ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รับมือปัจจัยลบสูงขึ้น “เศรษฐกิจจีนชะลอตัว – กังวลเอ็นพีแอลพุ่ง”

กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 1.5% รับมือปัจจัยลบสูงขึ้น “เศรษฐกิจจีนชะลอตัว – กังวลเอ็นพีแอลพุ่ง”

16 กันยายน 2015


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง.ครั้งที 6/2558 ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เป็นครั้ง 3 ติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเผชิญกับปัจจัยลบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากกว่าคาด จนส่งผลต่อการส่งออกของไทย รวมไปถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังไม่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของเอกชนในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลจะเป็นแรงช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้จีดีพีปีนี้ยังคงอยู่ระดับต่ำกว่า 3% โดยจะแถลงในรายละเอียดในวันที่ 25 กันยายน 2558 นี้

“ปัจจัยลบจากต่างประเทศเป็นปัจจัยลบที่หนักขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของอาเซียนและของไทยด้วย ทำให้ส่งผลเบื้องต้นผ่านการส่งออกลดลง แต่ต้องดูว่าสาเหตุที่ลงไปเยอะเกิดจากอะไรด้วย ก็ต้องรอดูและมาวิเคราะห์กันก่อนว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน” นายเมธีกล่าว

นายเมธีกล่าวต่อว่าว่าขณะนี้กนง.ได้แสดงความกังวลถึงหนี้เอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่คงไม่ถึงจุดที่จะลุกลามและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน นอกจากนี้ เป้าหมายของนโยบายการเงิน จะแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นผลของนโยบายที่เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจตามภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้นธปท.คงไม่สามารถใช้นโยบายการสำหรับแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะได้ ขณะที่เสถียรภาพการเงินในประเด็นอื่นๆยังคงติดตาม แต่ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของกนง.

ส่วนความกังวลต่อมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลที่อาจจะเร่งจำนวนหนี้เอ็นพีแอลและสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงิน นายเมธีกล่าวว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยมาตรการที่ผ่านธนาคารพาณิชย์ ทางธนาคารพาณิชย์เองมีความเข้มงวดในการปล่อยและติดตามสินเชื่อเงินกู้อยู่แล้ว ขณะที่ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะเฉพาะกิจของรัฐ พบว่าหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันเหล่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ผลกระทบทั้งหมดของมาตรการดังกล่าวต่อหนี้เอ็นพีแอลและการเติบโตของเศรษฐกิจ ถือว่ายังเร็วเกินไปที่จะประมาณการและต้องขอรอดูอีกสักระยะหนึ่ง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นผลดีและช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้อีกระยะหนึ่ง โดยประมาณการใหม่ ธปท.ได้รวมปัจจัยดังกล่าวเข้ามาส่วนหนึ่งแล้ว

“สำหรับกรณีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ขยับขึ้นนั้น มาจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้มีรายได้น้อย และภาคเกษตรกร เนื่องจากมีภาระหนี้สินที่มากทำให้ประสิทธิในการชำระหนี้ด้อยลง แต่โดยภาพรวมสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นไม่ได้น่าเป็นกังวล ในส่วนการขอสินเชื่อจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มองว่าเบื้องต้นจะเป็นการช่วยเสริมคล่องมากกว่า เพราะมีการขอไปเพื่อลงทุน ดังนั้นจึงจะไม่กลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล โดยสรุปแล้วมองว่าฐานะด้านเสถียรภาพการเงินไทยยังเข้มแข็ง ทุนสำรองเมื่อเทียบกับหนี้ระยะสั้นยังดีอยู่ และระดับหนี้ต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ” นายเมธี กล่าว

หนี้ถูกจัดชั้นพิเศษ

ทั้งนี้ความกังวลค่าเงินที่อ่อนมาแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ นายเมธี กล่าวว่าการลงทุนในปัจจุบันของเอกชนน่าจะคำนึงถึงปัจจัยประกอบอื่นๆเป็นหลักมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน กำลังการผลิตที่เหลืออยู่ ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการลงทุนของเอกชนมากนัก นอกจากนี้ ภาวะค่าเงินที่อ่อนค่าในปัจจุบัน เป็นไปตามทิศทางของประเทศตลาดเกิดใหม่ และถือเป็นทิศทางที่มีส่วนช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาพรวมการเคลื่อนไหวยังไม่เห็นสัญญาณความผันผวนมากจนต้องเข้ามาดูแล

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 1 ปี 2559 ช้ากว่าที่ประเมินไว้ เพราะราคาน้ำมันยังต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อทำให้ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด