ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยวัฒนธรรมไทยชื่อ “กวดวิชา”

ว่าด้วยวัฒนธรรมไทยชื่อ “กวดวิชา”

23 สิงหาคม 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Cram_school#/media/File:Taiwanese_students_studying_English.jpg
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Cram_school#/media/File:Taiwanese_students_studying_English.jpg

“ได้ครับๆ เดี๋ยวพี่บุ๊ควันเสาร์นี้ไว้นะ แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็นใช่มั๊ย โอเค…อ่อเอาวันอาทิตย์ช่วงบ่ายเพิ่มด้วยเหรอ พอดีพี่ติดสอนอีกที่นึง เดี๋ยวพี่ให้เพื่อนพี่ไปแทนนะ คนนี้เก่งเหมือนกัน จบวิศวะ…สรุปเสาร์นี้หกชั่วโมง อาทิตย์สี่ชั่วโมงนะครับ ที่เดิมนะครับ สวัสดีครับ”

แม้ว่าเวลาจะผ่านไปสิบเอ็ดปีแล้วหลังจากครั้งสุดท้ายที่ผมมีโอกาสได้ “เรียนพิเศษ” แต่พอไปได้ยินการสนทนาทางโทรศัพท์ของครูสอนพิเศษที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ ในร้านกาแฟก็อดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก การกวดวิชาได้กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งและยังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตนักเรียนไทย ซึ่งดูจากสถิติจำนวนผู้เรียนคร่าวๆ ที่ยังไม่รวมการติวตัวต่อตัว บวกกับค่าเล่าเรียนที่ไม่ถูกแล้ว การกวดวิชาอาจเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองหลายท่านในสังคมไทยสมัยใหม่ก็เป็นได้

หลังจากที่การศึกษาไทยสอบตกมาหลายครั้งหลายคราบนเวทีโลก นอกจากผู้ดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนรัฐบาลจะถูกเพ่งเล็งแล้ว โรงเรียนกวดวิชาก็ตกเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายจู่โจมของสังคมไทย ทั้งสองฝ่ายต่างตกเป็นเป้าหมายจู่โจมเพราะว่าสังคมมองว่ามีงบประมาณหรือรายได้มากแต่กลับดูเหมือนว่าไม่สามารถทำให้เด็กไทยมีศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานโลกได้ อีกทั้งการกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตายยังเป็นการสร้างความเครียดให้กับเด็กๆ และภาระทางการเงินให้กับผู้ปกครองจำนวนมาก ในระยะหลังนี้โรงเรียนกวดวิชาจึงถูกมองว่าเป็นหนามเสี้ยนที่กัดกินระบบการศึกษาไทย

กวดวิชาไปทำไมและเพื่อใคร

ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/boy-thinking-infant-child-asian-325549/
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/boy-thinking-infant-child-asian-325549/

ตอนเด็กๆ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมใช้เวลาที่โรงเรียนวันละแปดชั่วโมงแล้วยังต้องไปกวดวิชาเพิ่มอีก

ทั้งหมดนี้เพื่ออะไรกันหรือ มันทำให้ผมเก่งขึ้น มีอนาคตขึ้น จริงหรือเปล่า หรือทำไปเพราะคนอื่นเขาไปกัน

การวัดว่าการกวดวิชามีผลคุ้มกว่าการไม่กวดวิชาหรือไม่นั้นเป็นคำถามน่าคิด แต่การตอบคำถามนี้ทำได้ลำบากเนื่องจากเราสามารถสังเกตเห็นผลลัพธ์ในความเป็นจริงในโลกที่เราเข้าไปกวดวิชาเท่านั้น ไม่มีทางสังเกตพบเห็นได้จริงว่าในโลกคู่ขนานที่ตัวเราตัดสินใจไม่ไปกวดวิชานั้น เราจะมีผลการเรียน มีความคิดความสามารถ และมีอนาคตแตกต่างออกไปเช่นไร พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่ขวนขวายไปเรียนเขาเก่งอยู่แล้วหรือโรงเรียนสอนเก่งกันแน่นั่นเอง

แม้ว่าการวัดประสิทธิภาพของโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นงานที่ท้าทายก็ตาม นักวิจัยยุคหลังอาศัยวิวัฒนาการทางเศรษฐมิติและข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อพยายามคำนวณผลลัพธ์ของการไปเรียนกวดวิชาสำหรับนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่ง โดยพบว่าการกวดวิชาในแต่ละประเทศแต่ละพื้นที่นั้นมีผลลัพธ์ที่ไม่แน่ชัดและมีผลกระทบต่อนักเรียนแต่ละประเภทไม่เท่ากัน ในขณะที่งานวิจัยบางชิ้นที่ใช้ข้อมูลจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน อิสราเอล และอินเดียพบผลดี แต่งานวิจัยบางชิ้นในประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน เวียดนามและอินโดนีเซีย แม้ไม่พบผลลัพธ์ทางลบก็พบว่าการกวดวิชาไม่ได้มีผลลัพธ์ดีมากพอที่จะมีนัยสำคัญทางสถิติ

