ThaiPublica > เกาะกระแส > นบข. เล็งประมูลข้าวเกรด C ยกคลัง “นิพนธ์” ชี้ขายทำพลังงานขาดทุนหนัก – กองทุนหมู่บ้านขยายกรอบอุ้ม รัฐวิสาหกิจชุมชน ตีกรอบดัก “กู้ใช้หนี้”

นบข. เล็งประมูลข้าวเกรด C ยกคลัง “นิพนธ์” ชี้ขายทำพลังงานขาดทุนหนัก – กองทุนหมู่บ้านขยายกรอบอุ้ม รัฐวิสาหกิจชุมชน ตีกรอบดัก “กู้ใช้หนี้”

10 กันยายน 2015


ที่ประชุม นบข. เคาะไม่แยกข้าวขาย หลังพบอุปสรรคหนัก เล็งประมูลข้าวเกรด C ผสม A และ B แบบยกคลัง ประสานจังหวัดลงตรวจสภาพโกดังข้าวอีกครั้ง เร่งให้เสร็จภายในกันยายน 2558 “นิพนธ์” ชี้แยกขายต้องใช้เวลาถึง 87 ปี ขาดทุนมหาศาล วิเคราะห์ ขายเพื่อบริโภคดีกว่าขายทำพลังงาน ด้าน กทบ. ขยายกรอบอุ้มรัฐวิสาหกิจชุมชน ให้วงเงินสูงสุด 1 แสน/กลุ่ม ตีกรอบดัก “กู้เพื่ออาชีพ” ดัก “กู้ใช้หนี้”

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมที่สำคัญ 2 การประชุมด้วยกัน ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (กนข.) ครั้งที่ 5/2558 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม และการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ครั้งที่ 5/2558 ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กทบ. เป็นประธานในการประชุม

ภายหลังการประชุม นบข. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมกันแถลงมติของที่ประชุม

580701นบข

แจงอุปสรรคแยกตรวจข้าวทีละกระสอบ – เล็งประสานมหาดไทยเช็คสภาพโกดังอีกครั้ง

นางสาวชุติมากล่าวว่า วันนี้ได้มีการรายงานผลการทดลองคัดแยกข้าวเกรด C ในโกดัง  จากกรณีที่มีข้อท้วงติงในกระบวนการระบายข้าวเกรด C ว่าหากทำการประมูลยกคลังแบบเดิมอาจทำให้ข้าวไม่ดีปะปนสู่ตลาดข้าวได้ จึงต้องมีการทดสอบ โดยได้เชิญนักวิชาการมาช่วยดำเนินการเพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใส เบื้องต้นมีอุปสรรคในการดำเนินงานมาก

“การดำเนินงานหลังจากนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อตรวจสภาพโกดังข้าวอีกครั้ง เพราะการตรวจสอบโดยคณะทำงานตรวจสอบปริมาณข้าว ของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล นั้นผ่านมานานแล้ว จึงต้องตรวจสอบเพิ่มเติมโดยประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตรวจโกดังข้าวในพื้นที่ ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2558 และในอนาคตรัฐบาลจะซื้อข้าวมากองไว้แบบนี้ไม่ได้อีกเป็นอันขาด” นางสาวชุติมากล่าว

เซอร์เวย์เยอร์ทำการตรวจสอบข้าวทีละกระสอบ
เซอร์เวย์เยอร์ทำการตรวจสอบข้าวทีละกระสอบ

ด้านนางดวงพรกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นทดลองแยกข้าวที่โกดังคลองสามวา เป็นข้าวในฤดูกาลปี 2555/2556 ซึ่งโกดังที่คลองสามวาเป็นโกดังที่มีความสมบูรณ์ด้านพื้นที่ที่จะดำเนินงานสูงสุด แต่การทำงานก็ยังค่อนข้างช้า

สำหรับโกดังจังหวัดนครปฐม สภาพข้าวเต็มโกดัง กองล้ม และเนื่องจากเก็บมาเป็นระยะเวลานานจึงมีปัญหาเรื่องมอด กระสอบยุบเป็นอันตรายต่อผู้ทำงาน ซึ่งโกดังที่มีข้าวกองล้ม หรือข้าวเสื่อมสภาพเกินกว่าที่ควรนั้น ถือว่าทำผิดข้อตกลง ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ทำการแจ้งความเพื่อเรียกค่าเสียหายทั้งหมดแล้ว

