ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๘ กรณีIUU

วิเคราะห์คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๘ กรณีIUU

10 สิงหาคม 2015


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงนามไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558

ผมอ่านแล้วตกใจมาก ไม่คิดว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีนักกฎหมายใหญ่น้อยห้อมล้อมกันเป็นจำนวนมากจะไม่มีใครช่วยท่านกลั่นกรองคำสั่งให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมายเลยหรือ ในเมื่อศาลทั้งหลายเคยตีความไว้แล้วว่า บรรดาคำสั่งของคณะปฏิวัติต่างๆ (รวมทั้ง คสช. ด้วย) ถือเป็น “กฎหมาย” ดังนั้น จะใช้บังคับไปจนกว่าจะมีการยกเลิก

เมื่อผมอ่านรายละเอียดในคำสั่งฯ ผมพบข้อบกพร่องหลายประการ จึงขอนำเสนอเพื่อให้ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้พิจารณาอ่าน ก่อนที่จะลงนามคำสั่งอื่นๆ ในโอกาสต่อไปด้วยครับ

ต้องขอสารภาพก่อนว่า “ผมไม่ใช่นักกฎหมายครับ” แม้ว่าจะเคยสอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถึง 2 ครั้ง ในช่วงปี 2522-2524 แต่ด้วยที่ในสมัยนั้นไม่มีเวลาไปเรียน เพราะต้องเดินทางไปทำมาหากินทางด้านประมงนอกน่านน้ำในต่างประเทศเกือบทุกสัปดาห์ สุดท้ายก็เรียนไม่จบ แต่ก็มีโอกาสได้รับใช้ชาวประมงด้วยการได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมการประมงฯ ให้ไปเข้าสู่การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และได้รับการสรรหาถึง 2 ครั้ง มีโอกาสทำหน้าที่ในรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรหลักในการตรากฎหมายของประเทศ รวมทั้งเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายอยู่หลายฉบับ จึงทำให้พอทราบวิธีการอยู่บ้าง

เรือประมง
เรือประมง

ความเห็นของผม ต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2558 มีดังนี้ ครับ

1.คำสั่งฉบับนี้ มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว 2 ฉบับ คือ “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” และ “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558” ทำไมไม่อ้างกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ด้วย เพื่อจะได้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

2.ในข้อ 1 ที่ “ห้ามให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย งดการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมง…” นั้น มีช่องว่าง คือ เหตุใดจึงไม่เปิดข้อยกเว้นให้ “เรือประมงที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ” จดทะเบียนได้ เพราะเรือประมงประเภทนี้ยังมีโอกาสในการทำการประมง โดยเฉพาะการทำประมงในเขตทะเลหลวง เช่น การทำเบ็ดราว หรืออวนลากกลางน้ำ ฯลฯ ที่ยังมีโอกาสพัฒนาได้

3.ในข้อ 2 (1) นั้น มีเรือประมงที่ใช้เครื่องมืออวนรุนอยู่ 2 กลุ่ม (ยกเว้นเรือรุนเคย) คือ กลุ่มที่ทำการประมงอย่างถูกกฎหมาย กล่าวคือ มีอาชญาบัตร (ใบอนุญาต) ที่ถูกต้องและยังมีเงื่อนเวลาทำการประมงได้จนถึงปีหน้า และกลุ่มที่ไม่มีอาชญาบัตร (ไม่มีใบอนุญาต) วันนี้ ท่านมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมงดังกล่าวทั้งสองกลุ่ม โดยไม่มีการกำหนดให้มีการช่วยเหลือหรือเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชญาบัตร (ใบอนุญาต) ที่ถูกต้องตามกฎหมายและยังมีเงื่อนเวลาอยู่ เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ การจะอ้างว่า “เป็นเครื่องมือที่ทำลายล้าง” นั้น ท่านแน่ใจแล้วหรือว่า

3.1 ข้อมูลทางวิชาการที่กรมประมงเสนอให้ท่านใช้ในการพิจารณาในการตัดสินใจนั้น ถูกต้องแล้ว

