ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดแผนฟื้นฟูฯ สหกรณ์ฯ คลองจั่นยอดหนี้ 18,370 ล้าน เจ้าหนี้ 18,814 ราย คาดใช้เวลาคืนครบ 26 ปี

เปิดแผนฟื้นฟูฯ สหกรณ์ฯ คลองจั่นยอดหนี้ 18,370 ล้าน เจ้าหนี้ 18,814 ราย คาดใช้เวลาคืนครบ 26 ปี

11 กันยายน 2015


ความคืบหน้าล่าสุด ของกระบวนการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้แก้ปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และมีหนี้สินล้นพ้นตัวเกินกว่าทุนที่มี ทำให้สมาชิกไม่สามารถถอนเงินของตัวเองได้เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี อันเกิดจากการ ยักยอกทรัพย์ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ และพวก รวมไปถึงการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ฯ ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท

หลังจากที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย นับเป็นการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ เป็นรายแรก โดยมีการแต่งตั้งให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันคือ คณะกรรมการชุดที่ 30 เป็นผู้จัดทำแผน ให้เวลาจัดทำไม่เกิน 5 เดือน ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 7 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา

ยอดหนี้ 18,370 ล้าน เจ้าหนี้ 18,814 ราย

แผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
แผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายประกิต พิลังกาสา ประธานคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น กล่าวว่าขณะนี้ ร่างแผนฟื้นฟูกิจการถือว่าสมบูรณ์ และจัดพิมพ์ไป 18,812 ฉบับ นำส่งให้กรมบังคับคดี เพื่อให้ทยอยส่งมอบให้เจ้าหนี้ รวมไปถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องภายในเดือนตุลาคม ซึ่งจะนำไปสู่การประชุมเจ้าหนี้เพื่อให้โหวตเห็นชอบในเดือนธันวาคม และนำเสนอต่อศาลล้มละลายให้มีคำสั่งบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2559

นายประกิตกล่าวว่าการทำงานของตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ให้เจ้าหนี้สหกรณ์ซึ่งมีทั้งสมาชิกบุคคลธรรมดาและสหกรณ์อื่น ยื่นขอรับชำระหนี้กับกรมบังคับคดี ทำให้จำนวนเจ้าหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนเปลี่ยนไป จากที่เคยนับรวมว่าเจ้าหนี้คือสมาชิกทั้งหมดราว 56,000 คน กลับลดลงเหลือเพียง 18,814 ราย คิดเป็นยอดเงินฝาก 18,370 ล้านบาท และคิดเป็นยอดทุนเรือนหุ้น 4,312 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นคดีฟื้นฟูกิจการที่มีจำนวนเจ้าหนี้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และสหกรณ์ฯ คลองจั่นก็เป็นสหกรณ์แห่งแรกที่บังคับใช้กฎหมายนี้ โดยมีการแก้กฎกระทรวงยุติธรรมเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตามมีสมาชิกที่ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ 37,732 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายเล็กมาก อีกทั้งบัญชีไม่ได้เคลื่อนไหวมานาน คิดเป็นเงินฝาก 41 ล้านบาท และทุนเรือนหุ้น 64 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้จะได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ เรียบร้อยแล้ว

“บัญชีของสมาชิกที่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้กว่า 37,700 ราย กลุ่มนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวมานาน และพบอีกว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่สมัครเข้ามาในโครงการเอื้ออาทร โดยปัจจุบันมีบัญชีหุ้นเพียง 100 บาท และเงินฝากออมทรัพย์อีก 100 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นตํ่าที่สหกรณ์บังคับ “

นายประกิตกล่าวถึงสมาชิกที่ไม่ขอรับชำระหนี้ มาจากช่วงประมาณปี 2551 โครงการบ้านเอื้ออาทรซึ่งเป็นของการเคหะแห่งชาติ (กอช.) ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เกิดปัญหาขึ้นคือมากกว่า 80% ของลูกค้าบ้านเอื้ออาทรถูกธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ปฏิเสธการให้สินเชื่อเนื่องจากติดแบล็คลิสต์ ดังนั้น กอช. จึงช่วยลูกค้าส่วนนี้โดยเป็นผู้ปล่อยกู้เอง กับมีทางเลือกให้เช่าซื้อกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ในช่วงนั้นนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ในฐานะประธานดำเนินการ สหกรณ์ฯ คลองจั่น เป็นผู้เสนอขอซื้อลูกหนี้บ้านเอื้ออาทรจาก กอช. ทำให้ปี 2550-2551 ตัวเลขสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากประมาณกว่า 10,000 ราย เป็น 5 หมื่นรายภายในปีเดียว

