ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด จาตุศรีทักษ์” ลดความคาดหวัง บริบทโลกใหม่จีดีพีไม่โต 5-6% อีกแล้ว เน้นพึ่งพาภายใน สร้างนักรบหน้าใหม่ลุยตลาดโลก

“สมคิด จาตุศรีทักษ์” ลดความคาดหวัง บริบทโลกใหม่จีดีพีไม่โต 5-6% อีกแล้ว เน้นพึ่งพาภายใน สร้างนักรบหน้าใหม่ลุยตลาดโลก

30 สิงหาคม 2015


580830สมคิด2
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?list=PLeXrz_5POG0apsf63BQLRYs0mOHbW2FMq&t=481&v=bIy7QOpCjQU

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” เพื่อเป็นการเปิดเผยนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

นายสมคิดกล่าวเริ่มต้นว่า รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นมิตรกับธุรกิจ (business friendly) ต้องการช่วยธุรกิจเพื่อผลักดันให้เป็นแนวหน้าในการค้าขายกับโลก ดังนั้น ถ้าพวกท่านเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเจริญ แต่ถ้าพวกท่านอ่อนแอ ประเทศก็จะลำบาก รัฐบาลทำได้เพียงผลักดันส่งเสริมให้พวกท่าน นั่นคือความคิดของรัฐบาลชุดนี้กับเอกชน

“ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำงานหนักตอนที่อายุมากแล้ว แต่ถ้าผมจะเหนื่อย ก็จะลากพวกท่านให้มาเหนื่อยร่วมกับผม เพราะประเทศเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของคนหนึ่งคนใด ที่คนมาฟังวันนี้มากเหนือความคาดหมาย เพราะทุกคนคงเป็นห่วงต่อภาวะเศรษฐกิจ และอนาคตของตัวเอง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ประกาศทีไรก็น้อยลงทุกที โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของท่านสุพรรณ (มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.) ที่ประกาศทีไรก็ลดลงเป็นประวัติการณ์ทุกครั้ง แต่หลังจากนี้ความเชื่อมั่นของท่านสุพรรณจะขึ้นอย่างแน่นอน เพราะท่านจะมาทำงานร่วมกับผม”

ไทยยังไม่วิกฤติ แค่ชะลอใช้จ่ายเพราะไม่รู้อนาคต วอนอย่าตกใจ

นายสมคิดกล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีวิกฤติการณ์ ยิ่งเมื่อเทียบกับปี 2540 มันคนละเรื่องกันเลย ปีนั้นเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีใครอยากมานั่ง ธุรกิจส่วนใหญ่ล้มหมด ธนาคารแทบไม่มีเหลือ ไฟแนนซ์ก็ปิด เป็นหนี้สินกันทั่วประเทศ คนตกงานเต็มไปหมด แต่ช่วงนั้นโชคดีที่แม้ธุรกิจจะลำบาก แต่เกษตรกรและตลาดโลกช่วงนั้นค่อนข้างดี จึงเอื้อให้เราฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังต้องใช้เวลา 6-7 ปี

ปัญหาของวันนี้ เกิดเพราะราคาพืชผลตกต่ำ ไม่ว่าข้าวหรือยางพารา อำนาจซื้อของเกษตรกรย่ำแย่ คนจำนวนมากจึงลำบาก เมื่อคนรายได้น้อยและเกษตรกรลำบาก อำนาจซื้อที่จะหมุนเวียนเศรษฐกิจจึงหายไป วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องทำธุรกิจกับกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจลำบาก ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ SMEs เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ความมั่นใจเริ่มเสื่อมถอย ภาคเอกชนชะลอการลงทุน เพราะไม่รู้ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงชะลอไว้ก่อน ปีหน้าฟ้าใหม่ดีขึ้นค่อยว่ากัน ชนชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อไม่กล้าใช้เงิน เพราะอ่านข่าวมีแต่เรื่องหุ้นสหรัฐฯ ตก หุ้นจีนตก ถ้าผมเป็นชาวบ้าน เวลาจะซื้อของอะไรที่ไม่จำเป็น ผมก็เก็บไว้ก่อน

“ภาวะอย่างนี้มันจะกินตัวเองไปเรื่อยๆ เหมือนชีพจรคน จากเดิมที่เต้นตามปกติ ก็แผ่วลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ดัชนีเงินเฟ้อที่มันติดลบไม่ใช่เพราะราคาน้ำมันอย่างเดียว แต่ติดลบเพราะสิ่งที่คนจีนเรียกว่า ‘ซิมจั๋งบ่อลัก’ แปลว่าใจคอยไม่ค่อยดี เมื่อเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจก็เลยเป็นอย่างที่เห็น คือชะลอตัว ซบเซา มีแต่ข่าวร้ายออกมา”

