ThaiPublica > คนในข่าว > ข้อเสนอนักวิชาการสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ “พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” 4 ทางเลือกจัดการขยะเหม็นๆให้เป็นของหอมๆ “zero waste” ไม่มีในโลก

ข้อเสนอนักวิชาการสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ “พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” 4 ทางเลือกจัดการขยะเหม็นๆให้เป็นของหอมๆ “zero waste” ไม่มีในโลก

3 กันยายน 2015


นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ปัญหาขยะของไทยสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะแห่งใหม่ แต่ต้องบริหารจัดการวิธีกำจัดขยะที่มีอยู่เดิมแบบบูรณาการโดยมีศูนย์กลางรวบรวมขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเสนอ 4 แนวทางจัดการขยะของประเทศไทย

จากปัญหาบ่อขยะที่สร้างผลกระทบกับชุมชนโดยรอบทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น น้ำเสีย แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค ฯลฯ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2557 ที่เป็นตัวเร่งสำคัญผลักดันให้ขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข ซึ่งต่อมากรมควบคุมมลพิษได้จัดทำโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่เป็นประเด็นทางสังคม คือ เร่งจัดการขยะสะสมใน 6 จังหวัดที่มีขยะสะสมสูงสุด คือ สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ลพบุรี อยุธยา และสระบุรี รวมถึงนโยบายโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานจังหวัดละ 1 แห่ง ที่ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากชาวบ้านหลายพื้นที่

วันนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ช่วยชี้ทางออกของปัญหาขยะไทยที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างหรือนำเข้ารูปแบบใหม่ๆ ในการจัดการขยะ

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ของเสียในประเทศไทยมีลักษณะค่อนข้างผสมกัน โดยแต่ละพื้นที่บริหารจัดการขยะแบบต่างคนต่างทำ มองอีกมุมก็คือทำเพื่อให้ได้งบประมาณ เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่จำนวนมากที่สามารถจัดการจัดขยะได้แบบผิดกฎหมาย นั่นคือ ถ้าใครมีอำนาจสั่งการก็สามารถหาพื้นที่ทิ้งขยะได้ ทำให้สุดท้ายแล้วขยะส่วนใหญ่ลงหลุมฝังกลบซึ่งเป็นหลุมแบบเทกอง เพราะเป็นการจัดการที่ง่ายและได้ผลประโยชน์หลายคน นี่คือปัญหาในบริบทดั้งเดิมของไทย

“การจัดการขยะด้วยระบบผลประโยชน์ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาคือ 1. เริ่มมีคนต่อต้านการสร้างบ่อขยะ 2. การทำหลุมฝังกลบแบบถูกสุขลักษณะหรือถูกกฎหมายทำได้ยากมากขึ้น แต่บ่อฝังกลบแบบผิดกฎหมายยังมีต่อไปและทำได้ง่าย 3. มีขยะสะสมในพื้นที่มากขึ้น และ 4. เกิดไฟไหม้บ่อขยะซึ่งทำให้เกิดมลพิษอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย และเป็นตัวเร่งที่ทำให้ขยะกลายเป็นวาระแห่งชาติ” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยรณรงค์เรื่องคัดแยกขยะมากมาย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดสิ่งที่สำคัญหลายประการ คือ

1. ขาดขยะเชิงปริมาณ เช่น ขวดน้ำพลาสติกที่ขายได้ ถ้ามีจำนวนน้อยจะเป็นขยะแต่ถ้ามีจำนวนมากๆ จะกลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคนมองเห็นประโยชน์

2. การแบ่งประเภทขยะมีหลายแนวทาง คือ หลายภาคส่วนในประเทศไทยรณรงค์ให้คนคัดแยกขยะ แต่ว่ารูปแบบการคัดแยกของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน เช่น 1) แยกเป็น 2 ประเภท คือ เผาได้และเผาไม่ได้ 2) แยกเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะมีพิษ ฯลฯ ซึ่งทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจแบบเดียวกันไม่ได้ว่าต้องแยกขยะอย่างไร ได้แต่เพียงรู้ว่าต้องแยกขยะแต่ก็ปฏิบัติไม่ถูก ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการคัดแยกที่ตรงกันทั้งประเทศ และจัดกำหนดเวลาการจัดเก็บขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจน เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จเรื่องการคัดแยก

