ระบุว่า ในครึ่งปีแรกนี้ ธนาคารยังคงมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 5,627 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 70,820 ล้านบาท รวมทั้งธนาคารมีสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 11.80% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50%

“สำหรับ NPL ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัว โดยเฉพาะยางพาราและข้าวเปลือก แต่ตลาดมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคายังคงดีอยู่ ส่วนนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการจัดหามาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านช่วงเวลาที่ราคาผลผลิตตกต่ำไปได้ นอกจากนี้ทางธนาคารได้มีการเตรียมวงเงินในส่วนหนี้สงสัยเผื่อจะสูญเป็นจำนวน 2.1 แสนล้านบาท เป็นส่วนสำรองที่มีมากกว่า NPL ถึง 3 เท่าตัว NPL ที่เพิ่มขึ้นจึงไม่เป็นปัญหาที่จะบั่นทอนประสิทธิภาพการดำเนินงาน” นายลักษณ์กล่าว

6 เดือน สนับสนุนนโยบายรัฐแตะ 1 แสนล้าน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในปีบัญชี 2558 ธนาคารได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 6 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางการเงินและหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ผ่าน 3 โครงการย่อย ดังนี้ คือ โครงการปลดเปลื้องหนี้สินดำเนินการไปแล้ว 8,691 ราย จำนวนเงิน 433 ล้านบาท โครงการปรับโครงสร้างหนี้ 95,241 ราย จำนวนเงิน 13,950ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ 297,820 ราย จำนวนเงิน 46,594 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูการผลิต จำนวน 285,559 ราย เป็นเงิน 49,624 ล้านบาท
  2. โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 เพื่อลดความเสี่ยงจาการประกอบอาชีพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,033 ราย พื้นที่ 51 ล้านไร่
  3. โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ลูกหนี้ที่ได้รับการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 66,956 ราย ซึ่งลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารทุนและหนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ธนาคารได้จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 36,663 ราย จำนวนเงิน 3,615 ล้านบาท
  4. มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองโดยล่าสุดสามารถโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านแล้ว 16,252 กองทุน วงเงิน 14,805 ล้านบาท มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 900,000 ราย
  5. โครงการสนับสนุนการออมตามนโยบายของรัฐบาล ธ.ก.ส. เป็นช่องทางในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผ่านเคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ จำนวนผู้สมัคร 202,203 ราย จำนวนเงิน 194,221,557บาท
  6. โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กองทุนอ้อยเเละน้ำตาลทราย จำนวน 16,938 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้เกษตรกรในอัตราตันละ 160 บาท จำนวน 105 ล้านตัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 153,676 ราย (คลิกภาพเพื่อขยาย)

 ธ.ก.ส.

“สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาแล้งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งคาดว่ามีเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 330,000 ครัวเรือน โดยทางธนาคารจะมีการออกมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้กับเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตร สินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบท สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอื่นๆ สินเชื่อให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ทั้งรายคนและรายกลุ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายสุพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการประกันภัยนาข้าวเนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้มีการขยายกรอบเวลาให้ชาวนาได้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือเพิ่มเติม ที่จะเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัยข้าวแก่ชาวนามเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพยายามที่จะเจรจาต่อรองเพื่อให้มีการกำหนดอัตราสินไหมเพิ่ม จากที่ตั้งไว้เป็นวงเงิน 1,111 บาท/ไร่

ทั้งนี้ การเข้าไปดูแลชาวนาในฤดูการผลิต 2557/2558 ได้มีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในการเพิ่มวงเงินสำหรับ 3 มาตรการที่เคยทำในปีที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ชาวนาที่ทำการขอสินเชื้อจาก ธ.ก.ส. ไปดำเนินการเพาะปลูกข้าว ในอัตรา 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรอบวงเงิน 975 ล้านบาท มาตรการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในการแปรรูปข้าวสารให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น วงเงินให้สินเชื่อ 12,500 ล้านบาท (เดิม 6,700 ล้านบาท) และมาตรการสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายแก่ชาวนาที่มียุ้งฉางทั้งข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินให้สินเชื่อ 26,000 ล้านบาท (เดิมประมาณ 1 หมื่นล้าน)

นายอภิรมย์กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 1 ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง กระบวนการด้านสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้ามาตรวจการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. เป็นปกติอยู่แล้ว จะมีส่วนที่ต้องปรับเล็กน้อยคือ เรื่องของการสรรหาผู้บริหารในระดับผู้จัดการ และรองผู้จัดการ ที่ต่อจากนี้จะต้องส่งรายชื่อให้กับ ธปท. เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนทำการคัดเลือก

นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมสำหรับมติสำหรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่เห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องนำส่งเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พ.ศ. 2558 จำนวน 0.18% ของเงินฝาก และมติ ครม .เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ในการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลของ ธ.ก.ส. จากเดิมที่การทรวงการคลังจะทำการเพิ่มทุนให้ทุกปี เป็นการให้ธนาคารส่งเงินปันผลเข้าสู่กระทรวงการคลังโดยตรง

“ในส่วนของการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปี 2558 นี้คำนวณเม็ดเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนคิดเป็นจำนวน 1,690 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ทางธนาคารได้รับทราบมาล่วงหน้า และได้เตรียมความพร้อม รวมถึงกำหนดมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรองรับไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด ส่วนกรณียกเลิกการจ่ายเงินปันผลโดยการที่กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นการส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังแทนนั้น ในปี 2558 มีส่วนที่จะต้องเริ่มส่งประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้ก็ยังสามารถขอเปลี่ยนกลับมาเป็นการเพิ่มทุนได้” นายลักษณ์กล่าว

นายลักษณ์กล่าวต่อไปว่า กรณีของการส่งเงินเข้ากองทุนนั้นยังสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ ส่วนนี้ได้มีการหารือเพิ่มเติมในระดับผู้บริหารของธนาคาร ถึงเรื่องการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการเพิ่มทุน ซึ่งอาจทำได้ 3 รูปแบบ คือ การเพิ่มทุ่นโดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ การเพิ่มทุนโดยเงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการเพิ่มทุนจากศักยภาพของธนาคารเอง

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการสิ้นปีบัญชี 2558 (31 มีนาคม 2559) สินเชื่อขยายตัว 122,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น 65,000ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.27% สำหรับ NPL คาดว่าจะต่ำกว่า 4.0% และจะมีผลกำไรสุทธิจำนวน 9,835 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.70% และสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.86%