ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ซูเปอร์บอร์ดตั้ง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ศึกษารูปแบบ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” – ล้างหนี้ รฟท. 61,846 ล้านบาท แลกเช่าที่มักกะสัน 99 ปี 497 ไร่ เฉลี่ยค่าเช่า 624 ล้านต่อปี

ซูเปอร์บอร์ดตั้ง “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ศึกษารูปแบบ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” – ล้างหนี้ รฟท. 61,846 ล้านบาท แลกเช่าที่มักกะสัน 99 ปี 497 ไร่ เฉลี่ยค่าเช่า 624 ล้านต่อปี

31 สิงหาคม 2015


คนร_ครั้งที่7_2558_ซูเปอร์บอร์ด
การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 7/2558

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ได้แถลงหลังการประชุม คนร. ครั้งที่ 7/2558 ว่าภายหลังการหารือรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการ แต่ยังกังวลว่าบรรษัทฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นมีความเชื่อมโยงกับรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่างไร ที่ประชุมจึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติหรือซูเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเมื่อร่างกฎหมายประกาศใช้ โดยคณะอนุกรรมการมีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการ สคร. เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะมีหน้าที่ 1) กำหนดแผนงานและกรอบระยะเวลาในการจัดตั้งบรรษัทฯ 2) กำหนดรูปแบบการกำกับดูแลและความเชื่อมโยงระหว่างบรรษัทฯ และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกำกับ 3) โครงการสร้างและอัตรากำลังของบรรษัท 4) กำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้กับคณะกรรมการและบุคลากรของบรรษัท และ 5) กำหนดงบประมาณในการดำเนินงานของบรรษัทฯ

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. ยังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วจะส่งต่อไปยังกฤษฎีกา ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่า สนช. จะดำเนินการพิจารณาได้ภายใน 3 เดือน และจะจัดตั้งบรรษัทได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2559 เป็นไปตามกำหนดการเดิมที่ได้วางไว้

สำหรับการทำงานในส่วนของคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นประธาน คนร. ได้เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจระยะ 5 ปี โดยแผนฉบับนี้ถือเป็นแผนต้นแบบหรือแผนศูนย์ที่จัดทำขึ้นมาเบื้องต้นเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างนโยบายรัฐวิสาหกิจทั้งในภาพรวมและในรายสาขา การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงรูปแบบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการ ก่อนที่จะส่งต่อให้ คนร. ชุดใหม่ตามกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจอีกครั้งเป็นแผนฉบับที่ 1 ต่อไป

“แผนฉบับนี้ถือเป็นแผนต้นแบบ ที่จะบอกว่า รัฐวิสาหกิจควรจะเพิ่มประสิทธิภาพควรมีอะไรบ้าง อันไหนควรจะลดบทบาทมีอะไรบ้าง เราทำเป็นตุ๊กตาไว้ให้ เมื่อมี คนร. ตามกฎหมายขึ้นมาจริงๆ แล้วจะได้ดูแลในส่วนนี้ต่อไป เราได้วางแผนแยกในรายสาขาว่าพลังงาน ขนส่ง สื่อสาร ว่าหน่วยงานไหนควรทำหน้าที่อะไร จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้กำกับดูแล เป็นผู้ให้บริการ เป็นต้น” นายกุลิศกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่ง ในส่วนของสาขาขนส่ง 3 แห่ง คนร. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินย่านมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พื้นที่ 497 ไร่ ระยะเวลา 99 ปี เพื่อนำมาชำระหนี้สินของ รฟท. มูลค่า 61,846 ล้านบาท (จากมูลค่าหนี้สินรวมของ รฟท. ที่มีประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ของ รฟท. เองประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท)คิดเป็นค่าเช่า 624.70 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยไร่ละ 1.25 ล้านบาทต่อปี โดยการส่งมอบที่ดิน ในส่วนที่ติดข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ที่กำหนดระยะเวลาเช่าไว้ไม่เกิน 50 ปี คนร. มีมติให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการแก้ไข ขยายระยะเวลาเป็น 99 ปี ก่อนที่ให้กระทรวงคมนาคมเร่งพิจารณาส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปีต่อไป ขณะที่การดำเนินการในที่ดินส่วนอื่นและหนี้สินก้อนอื่นของ รฟท. คนร. ยังไม่ได้กำหนดนโยบาย โดยจะให้เน้นไปที่การดำเนินการส่วนที่ดินมักกะสันให้แล้วเสร็จก่อน

ด้านการดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) คนร. ได้ให้กระทรวงคมนาคมศึกษาโครงการจัดหารถใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น ศึกษาสัดส่วนการจัดหารถพลังงานไฟฟ้ากับรถดีเซล เนื่องจากภาวะน้ำมันราคาต่ำลงในช่วงนี้ การปรับปรุงการเดินรถเดิม รวมไปถึงปรับปรุงเส้นทางให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับ ขสมก. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ ขสมก. เร่งดำเนินการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ขณะที่การบินไทย ถือว่าดำเนินการได้ตามแผนฟื้นฟูที่วางแผนไว้ ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาตัวแทนขาย เรื่องขายเครื่องบิน เรื่องการลดค่าใช้จ่าย เรื่องเกษียณพนักงานก่อนเวลา แม้ว่าในไตรมาส 2 ของปี 2558 จะยังขาดทุน แต่ถือว่าเป็นปัจจัยตามฤดูกาลที่ในช่วงนั้นจะมีการเดินทางไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี

สำหรับรัฐวิสาหกิจสาขาสถาบันการเงิน 2 แห่ง ในส่วนของธนาคารอิสลามหรือไอแบงก์ ปัจจุบันได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาแก้ไขปัญหาหนี้เสียและการหาพันธมิตรร่วมทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นในการประชุมครั้งหน้า ทั้งนี้ หนี้เสียในปัจจุบันของไอแบงก์ได้ลดลงเล็กน้อยจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 48,000 ล้านบาท ขณะที่การดำเนินกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ได้รายงานมาว่ามีหนี้เสียน้อยลงและจะขอดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรต่อไป โดยจะนำร่องเปิดหน่วยบริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก ทั้งนี้ ถ้ามีผลการดำเนินการดีขึ้น คนร. อาจจะพิจารณาเพิ่มทุนต่อไปได้

ส่วนสาขาสื่อสาร 2 แห่ง คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลก่อน ก่อนจะปรับการทำธุรกิจเพื่อเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้สอดคล้องต่อไป ส่วนการลดค่าใช้จ่ายยังทำได้ตามเป้าที่วางไว้