ThaiPublica > คนในข่าว > ฉ่วย มานน์ จากมือขวาเผด็จการเมียนมาสู่นักปฏิรูปประชาธิปไตย

ฉ่วย มานน์ จากมือขวาเผด็จการเมียนมาสู่นักปฏิรูปประชาธิปไตย

25 สิงหาคม 2015


บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

ทั้งๆ ที่ชาวพม่ายังคงทุกข์ระทมจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดจากฤทธิ์พายุไซโคลนที่ซัดกระหน่ำประเทศนี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนสิงหาคม กระทั่งประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ต้องประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินน้ำท่วมใหญ่ใน 4 เขต ได้แก่ รัฐฉิ่น เขตมะเกว เขตสะกาย และรัฐยะไข่ อีกทั้งยังสั่งให้อพยพและโยกย้ายประชากรในภาคอิระวดี ภาคพะโค รวมถึงรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยง ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ อิระวดี ชินด์วิน สาละวิน สะโตง งาหวุ่น อยู่ในระดับวิกฤติ พื้นที่เกษตรเสียหายกว่าล้านไร่

แต่การเมืองในแดนดินถิ่นลุ่มน้ำอิระวดีพลันเดือดพล่านโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อจู่ๆ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง สั่งปลดบุรุษเหล็ก สุระ ฉ่วย มานน์ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาแห่งชาติ (ยูเอสดีพี) เพื่อตอบโต้ที่อดีตพันธมิตรแนบแน่นผู้นี้ได้แปรพักตร์หันไปจับมือกับนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการจำกัดบทบาททหารในการเมืองด้วย

นางออง ซาน ซูจี (ซ้าย) สุระ ฉ่วย มานน์ (ขวา)ที่มาภาพ :http://investvine.com/wp-content/uploads/2015/08/Suukyishwemann-745x483.jpg
นางออง ซาน ซูจี (ซ้าย) สุระ ฉ่วย มานน์ (ขวา)ที่มาภาพ :http://investvine.com/wp-content/uploads/2015/08/Suukyishwemann-745×483.jpg

อย่างไรก็ดี บารมีของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ในรัฐสภาเริ่มเสื่อมมนต์ขลังลง จึงไม่สามารถบังคับให้สภาผู้แทนฯ ลงมติปลดอดีตนายพล สุระ ฉ่วย มานน์ ออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ โดย ส.ส. ได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ระงับการอภิปรายร่างกฎหมายที่จะไฟเขียวให้สามารถถอดถอน ส.ส. ออกจากตำแหน่งได้ออกไปก่อน อ้างว่าจะหยิบยกข้อถกเถียงสำคัญนี้ขึ้นมาอภิปรายอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศ๗ิกายนนี้

ฉ่วย มานน์ เองก็พยายามรักษาภาพลักษณ์ด้วยการยืนกรานว่าไม่คิดจะสร้างความแตกแยกขึ้นในประเทศ อีกทั้งไม่คิดจะทำลายความสามัคคีและความมั่นคงในพรรครัฐบาลแต่อย่างใดทั้งสิ้น

อดีตนายพล สุระ ฉ่วย มานน์ เกิดที่เขตพะโคเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2490 อายุ 68 ปีเต็ม ก่อนจะหันเหชีวิตมาเล่นการเมือง เคยเป็นอดีตนายพลหมายเลข 3 ของสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (เอสพีดีซี) ที่ผูกขาดการปกครองในประเทศนี้จนถึงปี 2554 ในช่วงเผด็จการครองเมืองเคยถูกประนามว่าเป็นตัวการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายค้านและละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อหันมาเล่นการเมืองกลับได้รับยกย่องว่าเป็นนายทหารสายปฏิรูป เป็นนักฟังที่ดีผิดกับนายทหารส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะยินดีรับฟังความเห็นของต่างชาติรวมไปถึงสหรัฐฯ ศัตรูเก่าแก่มาแต่อดีต

ฉ่วย มานน์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการทหารที่ปินอูวินเมื่อปี 2512 จากนั้นไต่เต้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลารวดเร็ว กระทั่งติดยศพันตรีในปี 2529 เป็นผู้บัญชาการกรมทหารประจำเขตกะเหรี่ยง ระหว่างนั้นได้รับยกย่องว่าเป็น “สุระ” ซึ่งแปลว่ากล้าหาญจากการปราบปรามกองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยงเมื่อปี 2531 จนท้ายสุดสามารถยึดกองบัญชาการใหญ่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่มาเนอปลอว์ได้ ก่อนจะเลื่อนป็นผู้บัญชาการฝ่ายยุทธวิธีประจำกองพลทหารราบที่ 66 ในเมืองแปรตั้งแต่ปี 2536-2538 ความสำเร็จในการปราบกะเหรี่ยงเมื่อปี 2537 ทำให้ได้เลื่อนยศเป็นนายพลจัตวา เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบเบาที่11 ที่เขตตอกจัน ใกล้ย่างกุ้งเมื่อปี 2539 เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรีและเป็นสมาชิกถาวรของเอสพีดีซี นอกเหนือจากเป็นแม่ทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่กองพลปะเถ่ง เขตพะสิม-อิระวดีและยังเป็นประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งอิระวดีด้วย