3. ขาดการบังคับใช้กฎหมาย แต่หากประเทศไทยมีขั้นตอนการคัดแยกและกำหนดเวลาจัดเก็บขยะได้ชัดเจนจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายทำได้ง่ายขึ้น

4. ขาดงบประมาณ รายได้หรือผลตอบแทนที่พึงได้จากขยะอย่างเป็นทางการ หรือมีมาตรการอย่างเป็นทางการ โดยการกำหนดเกณฑ์หรือราคากลางของขยะรีไซเคิลแต่ละประเภทที่เหมือนกันหมดทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันราคาซื้อขายขยะในตลาด เช่น ขวดพลาสติกกิโลกรัมละ 5 บาทนั้นเป็นราคาที่พูดโดยใครสักคนที่เป็นเอกชน

และ 5. ขาดกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ โดยนำความรู้ด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างจริงจังแล้วผสมผสานรูปแบบต่างๆ อย่างสมบูรณ์ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีระบบจัดการขยะแบบครบวงจร คือมีทั้งการเผาขยะ การหมักทำปุ๋ย การฝังกลบขยะ ฯลฯ อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่กำจัดขยะอย่างจริงจัง

“ถ้าปิดช่องว่าง 5 ข้อนี้ไม่ได้ จะทำให้ขยะทั้งหมดวิ่งมาหลุมฝังกลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการคัดแยก เทคโนโลยี และงบประมาณ/รายรับ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือต่างคนต่างเลือกวิธีการจัดการของตนเอง ทำให้ผลสุดท้ายคือไม่มีการจัดการใดรที่ไปด้วยกันได้ เพราะต่างคนต่างซื้อ ต่างคนต่างลงทุน ผลสุดท้ายก็มีค่าคอมมิชชั่นต่างๆ เข้ามาเป็นผลประโยชน์ นั่นคือเราจะได้ของใหม่และทิ้งของเก่า เพราะในบ่อฝังกลบเหล่านี้มีหลายที่ที่มีโรงคัดแยกและโรงทำปุ๋ยอยู่ในบริเวณเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากขยะไม่ได้คัดแยกมาตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้น ทุกคนจึงวิ่งไปหาของใหม่เพราะว่าได้เงิน และสิ่งที่ตามมาคือไม่เกิดแนวทางการคัดแยก ไม่ว่าจะเกิดจากการสร้างนิสัยหรือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะว่าไม่ได้มองปัญหาที่ต้นทาง” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวต่อว่า กรณีญี่ปุ่นมีอัตราการสร้างขยะประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เท่ากับประเทศไทย แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นเริ่มทำคือเอา 3Rs มาใช้ คือ Reuse Reduce Recycle ซึ่งทำให้ขยะลดลงเหลือ 0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อวันทันที แค่เพียงเปลี่ยนทัศนคติของคน และพอขยะเข้าโรงงานก็จะนำ process มาใช้ ซึ่งที่เด่นมากของญี่ปุ่นคือการเผาขยะ เช่น เมืองโตเกียว จะมีโรงคัดแยกขยะ โรงเลือกขยะ จนสุดท้ายเหลือขยะประมาณ 0.2 กิโลกรัมต่อคนต่อวันที่นำไปยังบ่อฝังกลบ

แต่ที่ไทยทำอยู่นั้นยังไม่ชัดเจน เพราะปริมาณขยะ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปัจจุบัน เป็นสถิติเดียวกับที่เป็นมาตลอด 10 ปีแล้ว แสดงว่าเรายังทำเรื่องคัดแยกไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่รู้ว่ามีการประชาสัมพันธ์มากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันเรากำลังจะไปซื้อเทคโนโลยีสร้างโรงงานเผาขยะอีก ทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้งานได้หรือไม่