“ในการทำงานที่คลอง 3 วา เราใช้คนงาน 20 คน เซอร์เวย์เยอร์ 1 สาย วันเดียวขนได้แค่ 1,000 กระสอบ แต่คนงานทำงานได้เพียง 2 วันก็เลิก ไม่ทำต่อเพราะกระสอบเปื่อยยุ่ย ต้องมานั่งโกยข้าวอีกเขาก็ไม่ไหว ส่วนที่นครปฐม สภาพข้าวเต็มโกดัง มีการเอนล้มมาทับอีกกองหนึ่ง อาจเป็นอันตรายหากดำเนินการขนย้าย” นางดวงพรกล่าว

นิพนธ์ ชี้ระบายแบบแยกขาย ใช้เวลา 87 ปี รัฐบาลขาดทุนยับ

รศ. ดร.นิพนธ์ ที่ได้รับเชิญให้ร่วมตรวจสอบและวิเคราะห์หาแนวทางในการระบายข้าวเกรด C ที่เหลืออยู่ ระบุว่า ตามข้อเสนอที่ให้ตรวจทุกกระสอบนั้นดีมาก เพราะจะทำให้แยกข้าวได้ตามประเภทที่แท้จริง แต่เมื่อไปปฏิบัติแล้วอุปสรรคมาก

“หากลองคำนวณออกมา ถ้าตรวจวันละโกดัง อาทิตย์ละ 5 วัน ข้าวที่มีอยู่เกือบๆ 6 ล้านตัน จะต้องใช้เวลาในการตรวจ 87 ปี ถ้าตรวจ 15 โกดัง/วัน จะใช้เวลา 6 ปี วิธีนี้มีขีดจำกัด ถึงเวลานั้นขาดทุนมโหฬารแน่นอน เพราะฉะนั้นวิธีนี้น่าจะทำไม่ได้”

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้มีข้าวในสต็อกทั้งหมดประมาณ 13.5 ล้านตัน มีความจำเป็นที่จะต้องระบายข้าวให้หมดอย่างรวดเร็วในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเก็บไว้จะยิ่งขาดทุนหนัก จำได้ว่าเคยมีการแถลงว่าต้นทุนการเก็บรักษาข้าวประมาณ 90 บาท/ตัน/เดือน แต่เมื่อคำนวณตัวเลขใหม่ต้นทุนจริงๆ อาจจะสูงถึง 130 บาท/ตัน/เดือน ดังนั้น เก็บไว้นานโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นแล้วคุ้มทุนไม่มีทางเลย

“อีกประการหนึ่งคือสต็อกข้าวที่มีอยู่เวลานี้นั้นกดดันราคาข้าวในประเทศทำให้ราคาข้าวในประเทศต่ำ หากเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่แน่ว่าเขาจะจัดการสต็อกข้าวต่อ การดำเนินการสต็อกให้จบเร็วที่สุดจะทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด คำถามต่อมาคือ จะขายไปให้อุตสาหกรรมใด ขายอย่างไร ก็ได้มีการทดลองดูเฉพาะกรณี โดยคำนวณหาทางว่าวิธีใดจะขาดทุนน้อยที่สุด ซึ่งหากขายเป็นเชื้อเพลิงจะระบายออกได้เร็วมาก แต่ราคาต่ำมาก ขายเป็นอาหารสัตว์จะได้ราคาสูงขึ้น และอีกแนวทางหนึ่งคือขายสำหรับบริโภค’

สภาพข้าวที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลานานในโกดัง
สภาพข้าวที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลานานในโกดัง

รศ. ดร.นิพนธ์กล่าวต่อว่า “คำนวณคร่าวๆ จะมีข้าวที่อยู่ในสภาพบริโภคได้ประมาณ 25% ในโกดังข้าวเกรด C จากข้าวทั้งหมด เป็นอาหารสัตว์ได้ประมาณ 50% ที่เหลืออาจจะเป็นพลังงาน 25% ใช้สัดส่วนนี้ ผลออกมาว่าขาดทุนน้อยที่สุด เป็นการขายแบบทั่วไป และผู้ซื้อจะเอาไปทำอะไรก็ได้ อันดับต่อมาคือขายไปเป็นอาหารสัตว์หรือพลังงานก็ได้ และส่วนที่จะขาดทุนมากที่สุดคือขายไปเป็นพลังงานอย่างเดียว”