ระหว่างนั้นประกาศจุดยืนสนับสนุนนโยบายที่จะเพิ่มผลผลิตทางภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารจนทำให้การผลิตข้าวได้ผลดีมากขึ้น ทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารร่วมของ 3 เหล่าทัพเมื่อปี 2544 พร้อมๆ กับได้เลื่อนยศเป็นพลโท อีก 2 ปีต่อมาได้เป็นเสนาธิการทหารของกองทัพบก และในฐานะคนสำคัญคนหนึ่งของเอสพีดีซี จึงรับผิดชอบการปราบปรามกบฏของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง

ฉ่วย มานน์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายพล ตาน ฉ่วย ตอนที่ตาน ฉ่วย เป็นผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2535 ก็ตั้งฉ่วย มานน์ ขึ้นเป็นผู้ช่วยและไต่เต้าสูงขึ้นจนเป็นหมายเลข 3 ในกองทัพ ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นมีนายทหารและรัฐมนตรีหลายต่อหลายคนถูกปลดจากตำแหน่งเพราะไม่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่พอใจของนายพล ตาน ฉ่วยได้

ฉ่วย มานน์ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org
ฉ่วย มานน์ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org

ในโทรเลขลับของนักการทูตสหรัฐฯ ที่ส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศในกรุงวอชิงตันระบุว่า ฉ่วย มานน์ เป็น “มือขวาของนายพลอาวุโส” ในเว็บไซต์วิกิลีกส์ที่เผยแพร่เมื่อปี 2550 ระบุชัดว่าเขาเป็น “ว่าที่เผด็จการ” และเป็นนักการมืองที่ทะเยอทะยาน เมื่อเมื่อใดก็ตามที่ตาน ฉ่วย อยากได้อะไร ฉ่วย มานน์ ก็ “จัดให้” อย่างเต็มความสามารถเพื่อสนองสนองความต้องการของตาน ฉ่วย โดยพลัน อาทิ มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มนายพลขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2547 พร้อมกับฝากคำพูดเย้ยหยันจนเป็นอมตะวาจาว่า “ไม่ใครอยู่เหนือกฎหมาย” ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์สุดๆ นั้น ได้รับการมองว่าอาจขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกแทนนายพลหม่อง เอ บุรุษเหล็กผู้มีอำนาจมากที่สุดในช่วงนั้นแต่ก็เป็นคู่ปรับทางการเมืองของฉ่วย มานน์ ตามประสาเสือ 2 ตัวย่อมอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้

เว็บไซต์วิกิลีกส์ยังได้เผยแพร่โทรเลขลับของนักการทูตสหรัฐที่ระบุว่าฉ่วย มานน์ เป็นผู้นำทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดระหว่างการปราบปรามกบฏกะเหรี่ยง จนทำให้เด็กและคนแก่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือการกล่าวหาว่าเขาเป็นตัวการสำคัญในเหตุการณ์สังหารหมู่เดปายิน ในเขตสะกาย กลางขบวนคอนวอยของนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ ระหว่างเดินทางไปเยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2546 ช่วงที่ได้รับอิสระภาพครั้งแรกจากที่ถูกกักบริเวณมานานหลายปี ทำให้สมาชิกพรรคเสียชีวิตอย่างน้อย 70 คน

นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า ฉ่วย มานน์ เป็นตัวการสำคัญในการสั่งปราบการการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของพระสงฆ์เมื่อเดือน กันยายน 2550 จนถูกสหรัฐฯ และอียูขึ้นบัญชีดำ แต่ได้ถอดชื่อเขาออกจากบัญชีดำเมื่อเดือน พฤษจิกายน 2555 จากการที่ฉ่วย มานน์ กลับลำใหม่หันไปสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองและเคารพในสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนพม่าให้พ้นจากระบอบที่กดขี่และเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากขึ้น

แต่ท้ายสุด ตาน ฉ่วย ก็เริ่มระแวงว่าฉ่วย มานน์ ซึ่งเชื่อกันว่ามีความภักดีต่อนายพล ติน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการทหารบก อาจจะคิดวัดรอยเท้าในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า จึงผลักดันเต็ง เส่ง ขึ้นมาคานอำนาจกันในตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีทิน อ่อง หมิ่น อู คู่ปรับอีกคนหนึ่งของฉ่วย มานน์ เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 1