โรดแมปการจัดการขยะฯ แก้ไขปัญหาแบบสวนทาง-ไม่เหมาะสมกับพื้นที่

การบริหารจัดการขยะ

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องขยะตามโรดแมปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายนั้น เป็นการดำเนินการที่เริ่มต้นย้อนจากข้างหลังมาข้างหน้า โดยเน้นจัดการขยะที่ตกค้างสะสมก่อน ต่อมาจึงเน้นการทำขยะเป็นพลังงาน วางระเบียบการจัดการของเสีย แล้วถึงมาสร้างทัศนคติ ในขณะที่ปัญหาเกิดสวนทางกัน ดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปเตรียมซื้อที่ดินทำบ่อฝังกลบขยะ แล้วเรียกเก็บค่าเก็บขนขยะจากประชาชน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

“มีโรดแมปดีกว่าไม่มี ผมเห็นด้วยที่ยกให้ขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่แผนงานตามโรดแมปยังไม่มีการดำเนินการที่เน้นหรือพัฒนาเพื่อปิดช่องว่างต่างๆ ของปัญหาขยะ อาทิ การสร้างศูนย์รวบรวมขยะแต่ละประเภท เนื่องจากปัจจุบันเรามีศูนย์รวมเดียวคือที่บ่อฝังกลบ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่หรือขยะรีไซเคิลของไทยมีไม่เกินร้อยละ 5” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ โรดแมปยังไม่พูดถึงเรื่องการคัดแยกว่าจะแบ่งประเภทขยะอย่างไร หรือพูดคุยเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับของเสียอย่างจริงจัง รวมถึงงบประมาณหรือรายได้ที่เสียไปในปัจจุบันมีจำนวนมากที่ใช้งานไม่ได้ แล้วมีงบประมาณลงไปจัดการหรือไม่ หรือมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง หรือแม้กระทั่งที่ดินที่ไปซื้อหรือไปดูเทคโนโลยีที่ต่างประเทศนั้นเคยมีใครหรือนักวิชาการคนใดนำมาเล่าให้ชาวบ้านฟังหรือไม่ “ถ้าจะแก้ปัญหาขยะต้องจริงใจทำมากๆ เพราะว่ามีผู้มีอิทธิพลมาเกี่ยวข้องกับขยะ และขยะมีมูลค่ามหาศาล”

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เสนอให้แบ่งแยกขยะหรือของเสียในประเทศไทยเป็น 4 ประเภท คือ 1. ขยะชุมชน 2. ขยะจากเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันไม่มีใครนิยามทั้งสองประเภทออกจากกัน 3. ขยะจากโรงพยาบาล และ 4. ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการแบ่งเป็นประเภทอย่างนี้มีข้อดีคือ หากเน้นเผาขยะเป็นพลังงานจะแก้ไขปัญหาได้ง่าย เพราะประเทศไทยมีขยะเกษตรกรรมปริมาณมากและมีศักยภาพสูงพอสมควรในการเผา อีกทั้งประเทศไทยยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าน่าจะมีคนมาลงทุนจำนวนมาก

ด้านขยะชุมชน สามารถแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1. ขยะที่เผาไหม้ได้ 2. ขยะที่เผาไหม้ไม่ได้ 3. ขยะขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ 4. ขยะที่ใช้เป็นวัตถุดิบได้ (resource) และ 5. ขยะอันตราย

ทางเลือกที่ 1 ศูนย์กำจัดขยะอินทรีย์ด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

ขยะที่เผาไหม้ได้แบ่งเป็นเศษอาหาร กับขยะอื่นๆ ซึ่งถ้าหากโรงไฟฟ้าชีวมวลกระจายอยู่ทั่วประเทศและตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตเกษตรกรรมก็สามารถที่จะรับขยะอินทรีย์เหล่านี้มาแปรรูปเป็นพลังงานได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรมก็มีเศษอาหารเช่นกัน ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวลจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ที่ต้องการกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องการวัตถุดิบ เพราะต้องการวัตถุดิบ