ได้เวลาซ่อม-สร้าง เพิ่มขีดความสามารถประเทศ

นายสมคิดกล่าวว่า แต่เรื่องนี้ยังไม่ใช่ปัญหาหลัก ปัญหาหลักที่แท้จริงคือ “ความสามารถของประเทศ” ที่ลดถอยลง ทำให้ประเทศอ่อนแอ และการที่จะให้ส่งออกสูงถึงปีละ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) มันก็ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ประเทศใดที่อิงปัจจัยภายนอกเพื่อเติบโต สุดท้ายก็ต้องทรุดต่ำลง เพราะเราไม่ได้พึ่งตัวเอง เราพึ่งตลาดข้างนอก เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา จีนเริ่มออกอาการ การส่งออกของเราก็ต้องแผ่วลงมา

แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างเก่าๆ ที่เราสร้างและสะสมมาหลายสิบปีก็ยังคงอยู่ และใช้ได้พอสมควร แต่เราต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อมาประคองตัวเองรอรับสิ่งที่จะเกิดข้างหน้า

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เรียกว่า moment of truth เป็นช่วงที่เราต้องรีบเข้าไปแก้ไขในสิ่งที่ควรจะรีบแก้ สร้างในสิ่งที่ต้องสร้างและควรจะเร่งสร้าง เราไม่ทำสิ่งเหล่านี้มานานมากแล้ว และวันนี้โอกาสก็มาถึง แต่การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอาศัยพวกท่านเข้ามาช่วย อย่าตื่นตกใจ อย่างกังวล เพราะผมกับท่านก็คิดในทางเดียวกันอยู่แล้ว การเมืองอาจจะมีปัญหา แต่กำลังก้าวไปสู่ทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจมีปัญหาเพราะความไม่มั่นใจ มีประชาชนบางส่วนที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของประเทศเดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น อย่ากังวลจนเกินเหตุ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ประมาท ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความจริงใจ ตั้งใจอยู่แล้ว ท่านทำงานร่วมกับรัฐบาล เราจะเดินไปข้างหน้าได้ดี”

นายกฯ สั่งผลักดัน 2 ภารกิจหลัก

นายสมคิดกล่าวว่า ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ก็เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อขอทราบนโยบาย ท่านก็ยืนยันให้ทำ 2 ภารกิจ

1. ภารกิจเร่งด่วน คือ ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร SMEs ผลักดันมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ได้  ท่านกังวลมาก สั่งการหลายครั้ง เพียงแต่กลไกยังไม่ค่อยเดิน จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะมาผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกมา ซึ่งได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และที่ปรึกษาอีกหลายคน ให้ช่วยกันคิดหามาตรการเร่งด่วนที่จะไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มนี้ และทำให้เงินหมุนเวียนของภาครัฐออกไปให้เร็วที่สุด

ถามว่ามาตรการนี้คืออะไร ผมคงไม่ตอบอย่างละเอียดเพราะยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ตอบได้ว่ามี 2 ส่วน

  1. ใช้กลไกทำให้เงินลงไปถึงชาวบ้านให้เร็วที่สุด ไม่ต้องไปผ่านกลไกอื่น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในระยะเวลาที่ยืนยาวนัก
  2. สร้างท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ก็ได้สั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปหาทางจูงใจให้เกิดการใช้งบ โดยเฉพาะโครงการเล็กๆ ที่มีมูลค่าไม่มากนัก ให้หมุนออกไปเร็วที่สุดใน 2-3 เดือนนี้ ผมเชื่อว่าถ้าออกไปมันจะช่วยบรรเทา ถัดไปอีกราว 2 สัปดาห์ เรื่องของ SMEs จะเริ่มออกมา ช็อตแรกเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ SMEs สามารถก้าวต่อไปได้ เพื่อนำไปสู่ช็อตต่อไปที่ใช้เวลามากกว่าในการพัฒนา SMEs ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอีกหลายธนาคารให้มาร่วมกันทำสิ่งนี้ ผมจะพยายามให้เขาออกมาเร็วที่สุด เพราะคนที่ลำบาก เวลาที่ต้องรอนาน มันน่าเห็นใจ นี่คือสิ่งเร่งด่วนที่นายกฯ ขอให้ทำ

2. การวางรากฐานอนาคตให้กับประเทศ เรื่องนี้สำคัญมากๆ ผมอยากใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้ได้ ผมจะไม่รออะไรมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่จะทำไปเลยโดยร่วมกับ สปช. อาจารย์สุวิทย์ (เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) ก็อยู่ใน สปช. อยู่แล้ว ให้ไปสื่อว่าอะไรมาก่อนได้ อะไรต้องออกกฎหมายก็ให้ผ่านไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลย ไม่ต้องมาเริ่มใหม่ที่ ครม. ตัวนำการปฏิรูปคือรัฐบาล แล้วคนที่ผลักดันคือรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่แค่นั่งรอเซ็นคำสั่ง แต่ต้องคิดว่าจะปฏิรูปอะไรในหน่วยงานที่กำกับอยู่ เช่น กระทรวงการคลังก็จะต้องขจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้กับการทำงานของภาคเอกชน ตัวนี้เป็นประเด็นหลักที่เวทีเศรษฐกิจระดับโลกใช้วัดว่าประเทศนี้น่าสนใจในการลงทุนหรือไม่ เรารู้ว่าในเมืองไทยยังมีหลายจุดที่เป็นอุปสรรค ก็จะพยายามเคลียร์ออกไป