อนึ่งเงื่อนไขการโอนลูกหนี้บ้านเอื้ออาทรที่กำหนดไว้เวลานั้น ลูกหนี้ต้องสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยอัตราดอกเบี้ยและผ่อนชำระค่างวดอยู่ที่ 7.5% สำหรับ 1-3 ปีแรก และ 8.5% สำหรับปีที่ 4-7

ต่อเรื่องนี้นายสุภัคร ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ยอมรับว่าสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นสถาบันการเงินแห่งเดียว ที่ กอช. ทำข้อตกลงรูปแบบนี้ โดยขณะนั้นมองว่ามั่นคงและมีอัตราเติบโตสูง แต่หลังจากเริ่มโอนลูกหนี้บ้านเอื้ออาทรให้ 6,000 ราย สหกรณ์ไม่ทำตามข้อตกลง กอช. จึงยกเลิกโครงการดังกล่าว หลังได้รับชำระหนี้ครบ ทำให้ลูกหนี้อีกมากกว่า 37,000 ราย ซึ่งไปสมัครสมาชิกรอไว้ต้องผิดหวัง แต่ก็ยังไม่ได้ลาออกจากสหกรณ์ฯ คลองจั่นจนถึงทุกวันนี้

สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยื่นหนังสือขอความช่อยเหลือจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวีนที่ 30 มิถุนายน 2557
สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยื่นหนังสือขอความช่อยเหลือจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวีนที่ 30 มิถุนายน 2557

ใช้เวลา 26 ปี จ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ทุกราย-ไม่มีแฮร์คัท

นายประกิตเปิดเผยว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสหกรณ์ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทั้งด้านกฎหมาย และด้านการเงิน เพื่อจัดข้อมูลสถานะทรัพย์สิน และหนี้สิน (Due Diligence) รวมทั้งทำแผนประมาณการทางการเงิน (Financial Projection) และแผนการชำระหนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้สหกรณ์ล้มละลาย และสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ในอนาคต ซึ่งตลอด 5 เดือน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับสหกรณ์เจ้าหนี้และสมาชิกเจ้าหนี้บางส่วน

แผนฟื้นฟูฯ มีหลักการสำคัญคือ ต้องทำให้สหกรณ์สามารถดำเนินกิจการต่อ และสร้างผลกำไรเพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งจ่ายเฉพาะเงินต้นให้แก่เจ้าหนี้เต็มจำนวน ไม่มีการแฮร์คัทหนี้ โดยยอดเงินต้นคิดคำนวณ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่จะไม่จ่ายดอกเบี้ย ยกเว้นเพียงเจ้าหนี้รายเดียว สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ มูลค่า 1,431 ล้านบาท ซึ่งเป็นลักษณะเงินกู้ที่มีสินทรัพย์คํ้าประกันเพียงรายเดียวจากเจ้าหนี้ทั้งหมด โดยจะจ่ายดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลา 13 ปี ขณะที่ผู้ถือหุ้นซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าของจะยังไม่อนุญาตให้ลาออก และหากสหกรณ์มีผลกำไรในปีใดก็จะจ่ายปันผลให้ โดยแผนฟื้นฟูกำหนดว่าจะชำระหนี้ได้ครบภายใน 26 ปี แต่ภายใน 5 ปีแรกจะชำระได้ไม่ตํ่ากว่า 33% และได้ถึง 50% ภายใน 10 ปีแรก