ทางเลือกที่ 2 สร้างโรงงานเผาขยะ

ประเทศญี่ปุ่น ที่นำขยะที่เผาไหม้ได้มาเผารวมกันและได้พลังงาน เหลือกากเถ้าสุดท้ายก็นำไปฝังกลบ แต่สำหรับประเทศไทย หากรัฐบาลบังคับให้ทุกพื้นที่ทำเหมือนกันหมดก็จะไม่มีใครเห็นด้วย โดยเฉพาะในชุมชนเกษตรที่มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวลอยู่แล้ว หรือมองอีกมุม เช่น ในกรุงเทพฯ ถ้าจะมาสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ไม่มีคนเอาเหมือนกัน แต่อาจจะเห็นด้วยกับการสร้างโรงงานเผาขยะ เพราะมีตัวอย่างโรงไฟฟ้าที่สามารถตั้งอยู่กลางเมืองได้

“ผมเห็นด้วยการสนับสนุนให้มีเตาเผาขยะจังหวัดละหนึ่งแห่งตามโรดแมป คือถ้าศูนย์ที่ 1 และ 2 เกิดขึ้นได้ก็ตอบโจทย์เลยว่า 2 ศูนย์นี้คือ urban area แต่รัฐต้องไปคุยกับโรงไฟฟ้าชีวมวลว่าจะจัดการบริหารงบประมาณอย่างไร สามารถทำปุ๋ย ก๊าซชีวภาพหรือกากให้เขาเป็นประโยชน์ได้ไหม ถ้าทำตรงนี้ได้ปัญหาขยะก็จะลดลงค่อนข้างเยอะ เพราะประเทศไทยมีขยะที่เผาไหม้ได้กว่าร้อยละ 60-70 ของขยะทั้งหมด ในขณะที่ขยะที่เผาไม่ได้ ถ้าเป็นญี่ปุ่นจะมีศูนย์กลางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคือขยะที่เผาไม่ได้จะเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือต้องมีโรงงานคัดแยกขยะเหล่านี้ ซึ่งตรงนี้ยังจัดการไม่ได้ยังไม่ใช่ประเด็นด่วน เพราะว่ามีจำนวนไม่มาก แต่ถ้ามีศูนย์จัดการเศษซากเหลือใช้จากอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical Electronic Equipment) หรือ WEEE ได้จริงๆ หรือโรงงานผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รับคืนสินค้าของจริงจัง ก็ทำให้ลดปริมาณขยะที่จะเข้าหลุมฝังกลบได้มาก” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

สำหรับขยะขนาดใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดศูนย์กลางที่เป็นจุดแลกเปลี่ยนหรือนำของเหล่านี้ไปใช้ใหม่เป็นของมือสอง อย่างที่ในต่างประเทศมี เช่น ฝรั่งเศส แต่ก็สามารถเริ่มทำเป็นศูนย์กลางเล็กๆ ก่อนได้ เช่น หากไม่ต้องการเตียงหรือเก้าอี้ตัวนี้แล้ว ก็ให้นำไปไว้ที่ศูนย์ซึ่งอาจจัดเป็นตลาดนัดเพื่อให้คนอื่นนำของไปใช้ต่อได้ฟรี

“อย่างตอนที่ผมอยู่ฝรั่งเศสผมก็ได้ฟูกได้เตียงเก่ามาใช้จากสถานที่ที่จัดไว้สำหรับให้คนเอาของที่ไม่ใช้แล้วมาวางไว้ โดยกำหนดวัน เวลา ชัดเจน ซึ่งจะเกินจากเวลาดังกล่าวก็จะมีคนมาเก็บไปกำจัด ดังนั้น คนที่ต้องการเฟอร์นิเจอร์แต่ว่าไม่มีเงินก็จะรู้ว่าไปหาของเหล่านั้นมาใช้ฟรีๆ ได้ที่ไหน ซึ่งถ้าทำได้ขยะก็จะลดลงไปอีก อีกทั้งบางส่วนก็นำไปเผาได้ หรือถ้าเผาไม่ได้ก็นำไปฝังกลบ” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