ถามว่าภารกิจที่จะสร้างอนาคตประเทศจะทำอะไรบ้าง

ข้อแรก ที่คิดไว้คือถึงเวลาแล้วที่เราต้องรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป เศรษฐกิจซบเซา มีประเทศเดียวที่เข้มแข็งพอสมควรคือสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) ไม่ต้องพูดถึงจีนก็เริ่มส่อปัญหา แต่เขามีทุนสำรองเยอะ อีกไม่นานก็จะตั้งหลักได้ แต่คงไม่กลัวมาโต 8-9% ต่อปีอีกแล้ว ฉะนั้น ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ท่านจะไม่ได้เห็นเศรษฐกิจโลกโตหวือหวา จะหาประเทศที่ จีดีพีโต 5-6% ยากมาก ประเทศที่จะประสบความสำเร็จคือทำให้เศรษฐกิจโตแบบพอดีๆ กับความจำเป็นภายในประเทศของเขา เช่น จีนที่ต้องพยายามคง จีดีพีไว้ที่ 5-6% ให้ได้ ไม่เช่นนั้นคนของเขาจะตกงาน

นี่คือบริบทใหม่ในการเติบโต แล้วประเทศส่วนใหญ่ที่มีปัญหาจะเริ่มกลับมามองสู่ภายใน การเติบโตของไทยในอดีตนำโดยการส่งออก มาตรการทางภาษี บีโอไอ โครงสร้างพื้นฐาน ทุ่มไปให้กับการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ ด้านดีก็คือมันโตเร็วมาก GDP ของไทยเคยโต 10-12% แต่เวลาที่มันตก ผลสะท้อนมันจะกลับมาที่ว่า เศรษฐกิจภายในของไทยไม่แข็งแรง ท้องถิ่นเราอ่อนแอ มีจังหวัดไหนบ้างที่เข้มแข็งเท่ากรุงเทพฯ เชียงใหม่หรือ ภูเก็ตหรือ ก็มีไม่กี่จังหวัด

“ฉะนั้น เศรษฐกิจท้องถิ่นของเราจึงอ่อนแอ ซึ่งไม่ควรจะเป็นแบบนี้ การเติบโตที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยควรจะสมดุล ไม่ใช่แค่อิงตลาดโลกภายนอก แต่ต้องเติบโตจากภายในของเรา”

ฟื้นบทบาท “กองทุนหมู่บ้าน-OTOP” กระจายกิจกรรมเศรษฐกิจลงท้องถิ่น

วันนี้ เมื่อข้างนอกไม่ค่อยดี จึงเป็นโอกาสที่จะหันมาสนใจสู่การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ทั้งในท้องถิ่นและภูมิภาค เอาปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวนำร่อง แล้วเอากิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหลายไปรวมกัน ยกตัวอย่าง หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด จะต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเศรษฐกิจตรงนั้น ไม่ใช่อาศัยแค่ส่วนกลางหรือ กทม. ลงไป การท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดไม่ต้องรอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าไปทำ ท่านสามารถของบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มาช่วยทำสิ่งเหล่านี้ได้

รัฐบาลมีกองทุนหมู่บ้าน มีกรรมการหมู่บ้าน มีกรรมการตำบล ดูแลอยู่ เอาแกนที่มีการจัดตั้งอย่างแข็งแรงเหล่านี้ คิดกิจกรรมเศรษฐกิจขึ้นมาในการผลิต ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับท้องถิ่น

การสร้างวิสาหกิจระดับชุมชน OTOP(โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์) ที่เลิกกันไปนาน วันนี้ เราจะให้กลับมาเป็นตัวสปาร์กให้เกิดความกระตือรือร้นในท้องถิ่น

ผมจะไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ วิหสาหกิจชุมชนมีความสำคัญ ซึ่งภาคเอกชนจะต้องเข้าไปช่วย เพราะมันสามารถกระจายไปทั่วประเทศ แล้วมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโต ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องเป็นหัวหอกในการหารือร่วมกับหอการค้าจังหวัด-อุตสาหกรรมจังหวัด-ท่องเที่ยวจังหวัด คิดและวางแผนในสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่มานั่งรอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คิดแทนท่าน อันนี้ ผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ว่าฯ มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้

ฉะนั้น นโยบายการคลัง หรือบีโอไอ ในอนาคต เราจะพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนในท้องถิ่น ใครจะมาลงทุนในท้องถิ่น ต้องมีสิ่งจูงใจให้เกิดการจ้างงาน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมา ทุกๆ อย่างมีแกนกลางของการพัฒนาคือภูมิภาคและท้องถิ่น นี่คือสิ่งที่ผมอยากผลักดัน และมันจะออกมาในนโยบายของทั้ง 7 กระทรวงที่ผมกำกับดูแลอยู่