3.2 ท่านว่า “เครื่องมือประมงประเภทอวนรุน” เป็น“เครื่องมือที่ทำลายล้างทรัพยากร” ท่านตอบได้หรือไม่ว่า “เครื่องมือประมงประเภทไหนบ้างที่ไม่ทำลายล้างทรัพยากร” วันนี้ท่านเชื่อตามที่กรมประมงว่า ท่านเชื่อตามกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านว่า ท่านเชื่อตามกลุ่ม NGO (National Growth Obstructors) ว่า ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า เครื่องมือประเภทเบ็ด อวนลอย ลอบ ฯลฯ ที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้นั้น ก็ทำลายทรัพยากรไม่แพ้กัน หรือมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะทุกวันเขาไม่ได้ใช้กันคนละเล็กน้อยอย่างที่เคยทำกันในสมัยก่อนแล้ว เขาวางลอบกันคนละเป็นร้อยเป็นพันใบ อวนที่ใช้ก็ยาวกันลำละหลายกิโลเมตร จนเต็มทะเลไปหมด อยากถามว่า “เครื่องมือประมงพื้นบ้านไม่ทำลายล้างทรัพยากร” หรือครับ ยิ่งเรือเล็กกลุ่มนี้ทำกันในเขตชายฝั่งที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งวางไข่ และเพาะฟักสัตว์น้ำวัยอ่อน เขาจับกันหมดทั้งพ่อแม่และลูกสัตว์น้ำ ท่านทราบบ้างไหม แล้วท่านยังมาบอกอีกว่า “พวกเรือประมงพื้นบ้านเราไม่แตะ” ท่านก็ผ่านเมืองนอกเมืองนามา ท่านเคยได้ยินไหมครับ ในหลายประเทศ เขาคุมแม้กระทั่ง “นักตกปลาสมัครเล่น” ที่ต้องมีใบอนุญาตครับ

ถ้าถามผม ผมตอบว่า เครื่องมือทุกชนิดมีโอกาสทำลายล้างไม่ต่างกัน ต้องมีการควบคุม ต้องมีการจัดการทั้งสิ้น

3.3ท่านทราบไหมครับว่า เครื่องมือทุกชนิด ทั้ง “เครื่องมือประมงประเภทอวนรุน” นั้น สามารถลดการทำลายทรัพยากรลงได้ ตั้งแต่การจำกัดพื้นที่ ห้ามเข้าพื้นที่ ลดขนาดปากอวนให้เล็กลง เพิ่มขนาดตาอวนให้ใหญ่ขึ้น ลดขนาดแรงม้าเครื่องยนต์ ปรับแก้เทคนิคในการลงอวน ปรับแก้เครื่องมือ ฯลฯ และวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ที่สามารถลดการลงแรง ลดการทำลายของเครื่องมือต่างๆ ได้ แต่เพราะกรมประมงไม่มีข้อมูล ไม่รู้วิธีการ ไม่เข้าใจ Technologies การประมงทะเล เลย “ใช้วิธีมักง่าย” เสนอให้ “ยกเลิกเครื่องมือ” เสียเลย พอกรมประมงเสนอมา ท่านไม่รู้ก็เอาเลย ออกคำสั่งตามอำนาจนิยมที่มีอยู่ครับ

วันนี้ ขอให้ท่านรับรู้ได้เลยครับ ว่า คำสั่งที่ท่านออกมานั้นเป็น “คำสั่งที่ประหารชีวิต” ผู้ประกอบการประมงส่วนหนึ่งไปแล้ว เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปทำมาหาเลี้ยงชีพ หาเลี้ยงครอบครัว ด้วยอาชีพอะไรอื่นที่ตนเองไม่มีความรู้ความชำนาญ ท่านฆ่าเขา เพราะทรัพย์สินทุนรอนที่เขามีอยู่ก็คือเรือและเครื่องมือประมง ที่วันนี้ท่านทำให้กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย พวกเขาจึงไม่มีทั้งเงินทุนที่จะไปลงทุนอย่างอื่น และหลักประกันที่จะไปกู้ยืมเงินทุน การจะให้กู้ยืมจึงไม่ได้ช่วยอะไรมากนักหรอกครับ

4.ในข้อ 2 (2) – (6) ที่ว่าด้วยเครื่องมือประมงอื่นๆ ก็เช่นกันครับ ต้องไปดูกันก่อนว่า จะสามารถใช้มาตรการที่ผมได้อธิบายไปในข้อ 3 ว่าจะมีช่องทางอื่นหรือไม่ ถ้าไม่สามารถทำได้จริง มีเหตุผล มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ท่านจะยกเลิกจริงๆ ผมว่าชาวประมงรับได้ครับ แต่ก็ต้องไปดูในเรื่องของทางเลือก การชดเชย การเยียวยา และดูแลเขาให้สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยครับ

5.ในข้อ 3 ประกอบด้วยประเด็นสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ หนึ่ง “เครื่องมือทำการประมง” สอง “เรือที่ใช้ทำการประมง” สาม “สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด” รวมทั้งการครอบครอง โดยฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ ท่านให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

ก.ดำเนินการยึดและให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ข.ดำเนินการรื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง เรือที่ใช้ทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินนั้นมีไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ถูกยึด

ในส่วนของการใช้เครื่องมือเพื่อทำความผิด ถึงแม้จะมีโทษหนักมาก แต่คำถามคือ เพียงการครอบครองเครื่องมือเท่านั้น ท่านให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ถึงกับจะ “รื้อถอนหรือทำลายเครื่องมือทำการประมง เรือที่ใช้ทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ตกเป็นของแผ่นดิน” เลยหรือครับ โหดร้ายเกินไปไหมครับ ยิ่งวันนี้ กรมประมงถือว่า “เรือ” ถือเป็นเครื่องมือประมงด้วย ท่านจะเอาไปจมหรือระเบิดทิ้งเลยหรือ

เรือประมง-1

6.การให้อำนาจในการดำเนินการตามคำสั่งในลักษณะนี้ โดยปกติจะมีหลักในการเขียนเงื่อนไขไว้อีก 2 อย่าง คือ

6.1 เงื่อนเวลาในการบังคับใช้ ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ครอบครอบมีเวลาในการดำเนินการ เช่น 30 หรือ 60 วัน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการครอบครอง ที่เจ้าของสามารถจะปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น วันนี้ ผมมีเรือที่มีเครื่องมืออวนรุนอยู่บนเรือ อย่างน้อยก็ให้ผมได้เคลื่อนย้ายเครื่องมือออกจากเรือไป เรือของผมก็จะไม่มีสภาพเป็นเครื่องมือประมงตามกฎหมาย เวลาจะยึดก็ยึดได้เฉพาะอวนและคันรุน ซึ่งจะลดความเสียหลายและผลกระทบลงได้ แต่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ทันที หากมีใครไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งเรือและเครื่องมือก็จะถูกยึดไปทำลายทันที ยิ่งกว่าปืนในมือโจรนะครับ รัฐบาลที่ผ่านมายังเคยให้มีการนิรโทษกรรม ให้นำมาจดทะเบียนได้ ให้นำมามอบให้ทางราชการได้ นี่จะยึด จะทำลายกันไม่ให้ได้มีอาชีพสุจริตกันแล้ว เศร้านะ

6.2ข้อยกเว้นในการใช้บังคับกฎหมาย ที่จะเปิดโอกาสให้ส่วนราชการหรือสถาบันทางวิชาการสามารถใช้ หรือครอบครองสิ่งที่ว่าผิดกฎหมายนี้ได้ ซึ่งไม่มีใครไปบอกท่านว่าวันนี้ กรมประมงก็ดี องค์กรประมงระหว่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยก็ดี (SEAFDEC) มหาวิทยาลัยก็ดี หลายแห่งมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ บางครั้งมีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทำการศึกษาวิจัยทางทะเล ทางการประมง แต่ปรากฏว่า ท่านมิได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้เลย ถ้าผมหรือใคร “ไปแจ้งจับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง” ในฐานะผู้ครอบครองเครื่องมือประมงอวนรุน อวนลาก ที่ใช้ตาอวนต่ำกว่า 5 เซนติเมตร ที่มีอยู่บนเรือสำรวจประมง ที่มีอยู่ที่ศูนย์วิจัยประมงต่างๆ ให้ต้องติดคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ยึดเรือสำรวจประมงไปจมเป็นปะการังดูบ้าง คงสนุกนะครับ

สนใจจะไปแจ้งจับกันบ้างไหมครับ พี่น้องชาวประมงที่เคารพ

ไม่ทราบหลับหูหลับตาเขียนกันมาได้อย่างไรกันครับ

เมื่อท่านอ่านแล้วทราบว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน ผมขอนำเสนอต่อครับ ว่า ถ้าจะออกคำสั่งในเรื่องนี้ ควรจะเขียนอย่างไร

1.การออกคำสั่งที่มีลักษณะบังคับเป็นกฎหมายที่มีกฎหมายนั้นๆ บังคับใช้อยู่แล้ว ควรจะได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายที่มีอยู่ และอ้างอิงข้อกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้สอดรับกับข้อกฎหมายเดิมที่จะสามารถใช้บังคับได้อย่างถาวร (จนกว่าจะมีการยกเลิก) มิใช่อาศัยเพียงอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ คือ