หลังจากเกษียนจากราชการทหารเมื่อเดือน กันยายน 2553 ฉ่วย มานน์ ได้หันมาเล่นการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปในนามพรรคยูเอสดีพี จนได้รับเลือกตั้งในปี 2553 และเมื่อสภาผู้แทนฯ เปิดประชุมสมัยแรกในปีต่อมา ก็ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทน พอปี 2556 ได้รับเลือกเป็นประธานการประชุมสหภาพรัฐสภาและยังก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคยูเอสดีพีแทนประธานาธิบดีเต็งเส่งเมื่อเดือน พฤษภาคม ปีเดียวกัน

คงจะด้วยความลำพองใจที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่คับฟ้าจนมองไม่เห็นหัวคนอื่นโดยเฉพาะเต็ง เส่ง ฉ่วย มานน์ จึงประกาศหลังจากนั้นไม่นานว่าพร้อมจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน นี้ ท่ามกลางข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วว่าความสัมพันธ์แนบแน่นกับเต็ง เส่ง เริ่มมีรอยร้าวมากขึ้น จากการที่ฉ่วย มานน์ เริ่มมีความคิดเปลี่ยนไปและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

แม้ว่าฉ่วย มานน์ จะประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนแผนปฏิรูปการเมืองของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่จะไฟเขียวให้มีพรรคการเมืองแบบพหุพรรคและเปิดกว้างระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรี อ้างว่าการปฏิรูปจะต้องเดินหน้าต่อไปโดยไม่สามารถถอยหลังได้แล้ว แต่ไม่วายเหน็บนโยบายเสรีนิยมของเต็ง เส่ง ว่าอืดอาดเชื่องช้าเกินไป พร้อมกันนั้นก็ย้ำเป็นนัยว่าตัวเองค่อนข้างเชื่อมั่นในระบอบสหพันธรัฐ และอยากจะเห็นพัฒนาการของระบอบนี้มากกว่าการปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมดอย่างฉับพลันทันที

นอกจากนี้ ก็ยังสร้างภาพว่าเป็นนักการเมืองมือสะอาด มุ่งขจัดข้าราชการทุจริตคอร์รัปชัน ถึงขนาดกล้าโจมตีรัฐบาลว่าขาดความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในเรื่องกองทุนสาธารณะ ทั้งๆ ที่ตัวเองรวมไปถึงลูกชายหัวแก้วหัวแหวน 2 คน ต่างถูกนายทหารเขม่นหน้าว่าเป็นพี่เบิ้มในการทุจริตคอร์รัปชันแบบยกครัว

ในเรื่องของปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาโรฮิงยา ฉ่วย มานน์ ก็พยายามเก็บคะแนนใส่ตัวว่าเป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสนใจ แต่ก็ย้ำว่าความรุนแรงที่รัฐยะไข่ไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางศาสนา หากเป็นความขัดแย้งระหว่างม็อบกลุ่มต่างๆ

ฉ่วย มานน์ ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษา โดยจวกระบบการศึกษาในขณะนี้ว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงที่เกิดขึ้น อยากจะให้ปฏิรูปกฎหมายการศึกษาแห่งชาติเพื่อจะปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นตั้งแต่ระดับประถมต้นไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศนั้น ฉ่วย มานน์ ให้ความเห็นว่าขึ้นอยู่กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนกับนักธุรกิจจากต่างประเทศ แถมยังสนับสนุนให้สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในพม่ามากขึ้น

ในด้านการต่างประเทศ ฉ่วย มานน์ สนับสนุนให้กระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับทุกประเทศโดยเฉพาะอาเซียน ที่เจ้าตัวย้ำเป็นพิเศษว่าจะต้องผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับอาเซียนเพื่อจะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ส่วนความสัมพันธ์กับจีนนั้น เขาย้ำว่าแนบแน่นมานานในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและมีความสัพันธ์ทางการทูตอันดีต่อกัน แต่ก็เรียกร้องให้จีนมีความโปร่งใสและน่าเชือถือมากขึ้นในการลงทุนในพม่า นอกจากนี้ยังกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับอินดียและเกาหลีเหนือ ขณะที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐก็ดีขึ้นโดยต่างฝ่ายต่างต้องการผลประโยชน์ตอบแทนแบบ “หมูไปไก่มา” ฉ่วย มานน์ ถึงกับกล่าวว่าเห็นด้วยกับนโยบาย “ปักหมุดในเอเชีย” ของสหรัฐฯ

จุดแตกหักระหว่างฉ่วย มานน์ กับเต็ง เส่ง มาถึงเมื่อเขาประกาศสนับสนุนข้อเสนอของนางซูจีที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเลือกตั้งปูทางให้จำกัดบทบาทของทหารลง จากขณะนี้ที่มีโควตาที่นั่งพิเศษในรัฐสภาถึง 1 ใน 4 ให้แก่นายทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับเต็ง เส่ง กับกองทัพ ถึงขนาดเคยมีข่าวลือว่าเคยวางแผนจะปลดฉ่วย มานน์ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จ

