ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก “วิโรจน์ นวลแข-อดีตบิ๊กกรุงไทย” 18 ปี คดีปล่อยกู้เอื้อ บมจ.กฤษดามหานคร – สั่งคืนเงินหมื่นล้าน

ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก “วิโรจน์ นวลแข-อดีตบิ๊กกรุงไทย” 18 ปี คดีปล่อยกู้เอื้อ บมจ.กฤษดามหานคร – สั่งคืนเงินหมื่นล้าน

27 สิงหาคม 2015


นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com/crime/384249
นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com/crime/384249

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกาฯ) องค์คณะผู้พิพากษาที่มีนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน ได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 27 คน เป็นจำเลย กรณีอนุมัติให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในกลุ่มของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินกว่า 9.9 พันล้านบาท โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555

ออกหมายจับ-จำหน่ายคดีชั่วคราว “ทักษิณ”

โดยจำเลยทั้ง 27 คน สามารถแยกออกได้เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

– ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 1 คน คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ (จำเลยที่ 1)

– อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำนวน 3 คน คือ ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ (จำเลยที่ 2) นายวิโรจน์ นวลแข (จำเลยที่ 3) นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา (จำเลยที่ 4)

– อดีตกรรมการสินเชื่อและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 13 คน คือ นายพงศธร สิริโยธิน (จำเลยที่ 5) นายนรินทร์ ดรุนัยธร (จำเลยที่ 6) นางนงนุช เทียนไพฑูรย์ (จำเลยที่ 7) นายโสมนัส ชุติมา (จำเลยที่ 8) นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์ (จำเลยที่ 9) นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ (จำเลยที่ 10) นายบุญเลิศ ศรีเจริญ (จำเลยที่ 11) นายไพโรจน์ รัตนะโสภา (จำเลยที่ 12) นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล (จำเลยที่ 13) นางกุลวดี สุวรรณวงศ์ (จำเลยที่ 14) นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ (จำเลยที่ 15) นายประวิทย์ อดีตโต (จำเลยที่ 16) และนางศิริวรรณ ชินอิสระยศ (จำเลยที่ 17)

– เอกชน จำนวน 10 ราย คือ บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด (จำเลยที่ 18) บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19) บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) (จำเลยที่ 20) บริษัท โบนัสบอร์น จำกัด (จำเลยที่ 21) บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด (จำเลยที่ 22) นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา (จำเลยที่ 23) นายบัญชา ยินดี (จำเลยที่ 24) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ (จำเลยที่ 25) นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ (จำเลยที่ 26) และนายไมตรี เหลืองนิมิตรมาศ (จำเลยที่ 27)

ก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ไว้ชั่วคราว หลังหลบหนีไม่มาศาลตั้งแต่การพิจารณาคดีครั้งแรก พร้อมกับออกหมายจับเพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการ จึงอ่านคำพิพากษาเฉพาะจำเลยที่เหลืออีก 26 คน

อสส. ซัดแบ่งหน้าที่กันทุจริต ทำ ธ.กรุงไทยเจ๊งหมื่นล้าน

ศาลระบุว่า สำหรับคดีนี้ อสส. ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 27 คน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดย พ.ต.ท. ทักษิณ สั่งการให้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อตามที่เอกชนเสนอ โดยมีการเบียดบังยักยอกเงินให้แก่เอกชนโดยทุจริต ละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ เมื่อเอกชนได้รับสินเชื่อแล้ว ไม่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินของธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 27 คน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ ยังขอให้ร่วมกันคืนหรือใช้เงินคือ 10,054.46 ล้านบาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย

จากการไต่สวน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 18-19 และที่ 21-22 เป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัทกฤษดามหานครฯ ซึ่งมีผลดำเนินการขาดทุนมาโดยตลอด และอยู่ในเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องจัดทำแผนฟื้นฟูโดยการเพิ่มทุนและลดทุน บริษัทกฤษดามหานครฯ จึงต้องขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากสถาบันการเงินอื่นรวมทั้งธนาคารกรุงไทยเอง เพื่อรวบรวมหุ้นให้ได้สัดส่วนสามในสี่ของทุนจดทะเบียนเพื่อลงมติลดการขาดทุนสะสม

แต่บริษัทกฤษดามหานครฯ ไม่อยู่ในฐานะที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ จึงต้องให้บริษัทในกลุ่มขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยแทน ประกอบด้วย