สำหรับเงินที่จะนำมาชำระหนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นกำไรจากการบริหาร ซึ่งทุนดำเนินงานจะมาจาก 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. การทำธุรกิจปกติ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเดิมคือ ปล่อยสินเชื่อ รับชำระหนี้จากลูกหนี้เดิมที่มีประมาณ 1,700 ล้านบาท และการประกอบธุรกิจใหม่ที่เป็นไปได้ เช่น ต่อยอดธุรกิจการเงิน หรือปรับเป็นศูนย์ค้าส่งสินค้าให้สมาชิกและสหกรณ์อื่น หาประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถือครองโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ทำให้คาดว่าการบริหารตลอด 26 ปีของแผนการชำระหนี้ จะสร้างรายประมาณ 2,000 ล้านบาท

รายได้ส่วนที่ 2 จะมาจากเงินกู้ยืมจากรัฐ 10,000 ล้านบาท โดยหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา อย่างไรก็ตาม เงินก้อนนี้ต้องเป็นเงินกู้ระยะยาว ปลอดดอกเบี้ย และเริ่มได้รับเงินก้อนแรกภายในปี 2560 เพื่อที่จะนำไปปล่อยกู้ต่อกับสหกรณ์อื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งเตรียมทำสัญญาขอกู้มากกว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว

“เงินก้อนนี้มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูกิจการมาก ถ้าหากไม่ได้มาก็คงมีสองทางเลือก อย่างแรกคือใช้เงินเท่าที่หาได้ทำจนกระทั่งหมดทุน และขายทรัพย์ชำระหนี้เท่าที่ได้ หรืออีกทางก็ปล่อยล้มละลาย ชำระบัญชีวันนี้ไปเลย จะได้ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องรอ”

รายได้ส่วนที่ 3 มาจากการดำเนินคดีติดตามทรัพย์คืน โดยประมาณการว่าจะติดตามทรัพย์สินมูลค่า 4,800 ล้านบาท คืนมาได้ภายใน 8 ปีแรก ซึ่งเป็นมูลค่าที่คิดจากทรัพย์ที่อายัดได้ขณะนี้ และอาจสูงขึ้นหากติดตามทรัพย์เพิ่มได้อีก โดยปัจจุบันสหกรณ์ฟ้องคดีแพ่งติดตามทรัพย์คืนจากนายศุภชัยและพวกที่ร่วมยักยอกจำนวน 5 คดี รวมทุนทรัพย์ฟ้อง 16,045 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คู่กรณีบางรายขอเจรจาไกล่เกลี่ย เช่น บริษัทช้างแก้วการเกษตร ตกลงยอมคืนเงินกว่า 40 ล้านบาท และบริษัทมงคลเศรษฐีเอสเตทยอมคืนเงินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจากนี้จะต้องเซ็นยินยอมต่อศาล และคาดว่าจะได้รับชำระเงินคืนภายในปี 2560

ผู้ทำแผนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นส่งมอบแผนฟื้นฟูกิจการต่อกรมบังคับคดี
ผู้ทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นส่งมอบแผนฟื้นฟูฯต่อกรมบังคับคดี

แบ่ง 12 กลุ่มเจ้าหนี้ ตํ่ากว่า 10,000 จ่ายคืนทันที

นายประกิตกล่าวต่อว่า เนื่องจากเจ้าหนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นมีจำนวนค่อนข้างมากเกือบ 19,000 ราย จึงแบ่งกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น 12 กลุ่มตามคุณลักษณะหนี้ เช่น กลุ่มเจ้าหนี้จำนอง เจ้าหนี้เงินฝาก เจ้าหนี้เงินฝากที่เป็นสหกรณ์หรือสมาชิก โดยแต่ละกลุ่มจะมีกำหนดรับชำระหนี้ครบ 100% แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเจ้าหนี้สมาชิกที่มีเงินฝากตํ่ากว่า 10,000 บาท สหกรณ์จะชำระหนี้เต็มจำนวนทันทีหลังจากศาลบังคับใช้แผนฟื้นฟู ซึ่งสมาชิกกลุ่มนี้มากถึง 13,000 ราย ส่วนเจ้าหนี้ประเภทจำนำ หรือเจ้าหนี้ค่าเช่า จะชำระครบภายใน 5 ปี ขณะเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หรือสมาชิกที่มีเงินฝากเกินกว่า 10,000 บาท จะได้รับชำระหนี้ครบภายใน 26 ปี