ฉ่วย มานน์  ที่มาภาพ : http://s2.stabroeknews.com/images/2015/08/20150815mann.jpg
ฉ่วย มานน์ ที่มาภาพ : http://s2.stabroeknews.com/images/2015/08/20150815mann.jpg

ฉ่วย มานน์ ให้เหตุผลว่า ประชาธิปไตยเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้มีความก้าวหน้า พร้อมกับย้ำว่าการท้าทายครั้งสำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นเก่า ถ้าหากประชาชนยังไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยแท้จริงเป็นเช่นใด ก็จะทำให้การเมืองยิ่งถดถอยหลัง

ในส่วนของชีวิตส่วนตัว แต่งงานกับขิ่น เลย์ เสต ในเว็บไซต์วิกิลีกส์ระบุว่าเธอเป็น 1 ใน 4 รองประธานสมาพันธ์สตรีเมียนมาร์ ทั้ง 2 มีลูกชายด้วยกัน 2 คน ซึ่งล้วนแต่มีข่าวลือว่าใช้บารมีของพ่อไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะอ่อง เส็ต มานน์ หรือ ฉ่วย มานน์ โกโก ลูกชายคนโตวัย 38 ปี ซึ่งเป็นซีอีโอของบริษัทเอเยอร์ ฉ่วย วาห์ ในเครือกลุ่มบริษัทเทย์ ซา โต บริษัทนี้มีกิจกรรมครอบจักรวาลทั้งก่อสร้าง การผลิตปาล์มน้ำมัน การนำเข้าและส่งออกปุ๋ยเคมีและผลิตภัณฑ์ทางเกษตร ถือเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวไปที่บังกลาเทศและสิงคโปร์เมื่อปี 2548

ตอนที่ฉ่วยมานน์เป็นแม่ทัพภาคที่เขตอิระวดี บริษัทเอเยอร์ ฉ่วย วาห์ ก็ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลในการผูกขาดการขายปุ๋ยให้ชาวนาทั่วทั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีและยังได้รับเอกสิทธิถือครองที่ดิน 30,000 เอเคอร์ภายใต้โครงการพัฒนาที่ราบลุ่มต่ำ นอกเหนือจากได้รับสัมปทานโครงการรัฐอีกหลายแห่ง รวมทั้งโครงการก่อสร้างที่เนปิดอว์ด้วย

ว่ากันว่าบรดานายทหารอาวุโสของพม่ารวมทั้งหม่อง เอ ต่างระอากับอ่อง เส็ต มานน์ มากทั้งเรื่องเจ้าชู้และการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และแม้จะเป็นชายในฝันของผู้หญิงพม่าเนื่องจากพ่อมีอำนาจแถมตัวเองร่ำรวยจากธุรกิจต่างๆ แต่อ่อง เส็ต มานน์ กลับต้องจัดพิธีแต่งงานอย่างเงียบๆ เมื่อปลายปี 2549 ตามคำแนะนำของตาน ฉ่วย ที่ขอให้ช่วยกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีทุ่มเงินกว่าสิบล้านบาทจัดงานแต่งงานอย่างใหญ่โตก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนจนถูกโจมตีว่าใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยขณะที่ประชาชนยังคงอดหยาก

ส่วนร้อยเอก ดอกเตอร์โต นาย มานน์ ลูกชายคนที่ 2 วัย 37 ปี เป็นผู้ก่อตั้งเรด ลิงค์ คอมมิวนิเคชันส์ กลุ่มบริษัทด้านการสื่อสารใหญ่ของประเทศและยังเป็นที่ปรึกษาของประธานสภาผู้แทนฯ หรือนัยหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพ่อของตัวเอง เมื่อปี 2547 ได้แต่งงานกับเซย์ ซิน ลัตต์ เจ้าของสถานวิทยุเชอร์รี เอฟเอ็ม ลูกสาวของขิ่น ส่วย ประธานบริษัทเซย์ กาบาร์ และราชาอสังหาริมทรัพย์ในย่างกุ้ง นอกเหนือเป็นเจ้าของภัตตาคารการะเวก กลางทะเลสาปกานดอว์จีและยังได้รับสัมปทานให้ดูแลสวนสาธารณะประชาชนกานดอว์จี

ทั้งขิ่น ส่วยและบริษัทเซย์ กาบาร์ ถูกกระทรวงคลังของสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเมื่อเดือนตุลาคม 2550 ห้ามติดต่อและทำการค้าด้วย ก่อนจะเพิ่มชื่อของขิ่น เลย์ เสต ภรรยาของฉ่วย มานน์ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่สหรัฐฯ แซงค์ชั่นเช่นกัน