ThaiPublica > เกาะกระแส > คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (1): รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ปี’57 ระบุการแก้ไขข้อบกพร่องปี ’54 “มีน้อยหรือไม่มีเลย”

คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (1): รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ปี’57 ระบุการแก้ไขข้อบกพร่องปี ’54 “มีน้อยหรือไม่มีเลย”

15 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำวินิจฉัยการดำเนินการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงาน และไม่มีการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated fishing: IUU) พร้อมทั้งแจกใบเหลืองให้ไทย ทางสหภาพยุโรปจึงมีหนังสือให้ไทยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วด้วยการบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด หลายภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากยาแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน แพปลา ตลาดปลา และภาครัฐเองก็ยอมรับว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานแก้ปัญหามีความหละหลวม

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2558 กรมประมงได้นำส่งรายงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขให้กับคณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะมาตรวจการบ้านว่าประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขตามที่ได้แจ้งมาหรือไม่ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีคำตอบว่าประเทศไทยสอบผ่านหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูลรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในรายละเอียดว่าประเทศไทยได้ทำและไม่ได้ทำอะไรบ้าง ต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไม่มีการควบคุม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าขอนำเสนอรายละเอียดของหนังสือที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งต่อประเทศไทย โดยได้ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดเป็นข้อๆตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันดังนี้

……

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำวินิจฉัยว่าด้วยการแจ้งให้ประเทศที่สามรับทราบความเป็นไปได้ที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

เพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการทำงานของสหภาพยุโรป และเพื่อให้เป็นไปตามประกาศกฎระเบียบสหภาพยุโรป ที่ (EC) No 1005/2008 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ (EEC) No 2847/93 (EC) No 1936/2001 และ (EC) No 601/2004 และยกเลิกกฎระเบียบฯ ที่ (EC) No 1093/94 และ (EC) No 1447/1999 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 32 ของระเบียบดังกล่าว

1. บทนำ

(1) ประกาศกฎระเบียบสหภาพยุโรป ที่ (EC) No 1005/2008 (ตามกฎระเบียบ IUU) ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(2) กฎระเบียบ IUU ส่วนที่ 6 กำหนดขั้นตอนในการระบุประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ (ในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) การดำเนินกรรมวิธีทางการทูต (ยื่นหนังสือแจ้งเตือน) ให้ประเทศที่สามรับทราบ การจัดทำบัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือฯ การถอดรายชื่อประเทศดังกล่าวออกจากบัญชี การเผยแพร่บัญชีรายชื่อประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือฯ และมาตรการฉุกเฉินใดๆ ต่อสาธารณะ

(3) ตามข้อ 32 ของกฎระเบียบ IUU คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการแจ้งเตือนให้ประเทศที่สามทราบถึงความเป็นไปได้ ว่าประเทศดังกล่าวถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือฯ โดยการแจ้งเตือนดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การแจ้งเตือนเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 ของกฎระเบียบ IUU คณะกรรมาธิการฯ ยังต้องเป็นผู้ดำเนินกรรมวิธีทางการทูต (ยื่นหนังสือแจ้งเตือน) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 ของระเบียบดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศที่สามที่ถูกแจ้งเตือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมาธิการฯ ต้องระบุไว้ในหนังสือแจ้งเตือนถึงข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ และข้อพิจารณาที่แฝงอยู่ภายใต้การชี้ประเด็นดังกล่าว โดยให้โอกาสประเทศเหล่านั้นในการชี้แจงและแสดงหลักฐานเพื่อหักล้างประเด็นที่ถูกชี้ หรือหากเห็นว่าเหมาะสม กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุง และดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ ต้องให้เวลาที่เพียงพอในการตอบหนังสือแจ้งเตือน และให้เวลาที่พอสมเหตุสมผลในการแก้ไขสถานการณ์ แก่ประเทศที่สามที่ถูกแจ้งเตือนด้วย

(4) ตามข้อ 31 ของกฎระเบียบ IUU คณะกรรมาธิการฯ จะระบุประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม โดยประเทศที่สามดังกล่าวจะได้รับการระบุว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือฯ หากไม่สามารถดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสากลในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า รัฐชายฝั่ง หรือรัฐเจ้าของตลาด ในอันที่จะป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

(5) การจะระบุว่าประเทศใดเป็นประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือฯ จะขึ้นอยู่กับการตรวจสอบข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 (2) ของกฎระเบียบ IUU

(6) ตามข้อ 33 ของกฎระเบียบ IUU คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป จะเป็นผู้จัดทำรายชื่อประเทศที่สามที่ไม่ให้ความร่วมมือ โดยมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 38 ของกฎระเบียบ IUU จะนำไปใช้กับประเทศเหล่านั้น

(7) ตามข้อ 20 (1) ของกฎระเบียบ IUU การยอมรับใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากการเป็นประเทศที่สามที่เป็นรัฐเจ้าของธง ต้องมีการแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้ทราบถึงการเตรียมการต่าง ๆ ในการปฏิบัติ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนมาตรการในการอนุรักษ์และจัดการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรือประมงของประเทศที่สามที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม

(8) ตามข้อ 20 (4) ของกฎระเบียบ IUU คณะกรรมาธิการฯ จะร่วมมือด้านการบริหารกับประเทศที่สาม ในขอบเขตที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบ (IUU)