เมื่อเราทราบว่าความสามารถของประเทศมันเสื่อมถอย สินค้าที่เราผลิตได้ก็มีมูลค่าต่ำ หาตลาดยาก ช่วงที่ไม่ได้อยู่การเมือง ผมเดินทางท่องเที่ยวบ่อยมาก ที่ฮ่องกง ที่จีน มีน้ำทุเรียนปั่น ท็อฟฟี่ทุเรียน แพ็คเก็จจิ้งดีมาก แต่คนผลิตกลับไม่ใช่คนไทย ข้าว เขาเอาไปทำจนมีมูลค่าสูงมาก ไม่ใช่แค่หุง ถามว่าทำไมไทยไม่เน้นเรื่องนี้ ทำไมกิจกรรมเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านถึงไม่เน้นสิ่งเหล่านี้ ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปประสานและขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำเรื่องนี้ สร้างมาตรฐานสินค้าไทยให้แข่งได้ในตลาดโลก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: http://www.posttoday.com

เขต ศก.พิเศษ ต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น

ข้อที่สอง  เรื่องการรวมกลุ่มวิหาหกิจ หรือการสร้าง cluster ประเทศเราไม่ใช่เอาสินค้าทุกตัวไปแข่งในตลาดโลก มันต้องมีแชมเปี้ยน ที่บอกว่าจากนี้ไปอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นธงชัยของเรา ซึ่งผ่านการศึกษามาแล้วว่า อันนี้เราสู้เขาได้ แข่งแล้วชนะเขาได้ วิธีการก็คือต้องสร้าง cluster ขึ้นมา แต่หลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าแค่กำหนดพื้นที่ แล้วให้บีโอไอดึงคนเข้ามาลงทุน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดโดยสิ้นเชิง cluster หนึ่ง สมมติว่าเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ถ้าเราตั้งโซนขึ้นมาคลุม 3-4 จังหวัด จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้ามาตั้งในพื้นที่นี้ ซึ่งการจะยกระดับมูลค่าขึ้นมาจะต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีและวิชาการรองรับ จึงต้องดึงสถาบันการศึกษาเข้ามาด้วย เพื่อให้เกิด know how

ในการประชุมคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ผมได้บอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เรื่องการดึงสถาบันการศึกษา แน่นอนว่าต้องของไทยก่อน ให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ ผลิตบุคลากรหรือทุนวิจัยเพื่อเชื่อมต่อกับเอกชน จากนั้นเราต้องพยายามจูงใจให้สถาบันการศึกษาหรือสำนักวิจัยจากต่างชาติให้เข้ามาอยู่ในนั้น สิงคโปร์ไม่เคยหวงก้างเลยว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์เท่านั้น เอามหาวิทยาลัยระดับโลกให้มาตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราได้ know how ดีๆ แล้วยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้แข่งกับเขา

ถ้า cluster รถยนต์บอกว่าต้องการวิศวกร 3 พันคน แล้วมหาวิทยาลัยไทยผลิตได้แค่ 1 พันคน ก็ต้องให้ข้างนอกเข้ามาสร้างบุคลากรเพื่อรองรับเขา ไม่เช่นนั้นเขาไปหมด เหมือนกรณีซัมซุงที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม เพราะเขาต้องการบุคลากรที่มีพื้นฐานวิศวกร ซึ่งเรามีไม่เพียงพอ เราจะไม่เปิดโอกาสให้เป็นอย่างนั้นอีก ฉะนั้น เรื่องสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย เราจะต้องจูงใจให้เขามาตั้งที่นี่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร

แต่สิ่งสำคัญคือ การเชื่อมต่อระหว่างอุตสาหกรรมกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่ใช่จูงรายใหญ่มาแล้วทอดทิ้งชาวบ้าน บริษัทเหล่านี้เมื่อเข้ามาแล้ว จะทำอย่างไรที่จะให้นักศึกษาที่จบใหม่ไม่ต้องเข้ามาทำงานใน กทม. แต่ทำงานใน cluster นั้นเลย ทำอย่างนี้จะเกิดการจ้างงาน เกิดความเจริญในกลุ่มจังหวัดนั้นๆ แล้วถ้า cluster เข้มแข็ง อนาคตการจัดสรรงบประมาณจะไม่ใช่การจัดสรรตามกระทรวงอีกแล้ว แต่เป็นการจัดสรรตาม agenda ของเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปกระจุกที่ส่วนกลาง กระทรวงคุมหมด ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปเชิงงบประมาณในภายหลัง

ลุย cluster เชื่อมสถาบันศึกษา

ในการประชุมเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราคุยกันว่าจะมีประมาณ 6-7 cluster เช่นแปรรูปสินค้าเกษตร ยานยนต์ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมิคัล ไอที และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล

บางอุตสาหกรรม เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ จะทำอย่างไรให้โรงถ่ายเมืองนอกมาถ่ายทำในไทย มีอะไรจูงใจเขา กลุ่มไอที ต้องการคนที่เชี่ยวชาญระดับโลก สิ่งจูงใจไม่ได้มีแค่มาตรการภาษีธุรกิจ จะต้องมีสิ่งที่ดึงให้เขาอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นเขาไปสิงคโปร์ไปเวียดนามหมด ผมจะบอกให้ว่าเวียดนามเขากล้าทุ่มหมดหน้าตัก ไม่เช่นนั้นซัมซุงเขาไม่ไป ผมให้โจทย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับบีโอไอว่า ใน sector อิเล็กทรอนิกส์อะไรก็ตามที่สามารถดึงซัมซุง แอลจี หรืออะไรพวกนี้ให้มาอยู่เมืองไทยได้ คุณคิดออกมาเลย ไม่เช่นนั้นเขาจะทุ่มหมดหน้าตักแล้วเอาไป นี่คือคอนเซปต์ของการมี cluster อุตสาหกรรม เพื่อสร้างการแข่งขัน”

แล้วภายใน cluster เหล่านี้ อาจจะมีสินค้าบางอย่างที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราก็สามารถสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเพาะให้ เช่น cluster แปรรูปสินค้าเกษตร ก็อาจจะทำเรื่องยาง เป็น rubber city หรืออาหารฮาลาล เพื่อแข่งกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย

“คอนเซปต์เหล่านี้ ผมจะร่างให้เสร็จภายใน 1 เดือนข้างหน้า เพื่อไปนำเสนอต่อนายกฯ เพื่อว่าถ้าท่านเห็นชอบ ก็จะทำรายละเอียด แล้วนำสิ่งนี้ไปขายต่างประเทศ ว่าเราพร้อมที่จะให้เขาเข้ามาลงทุนในประเทศ เรามีของที่จะไปขาย ไม่ใช่ไปโรดโชว์ตอนนี้ กระเป๋ากลวง ไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์ เราต้องเตรียมให้พร้อมก่อน แล้วไป”

แต่ระหว่างนี้ ผมเชื่อว่าพรุ่งนี้ก็ออกข่าวแล้ว เรื่อง cluster ฉะนั้นต้องเตรียมแล้ว ให้เริ่มจากของเดิมก่อน เช่น มาบตาพุด ขยายเป็น super cluster แต่ต้องไม่สร้างมลพิษ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำท่าเรือให้ใหญ่ขึ้น สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ถ้าทำได้เร็วจะตรึงญี่ปุ่นไม่ให้ไปไหน ผมพบกับประธานโตโยต้า เขาก็บอกว่าเมืองไทยดีที่สุด ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่ให้มันดีขึ้นไป แล้วขจัดอุปสรรคให้เขา ผมเชื่อว่าไม่มีญี่ปุ่นคนไหนอยากจะยกขโยงไปที่อื่น เพราะอย่างเมืองไทยไม่ใช่ว่าหากันได้ง่ายๆ สิ่งเหล่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะรับผิดชอบเป็นแม่งาน

สร้างนักรบเศรษฐกิจรายใหม่ บริษัทใหญ่หนุน “startup-SMEs”

ข้อที่สาม ที่ผมกับคณะตั้งใจ คือการพัฒนา “นักรบทางเศรษฐกิจ” เรามีนักรบทางทหารเยอะแล้ว เขาเข้มแข็ง แต่ไม่มีนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เรามีบริษัทที่เข้มแข็งเยอะ แต่ประเทศที่เจริญได้จะต้องเป็นป่าที่สัมบูรณ์ คือต้นที่โตอยู่ได้ เข้มแข็งแล้ว ต้องยกระดับให้เขาพัฒนาเทคโนโลยี เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยนักรบใหม่ คือ SMEs ที่กำลังจะเกิดในอนาคต เราต้องสร้าง startup ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะ startup ที่มีพื้นฐานจากสิ่งที่มีอยู่ในประเทศของเรา และมีพื้นฐานจากเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็น technology-based startup และ design-based startup แต่การจะให้เขาเกิดมันต้องช่วยเขา