รศ. ดร.นิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญขณะนี้มีความจำเป็นต้องแยกประเภทของข้าวในการระบายข้าว และวิธีการระบาย โดยขณะนี้โกดังที่เก็บสต็อกข้าวรัฐบาล เก็บส่วนที่เป็นข้าวเกรด C ล้วนๆ 309 โกดัง มีปริมาณข้าว 1.39 ล้านตัน ในส่วนนี้เป็นข้าวหอมมะลิ 60% เป็นปลายข้าว 30% อีก 10% เป็นชนิดอื่นๆ ซึ่งข้าวหอมมะลินี้ขายไปทำพลังงานไม่ได้ขาดทุนแน่นอน ก็ต้องมีการจัดเกรดหอมมะลิใหม่ แล้วทำการจัดเกรดสำหรับบริโภค ส่วนที่เป็นปลายข้าว 30% มีโอกาสที่จะขายสำหรับอุตสาหกรรมได้ ส่วนนี้อาจจะต้องทดลองขายบางโกดัง เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการระบาย แล้วจะได้ราคาเท่าไร

ส่วนโกดังที่เป็นข้าวเกรด C ปนข้าวเกรดอื่นๆ อีกจำนวน 1,089 โกดัง จัดประเภทอย่างคร่าวๆ ส่วนใหญ่ เป็นข้าวขาว 39% เป็นข้าวหอมมะลิ 30% และเป็นปลายข้าว 25% กรณีนี้หากทำการแยกขายข้าวเกรด A หรือ B ที่ปนอยู่ตามสภาพโกดังอาจเกิดปัญหาในการขนย้าย ฉะนั้นอาจจำเป็นต้องเหมาขายทั้งโกดัง แต่ก็ต้องทำการทดลองขายก่อนเพื่อให้ทราบราคา เนื่องจากตั้งราคากลางไม่ได้ เพราะมีข้าวผสมหลายชนิด

ทั้งนี้ รศ. ดร.นิพนธ์ แนะว่า การขายรัฐบาลอาจจะให้ข้อมูลของข้าวทุกกองว่าเป็นข้าวชนิดไหน เกรดอะไรแล้วให้ผู้ประมูลประมูลเอง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องขายเหมาทั้งโกดัง และการป้องกันข้าวเสียปนสู่ตลาดข้าว ก็คงต้องมีกระบวนการติดตามตรวจสอบต่อไป โดยระบุในสัญญาให้ต้องรายงานว่าขายข้าวให้แก่ใคร หรือกำหนดคุณสมบัติของผู้ประมูลให้เป็นบริษัทมหาชนเท่านั้น เป็นต้น

อนึ่ง ปัจจุบันรัฐบาลเหลือข้าวในสต็อกปริมาณ 13.5 ล้านตัน คิดเป็นข้าวเกรด C อยู่ประมาณ 5.89 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นข้าวเสียเป็นฝุ่นผงจำนวน 1.29 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวพรีเมียม, A และ B นอกจากนี้ยังมีข้าวที่ระหว่างดำเนินคดีอีก 7 หมื่นตัน

ที่ประชุมเคาะโครงการข้าวถุงสมัยยิ่งลักษณ์ประมูลทั้งหมด

นางสาวชุติมากล่าวว่า วันนี้ได้มีการรับฟังความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตามโครงการเพื่อชุมชน โดยได้มีการส่งข้าวไปยังสหกรณ์ที่ร่วมโครงการ 95% แล้ว คาดว่าพรุ่งนี้จะดำเนินการได้เสร็จสิ้น ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ยืนยันว่าสามารถขายข้าวได้หมด