ทางเลือกที่ 3 ศูนย์จัดการขยะรีไซเคิล

ส่วนขยะกลุ่ม resource เช่น กระดาษ ขวด ฯลฯ ที่สามารถนำมารวมกันได้ และเป็นสิ่งที่แม่บ้านทำกันอยู่แล้วโดยทำอย่างสะดวกใจ ดังนั้น พวกขวด กระป๋อง กระดาษ พลาสติก ควรให้โรงพยาบาลหรือโรงงานอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางในการรวบรวม เพราะเป็นสถานที่ที่จะนำขยะเหล่านี้กลับไปใช้ใหม่ รวมถึงมีแม่บ้านคอยรวบรวมขยะให้ อีกทั้งสถานพยาบาลและอุตสาหกรรมได้กระจายตามท้องถิ่นทั่วประเทศ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลเข้ามาดูแลศูนย์ดังกล่าวโดยมีเงินสนับสนุนให้ สถานพยาบาลก็สามารถรับเงินสนับสนุนและจัดการขยะส่วนนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หากมองจากขยะส่วนนี้แล้ว ก็พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน และขยะขนาดใหญ่บางส่วน สามารถเป็นขยะ resource ได้ แต่สุดท้ายถ้าทำอะไรไม่ได้จริงๆ ก็นำไปฝังกลบ

ด้านขยะอันตราย ศูนย์กลางจัดการควรเป็นโรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเป็นแหล่งที่มีของเสียอันตรายเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการของเสียอันตรายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขนส่ง

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

“แยกขยะ” แนวทางแก้ปัญหาที่ยังไม่เกิด

ศูนย์กลางที่รวบรวมขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ จะเป็นศูนย์ของรัฐหรือเอกชนอย่างร้านรับซื้อของเก่าก็ได้ แต่ต้องมีทั่วถึงทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันมีร้านรับซื้อของเก่าอยู่ทั่วไป เช่น วงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นโมเดลที่แทบจะซ้อนทับกับโมเดลที่กล่าวไป แต่อย่าลืมว่าวงษ์พาณิชย์แยกทุกอย่าง ซึ่งถ้าศูนย์นั้นจะคือวงษ์พาณิชย์ก็ได้ไม่ว่าอะไรมันก็คือเรื่องเดียวกัน ดังนั้นมันก็จะย้อนกลับมาตรงที่ว่าคัดแยก กำหนดเวลา กฎหมาย ที่บอกว่า “ราคา” เท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีเกณฑ์ราคากลาง มีแต่ราคาตลาดของร้านรับซื้อของเก่า

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีศูนย์กลางที่ชัดเจนว่าขยะจะไปไหน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพยายามปิดช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ซึ่งศูนย์รับขยะนี้จะปิดช่องว่างเรื่องของปริมาณได้ เพราะน่าจะลิงก์กับศูนย์ขยะ resource และที่สำคัญตอนนี้ต้องคิดเรื่องประเภทหรือการคัดแยกขยะที่ชัดเจน ซึ่งผมมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล ถ้ารัฐบาลมองดีๆ น่าจะทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลมีบทบาทจัดการขยะเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ของชุมชน โดยที่ไม่ต้องไปซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่ม และปัจจุบันมีงานวิจัยเยอะที่เอาก๊าซชีวภาพมาผสมกับของเสียซึ่งเผาได้เหมือนกัน ซึ่งผมมั่นใจว่าเทคโนโลยีปัจจุบันของต่างประเทศทำได้ เพราะว่าก๊าซชีวมวลที่นำมาเผานั้นมีคาร์บอนอยู่แล้ว และมีระบบอยู่แล้ว แต่ที่เคลมว่านำเศษอาหารมาผสมก็มีข้อดีในเชิงของจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยระหว่างมักกอง หรือนำมาประยุกต์ทำปุ๋ย ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า สำหรับขยะเกษตรกรรม อีกทั้งถ้ามองให้ดีขยะกลุ่มนี้จะไม่เหลือลงบ่อฝังกลบด้วยซ้ำ