  1. ให้บริษัท อาร์เคฯ ขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ในวงเงิน 500 ล้านบาท อ้างว่าจะนำไปลงทุนซื้อที่ดินกว่า 8 พันไร่ เพื่อขายให้กับบริษัทกฤษดามหานครฯ คาดว่าจะได้กำไรในปีแรกถึงกว่า 93 ล้านบาท
  1. ให้บริษัท โกลเด้นฯ ขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ในวงเงิน 9,900 ล้านบาท อ้างว่าจะนำไปรีไฟแนนซ์จากธนาคารกรุงเทพ ในวงเงิน 8,000 ล้านบาท นำไปซื้อที่ดิน 500 ล้านบาท และนำไปพัฒนาสาธารณูปโภค อีก 1,400 ล้านบาท

แต่เมื่อได้รับเงินแล้ว บริษัท อาร์เคฯ และบริษัท โกลเด้นฯ กลับนำเงินไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานครฯ คืนจากสถาบันการเงินต่างๆ โอนให้บุคคลในกลุ่ม และโอนในบุคคลภายนอกอีกหลายคน รวมเป็นเงิน 4,445.13 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

รู้ “เครือกฤษดา” ขาดทุนหนัก ยังให้กู้ 9.9 พันล้าน – ใช้เวลาพิจารณาแค่ 15 นาที

ศาลระบุว่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัท อาร์เคฯ และบริษัท โกลเด้นฯ ของคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย เห็นว่า บริษัทในกลุ่มของบริษัท กฤษดามหานครฯ มีฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ มีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ได้ประกอบธุรกิจจริงจัง และไม่ปรากฏรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ หรืออาจชำระหนี้ได้ยาก ซึ่งต้องห้ามมิให้สินเชื่อตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงคำสั่งของธนาคารกรุงไทยเอง

แม้บริษัท อาร์เคฯ จะอ้างว่าการขอสินเชื่อ วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อที่ดินมาขายให้กับบริษัท กฤษดามหานครฯ รวมถึงบริษัท โกลเด้นฯ จะอ้างว่าการขอสินเชื่อ วงเงิน 9,900 ล้านบาท โดยนำเงินบางส่วนไปทำโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 ที่มีบริษัท กฤษดามหานครฯ เป็นพันธมิตร ซึ่งทั้ง 2 กรณี ได้แสดงประมาณการว่าจะมีผลกำไร

“แต่การที่บริษัท กฤษดามหานครฯ เป็นหนี้กับสถาบันการเงินหลายแห่ง มีการปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินมาร่วมทุนซื้อที่ดินจากบริษัท อาร์เคฯ และร่วมลงทุนกับบริษัท โกลเด้นฯ ได้ อีกทั้งโครงการกฤษดาซิตี้ 4000 เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ในการเสนอขอสินเชื่อกลับมีเอกสารประกอบเพียง 2 แผ่น และคณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย ก็ใช้เวลาพิจารณาเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทำให้เชื่อได้ว่า รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว”

และการที่จำเลยที่ 12-17 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย มีบริษัท กฤษดามหานครฯ เป็นลูกค้าอยู่แล้ว จึงน่าจะรู้สถานะทางการเงินของบริษัท กฤษดามหานครฯ และบริษัทในกลุ่มเป็นอย่างดี แต่กลับทำรายงานประเมินการปล่อยกู้ครั้งนี้เป็นความเสี่ยงปานกลาง ไม่ใช่ความเสี่ยงสูงอย่างที่ควรจะเป็น แสดงให้เห็นว่าต้องการจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนี้

นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าว บริษัท กฤษดามหานครฯ ยังได้เจรจาขอลดหนี้กับธนาคารกรุงเทพ จาก 8,000 ล้านบาท เหลือเพียง 4,500 ล้านบาท แต่จำเลยที่ 5-11 ซึ่งเป็นกรรมการสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย กลับไม่ได้ตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริง ทำให้มีการเบิกเงินเกินกว่าที่จะใช้รีไฟแนนซ์ไปเกือบ 3,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่จู่ๆ บริษัท กฤษดามหานครฯ เตรียมที่จะซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมถึงธนาคารกรุงไทย จึงเป็นเรื่องที่สมควรสงสัยว่านำเงินมาจากที่ใด โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 นายวิโรจน์ นวลแข ที่เป็นผู้ต่อรองราคาเรื่องการขายหุ้นบุริมสิทธิคืนให้กับธนาคารกรุงไทย แต่เหตุใดจึงไม่มีข้อสงสัยเรื่องฐานะทางการเงินของบริษัท กฤษดามหานครฯ

ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย อย่าง ร.ท. สุชาย เชาววิศิษฐ์ และนายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา ขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานครฯ ให้แก่บริษัท แกรนด์ฯ เป็นเงิน 1,185.73 ล้านบาท ด้วยการให้เครดิตชำระเงินภายใน 4 เดือน และมอบฉันทะให้บริษัท แกรนด์ฯ ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท กฤษดามหานครฯ ชอบหรือไม่ เห็นว่า การขายหุ้นบุริมสิทธิด้วยวิธีดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารกรุงไทย ที่กำหนให้ต้องมีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ซื้อ คือบริษัท แกรนด์ฯ

“แต่ ร.ท. สุชาย และนายมัชฌิมา ไม่วิเคราะห์สินเชื่อ ทำให้ธนาคารกรุงไทยขายหุ้นบุริมสิทธิไปโดยไม่ได้รับชำระค่าหุ้น ทั้งมีการมอบฉันทะให้บริษัท แกรนด์ฯ เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท กฤษดามหานครฯ ในการออกเสียงลงคะแนนลดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิเพื่อลดขาดทุนสะสม ทำให้หุ้นบุริมสิทธิมีค่าเป็นศูนย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ”

จำคุก “วิโรจน์ นวลแข-อดีตบอร์ดกรุงไทย” 18 ปี เอกชน 12 ปี ให้คืนเงินหมื่นล้าน

ศาลระบุว่า จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงพิพากษาว่า

– จำเลยที่ 2-4 (อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย) และจำเลยที่ 12 (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย ระดับหัวหน้ากลุ่ม) มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้จำคุกคนละ 18 ปี

– จำเลยที่ 5 ที่ 8-11 และที่ 13-17 (อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย) มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

– จำเลยที่ 18-27 มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประกอบประมวลวกฎหมายอาญา มาตรา 86 โดยจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ปรับรายละ 26,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 23-27 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

“และให้จำเลยที่ 20 ที่ 25-26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004.46 ล้านบาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 22 และที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554.46 ล้านบาท จำเลยที่ 12-17 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 ร่วมรับผิด 8,818.73 ล้านบาท จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8-11 และที่ 18 ร่วมรับผิด 8,368.73 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ถ้าธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย ได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้คืนตามส่วน หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลวกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก”

ศาลฎีกาแผนกอาญาคดีนักการเมือง

ทั้งนี้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7 เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวน สิทธิ์ในการนำคดีนี้ฟ้องสู่ศาลจึงถูกระงับไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้คดีในส่วนของ พ.ต.ท. ทักษิณ จะถูกศาลจำหน่ายออกไปชั่วคราว แต่เนื้อหาคำพิพากษาบางส่วนยังกล่าวถึง พ.ต.ท. ทักษิณ โดยในการวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2-27 ร่วมกับสนับสนุน พ.ต.ท. ทักษิณ ในการกระทำผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะถือหุ้นใหญ่โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งร่วมคณะรัฐมนตรีกับ พ.ต.ท. ทักษิณ หรือไม่

โดยศาลเห็นว่า “คำกล่าวอ้างของพยานรายหนึ่งที่เป็นอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ที่อ้างว่า ร.ท. สุชาย ได้โทรศัพท์มาหา พร้อมระบุว่า การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มของบริษัท กฤษดามหานครฯ จะต้องให้ผ่านให้ได้ เพราะ big boss สั่งมา ซึ่งพยานรายนั้นเข้าใจว่าหมายถึง พ.ต.ท. ทักษิณ แต่จากพยานหลักฐานอื่นๆ ยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร เช่นเดียวกับการโอนเงินจากบริษัท กฤษดามหานครฯ ให้กับภริยาและบุตรชายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2-27 ร่วมกันกระทำความผิดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ”

ภายหลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาคดีนี้จบ จำเลยทั้ง 12 คน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งหมดยังมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญของคดี

(อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม)