ThaiPublica > คอลัมน์ > “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”

“ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน”

19 สิงหาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คนไทยเราส่วนหนึ่งดูจะเริงร่าเมื่อได้ยินข่าวอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับประเทศไทย “ผู้รู้” จะออกมาให้ข่าวกันสนุกสนาน สื่อก็โดดเข้าเล่นด้วย ดูไปแล้วเหมือนคนเป็นโรคจิต อะไรดี ๆ เกี่ยวกับบ้านเรากลับไม่เป็นข่าว เข้าอีหรอบ ‘ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน’ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงชอบกันนักที่จะพูดถึงเรื่องไม่ดีของบ้านเรา วันนี้ขอเอาเรื่องดี ๆ ที่ได้ยินมาแบ่งปันกันบ้างเพื่อแก้ไขความเจ็บป่วยทางใจ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านไปนี้ มีรายงานข่าวจาก CNN และ CNBC ตลอดจนสื่อต่างประเทศและไทยบางส่วนว่าบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดได้จัดทำดัชนีความนิยมเมืองต่าง ๆ ในโลก (Global Destination Index) โดยถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวทั่วโลกและนำมาจัดทำเป็นรายงานเมืองยอดนิยมของโลกเป็นประจำทุกปี ในรายงานประจำปี 2558 นั้นลอนดอนกับกรุงเทพมหานคร แย่งชิงตำแหน่งที่หนึ่งกันอย่างดุเดือด โดยในที่สุดกรุงเทพมหานครถูกเฉือนไปอย่างหวุดหวิด

สองเมืองนี้ผลัดกันเป็นที่หนึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในปีนี้ปารีสมาอันดับ 3 และไล่ลงมาดังนี้ ดูไบ อิสตันบูล นิวยอร์ก สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ โซล และฮ่องกง(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ที่มาภาพ : http://newsroom.mastercard.com/wp-content/uploads/2015/06/MasterCard-GDCI-2015-Final-Report1.pdf
ที่มาภาพ : http://newsroom.mastercard.com/wp-content/uploads/2015/06/MasterCard-GDCI-2015-Final-Report1.pdf

ในปี 2015 คาดว่าทั้งกรุงเทพมหานครและลอนดอนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไล่เรี่ยกัน คือ 18.24 ล้าน และ 18.82 ล้านคน ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเงิน 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพมหานคร และ 20,200 ล้านเหรียญสหรัฐในลอนดอน ปารีสในอันดับ 3 จะมีนักท่องเที่ยว 16.06 ล้านคน สิงคโปร์ 11.88 ล้านคน และกัวลาลัมเปอร์ 11.12 ล้านคน

ข่าวนี้ดังไปทั่วโลก สร้างภาพพจน์ที่ดีแก่ประเทศไทยเป็นอันมากถึงแม้จะเป็นข่าวอยู่บ้างในบ้านเราแต่ก็ไม่มีใครสานต่อกันมากนักอย่างน่าน้อยใจ

เมื่อสงสัยว่าชาวโลกตะวันตกโดยทั่วไปเขามองบ้านเราอย่างไร ผู้เขียนก็มองไปที่ application ชื่อ QUORA ซึ่งตอบคำถามสารพัดเรื่องโดยผู้เชี่ยวชาญ เมื่อลองถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทย ก็ได้คำตอบซึ่งน่าสนใจมาก

ผู้เขียนคุ้นกับบทความเกี่ยวกับประเทศไทยในหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับยักษ์หลายฉบับ และหลายนิตยสารที่เขียนโดยคนไทยกันเองและสื่อตะวันตก อ่านแล้วก็รำคาญและหงุดหงิดใจในความไร้เดียงสา และเอนเอียงในทางต่อต้าน ตรรกะของคนตะวันตกนั้นมีง่าย ๆ (จนถูกหาประโยชน์โดย ผู้ไม่หวังดีต่อชาติ) กล่าวคือเมื่อมีรัฐประหารหรือปฏิวัติ แล้วก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยดังนั้นต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ถูกต้องก็คือการเลือกตั้งโดยเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คนอเมริกันโดยทั่วไปมีตรรกะเช่นนี้จริง ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากอังกฤษโดยใช้กำลังในปี ค.ศ. 1776 แล้ว จะมีประเทศสหรัฐอเมริกาในวันนี้หรือ