“ที่ผ่านมาเราเดินผิด เราไม่ปิดช่องว่างเรื่องการคัดแยกขยะเลย ดังนั้น ผลสุดท้าย ถึงเราจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ สร้างกฎระเบียบใหม่ก็คือมีเงิน พอคนจ่ายเงินความร่วมมือก็ลดลงเพราะถือว่าจ่ายแล้ว คุณต้องจัดการให้ดีขึ้น ซึ่งบอกเลยว่า 150 บาทไม่พอ ผมคิดว่าควรจะต้องชี้ให้เห็นปัญหาให้ชัดเจน” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ควรจะเริ่มจากมองเห็นปัญหา มองว่าทัศนคติคนไทยทำอะไรได้บ้าง จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เห็นโฆษณาอย่างตาวิเศษ ที่จะสร้างทัศนคติอย่างชัดเจนในการลดปริมาณขยะได้ แล้วค่อยมามองว่าถ้ากำหนดให้การคัดแยกขยะเป็นกฎระเบียบ ก็ต้องผสมผสานการจัดการต่างๆ มาชี้ให้คนเห็นความสำคัญ ให้ความรู้ในภาพรวมการจัดการขยะ ซึ่งถ้าทำได้ขยะก็จะน้อยลง แล้วค่อยมาคุยเรื่องบ่อฝังกลบขยะว่ามีอายุใช้งานนานเท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นค่อยมองว่าแต่ละเทคโนโลยีในการจัดการขยะมีอะไรบ้าง

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวต่อว่า โรดแมปการจัดการขยะฯ ไม่ได้สร้างความเข้าใจก่อนว่าประชาชนจะคัดแยกขยะอย่างไร แต่มีธงตั้งมาก่อนแล้วว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นปัจจุบัน แต่ถ้าชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาขยะสะสม เห็นประเภทขยะ เช่น ประเด็นที่ว่าขยะไทยเป็นขยะเปียกนั้นก็เป็นเรื่องจริง แต่ขยะนี้สามารถนำไปทำปุ๋ยและเลี้ยงสัตว์ได้ อย่างสมัยก่อนที่มีถังข้าวหมู แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่เลี้ยงหมูต้องไปซื้ออาหาร นั่นเพราะเกษตรกรหาเศษอาหารไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยจะเอาขยะเปียกไปเผาก็สามารถทำได้ แต่เชื้อเพลิงครึ่งหนึ่งก็เผาไล่ความชื้น ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงของขยะคือเผาได้ทั้งหมด ซึ่งรัฐอาจจะมองว่ากว่าขยะจะมาถึงโรงไฟฟ้าความชื้นมีแนวโน้มจะลดลง อีกทั้งในโรงงานเผาขยะจะมีระบบหมุนเวียนนำความร้อนมาไล่ความชื้นออกไปด้วย แต่ถ้าเผาขยะตอนที่ขยะแห้งจะมีประโยชน์กว่า เพราะประหยัดเชื้อเพิงมากกว่า

ส่วนประเด็นการอ้างเทคโนโลยีญี่ปุ่นในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้า รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวว่า เห็นด้วย เพราะในเชิงเทคโนโลยีนั้นถูกต้อง ญี่ปุ่นก็สามารถบริหารจัดการขยะและประสบความสำเร็จชัดเจน แต่ที่น่าคิดคือ ประเทศไทยทำก่อนหน้านี้ดีหรือยัง เพราะเทคโนโลยีไม่ใช่ของวิเศษที่ใส่อะไรเข้าไปก็จัดการได้ ดังนั้น ก่อนที่จะใส่ขยะเข้าไปต้องจัดการก่อนว่า 1. สิ่งที่จะใส่เข้าไปถูกชนิดหรือไม่ 2. ได้เทคโนโลยีมาแล้วมั่นใจแค่ไหนกับการดำเนินการใช้งานจริง ไม่ใช่เสียหรือถูกปล่อยไม่ได้ใช้งานเหมือนที่กำจัดขยะหลายๆ แห่งในเมืองไทย