  1. ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยผลักดันให้สร้างสาขาใหม่ๆ แต่ไม่ใช่สาขาใหม่ที่ใช้กฎระเบียบเมื่อ 50 ปีก่อน อย่างนี้ไม่มีทางเลย สมัยผมเป็นประธานสภามหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะเปิดสาขาสร้างผู้ประกอบการใหม่ ปรากฎว่าทำไม่ได้ เพราะใน requirement เขียนว่าต้องมีดอกเตอร์ที่จบสาขานี้อย่างน้อย 5 คน แล้วจะไปหาที่ไหน สู้กันแทบตาย สุดท้ายเขาก็เห็นใจให้เปิด แล้วก็เป็นอย่างนี้อีกหลายสาขา คือกฎระเบียบมันไม่เอื้อ
  2. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะต้องเปลี่ยนบทบาท ไม่ใช่แค่รับจดทะเบียนการค้า แต่ต้องเข้าไปสอดส่องธุรกิจใหม่ๆ แล้วอุดหนุนเขา ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลแล้ว พวกพอร์ต SMEs มันต้องค้ากับโลก ให้มารวมเป็นพอร์ตใหญ่ คือ e-commerce แล้วให้ SMEs มาเกาะ อย่าไปคิดค่าใช้จ่ายมากมาย แล้วเวลาคุณไปค้ากับต่างประเทศ เอาสิ่งนี้ตามไปด้วย ช่วยสร้างแบรนด์ให้เขา บริษัทขนาดใหญ่มาช่วยเสริม startup และ SMEs เพราะเขาไม่ได้ต้องการแค่ทุน แต่ต้องการหลายอย่าง ทั้งทุนและ know how

สิงคโปร์เขาผลิต venture มาหลายสิบปีแล้ว คือเอาบริษัทใหญ่มาต่อท่ากับบริษัทเล็ก หา matching ให้ได้ แล้วมาร่วมกัน ก็จะสร้างตรงนี้ได้เร็ว แล้วใน cluster อุตสาหกรรม ไม่ว่าสิงคโปร์หรือที่ไหน เขาจะดึงเอกชนมาตั้งบริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยและรัฐบาล เมื่อไรที่เห็นนวัตกรรมเกิดใหม่ขึ้นมาในมหาวิทยาลัย เอกชนก็จะดึงออกมาทำ commercial ฟูมฟัก แล้วนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน นี่คือกลไกที่จะต้องเกิดขึ้น คือการร่วมกันระหว่างเอกชน รัฐ และธนาคาร

“กลุ่มนักรบใหม่ มันเป็นฝันที่ไม่เกินจริง เพราะขณะนี้คนหนุ่มสาวเขาต้องการเป็นตัวของเขาเอง เขาต้องการทำธุรกิจ ฉะนั้น cluster ไอที มีแนวโน้มสูงมากว่าจะไปอยู่ที่เชียงใหม่หรือภูเก็ต อุตสากรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น”

ลุยเมกะโปรเจกต์ให้เกิดเร็วที่สุด ชวนญี่ปุ่นลงทุน East-West Corridor

นายสมคิดยังกล่าวถึงการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ว่า เป็นอีกเรื่องที่นายกฯ ได้สั่งการตั้งแต่ ครม. ชุดแรก เพื่อให้เรามีโครงสร้างพื้นฐานแข่งกับประเทศข้างเคียงได้

ก็ได้บอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไปว่า ตัวนี้จำเป็นมาก ไม่ว่ารถไฟรางคู่หรือโครงไหนก็แล้วแต่ ได้ประกาศนโยบายไปว่าให้ออกมาโดยเร็วเพื่อเชื่อมต่อ เพราะถ้าเรามีรางรถไฟที่เชื่อมโยงเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก มันจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร็ว แล้วความเจริญจะตามมาระหว่างเส้นทาง โครงการ East-West Corridor ผมพยายามจูงใจให้ญี่ปุ่นมาลงทุนตรงนี้ แต่ใช่ว่าเขาจะยอมกับเรา เพราะขณะที่เราได้ประโยชน์เต็มๆ แต่เขาไม่ได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะถ้ามี East-West Corridor มันจะเชื่อมจากเวียดนามไปทะลุพม่า เราได้ประโยชน์สูงมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะบูมหนักมาก แต่ญี่ปุ่นเขาไม่ได้ประโยชน์เท่าไร จึงต้องกล่อมเขา จูงใจเขาให้ได้

เวลาที่เราลงทุน จริงอยู่ ดูแล้วเป็นเงินจำนวนมาก แต่นายกฯ ฝากมาว่า ทุกๆ โครงการขนาดใหญ่ อยากให้เป็นลักษณะ PPP คือร่วมกับเอกชน มีการประมูลที่ถูกต้อง-โปร่งใส เอากำลังเอกชนมาหนุนกำลังภาครัฐในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ และไม่ต้องทำทุกเส้นทางจนเกินกำลัง ทุกอย่างต้องพอดีๆ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้ง 2 เส้นทาง เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก สิ่งที่จะได้กลับคืนมา จะไม่ใช่แค่ financial return เราลงทุนเท่านี้ ได้กำไรเท่านี้ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ มันคุ้มหรือไม่คุ้ม ถ้าญี่ปุ่นยอมทำ จากมุกดาหารมาแม่สอด ดูว่าผ่านกี่จังหวัด อุตสาหกรรมอะไรจะไปตั้งอยู่แถวนั้น ธุรกิจที่จะตามมามีอะไรบ้าง การท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร พวกนี้ต้องมีการคำนวณออกมา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว แต่ต้องไม่เกินฐานการคลัง แต่เรื่องนี้ผมอยากให้ทุกท่านวางใจ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ผมเลือกมา ท่านมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Industrial Finance Corp. of Thailand: IFCT) เชี่ยวชาญการดูตัวเลขเหล่านี้อยู่แล้ว ฉะนั้น คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ จะมาช่วยดูตรงนี้ไม่ให้เกินกำลัง อะไรจะใช้เงินกู้ อะไรทำเอง อะไรร่วมกับเอกชน นี่คือโครงการลงทุน