คำตอบที่ได้จาก QUORA ล้วนเป็นบวกกับบ้านเราทั้งสิ้น คำตอบของคำถามข้างต้น ก็คือรอยยิ้มที่มีอยู่รอบตัว ประเพณีการไหว้ที่งดงาม ผู้คนที่เป็นมิตร อาหารนานาชนิดที่แสนถูกและเชื่อใจได้ว่าเลวที่สุดก็แค่ทำให้ท้องเสีย ผลไม้ไทยนั้นยอดเยี่ยม ค่าครองชีพที่ต่ำกว่าหลายประเทศ น้ำใจของคนไทย ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหลายคำตอบของ QUORA ที่เกี่ยวกับคนไทยและประเทศไทย มีคำตอบหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่เขาชอบในวัฒนธรรมของเรานั่นก็คือการที่ทุกคนมีชื่อเล่น (พ่อแม่ตั้งให้กับชื่อที่เพื่อนเรียก) ซึ่งใช้กันในทุกโอกาสยกเว้นเวลาที่เป็นทางการ เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้หลุดพ้นภัยจากการปลอมบัตรเครดิต หรืออาชญกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นวิธีการรักษาความเป็นส่วนตัวที่ดีมาก

มนุษย์มักมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว หรือเห็นก็แค่เพียงองค์ประกอบโดยไม่เห็นภาพรวม ดังนั้นเราจึงมองข้ามสิ่งที่ดีของสังคมเราไปได้ และไปเชื่อสิ่งที่คนอื่นบอก ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป เพราะเขามองเห็นจากจุดยืนของเขา

ประเด็นอยู่ตรงที่คนไทยบางคนโดยเฉพาะคนที่สังคมเชื่อถือเพราะตำแหน่ง ชอบที่จะเอาสิ่งไม่ดีที่คนอื่นมองเห็นมาบอกคนไทยกันเองอย่างสนุกสนานและสื่อก็ขยายความเพราะมันตื่นเต้นดี

ยกตัวอย่างเรื่องที่ WEF (World Economic Forum) ระบุว่าคุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับแปดหรือท้าย ๆ ของอาเซียน คนชอบพูดกันมากอย่างสนุกปาก ยกตัวอย่างคำถามง่าย ๆ ว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ท่านยินดีส่งลูกไปเรียนในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ของเราที่มิได้อยู่ทางทิศใต้ไหม

ข้อสรุปของ WEF นั้นมาจากการถามคำถามนักธุรกิจที่อยู่ในแต่ละประเทศจำนวนไม่กี่คนว่ามีความเห็นอย่างไรกับคุณภาพของการศึกษาของประเทศที่ตนเองอยู่ และก็นำคำตอบเหล่านั้นมาปรับค่าแล้วเอามาเรียงกันเป็นอันดับ ถึงแม้คุณภาพการศึกษาของไทยจะเลวร้ายจริงแต่ถ้าใครที่เดินทางไปหลายประเทศในอาเซียนก็จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมในหลายประเทศไม่น่าจะทำให้มีคุณภาพการศึกษาสูงกว่าไทยได้ น่าเสียดายที่ไม่มีคะแนนการสอบ PISA ของหลายประเทศในอาเซียนมาเทียบเคียงกับไทย มิฉะนั้นจะมีหลักฐานสนับสนุนความเห็นของผู้เขียนว่าคุณภาพการศึกษาของไทยไม่อยู่ในระดับครึ่งท้ายของอาเซียนอย่างแน่นอน

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของประชากรอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันมิได้เลวร้ายขนาดที่พูดกัน เรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ มีปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ มีปัญหาคอรัปชันที่เลวร้าย มีสภาพความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจสูง มีปัญหาทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ประเทศอื่น ๆ ก็มี มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ทุกปัญหามีทางแก้ไขเสมอถึงแม้อาจจะไม่ได้ผลที่ดีที่สุดก็ตาม

สิ่งที่สังคมเราควรช่วยกันคือการสร้างความหวังในการแก้ไขปัญหาของชาติ สื่อควรให้บรรยากาศที่เป็นบวกบ้างในหลายเรื่องเพื่อให้กำลังใจสนับสนุนในโอกาสที่เหมาะสม บางครั้งสิ่งที่ไม่ดีก็อาจกลายเป็นดีได้ถ้าทุกคนคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี

ไม่มีบทสวดมนต์ใดที่กล่าวถึงความอัปมงคล ล้วนมีแต่การสรรเสริญคุณงามความดีและคุณธรรมอันประเสริฐ อย่าลืมว่าผู้ที่สวดมนต์คือผู้ให้พรตนเองให้ประสบแต่ความดี ความงามและความเจริญ

หมายเหตุ: ตีพพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 18 ส.ค. 2558