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ถ้าทำแบบเร็วๆ ประเทศไทยต้องคัดแยกขยะหรือสร้างทัศนคติคนให้ลดปริมาณขยะ อย่างยุโรปแค่ปรับทัศนคติคนก็ทำให้ขยะก็ลดลงทันทีโดยไม่ต้องลงทุนสร้างอะไรใหม่ เช่น แนวคิด avoid คือเมื่อไปเดินในที่สาธารณะแทบจะหาถังขยะไม่เจอ เพราะรัฐต้องการทำให้คนไม่คิดจะสร้างขยะได้ง่ายๆ ดังนั้น ประชากรของประเทศเหล่านี้ เช่น ญี่ปุ่น เมื่อซื้อน้ำมาก็จะกินให้หมดทันทีแล้วทิ้งที่ร้าน เพราะรู้ว่าเดินไปจะเจอถังขยะยาก เช่นเดียวกัน ไม้ลูกชิ้นปิ้งที่คนไทยซื้อใส่ถุง เดินมาไม่กี่ก้าวก็หมดนั้น ก็แก้ด้วยการกินให้หมดและทิ้งที่ร้าน ซึ่งแนวคิด avoid นี้จะเป็นศูนย์หนึ่งในการคัดแยกขยะ โดยอาจใช้ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่มีสาขาอยู่มากมาย มาเป็นต้นแบบของแนวคิด avoid ซึ่งถ้าทำได้จะลดปริมาณขยะต่อคนต่อวันลงได้ 0.1-0.2 กิโลกรัม

“วิธีนี้เกิดได้เร็วกว่าการลงทุนเยอะ ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะเอาขยะเป็นวาระแห่งชาติแล้วภายใน 3 ยังลดปริมาณการสร้างขยะลงเหลือ 0.7-0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อวันไม่ได้ถือว่าล้มเหลว ถ้าเรายังทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่ได้แล้ว เพราะสิ่งนี้จะช่วยลดขยะได้ทั้งระบบ” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

การจัดการขยะของประเทศไทยของรัฐและเอกชน นำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากร

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวต่อว่า การจัดการขยะรูปแบบไหนเหมาะกับรัฐหรือเอกชนนั้นตอบยาก แต่ผลสุดท้ายก็หนีไม่พ้นเอกชน เพราะรัฐไม่ได้มีสรรพกำลังที่จะทำได้ทั้งหมด อีกทั้งโมเดลที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จคือ มีเอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐ โดยมองขยะชุมชนเป็นสำคัญ เช่น รัฐบาลอาจจะดูแลบ่อฝังกลบ เพราะมีงบประมาณและทุกอย่างมาบริหารจัดการ แล้วเอาเอกชนมาร่วมลงทุนเป็นศูนย์ต่างๆ แล้วแบ่งกำไรกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้เอกชนมาลงทุนทั้งหมด แม้ว่าจะเป็นบ่อฝังกลบก็ตาม เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นของประเทศ ดังนั้น ถ้ายกพื้นที่ทั้งหมดให้เอกชน แล้วจะเชื่อใจการตรวจสอบข้อมูลได้มากแค่ไหน เพราะบ่อขยะก็เปรียบเสมือนโรงงานสุดท้ายที่ทุกอย่างเอามาเทรวมกันหมด ดังนั้น ถ้าจะให้ออกมาดี ภาครัฐต้องดูแลเรื่องบ่อฝังกลบขยะ การเก็บข้อมูลพื้นฐานต่างๆ และวิเคราะห์อย่างละเอียด ในขณะที่ผลประโยชน์ที่เกิดจากศูนย์ต่างๆ ให้เอกชนเข้ามาทำแล้วร่วมแบ่ง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวว่า การนำกลับทรัพยากรทุกอย่างที่เป็น waste to resource ดีทั้งหมดควรสนับสนุน หรือเขียนอีกคำได้ว่า Urban mining เหมือนการทำเหมืองในเมือง ซึ่งปัจจุบันต้องไปทำเหมืองเพื่อมาทำวัตถุดิบ สร้างผลผลิตแล้วกลายเป็นของเสีย แต่คำว่า resource นี้ไม่ได้แปลว่าพลังงานอย่างเดียว แต่เป็นกระดาษ แก้ว ขวด หรืออะไรก็ตามที่เป็น resource ของมันที่ไม่ใช่แค่พลังงานเท่านั้น

ด้านบ่อฝังกลบก็ยังจำเป็นต้องใช้แน่นอน ยังไงรัฐบาลก็ต้องหาพื้นที่ฝังกลบที่ถูกกฎหมาย และรัฐบาลต้องหาทางยืดอายุพื้นที่ฝังกลบที่มีในปัจจุบัน หรือฟื้นพื้นที่ฝังกลบเก่าให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เช่น บ่อขยะที่เต็มแล้วต่างชาติสนใจที่จะซื้อขยะเหล่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งบ่อที่ปิดแล้วก็ควรต้องดูแลต่อว่าสภาพพื้นที่ยังดีอยู่หรือไม่ ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