ทั้งนี้ ข้าวถุงตามโครงการนี้แบ่งเป็นข้าวขาว 5% ปริมาณ 500 ตัน จำนวน 2.5 แสนถุง และข้าวเหนียว 10% ปริมาณ 100 ตัน จำนวน 50,000 ถุง ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีช่องทางจำหน่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ อีกหรือไม่

ส่วนกรณีข้าวสารบรรจุถุงละ 4 กิโลกรัม สำหรับช่วยผู้ประสบภัย และประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังดำเนินการปรับปรุงข้าวไม่แล้วเสร็จ เหลืออยู่ประมาณ 6,300 ตัน ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการเข้าปรับปรุงส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ แล้วนำออกขายตามมติของโครงการต่อไป ส่วนข้าวที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงเลยให้นำออกประมูลขายตามระบบปกติ

กองทุนหมู่บ้านฯ ขยายกรอบให้ “รัฐวิสหกิจชุมชน” – ตีกรอบ “กู้เพื่ออาชีพ” ดัก “กู้ใช้หนี้”

ภายหลังการประชุม กทบ. นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ผ่านการประเมินศักยภาพในปี 2555 ที่อยู่ในระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนหมู่บ้าน Refinance หนี้เดิม

โดยมีวงเงินให้สินเชื่อจำนวน 60,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้านฯ จะต้องนำหลักฐานจากสมาชิกกองทุนมายื่นขอสินเชื่อ เพื่อประกอบการกู้เงินจากธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. โดยมีระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา และต้องดำเนินการยื่นโครงการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยใน 1-2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 0% ปีที่ 3-7 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่ธนาคารเรียกเก็บจากกองทุนหมู่บ้านฯ

การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ครั้งที่ 5/2558 ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กทบ. เป็นประธานในการประชุม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
การประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ครั้งที่ 5/2558 ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กทบ. เป็นประธานในการประชุม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

“ในครั้งนี้จะหลักเกณฑ์สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ การกู้ต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และเป็นไปเพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เป็นกรอบในการพิจารณาให้กู้ และเห็นชอบให้เพิ่มวงเงินกู้รายบุคคลเป็นไม่เกิน 30,000 บาท/ราย เว้นแต่โครงการที่มาขอกู้ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณค่า อาจได้ปรับเพิ่มวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย”

นายสุวพันธุ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเพิ่มวงเงินให้กับผู้กู้รายบุคคลแล้ว ที่ประชุมยังเห็นชอบขยายการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มบุคคล อาทิ รัฐวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม เนื่องจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านเหล่านี้มีโครงการดีๆ มากมายที่จะช่วยส่งเสริมสร้างอาชีพสร้างรายได้ได้ โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท/กลุ่ม

โดยได้ปรับปรุงแก้ไขในระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ข้อ 30  และระเบียบคณะกรรมการหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ข้อ 3 เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านเข้าถึงสมาชิกได้มากขึ้น ส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง

“สำหรับการดำเนินการติดตามตรวจสอบการใช้เงินนั้น ธนาคารมีอำนาจในการระงับโครงการได้ หากเห็นว่าผู้กู้ไม่สมารถดำเนินโครงการได้ตามที่ยื่นขอ ส่วนกรณีผู้ที่ยังผ่อนชำระในกองทุนเก่าไม่หมดแล้วจะทำการขอยื่นขอสินเชื่อเพิ่มนั้น เป็นอำนาจของกองทุนหมู่ฯ บ้านที่จะพิจารณาให้หรือไม่” นายสุวพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม กทบ. ยังได้ทำการอนุมัติหลักการจัดสรรโอนเงิน 1 ล้านบาท สำหรับกองทุนชุมชนเมืองจัดตั้งใหม่ครั้งที่ 5 จำนวน 5 ชุด วงเงิน 5.00 ล้านบาท พร้อมทั้งรับทราบการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านฯ ตามมาตรการสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 ระบุว่า ได้มีการสนับสนุนสินเชื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ ไปแล้วจำนวน 7,393 กองทุน เป็นเงิน 10,260 ล้านบาท แยกเป็นจากธนาคารออมสิน 3,709 กองทุน เป็นเงิน 6,400.72 ล้านบาท และจาก ธ.ก.ส. จำนวน 3,684 กองทุน เป็นเงิน 3,860 ล้านบาท