1.1ในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งข้อที่ 1 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” ซึ่งว่าด้วยเรือและการจดทะเบียนเรือไทย

1.2ในส่วนที่เกี่ยวกับคำสั่งข้อที่ 2 และ 3 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558” ซึ่งเพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (กฎหมายประกาศในลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 และมีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

2.ในส่วนของคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายถึง 2 ฉบับนั้น ถ้าผมเป็นผู้ยกร่าง ผมจะเสนอให้ออกคำสั่งเป็น 2 ฉบับ เพื่อความสะดวกในการแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต เพราะผลของคำสั่งอาจบังคับในเงื่อนเวลาที่ต่างกัน และอาจมีการแก้ไขที่ไม่เหมือนกัน จึงควรแยกออกจากกันเพื่อประโยชน์ในการบริหารในอนาคต นอกจากนี้ คำสั่งนี้ควรจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายหลักที่มีอยู่ เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในความคงอยู่และตีความในอนาคตด้วย

3.คำสั่งในข้อ 1 นั้น ถ้าผมเป็นผู้ยกร่าง ผมจะเสนอให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 6 ทวิ หรือเพิ่มข้อความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 6 วรรคสอง ไว้ใน “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” โดยแทนที่จะเขียนในคำสั่งว่า

“ข้อ 1 ให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย งดการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมง หรือเรืออื่นตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนดที่จะขอจดทะเบียนเรือใหม่ทุกประเภทและทุกขนาด หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือจากเรือประเภทอื่นมาเป็นเรือประมง ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการกำหนดให้มีการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมงหรือเรืออื่นเพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด”

จำนวนเรือประมงIUU

ผมจะเขียนใน “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” เป็นมาตราใหม่ ดังนี้ ครับ

“มาตรา 6 ทวิ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมจำนวนเรือที่เหมาะสม รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการกำหนดจำนวนเรือประเภทต่างๆ ที่จะรับจดทะเบียนตามมาตรา 6 ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง”

หรือเขียนอีกแบบหนึ่ง โดยเพิ่มเป็นวรรคใหม่ ใน “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” ดังนี้

“มาตรา 6 การจดทะเบียนเรือไทยตามพระราชบัญญัตินี้ต้องจดต่อนายทะเบียนเรือ

เพื่อประโยชน์ในการควบคุมจำนวนเรือที่เหมาะสม รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการกำหนดจำนวนเรือประเภทต่างๆ ที่จะรับจดทะเบียนตามวรรคก่อนได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนตามวรรคก่อน”

ซึ่งข้อความนี้จะปรากฏอยู่ใน “พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481” ตลอดไป จนกว่าจะมีการแก้ไข รวมทั้งควรให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนของเรือในแต่ละประเภทตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพราะถ้าใช้ตามคำสั่งดังกล่าว ผมไม่แน่ใจว่า “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จะมีอายุยืนยาวอีกเมื่อไร และในอนาคต ถ้าไม่มี ศปมผ. แล้ว กฎหมายจะใช้บังคับหรือแก้ไขอย่างไร แต่ถ้าทำอย่างที่ผมเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพียงยกร่างกฎกระทรวงและขออนุมัติคณะรัฐมนตรีก็เรียบร้อยครับ ซึ่งท่านก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ตรงนั้นแล้วไงครับ ช้าเร็วไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น

4.คำสั่งในข้อ 2 และข้อ 3 นั้น ถ้าผมเป็นผู้ยกร่าง ผมจะใช้อำนาจตามมาตรา 6 ของ “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558” โดยแทนที่จะเขียนเป็นคำสั่ง คสช. ว่า

“ข้อ 2 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมงดังต่อไปนี้

(1) เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ เว้นแต่การใช้เครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงตามรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงและเงื่อนไขที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด
(2) เครื่องมือโพงพาง รั้วไซมานหรือกั้นซู่รั้วไซมาน เครื่องมือลี่ หรือเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน
(3) เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน
(4) เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขวาอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ
(5) เครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร
(6) เครื่องมือทำการประมงอื่นตามรูปแบบของเครื่องมือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมงขนาดของเรือที่ใช้ประกอบการทำการประมง และเงื่อนไขอื่นที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด”

ผมจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้อำนาจตาม “พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558” มาตรา 6 (1) และ (2) ซึ่งบัญญัติ “ให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยอนุมัติรัฐมนตรีภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเฉพาะในเขตประมงน้ำจืดและเขตประมงทะเลชายฝั่ง มีอำนาจออกประกาศ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดประเภท ชนิด ขนาด จำนวน และส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ
(2) กำหนดวิธีการทำการประมงที่ห้ามนำมาใช้ในที่จับสัตว์น้ำ”

เรือประมง-2

ซึ่งถ้าใช้อำนาจตามบทบัญญัตินี้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจ คสช. เลย รวมทั้งในส่วนของโทษที่บัญญัติตามข้อ 3 และ ข้อ 4 ด้วย เพราะในส่วนของบทลงโทษ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีบทบัญญัติตามมาตรา 82 และมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติโทษไว้ ดังนี้

“มาตรา 82 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ออกตามความในมาตรา 6 หรือประกาศของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดที่ออกตามความในมาตรา 50 หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 50 (1) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“มาตรา 98 เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่นๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดตามโดยฝ่าฝืนประกาศที่ออกตามความในมาตรา 6 (1) ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น”

ท่านยังจะเอาอะไรอีกครับ

5.คำสั่งในข้อ 4 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งฉบับนี้ หรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นั้น มีข้อสงสัยว่า เอ๊ะ คำว่า “ผู้ใด” นั้น รวมถึง “นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย” ตามข้อ 1 ด้วยหรือไม่ เพราะคำสั่งนี้ ถ้าอ่านตามความเข้าใจผม ถ้า “นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ‘ไม่งด’ การจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมง หรือเรืออื่นตามที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนดที่จะขอจดทะเบียนเรือใหม่ทุกประเภทและทุกขนาด หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือจากเรือประเภทอื่นมาเป็นเรือประมง” “นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย” ดังกล่าวก็จะมีโทษด้วยเช่นกัน

6.ผมมีข้อสงสัยมากขึ้น ในประเด็นคำสั่ง ข้อ 7 ที่บัญญัติให้ “ประกาศของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายที่ออกตามคำสั่งนี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้” ซึ่งเมื่อผมไปดูอำนาจตามคำสั่งนี้ที่ให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายสามารถออกประกาศได้ มีเพียงการออกประกาศกำหนดให้มีการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับการประมงหรือเรืออื่นเพิ่มเติมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายประกาศกำหนด ตามข้อ 1 เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการออกประกาศอื่นใด ตามคำสั่งฉบับนี้เลย แต่วันนี้ (8 สิงหาคม 2558) มี ศปมผ. ได้ออกประกาศผ่อนผันให้เรือประมงอวนลากสามารถใช้ตาอวนขนาดที่เล็กกว่า 5 เซนติเมตร ทำการประมงต่อไปได้อีก 90 วัน ซึ่งขัดแย้งกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ในข้อ 2 (5) ที่ “ห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้ซึ่งเครื่องมืออวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตรทำการประมง” โดยสิ้นเชิง

คำถามก็คือ

ศปมผ. ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งใดในการออกประกาศ “ผ่อนผันให้เรือประมงอวนลากสามารถใช้ตาอวนขนาดที่เล็กกว่า 5 เซนติเมตร”

ประกาศของ ศปมผ. “มีอำนาจเหนือ” คำสั่ง หัวหน้าคณะ คสช. หรือครับ

เมื่อ “ประกาศ ศปมผ. ไม่มีอำนาจเหนือ “คำสั่ง หัวหน้าคณะ คสช.” ไม่มีอำนาจเกินคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ ที่ให้ไว้ แล้วท่านใช้อำนาจใดมาออกประกาศการยกเว้น

ไปแจ้งจับ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย หรือ ผบ.ศปมผ. ในข้อหา “ใช้อำนาจโดยมิชอบ” ได้ไหมครับ

คำก็ “ประมงผิดกฎหมาย” สองคำก็ “ประมงผิดกฎหมาย” แต่วันนี้ “ท่านยึดกฎหมายเป็นหลักหรือเปล่าครับ” อย่าปล่อยให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่าท่านกำลังจะทำลายอาชีพเขา ทำลายรายได้ที่เคยไปเลี้ยงครอบครัวเขา” ทำลายความศรัทธาของเขาที่มีต่อรัฐบาล” เลยครับ

ท่านนายกรัฐมนตรีพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ “ไม่ได้ต้องการรังแกใคร” “ไม่ถูกกฎหมาย ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง”

แล้วตอนนี้ คนของท่านทำตามกฎหมายหรือไม่ครับ