และอย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น ไม่ใช่แค่การลงทุนขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนในท้องถิ่น การลงทุนในอนาคต หลายสิ่งอาจเป็นเรื่องของอนาคต ธุรกิจที่ยังมองไม่เห็น เช่น เครือข่ายไอที ผมได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่าไอทีไม่ใช่แค่ดูทีวีดิจิทัล ในสิงคโปร์ 15 ปีที่แล้ว เขามีคอนเซปต์เรื่อง Smart City รวบรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน พบครบ 15 ปี เขาก็มอบหมายให้รัฐมนตรีที่ไบรท์ที่สุดใน ครม. ชื่อนายวิเวียน บาลากฤษณัน ผมยังจำหน้าเขาได้ ให้มาทำโปรเจกต์ Smart Nation เอาไอทีทั้งระบบมาเน้น 3 เรื่องใหญ่ 1. health care คนของเขาไม่สบาย ให้เขาถึงได้ มีทุกอย่างอยู่ในนั้น 2. ธุรกิจ ข้อมูลเพื่อการค้า ธุรกิจ SMEs อยู่ในนั้นหมด และ 3. การศึกษา นี่คือบทบาทของไอทีที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้คือการลงทุนเพื่ออนาคต

“ท่านจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ผมได้คุยกับคุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ไว้แล้วว่า บทบาทของกระทรวงการคลังไม่ใช่แค่กระตุ้นเศรษฐกิจ คนอะไรจะกระตุ้นกันบ่อยๆ หน้าที่คือใข้การคลังเพื่อเป็นกำลังในการสร้างอนาคต เช่น เรื่องการศึกษา ทำอย่างไรให้เด็กมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ราคาถูก เรื่องที่มีความจำเป็น อย่าให้การคลังเป็นอุปสรรค นี่คือสิ่งที่ตกลงกันไว้ แล้วมันจะค่อยๆ ออกมา

เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ – เติบโตไม่เน้นปั้นจีดีพี

เรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องแก้ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ต้องเป็นกำลังสำคัญให้กับภาครัฐ ขณะนี้ทางที่ปรึกษานายกฯ ร่วมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังคิดเรื่องการปฏิรูปการเงินการคลังร่วมกัน เพื่อให้มันมีพลัง ไม่ว่าตลาดเงินตลาดทุน ฉะนั้น ท่านผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์สบายใจได้เลย งานหลักไม่ใช่ roadshow แน่นอน แต่เป็นการทำอย่างไรให้ตลาดทุนของเราสามารถเติบโตและเชื่อมต่อกับโลกได้ ทำอย่างไรให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เรื่องของรัฐวิสาหกิจ ทำอย่างไรให้ทำงานได้เต็มกำลัง ขณะนี้กำลังหาวิธีกันอยู่ แล้ววันหลังจะได้มาพูดกับภาคเอกชนแน่นอน

“ทั้งหมดคือเรื่องหลักๆ ที่เราจะทำ โดยสรุป 1. มาตรการเร่งด่วน เข้าไปดูแลให้เขาที่เขาลำบาก ทั้งผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร SMEs ให้สามารถประคองตัวเองพ้นจากช่วงนี้ไป ก่อนที่มาตรการอื่นๆ จะออกมา 2. มาตรการเพื่อวางพื้นฐานให้กับอนาคตข้างหน้า เป็นงานใหญ่ แล้วจะเริ่มทำเลย ทำได้เท่าไร รัฐบาลที่จะเข้ามาเขาจะทำต่อได้ ไม่ต้องรออีกปี”

ผมไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียวเรื่อง จีดีพีว่าต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้ แล้วนักข่าวก็เลิกถามผมได้ เพราะจีดีพีเป็นแค่ปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุ ถ้าพื้นฐานดี ความมั่นใจมี  การลงทุนดี ช่วยกันกำกับ ช่วยกันพัฒนาไป จีดีพีจะค่อยๆ ดี บางประเทศในอดีตที่ล้มเหลว เพราะทำทุกอย่างต้องการจีดีพีเฉพาะหน้า เอาใจให้ชนะเลือกตั้ง แต่พอผ่านไป 30 ปี คนของเขาต้องออกไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ เพราะในประเทศเละเทะไปหมดแล้ว ฉะนั้น การออกมาตรการระยะสั้นจึงไม่ใช่เพื่อกระตุ้นจีดีพี แต่เพื่อให้คนเหล่านี้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ แล้วมาตรการอื่นๆ จะออกตามมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้จีดีพีอยู่ในระดับที่พอสมควร แล้วค่อยๆ เติบโตในวันข้างหน้า ไม่แพ้ชาติอื่นในย่านนี้แน่นอน