ขั้นตอนจากนี้ ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เป็นช่วงเวลาที่กรมบังคับคดีจัดส่งแผนฟื้นฟูฯ สู่มือเจ้าหนี้ คณะผู้ทำแผนฯ จะเชิญสมาชิกแต่ละกลุ่มเข้าชี้แจงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ และประเมินเสียงโหวต (pre-voting)

ขณะเดียวกัน เจ้าหนี้จะต้องอ่านรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่าตนถูกจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ประเภทใด จำนวนหนี้ที่ระบุถูกต้องไหม จะได้รับการชำระคืนเมื่อไหร่ แบบไหน เป็นต้น ต่อจากนั้นหากไม่พอใจการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ สามารถคัดค้านได้ภายใน 7 วันหลังได้รับแผนฟื้นฟูฯต่อศาลล้มละลายกลาง ส่วนการคัดค้านขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯสามารถดำเนินการได้ก่อนการประชุมเจ้าหนี้อย่างน้อย 3 วันต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี และเจ้าหนี้ทุกรายต้องมาประชุมเพื่อใช้สิทธิลงมติ หากไม่สามารถมาได้สามารถมอบอำนาจได้

จากนั้นกรมบังคับคดีจะเรียกประชุมเจ้าหนี้หรือตัวแทนในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 โดยการประชุมประกอบด้วย 3 วาระ ในวาระแรกจะสอบถามว่ามีผู้ใดขอแก้ไขแผนหรือไม่ หากมีจะให้ที่ประชุมโหวตรับแผนที่ผ่านการแก้ไขทุกเวอร์ชัน รวมทั้งโหวตเพื่อขอแก้กลุ่มเจ้าหนี้ ส่วนวาระที่สอง จะเป็นการโหวตแข่งกันระหว่างแผนฟื้นฟูทุกเวอร์ชัน โดยกำหนด 2 เงื่อนไขสำหรับการโหวตว่า 1. ต้องมีกลุ่มเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ใน 12 กลุ่มที่เห็นด้วยกับแผนด้วยคะแนนอย่างตํ่า 70% ของมูลหนี้ และ 2. เจ้าหนี้หรือตัวแทนที่ร่วมประชุมทั้งหมดต้องเห็นด้วยกับแผนเกินกว่า 50% ของมูลหนี้เช่นกัน หากผ่านขั้นตอนนี้ จะเข้าสู่วาระที่สาม คือโหวตเพื่อเลือกคณะกรรมการตัวแทนเจ้าหนี้เพื่อทำหน้าที่ติดตามการบริหารตลอดการ บังคับใช้แผนฟื้นฟูกิจการ

นายประกิตกล่าวว่า หากไม่มีปัญหาอะไรกรมบังคับคดีจะส่งแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาช่วง ม.ค.-ก.พ. 2559 ซึ่งหากศาลมีคำสั่งไม่รับก็ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ขายทอดตลาดทรัพย์สิน แต่หากมีคำสั่งให้บังคับใช้ สหกรณ์จะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ และถือว่าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้คืนสูงสุดที่ 26 ปี ไม่สามารถฟ้องร้องขอทรัพย์สินคืนก่อนได้ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้แผนฟื้นฟูตามกฎหมายมีระยะเวลา 5 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง หรือสูงสุดที่ 7 ปี ซึ่งระหว่างนี้ สหกรณ์จะไม่อยู่ใต้ พ.ร.บ.สหกรณ์เต็มตัว จะไม่มีการเลือกตั้ง และอาจมีการแก้ไขกฎเกณฑ์บางข้อ

ส่วนการออกจากแผนฟื้นฟูตั้งไว้ 2 เงื่อนไข ได้แก่ 1. สหกรณ์ต้องชำระหนี้คืนเป็นจำนวน 1 ใน 3 หรือชำระคืนได้ 3 ปีติดต่อกัน และ 2. สหกรณ์ต้องแก้ข้อบังคับบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษและมีนายทะเบียนสหกรณ์รับรู้ตลอด โดยเมื่อทำได้ครบทั้ง 2 เงื่อนไข สหกรณ์จะยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผน กลับมาอยู่ใต้ พรบ.สหกรณ์ ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง แต่แผนการชำระหนี้ 26 ปียังคงบังคับใช้อยู่

