ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าเอนเอียงจนผิดพลาด

อย่าเอนเอียงจนผิดพลาด

15 สิงหาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มนุษย์ถูกลวงโดยตนเองได้หลายลักษณะจนอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ การเข้าใจธรรมชาติของการลวงจะช่วยให้ไม่เสียประโยชน์มากเกินไปในชีวิต

นิทานอีสปเรื่ององุ่นเปรี้ยวนั้นคงยังจำกันได้ สุนัขจิ้งจอกอยากกินพวงองุ่นที่ห้อยอยู่ พยายามโดดงับครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักทีจนตกลงมาเจ็บตัว ในที่สุดมันก็เลิกและบอกกับตัวเองว่า “องุ่นมันยังไม่สุก ใครจะอยากได้องุ่นเปรี้ยวกันเล่า”

อีสปซึ่งเป็นกวีสมัยกรีกโบราณเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้วแต่งนิทานเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นความผิดพลาดในการใช้เหตุใช้ผลที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของมนุษย์ หลายครั้งที่มนุษย์ตกอยู่ในฐานะเดียวกับสุนัขจิ้งจอกตัวนี้และใช้เหตุผลอธิบายกับตนเองอย่างเขลาๆ และก็ตัดสินใจอย่างเขลาๆ ไปด้วย (เช่น สมัครงานแต่สู้คู่แข่งไม่ได้ กลับบอกกับตัวเองว่าไม่ได้ต้องการงานนี้จริงแค่ลองตลาด และไม่พยายามพัฒนาตนเอง)

Rolf Dobelli ในหนังสือ The Art of Thinking Clearly (2013) บอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้ สุนัขจิ้งจอกมี 3 ทางเลือก คือ (ก) หาหนทางกินองุ่นให้จนได้ (ข) ยอมรับว่าตนเองไม่มีทักษะเพียงพอที่จะได้องุ่น และ (ค) ตีความย้อนหลังในเรื่องที่เกิดขึ้น(“องุ่นมันเปรี้ยวจะอยากได้มันไปทำอะไร?”)

ทางเลือกสุดท้ายนี้คือตัวอย่างของสิ่งที่ Dobelli เรียกว่า “cognitive dissonance” (นักจิตวิทยาเรืองนามชาวอเมริกัน Leon Festinger เป็นผู้นำเสนอ และขยายความใน The Making of Behavioral Economics: Misbehaving (2015) โดย Richard Thaler) ตัวอย่างเช่น เลือกซื้อรถยนต์ผิดมา มันเสียงดังมากและนั่งก็ไม่สบาย การเอารถไปคืนและยอมรับเงินคืนมาบางส่วนก็คือการยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิด ดังนั้น ไม่ช้าไม่นานก็บอกตัวเองว่า “รถแบบนี้ก็ดีเหมือนกันมันทำให้เวลาขับแล้วไม่ง่วง” บอกตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ เข้าก็ชักจะคล้อยตามและบอกตัวเองว่า “จริงๆ แล้วเราไม่ได้โง่เลย” และอาจรู้สึกภาคภูมิใจกับความชาญฉลาดในการซื้อรถคันนี้ก็เป็นได้

ที่มาภาพ : Reasoning
ที่มาภาพ : Reasoning

ตัวอย่างอื่นก็มีให้เห็น เช่น คนที่หลงผิดไปนับถือ “หลวงพ่อ” ที่ไม่ใช่ของจริง เมื่อมีหลักฐานความกลวงของ “หลวงพ่อ” หนักแน่นขึ้นทุกทีก็ยังยอมรับไม่ได้ว่า “หลวงพ่อ” นั้น “กลวง” เพราะการยอมรับก็เท่ากับว่าตัวเองได้ตัดสินใจผิด (สำหรับบางคนแล้ว “ฉันไม่มีทางทำอะไรผิดได้เลย” “ฉันถูกเสมอ”) ดังนั้นจึงดื้อดึงนับถือต่อไปและจมดิ่งอยู่ในความนับถือ “ของกลวง” นั้น มิไยที่ใครจะชี้แจงหรือทัดทาน

ปรากฏการณ์ cognitive dissonance คือคำอธิบายว่าเหตุใดเพื่อนเราบางคนจึงหลงงมงายในตัวบุคคลหรือสิ่งที่ใครๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้นว่าเป็นของปลอม ยิ่งเป็นคนที่มี ego สูง ไม่เคยยอมรับว่าตนเองสามารถผิดพลาดได้ ปรากฏการณ์นี้ก็จะยิ่งแรงขึ้น

cognitive dissonance คือการใช้ความคิดของเราสร้างตรรกะที่ไม่สอดคล้องกลมกลืนกับความเป็นจริงเพื่อให้เราสบายใจซึ่งจะนำไปสู่การคิดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ตัดสินใจบิดเบี้ยว และไม่เกิดผลดี เราอาจบอกตัวเองด้วยสารพัดเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ต้องการองุ่นนั้น แต่ไม่ว่าจะโน้มน้าวตนเองอย่างไรก็ไม่มีวันได้องุ่นนั้นมาอย่างแน่นอน