เรือประมง จ.สมุทรสาคร
เรือประมง จ.สมุทรสาคร

2. ขั้นตอนส่วนที่เกี่ยวกับราชอาณาจักรไทย

(9) คณะกรรมาธิการฯ ได้รับประกาศความเป็นรัฐเจ้าของธงของราชอาณาจักรไทย ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบ IUU ข้อ 20 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 เรียบร้อยแล้ว

(10) ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2554 โดยการสนับสนุนของหน่วยงานควบคุมการทำประมงยุโรป (European Fisheries Control Agency: EFCA) คณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปเยือนประเทศไทย ตามบริบทของความร่วมมือในการบริหาร ตามข้อกำหนดของกฎระเบียบ IUU ข้อ 20 (4)

(11) การเยือนมีขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการของประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อนำไปปฏิบัติ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการการอนุรักษ์และจัดการที่เรือประมงจะต้องปฏิบัติตาม มาตรการของไทยดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยดำเนินการตามพันธกรณีในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และเพื่อตอบสนองความต้องการ และตามข้อกำหนดในการดำเนินการในเรื่องใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป

(12) รายงานการเดินทางไปเยือนฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ถูกส่งไปยังประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2554

(13) การประชุมทางเทคนิคระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นการว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้เป็นปัจจุบัน ตามกฎระเบียบ IUU มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 โดยนำเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการประมง ฉบับใหม่ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร โครงการจัดทำระบบติดตามเรือประมงไทย (Vessel Monitoring System Program) ที่มีการเปิดตัวและมีแผนที่จะดำเนินการในปี 2556 และร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ฉบับสมบูรณ์ ที่พร้อมสำหรับการแปล

(14) คณะกรรมาธิการฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมประเทศไทย เพื่อติดตามการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปเยือนครั้งแรก ระหว่างวันที่ 9-12 ตุลาคม 2555

(15) รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ถูกส่งไปยังประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555

(16) ประเทศไทยส่งข้อมูลเพิ่มเติม (ให้คณะกรรมาธิการฯ) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 และส่งความความคิดเห็นที่มีต่อรายงานการตรวจเยี่ยมฉบับเดือนพฤศจิกายน 2555 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556

(17) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ (2556) คณะกรรมาธิการฯ ตอบกลับความคิดเห็นของประเทศไทยที่มีต่อรายงานการตรวจเยี่ยมของคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556

(18) ประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในรูปแบบของแผนปฏิบัติการในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าประมงที่นำเข้า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556

(19) การเดินทางของคณะกรรมาธิการฯ ไปยังประเทศไทย เพื่อติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดจากการเยือนครั้งก่อนเมื่อเดือนตุลาคม 2555 มีขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2557

(20) รายงานการตรวจเยี่ยมฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ถูกส่งไปยังประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 โดยคณะกรรมาธิการฯ ยอมรับระหว่างการเยือนว่า ความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องของไทยนับตั้งแต่ปี 2554 นั้น มีน้อยหรือไม่มีเลย

(21) มีการประชุมระหว่างประเทศไทยกับคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ในการประชุมประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งต่อมาภายหลังการประชุม ประเทศไทยได้ส่งความคิดเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษรจำนวนหนึ่ง (ให้คณะกรรมาธิการฯ) วันที่ 28 มกราคม 2558 ประเทศไทยส่งพระราชบัญญัติการประมงที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ ฉบับไม่เป็นทางการ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 (อ้างถึงพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558) (ช่วงเวลาดังกล่าวร่างพระราชบัญญัติการประมง ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย-ผู้แปล)

(22) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Tuna Commission: IOTC) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea, 1982: UNCLOS)

(23) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าของท่า รัฐชายฝั่ง หรือรัฐเจ้าของตลาด ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างประเทศ ตามที่อ้างไว้ในข้อ (22) และเป็นที่ยอมรับโดยองค์การที่เกี่ยวข้องการจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organization: RFMO) ซึ่งกล่าวถึงในข้อดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าว (พิจารณาว่าประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่) เนื้อหาของกฎหมายหลักที่ใช้ในการจัดการด้านการประมงของไทยในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และพระราชบัญญัติการประมง ฉบับแก้ไข เดือนมกราคม 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปี 2558 รวมทั้งยังมีกฎกระทรวงและการประกาศอื่นๆ ที่ครอบคลุมการจัดการการประมงในด้านต่างๆ อีกเป็นจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ กฎหมายและกฎระเบียบดังกล่าว มีมานานกว่า 10 ปี และไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นปัจจุบัน ทางการไทยยอมรับถึงความจำเป็นในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมง และได้ใช้เวลาหลายปีในการแก้ไขทบทวน

(24) คณะกรรมาธิการฯ ยังใช้ข้อมูลที่ได้มาจากเอกสารที่จัดพิมพ์โดยคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

หมายเหตุ: แปลโดยนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ และทีมงาน(อ่านฉบับแปลอังกฤษ-ไทย)
(อ่านต่อตอนที่่ 2 : คำวินิจฉัยกรรมาธิการยุโรปกรณี IUU (2) : เมื่อไทยถูกจับโกหก ทำรายงานเท็จ-หมกเม็ด )