แต่ไม่ว่าการกวดวิชาจะมีผลลัพธ์กับเด็กๆ จริงหรือไม่ ผู้ปกครองส่วนมากก็ยังมองตรงกันว่าการกวดวิชากลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตไปแล้ว บางคนมองว่ามันเป็นตัวแทนการเรียนการสอนของรัฐบาลที่ไม่เหมาะกับแนวทางการเรียนรู้ของบุตรหลานตน แต่ที่น่าวิตกคือบางคนมองว่ามันเป็นหมากที่ “ถูกบังคับให้เดิน” นั่นก็คือสภาพของสังคมบีบบังคับให้ผู้ปกครองต้องลงทุนกับการกวดวิชาเพราะเกรงว่าบุตรหลานของตนจะเสียเปรียบเพื่อนๆ ในการทำข้อสอบที่ชี้เป็นชี้ตาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันในหมู่นักเรียนว่าเนื้อหาข้อสอบกว้างกว่าที่สอนกันในโรงเรียนปกติและจำเป็นต้องใช้เทคนิคการทำข้อสอบที่โรงเรียนปกติไม่ได้เตรียมตัวให้

ที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับประเทศไทยประเทศเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่โดยรวมเด็กๆ มีศักยภาพสูง หรือในประเทศที่สอบ PISA ได้ไม่ดีก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลี (เด็กๆ วัยประถมศึกษากว่าร้อยละ 88 และเด็กๆ วัยมัธยมต้นกว่าร้อยละ 73 นั้นเรียนพิเศษเสริม) ฮ่องกง (เด็กๆ วัยประถมปลายกว่าร้อยละ 70 เรียนพิเศษ) ประเทศศรีลังกา (เด็กๆ ม. 6 กว่าร้อยละ 98 เรียนพิเศษ) และในประเทศมอริเชียส (เด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ใช้บริการกวดวิชา)

ที่มาภาพ:  https://www.flickr.com/photos/nycstreets/6054116130
ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/nycstreets/6054116130

ปัญหาที่มักพบเห็นโดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาที่มีวัฒนธรรมกวดวิชาก็คือการที่ผู้ปกครองและเด็กๆ ไม่สามารถหนีออกจากวงจรชีวิตอันน่าสมเพชนี้ได้ เนื่องจากความล้มเหลวของการทำหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ อุปทานของการศึกษาระดับอุดมศึกษามีคุณภาพที่ไม่สามารถตอบสนองอุปสงค์ของประชากรได้เพียงพอ อีกทั้งยังไม่มีการควบคุมสถาบันกวดวิชาใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากการแห่กันไปกวดวิชาจึงมักจะเป็นเพียงแค่การสลับสับเปลี่ยนเยาวชนกลุ่มที่จะได้ไปชนะ “ศึกชิงเก้าอี้” ในมหาวิทยาลัยอันเลื่องชื่อของประเทศเขาเท่านั้นเอง ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งดีงามขึ้นมามากพอที่จะคุ้มค่าของเวลาอันมีค่าของวัยเด็กและทรัพยากรที่เสียไปกับการแข่ง “rat race” นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กๆ กลุ่มที่ควรได้รับการสอนพิเศษเพิ่มเติมเป็นกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีฐานะเท่า การเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันในลักษณะที่กติกาสร้าวไว้ให้คนรวยได้เปรียบนั้นจะทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในประเทศเหล่านี้แย่ลงไปอีก