แผนฟื้นฟูกิจการที่จะต้องส่งให้เจ้าหนี้ทั้งหมด
แผนฟื้นฟูกิจการที่จะต้องส่งให้เจ้าหนี้ทั้งหมด

5 คดีแพ่งฟ้องเรียกทรัพย์คืน ธรรมกายขอขยายคืนเงินงวดสุดท้ายเป็น 3 เดือน

คดีหมายเลขดำที่ 736/2557 ทุนทรัพย์ฟ้อง 134 ล้านบาท เดิมเคยฟ้องร้อง จำเลยที่ 1-3 คือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร วัดพระธรรมกาย และพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) แต่ภายหลังตกลงยอมความโดยที่วัดยอมจ่ายเงินคืน 684.78 ล้านบาท แก่สหกรณ์ ที่มาจากเช็คบริจาค 13 ฉบับ โดยเฉลี่ยจ่าย 6 งวด แลกกับการถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 แต่ในเดือนสิงหาคมวัดพระธรรมกายเจรจาขอแบ่งจ่ายเงินงวดสุดท้าย 184.78 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 3 เดือน คือ จบเดือนสุดท้ายภายในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ได้ฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ นางศศิธร โชคประสิทธิ์ และมูลนิธิรัตนคีรี เนื่องจากปรากฏชื่อสลักหลังเช็คบริจาคของสหกรณ์ ล่าสุดศาลนัดพร้อมวันที่ 23 พ.ย. 2558
(แนบภาพ)

คดีดำหมายเลย พ.1674/2557 ฟ้องร้องนายศุภชัยและพวกรวม 18 ราย ทุนทรัพย์ฟ้อง 3,811 ล้านบาทซึ่งอิงตามมูลค่าทรัพย์ที่ ปปง. เคยยึดอายัดไว้ 592 รายการได้ตั้งแต่ปี 2556 และสหกรณ์เคยขอศาลคุ้มครองชั่วคราวทรัพย์สินกลุ่มนี้ไว้ ล่าสุดศาลนัดสืบพยานต่อเนื่อง 15 นัดในเดือน ม.ค. 2559

คดีดำหมายเลข พ.4462/2557 ฟ้องนายศุภชัยและพวกรวม 8 ราย ทุนทรัพย์ฟ้อง 10,641 ล้านบาท และ คดีดำหมายเลข พ.3628/2557 ฟ้องนายศุภชัยและพระครูปลัดวิจารณ์ ธีรางกุโร อดีตพระวัดพระธรรมกายรวม 2 ราย ทุนทรัพย์ฟ้อง 119.6 ล้านบาท ล่าสุดศาลนัดสืบพยานพร้อมทั้งสองคดี 23 ก.ย. 2558

คดีดำหมายเลข พ.590/2558 ฟ้องนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ และเครือบริษัทรัฐประชาในข้อหาผิดสัญญาตั๋วใช้เงิน ทุนทรัพย์ฟ้อง 1,340 ล้านบาท ล่าสุดศาลนัดฟังคำพิพากษา 15 ก.ย. 2558

คดีดำหมายเลข พ.233/2558 ฟ้องนายสถาพร วัฒนาศิรินุกูล เจ้าของเครือบริษัท S.W.Holding และพวกรวม 18 ราย ทุนทรัพย์ฟ้อง 7,186 ล้าน ซึ่งเป็นมูลค่าตามที่ ป.ป.ง. ยึดอายัดไว้ แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นหุ้นบริษัทที่เลิกกิจการไป จึงอาจมีมูลค่าตํ่ากว่าที่ยึดได้ ล่าสุดศาลนัดสืบพยาน 15 ต.ค. 2558

นายประกิตได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินคดีกับลูกหนี้นิติบุคคล 28 ราย ซึ่งกู้เงินสหกรณ์ไปกว่า 12,985 ล้านบาท ซึ่งการสืบสวนภายหลังพบว่าส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นของนายศุภชัยเอง และบางส่วนไม่มีตัวตนหรือปิดกิจการไปแล้ว จึงต้องสงสัยว่าไม่ได้นำเงินกู้ไปใช้จริง ขณะนี้สหกรณ์เตรียมฟ้อง 6 บริษัทในกลุ่มนี้ภายในเดือนกันยายน หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาต(ดูตารางประกอบ)

คดีคลองจั่น