“zero waste ไม่มีในโลกแน่นอน เป็นไปไม่ได้ คือไม่เป็นขยะในของแข็ง ของเหลว ก็อยู่ในอากาศ มนุษย์ทำอะไรก็จะได้อย่างนั้น” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว

รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
รศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

โรดแมปทำงานสวนทางการแก้ปัญหาขยะที่แท้จริง

รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวต่อว่า การทำงานตามโรดแมปนั้น สวนทางกับที่ควรเป็น เช่น การสร้างขยะเป็นพลังงาน ทำไมไม่พูดว่า urban mining เพราะคำนี้เป็น resource ได้มากกว่าพลังงาน ซึ่งศูนย์ที่จะตั้งในชุมชนก็อาทิ โรงงานผลิตกระดาษก็รับซื้อกระดาษ โรงงานผลิตแก้วก็รับซื้อแก้ว โรงงานพลาสติกก็รับซื้อพลาสติก โดยไปดูว่าชุมชนเหล่านั้นใกล้กับอะไร ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้แหล่งผลิตได้รับวัตถุดิบที่ต้องการโดยตรง ชุมชนมีรายได้ ก็จะทำให้แย่งขยะกัน ขยะก็ลดลง แล้วก็จูงใจเอกชนให้ตั้งศูนย์ด้วยมาตรการ เช่น ภาษี ในขณะที่ปัจจุบันเราบอกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ แต่ผู้อำนาจก็ยังไม่ออกมาให้ความรู้ประชาชนเลย

ทางเลือกที่ 4 การกำจัดขยะอันตราย

สำหรับขยะอันตรายมีวิธีจัดการ 2-3 แบบ คือ ฝังกลบอย่างปลอดภัย หรือไม่ก็เผาด้วยอุณหภูมิสูง แต่ปัจจุบันมีคำว่า co-processing คือเผาในโรงงานปูนซีเมนต์ ทั้งนี้การนำไปฝังกลบก็จะปรับเสถียรก่อนหลังจากนั้นจะนำไปฝังกลบหรือทำประโยชน์อย่างอื่นได้ แต่ระบบ co-processing ปัจจุบันมีปัญหาอยู่ว่าใครจะเป็นผู้จ่ายค่าขนส่ง ระหว่างเจ้าของขยะกับเจ้าของโรงงานปูนซีเมนต์ เพราะต่างคนต่างก็มองว่าอีกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งถกเถียงกันมาเป็น 10 ปีแล้ว

ส่วนขยะอันตรายที่ปนมากับขยะชุมชนนั่นเป็นประเด็นที่น่ากลัวมาก และควรจะให้ความรู้ส่วนนี้มากๆ เพราะพื้นที่รอบบ่อฝังกลบขยะมีชุมชน และอันตรายจากขยะอันตรายเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการต่อต้าน และเป็นตัวการที่ถ้าเกิดไฟไหม้แล้วอันตรายมาก

“การทำเป็นพลังงานตอบโจทย์เฉพาะขยะที่เผาได้แต่ไม่มองขยะกลุ่มอื่นๆ เลยการทำศูนย์รับขยะได้น่าจะทำให้เข้าใกล้คำว่า “ขยะเป็นทอง” มากขึ้น และมาตรการตามโรดแมปที่บอกว่าจะมีมาตรการมากขึ้นนั้น คือไปดูงานมามากแล้วก็ต้องทำให้ชัดเจนขึ้นว่าจะแบ่งประเภทอย่างไร จะคัดแยก จะเก็บวันไหน เพราะว่าปัจจุบันเกณฑ์คัดแยกขยะของแต่ละหน่วยงานไม่เหมือนกัน ซึ่งหลายคนยังไม่รู้เลยว่าจะให้คัดแยกแบบไหนที่จะมาปฏิบัติอย่างจริงจัง” รศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าว