จำคำพูดผมไว้ “จีดีพีเป็นสิ่งที่จะตามมา เป็นผล ไม่ใช่เหตุ”

ผมเคยได้ยินโจ๊กฝรั่งไหม มีอยู่โจ๊กหนึ่ง ผมชอบมากเลย มีนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน เดินมาตามถนน ถกกันเรื่องเศรษฐกิจ เห็นมูลสุนัขอยู่ 2 ก้อนขวางทางอยู่ นักเศรษฐกิจคนที่ 1 หันไปมองคนที่ 2 แล้วบอกว่า ผมให้คุณแสนหนึ่ง ถ้าคุณกล้าชิม คนที่ 2 เลยถอดแว่นแล้วก็ชิม คนที่ 1 ก็เลยยอมจ่ายให้คนที่ 2 ด้วยความเจ็บใจ เดินไปอีกสักพัก เจอมูลสุนัขอีกกอง คนที่ 2 ก็ถามว่าคนที่ 1 กล้าชิมไหม ให้หนึ่งแสนเหมือนกัน คนที่ 1 ก็เลยถอดแว่นแล้วชิม คนที่ 2 ก็เลยควักเงินแสนหนึ่งจ่ายคืนไป จากนั้นทั้งคู่ก็เดินไปข้างหน้าไม่พูดไม่จา สักพักหนึ่ง คนที่ 1 ก็บอกว่า “ผมรู้สึกไม่ค่อยดีนะ มันไม่ได้ต่างอะไรเลยนะ เงินของเราเท่าเดิม แต่ท้องไส้ผมไม่ค่อยจะดี” คนที่ 2 ก็บอกว่า “เห้ย มันจะไม่ดีได้อย่างไร อย่างน้อย จีดีพีมันขึ้นมา 2 แสนนะ” นี่เป็นโจ๊กคลาสสิกที่เขาพูดถึง GDP คือกิจกรรมการค้าขึ้นมา 2 แสนจริงๆ แต่ทุกอย่างเท่าเดิม แถมได้ชิมอาหารอร่อยด้วย

ยันทีม ศก. ชุดนี้ทำงานเป็นทีม ไม่เกี่ยงกัน -ขอเอกชนร่วมมือ

นายสมคิดกล่าวทิ้งท้ายว่า ผมมาวันนี้เพื่อจะบอกพวกท่านว่า การจะเดินไป รัฐเดินไม่ได้คนเดียว หลายอย่างที่พูดไป กกร. ก็เห็น ท่านมีนโยบายอยู่แล้วเรื่องหมู่บ้าน จุดไหนใส่ได้ เสริมเข้าไปเลย อันนี้ต้องการความช่วยเหลือจากภาคเอกชนแน่นอน มีปัญหาอะไร นายกฯ ยินดีรับฟัง ท่านสั่งมาว่าวันหลังให้เรียกคุยเป็น sector วงนี้อาจจะใหญ่ไป คุยทีละ sector เรื่องไหนช่วยได้ก็ช่วย

“การทำงานของพวกผม จะทำเป็นทีม ไม่มีเกี่ยงกัน และจะพยายามร่วมมือกับทุกๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง แม้ไม่ได้อยู่ใต้กำกับ ท่านนายกฯ มีอะไรสั่งมา ทำเป็นทีมเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้ แล้วทุกๆ สิ่งที่จะทำ จะมีภาคเอกชนอยู่ด้วย”

ผมได้คุยกับอาจารย์ประเวศ (วะสี) ถ้าจะทำในสิ่งที่เรียกว่า “ประชารัฐ” หมายความว่า การร่วมมือกันระหว่างประชาชนกับรัฐ ประชาชนในความหมายของอาจารย์ประเวศหมายถึงเอกชนด้วย นี่คือการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตจากภายใน ความเข้มแข็งของชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ฉะนั้น 2 อันนี้ไม่ใช่แยกกันเดิน แต่จะต้องเสริมซึ่งกันและกัน ก็ต้องขอความร่วมมือจากท่านได้ ผมก็ไม่ได้ขออะไรจากใคร

ที่มานี่ก็เพื่อจะบอกท่านว่า ท่านนายกฯ ฝากมา ท่านมีความตั้งใจ จริงใจ การบริหารประเทศไม่ใช่ของง่ายภายใต้สภาวะเช่นนี้ เราต้องอดทน แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาสูญเสียไป มีอะไรที่นายกฯ หรือรัฐบาลพอจะช่วยได้ ก็บอกมา อย่างสโลแกน Stronger Together มันไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่อลูกหลานของพวกท่านเอง จุดนี้เป็นจุดพลิกผันของประเทศจริงๆ ถ้าทำได้ดี ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ดีแน่นอน แต่ถ้าทำไม่ดี ผมไม่รอด ไม่รู้ว่าท่านจะรอดหรือเปล่านะ ก็ช่วยกันนะครับ