ThaiPublica > เกาะกระแส > คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (4): ข้อสรุปประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้กฎระเบียบ IUU

คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (4): ข้อสรุปประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้กฎระเบียบ IUU

15 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำวินิจฉัยการดำเนินการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) พร้อมทั้งแจกใบเหลืองให้ไทย ทางสหภาพยุโรปจึงมีหนังสือให้ไทยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วด้วยการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากยาแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน แพปลา ตลาดปลา และภาครัฐเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานแก้ปัญหามีความหละหลวม

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 กรมประมงได้นำส่งรายงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมาตรวจการบ้านว่าประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขตามที่ได้แจ้งมาหรือไม่ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีคำตอบว่าประเทศไทยสอบผ่านหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูล รายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในรายละเอียดว่าประเทศไทยได้ทำและไม่ได้ทำอะไรบ้าง ต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไม่มีการควบคุม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขอนำเสนอรายละเอียดของหนังสือที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งต่อประเทศไทย โดยได้ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดเป็นข้อๆตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันดังนี้

ในตอนที่ 3 ได้กล่าวถึง คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (3): ความบกพร่องของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ-ความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบ ในตอนที่ 4 ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ ตามกฎระเบียบ IUU

…..

3.3. ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศ ตามกฎระเบียบ IUU

(78) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) เมื่อปี พ.ศ. 2554 และเข้าร่วมเป็นภาคีในคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC)

(79) ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 31 (6) (b) (ของอนุสัญญา UNCLOS) คณะกรรมาธิการฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) ประเด็นปัญหาหลัก คือ การจับกุมเรือประมงที่ติดธงไทยที่เข้าทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมอริเชียส (Mauritian EEZ) โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีอาชญาบัตร ในปี 2554 และเป็นไปได้ว่ามีการทำละเมิดในกรณีวางเบ็ดราวปลาทูน่า ในระหว่างการขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือในทะเล ในปี 2556 ประเทศไทยได้ทำการตรวจสอบ และดำเนินการชี้แจงแสดงหลักฐานเป็นที่น่าพอใจ ในกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2556 แต่กรณีที่เกิดขึ้นในปี 2554 กลับไม่ได้รับการชี้แจง และไม่มีการรายงานเกี่ยวกับการสอบสวนของเรื่องดังกล่าว การดำเนินการดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญา UNCLOS มาตรา 94 ที่รัฐเจ้าของธงจะต้องดำเนินการเพื่อตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดของเรือของตน และมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ (ชายฝั่ง) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามอนุสัญญา UNCLOS มาตรา 118 ส่วนประเด็นปัญหารองอื่นๆ กรณีการส่งข้อสังเกต และข้อมูลการจับสัตว์น้ำที่รายงานล่าช้า แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ส่งได้ภายเวลากำหนด

(80) พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ มีการจัดทำร่างขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2542 และมีการปรับปรุงแก้ไข เมื่อเดือนธันวาคม 2557 โดยเพิ่มเติมมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สุขอนามัยของอาหารและระบบการลงโทษ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความซับซ้อนของการทำกิจกรรมประมงและการค้าผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการดำเนินการอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน

ประการแรก นิยามของคำจำกัดความที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังไม่เพียงพอเนื่องจากไม่มีการให้คำจำกัดความของกิจกรรมที่จัดเป็นการทำประมงแบบ IUU หรือการกระทำที่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง

ประการที่สอง กรอบของประมงกำหนดไว้แคบเกินไป โดยในพระราชบัญญัติฯ มีการครอบคลุมเพียงการจัดการกิจกรรมการทำประมงเฉพาะในน่านน้ำไทยและพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยเพียง 3 เขต ที่ในปัจจุบันไม่มีข้อตกลงหรือได้รับอนุญาตให้ประเทศไทยทำการประมง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ กรอบของกฎหมายประมงควรมีการปรับให้เหมาะสมกับการปฏิบัติการของเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำไทย

ประการที่สาม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จัดทำขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติ UNCLOS ในปี 2554 และเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่มีหลักการสำคัญของการอนุรักษ์และการบริหารจัดการสากล ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61-64 ของอนุสัญญาฯ UNCLOS นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกร่างขึ้นก่อนที่จะมีการพัฒนากฎหมายหรือข้อตกลงในการจัดการด้านการประมงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น แผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ในปี 2554

ดังนั้น พระราชบัญญัติฯ จึงไม่ได้รวมหลักการและนิยามที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางดังกล่าวนี้ไว้ ถึงแม้ว่าจะมิได้เป็นข้อความที่ผูกพันในลักษณะบังคับก็ตาม

ประการสุดท้าย ไม่ปรากฏแผนการป้องปรามและการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสากล ซึ่งเป็นการทำลายความสามารถของประเทศไทยในการดำเนินการตามมาตรา 73 ของอนุสัญญา UNCLOS และแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ข้อ 21 ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ

ที่มาภาพ : http://www.indeso.web.id/indeso_wp/images/indeso/news/pelarangan-transipment-untuk-pengelolaan-ikan-berkelanjutan-JOw.jpg
ที่มาภาพ : http://www.indeso.web.id/indeso_wp/images/indeso/news/pelarangan-transipment-untuk-pengelolaan-ikan-berkelanjutan-JOw.jpg

(81) มาตรา 62 (1) ของอนุสัญญา UNCLOS บัญญัติให้รัฐชายฝั่งจะต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในภูมิภาคและในเขตทะเลหลวง เพื่อให้แน่ใจต่อความยั่งยืนในระยะยาวของจำนวนประชากรของการจัดการสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่ย้ายถิ่นอยู่ระหว่างเขตทางทะเลและสัตว์น้ำชนิดสายพันธุ์ที่อพยพย้ายถิ่นไกลอยู่เสมอ และเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรประมงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่กรอบกฎหมายของไทยกำหนดมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการไว้จำกัดแต่เพียงเฉพาะในน่านน้ำไทยเท่านั้น

(82) ด้วยข้อยกเว้นของอนุสัญญา UNCLOS 1982 ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในตราสารที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการประมง แต่เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับปลาทูน่า และปลาที่คล้ายกับสายพันธุ์ปลาทูน่าที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น พบว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบ่อนทำลายความพยายามในการปฏิบัติตามพันธกรณีในด้านความร่วมมือภายใต้อนุสัญญา UNCLOS (มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 116 มาตรา 117)

(83) ข้อบกพร่องในส่วนของการดำเนินงานในด้านระบบติดตามเรือ (VMS) ยังไม่ได้รับการดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของแผนปฏิบัติการสากล IPOA IUU ข้อ 24 (3) ที่กำหนดเงื่อนไขให้รัฐควรมีการตรวจสอบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทำประมงไปจนถึงจุดที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือ เชื่อมโยงไปจนปลายทางสุดท้าย รวมทั้งการใช้ระบบติดตามเรือที่มีมาตรฐานสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือสากล การให้สัตยาบันและอนุวัตมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการให้เป็นไปตามตราสารระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น จะป้องกันกองเรือประมงไทยจากการถูกระบุว่า อาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(84) จรรยาบรรณในเรื่องการทำประมงอย่างรับผิดชอบขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Code of Conduct) ซึ่งประเทศไทยยังไม่เข้าร่วมเป็นภาคี แนะนำเกี่ยวกับความโปร่งใสของกฎหมายการประมง และการเตรียมความพร้อม รวมทั้งนโยบายที่สำคัญ การตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการการจัดการ [ข้อที่ 6 (13) และ 7 (1) (9) ตามลำดับ] ทั้งยังได้กำหนดหลักการและมาตรฐานที่นำไปใช้กับการอนุรักษ์ การจัดการ และการพัฒนาการประมง รวมถึงการจับสัตว์น้ำ การแปรรูปและการค้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และการดำเนินงานด้านการประมงและการวิจัยประมง เป็นต้น การขาดการรับรู้ในหลักการสำคัญเหล่านี้ของกรมประมงในการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ยืนยันข้อสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการฯ เกี่ยวกับความล้มเหลวของไทยว่า มีความชัดเจน การขาดกฎระเบียบที่ครอบคลุมและมีความโปร่งใส และวิธีการปฏิบัติ (ตามที่อธิบายไว้ในข้อ 80)

นอกจากนี้ ความล้มเหลวในการตรวจสอบย้อนกลับ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 3.1 ของคำวินิจฉัยนี้ สอดคล้องกับหลักการในข้อ 11 (1) (11) ของจรรยาบรรณของ FAO ซึ่งแนะนำให้รัฐดำเนินการให้เกิดความแน่ใจว่า สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงที่มีการซื้อขายกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการ โดยผ่านการตรวจสอบใบรับรองแหล่งที่มาของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมง เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแปรรูปสินค้าประมงที่ใหญ่ที่สุด การประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวจะดูเหมือนว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างความมั่นใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรที่อยู่อาศัยทั้งในชายฝั่งทะเลและในเขตทะเลหลวงอย่างยั่งยืน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61, 117 และ 119 ของอนุสัญญา UNCLOS

(85) สมรรถนะของประเทศไทยในการดำเนินการตามตราสารระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับคำแนะนำตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ของแผนปฏิบัติการสากล IPOA-IUU ซึ่งแนะนำรัฐในเรื่องลำดับความสำคัญ การให้สัตยาบัน การยอมรับหรือยอมที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยประชากรของสัตว์น้ำ (The United Nations Fish Stocks Agreement: UNFSA) คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งมีกองเรือประมงที่สำคัญที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำประมงที่เกี่ยวข้องกับการจับปลาสายพันธุ์ที่ย้ายถิ่นข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกลอยู่เสมอ [ส่วนใหญ่เป็นปลาทูน่าในพื้นที่คณะกรรมาธิการทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) และอาจจะอยู่ในพื้นที่คณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลาง (WCPFC)] คำแนะนำนี้จึงมีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย

(86) จากสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในส่วนนี้ของคำวินิจฉัย และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ ตลอดจนหลักฐานการชี้แจงที่ประเทศไทยจัดทำขึ้น ระบุได้ว่า ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎระเบียบ และมาตรการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (3) และ (6)

เรือประมงไทย-4

3.4. ข้อจำกัดเฉพาะของประเทศกำลังพัฒนา

(87) ตามดัชนีการพัฒนามนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Human Development Index: UNHDI) ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง (อันดับ 89 จาก 187 ประเทศ) และตามระเบียบรัฐสภาสหภาพยุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ที่ (EC) No 1905/2006 วันที่ 18 ธันวาคม 2549 ว่าด้วยการจัดทำเครื่องมือที่ใช้ในการจัดหาเงินทุนสำหรับการพัฒนาความร่วมมือ จัดให้ประเทศไทยเป็นอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง

(88) ควรตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งของประเทศไทยในการเป็นรัฐเจ้าของธงได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการฯ ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 20 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และประเทศไทยได้ยืนยันตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 20 (1) ว่ามีการเตรียมการในระดับชาติสำหรับการดำเนินการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการการอนุรักษ์และการจัดการที่เรือประมงไทยจะต้องปฏิบัติตาม

(89) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่าสหภาพยุโรปได้ให้ทุนสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินการด้านเทคนิคเฉพาะเกี่ยวกับการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม อีกด้วย

(90) จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ขององค์การสหประชาชาติ (UNHDI) ที่กล่าวมาข้างต้น และการสังเกตจากการตรวจเยี่ยมในช่วงปี 2554-2557 ไม่มีหลักฐานใดที่จะแสดงให้เห็นว่าความล้มเหลวของประเทศไทยในการปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้กฎหมายสากลเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการในระดับต่ำ ไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของข้อบกพร่องในการเฝ้าระวัง ควบคุม และตรวจตราด้านการทำประมงกับการไร้ขีดความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี ประเทศไทยไม่เคยแย้งว่า ข้อจำกัดของการพัฒนามีผลต่อความสามารถในการดำเนินการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) ที่เข้มแข็ง

และเมื่อเร็วๆ นี้ (พฤศจิกายน 2557) (ประเทศไทย) ยังได้ขอรับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเพื่อใช้ในการปรับปรุงรูปแบบการตรวจสอบย้อนกลับ และใบอนุญาตการจับสัตว์น้ำ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีการตอบรับในเชิงบวกต่อคำขอดังกล่าว

(91) ในมุมมองของสถานการณ์ที่อธิบายไว้ในส่วนนี้ และบนพื้นฐานของทุกองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการฯ เช่นเดียวกับหลักฐานข้อชี้แจงทั้งหมดที่จัดทำขึ้นโดยประเทศไทย จึงเห็นควรระบุตามข้อกำหนดของกฎระเบียบ IUU ข้อ 31 (7) ว่า ระดับการพัฒนาประเทศของไทยไม่มีผลต่อสถานะการพัฒนาและประสิทธิภาพโดยรวมในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการประมงของไทย

4. ข้อสรุปเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการประกาศให้เป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ

(92) ในมุมมองของข้อสรุปในเรื่องเกี่ยวกับความล้มเหลวของประเทศไทยในการปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกรณีของกฎหมายสากล ทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า รัฐชายฝั่ง หรือรัฐเจ้าของตลาด และการดำเนินการเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำประมงแบบ IUU ประเทศไทยที่ควรจะได้รับการแจ้งให้ทราบตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32 ของกฎระเบียบ IUU ว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะถูกระบุโดยคณะกรรมาธิการฯ ว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(93) ตามกฎระเบียบ IUU ข้อ 32 (1) ของคณะกรรมาธิการฯ ควรแจ้งให้ประเทศไทยทราบถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ คณะกรรมาธิการฯ ควรใช้กรรมวิธีทางการทูต (ยื่นหนังสือแจ้งเตือน-ผู้แปล) ทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32 ของกฎระเบียบ IUU ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการบริหาร ควรกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศไทยจะสามารถทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคำประกาศแจ้งเตือน และแก้ไขสถานการณ์

(94) นอกจากนี้ การแจ้งเตือนไปยังประเทศไทยถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือตามวัตถุประสงค์ในคำวินิจฉัยนี้ จะไม่เป็นการขัดขวางหรือนำมาซึ่งขั้นตอนใดโดยอัตโนมัติที่จะดำเนินการต่อไปโดยคณะกรรมาธิการฯ หรือคณะมนตรีแห่งสภาพยุโรป เพื่อวัตถุประสงค์ในการระบุและการจัดทำรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ

หมายเหตุ: แปลอย่างไม่เป็นทางการโดยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และทีมงาน(อ่านฉบับแปลอังกฤษ-ไทย)