จิตวิทยาของมนุษย์มักเล่นกลจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้อีกในกรณีของ effort justification ซึ่งเป็นกรณีพิเศษของ cognitive dissonance กล่าวคือเมื่อเราไม่ได้ “องุ่น” เราก็สร้างกลไกเพื่อชดเชยโดยพยายามสร้างตรรกะผิดๆ ผ่านการประเมินบางสิ่งเกินกว่าความเป็นจริง เช่น ในกรณีของสุนัขจิ้งจอก เมื่อบอกว่าองุ่นเปรี้ยวแล้วก็คิดว่าท่ากระโดดงับองุ่นของตนนั้นสง่างามน่าภูมิใจ

ตัวอย่างของ effort justification มีมากมายในชีวิตประจำวัน (ก) งานการฝีมือของเราไม่ว่าจะเป็นลายปักผ้าเช็ดหน้า งานฉลุไม้ ถ้วยเซรามิกปั้น หรือแม้แต่จิ๊กซอว์ที่เราต่อได้สำเร็จและเก็บไว้ สิ่งเหล่านี้เราจะให้คุณค่าแก่มันเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะเป็นความภูมิใจของเรา (ข) การสอบวิชาที่ยากได้จะภูมิใจในตัวเองเกินความเหมาะสม (ค) การทุ่มเททำงานที่ต้องใช้ความพยายามสูงและยาวนานทำให้รักใคร่ชื่นชมผลพวงของมันเป็นพิเศษ (ง) การจบหลักสูตรที่ต้องออกแรงกายและใจมากจนคิดว่ามันให้คุณค่าแก่เรามากจนเกินความจริง ปรากฏว่า effort justification เหล่านี้ล้วนให้น้ำหนักแก่บางสิ่งมากกว่าที่สมควรจะได้รับ

“การรับน้องใหม่” ที่สร้างสวรรค์และประทับใจก็คือการใช้ effort justification สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน น้องใหม่จะจดจำและให้คุณค่าแก่การได้ร่วมวาทกรรมนั้นเกินสมควรและจะรัก “ความเป็นพวกเดียวกัน” เป็นพิเศษ

การร้องเพลงของกลุ่มช่วยเน้นการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน และเมื่อการเป็นสมาชิกกลุ่ม มาจากการต้องผ่านการฝึกฝนที่ยากเข็ญร่วมกันกว่าจะสำเร็จได้ก็จะยิ่งสร้างความเป็นพวกเดียวกันซึ่งเป็นเทคนิคของทหารที่ใช้มายาวนานอย่างได้ผล

IKEA effect ก็คือรูปลักษณ์หนึ่งของ effort justification กล่าวคือ เฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาจากร้าน IKEA นั้นต้องนำมาประกอบเอง และเมื่อประกอบเสร็จแล้วดูเหมือนว่ามันมีค่ามากกว่าชิ้นอื่นที่ซื้อมาสำเร็จรูป ทั้งนี้ก็เพราะเราเป็นคนทำให้มันเกิดขึ้นมา

ใครที่ชอบปลูกต้นไม้ ดอกไม้ และชื่นชมความงามของใบและดอกที่เติบโตภายใต้ความรักเอาใจใส่ของเราจะเข้าใจดีว่าความรู้สึกชื่นชมนี้เป็นอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ต่างไปจาก IKEA effect นัก

ผู้เขียนเคยพบนักผสมพันธุ์ไม้มงคลที่ได้ต้นงดงามออกมา มีคนมาขอซื้อในราคาหลายแสนบาทแต่ก็ไม่ยอมขายจนสุดท้ายโอกาสทองหลุดลอยไป ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะภาคภูมิใจกับผลงานจนเกินเหตุ พูดง่ายๆ effort justification ทำให้ตัดสินใจผิดจนพลาดโอกาสได้เงินก้อนใหญ่

ข้อเสนอของโครงการที่เราเขียนขึ้นมาเอง หรือที่เราดำริขึ้นมาเอง ดูจะมีค่ามากกว่าโครงการอื่นๆ เพราะความภาคภูมิใจในผลงานที่เราทุ่มเทและสร้างมันขึ้นมา ผลจาก effort justification เช่นนี้พึงระวังเป็นอย่างมากเพราะเมื่อต้องตัดสินใจเลือกโครงการ เราอาจเผลอไผลใช้ “หัวใจ” มากกว่า “สมอง” ความเอนเอียงเช่นนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดจนเกิดความเสียหายมหาศาลขึ้นได้

การตัดสินใจที่ถูกต้องนั้นต้องพิจารณาไปที่ “ผล” ที่จะเกิดขึ้น มิใช่สิ่งที่เรามีความผูกพันและภาคภูมิใจเป็นส่วนตัวเป็นพิเศษอันเนื่องมาจาก effort justification

การตระหนักในวิธีคิดและรู้ทันการสร้างตรรกะที่ผิดของตัวเราอาจช่วยทำให้โอกาสในการตัดสินใจผิดเพราะความเอนเอียงลดน้อยลงก็เป็นได้

เมื่อรู้ถึงความเอนเอียงในใจของเราอย่างนี้แล้ว คู่รักของเราที่รู้สึกว่ามีคุณค่ามากเป็นพิเศษเพราะต้องฝ่าฟันต่อสู้หนักกว่าจะได้มาเป็นคู่นั้นโดยแท้จริงแล้วอาจมีคุณค่าไม่ต่างจากคนรักที่บังเอิญใจปิ๊งกันมากจนเป็นแฟนกันง่ายๆ ก็เป็นได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 11 ส.ค. 2558