อีกหนึ่งปัญหาที่จะตามมาหากไม่มีการควบคุมก็คือวัฒนธรรมกวดวิชาสามารถเป็นการสร้างความไม่มีประสิทธิภาพให้กับการศึกษาในโรงเรียนปกติแบบอ้อมๆ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่ครูมีรายได้ต่ำและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างละหลวมอย่างในประเทศเนปาลนั้น เป็นที่พบเห็นโดยง่ายที่จะมีครูในโรงเรียนปกติบางกลุ่ม “กั๊ก” วิชาเพื่อผลตอบแทนที่สูงที่สุดจากการสอนพิเศษ บางครั้งถึงกับบอกลูกศิษย์อย่างไร้จรรยาบรรณว่า “ข้อสอบปลายภาคจะออกเนื้อหา A B และ C ในชั่วโมงปกติครูจะสอน A กับ B ส่วน C หนูจะต้องมาเรียนพิเศษกับครูหลังเลิกเรียนเองนะ” กลายเป็นว่า นอกจากผู้ปกครองและเด็กๆ แล้วยังไม่พอ ครูบางส่วนเองก็ต้องดิ้นรนหารายได้พิเศษ ตกเป็นทาสของวงจรนี้ด้วย สุดท้ายเงินงบประมาณเพื่อการเพิ่มคุณภาพของการเรียนการสอนในโรงเรียนปกติก็จะใช้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเพราะว่าครูบางกลุ่มเล็งเห็นโอกาสที่ดีกว่าหลังเลิกเรียนนั่นเอง

สินค้าที่ชื่อว่าการศึกษา

ที่มาภาพ: by Todd https://www.flickr.com/photos/hryckowian/1676863227/sizes/l/
ที่มาภาพ: by Todd https://www.flickr.com/photos/hryckowian/1676863227/sizes/l/

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนกวดวิชาก็ใช่ว่าจะมีแต่ผลเสียเสมอไป อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น วัฒนธรรมกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตายก็ยังสามารถปรากฏอยู่ในประเทศที่การศึกษามีมาตรฐานสูงอย่างประเทศเกาหลีใต้ได้ เพราะที่จริงแล้วการมีการเรียนการสอนเพิ่มเติมนั้นสามารถทำให้นักเรียนกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจเนื้อหาบางส่วนในเวลาเรียนปกติสามารถเข้าใจได้ถ่องแท้มากขึ้น ผมเองสามารถพูดได้เต็มปากว่าผมคงไม่มีวันเข้าใจเนื้อหายากๆ ในวิชาคณิตศาสตร์หรือเคมี หากผมไม่ได้มีโอกาสติวกับอาจารย์สอนพิเศษของผม เพราะต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนปกตินั้นบางครั้งยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น เนื้อหาที่ต้องสอนมีมากแต่ไม่มีเวลาพอที่คุณครูจะสามารถตอบคำถามที่นักเรียนมีได้อย่างเต็มที่

แสดงว่ามันก็ต้องมีบางส่วนของการกวดวิชาที่สามารถสร้างความรู้ในแบบที่โรงเรียนปกติทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น การค้นหาจุดเด่นและจุดบอดของการกวดวิชาอาจเป็นแนวทางที่ดีกว่าความคิดที่จะล้มล้างการกวดวิชาอย่างฉับพลัน

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ Seema Jayachandran ได้นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหานี้ด้วยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีง่ายๆ ในงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมกั๊กวิชาของครูในประเทศเนปาล โดยใจความสำคัญคือวัฒนธรรมกวดวิชาจะเกิดผลอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาที่สอนในห้องเรียนปกติกับเนื้อหาที่สอนในห้องเรียนพิเศษนั้นเป็นสินค้าประเภทใด เธอตั้งข้อเสนอว่าพฤติกรรมกวดวิชาโดยครูในโรงเรียนปกติจะไม่เป็นปัญหากับระบบการศึกษามากเท่าที่เรานึกไว้หากการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติกับการเรียนรู้ในห้องเรียนกวดวิชาเป็นสินค้าใช้ร่วมกัน (complementary goods) นั่นหมายความว่า ผู้เรียนจะมีอุปสงค์ต้องการเรียนพิเศษมากขึ้นเมื่อเขาได้เรียนรู้มากขึ้นในโรงเรียนปกติ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นไปได้หากการเรียนรู้สองประเภทนี้แตกต่างกันแต่เสริมกันได้ดีในการเตรียมตัวนักเรียนในการสอบครั้งใหญ่ที่การขาดเรียนประเภทใดประเภทหนึ่งอาจทำให้มีโอกาสสอบตก ในกรณีนี้ครูในโรงเรียนปกติก็จะมีเหตุจูงใจให้สอนอย่างมีคุณภาพและปริมาณในช่วงเวลาปกติเพื่อเป็นการหาลูกค้ารอบพิเศษ งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าวิชาภาษาเนปาลเป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่มีลักษณะที่ว่าการเรียนรู้ในและนอกโรงเรียนเป็นสินค้าใช้ร่วมกัน

แต่ที่พบเห็นบ่อยกว่าคือการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติกับในห้องเรียนกวดวิชามักเป็นสินค้าประเภททดแทนกัน (substitute goods) ซึ่งแปลว่าสองสิ่งนี้ใช้บริโภคแทนกันได้ อาจทดแทนกันไม่ได้หมด แต่จากประสบการณ์ตรงและการพูดคุยกับรุ่นน้อง ในสายตาของผู้เรียนนั้นหลายคนมองว่าการเรียนกวดวิชาในประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีวัตถุประสงค์เดียวกับการเรียนในห้องเรียนปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทฤษฎีของ Jayachandran ทำนายว่าครูในโรงเรียนปกติจะไม่มีใจสอนเต็มที่และจะกั๊กวิชาไว้เพื่อผลตอบแทนสูงสุดในการสอนพิเศษ ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ ในหลายประเทศ

นิยามและจุดหมายของการศึกษา

ที่มาภาพ:  by Giampaolo Macorig https://www.flickr.com/photos/gmacorig/207116300/sizes/l/
ที่มาภาพ: by Giampaolo Macorig https://www.flickr.com/photos/gmacorig/207116300/sizes/l/

เมื่อครู่ผมใช้คำว่า “สินค้า” แทนการเรียนรู้สองประเภท ซึ่งเป็นการใช้ศัพท์ทางเทคนิคเท่านั้น เพราะที่จริงแล้วการศึกษาควรเป็นอะไรที่มากกว่าแค่สินค้าที่ค้าขายกันตามท้องตลาด

การศึกษาที่เป็นธุรกิจแสวงกำไร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนกวดวิชา หรือติวเตอร์ส่วนตัว แม้บางครั้งอาจนำมาซึ่งความมีประสิทธิภาพในการผลิตทุนมนุษย์ที่มากกว่า แต่ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งสิ้น

ความคิดแบบนี้สวนทางกับความคิดแนว neoliberalism ที่ว่าการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดโดยไม่มีการควบคุมโดยรัฐจะดีที่สุด แต่ปัญหาของแนวคิดนี้อยู่ที่ว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้คำนึงถึงความเสมอภาคและความเป็นธรรมเลยสักนิดเดียว ขณะนี้มีการคำนวณเอาไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2559 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกจะมีทรัพย์สินมากกว่าประชากรอีกครึ่งหนึ่งของโลก คุณภาพและความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน โลกที่เขาทำนายกันไว้เป็นโลกอย่างที่เราต้องการจริงๆ หรือ

การศึกษาคุณภาพควรจะเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เป็นแค่ตั๋วที่ชื่อว่า “ปริญญา” เพื่อจองที่ยืนที่สูงกว่าในสังคมอย่างที่พบเห็นกันในหลายๆ สังคม เพราะว่าการศึกษามีจุดหมายสำหรับสังคมมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

จุดหมายที่ว่านี้ไม่ใช่การที่ประเทศหนึ่งสามารถผลิตใบปริญญาจำนวนมากขึ้นทุกปี ปริญญาหรือจำนวนปีที่ประชากรสำเร็จการศึกษานั้นท้ายสุดแล้วก็เป็นเพียงแค่สัญญาณบอกใบ้คุณภาพของความคิดอ่านของประชากรหนึ่งคน เป็นแค่เครื่องอำนวยความสะดวกให้กับเหล่าผู้จ้างงานในการสรรหาบุคคลากร ซึ่งสัญญานเหล่านี้อาจมีความเที่ยงตรงมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ก็แล้วแต่กรณีไป

ทว่าแม้แต่ความฉลาดหลักแหลมของประชากรก็ยังมิใช่จุดหมายที่แท้จริงของการศึกษา

ในมุมมองของผม จุดหมายที่แท้จริงของการศึกษาคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและสังคม หากมองระบบการศึกษาอย่างหยาบๆ สถานศึกษา เช่น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนกวดวิชา หรือแม้แต่ร้านกาแฟที่มีติวเตอร์สิงสถิตอยู่ สถานที่เหล่านี้เปรียบดั่งโรงงานที่เอาไว้ผลิต “ประชากรคุณภาพ” ให้กับสังคม ซึ่งเมื่อจบออกมาแล้วจะต้องมีความแตกต่างจากประชากรที่ไม่ได้เข้าโรงงานเหล่านี้ หาก “ประชากรคุณภาพ” เหล่านี้แกะห่อออกมาแล้วทำให้สังคมโดยรวมพัฒนาขึ้น มีศีลธรรมขึ้น อยู่กันอย่างสงบสุขขึ้น โรคภัยไข้เจ็บน้อยลง อาชญากรรมลดลง อาหารการกินไม่ขาดแคลน สังคมเป็นปึกแผ่นขึ้น นั่นก็แปลว่าโรงงานเหล่านี้มีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่พวกเราเห็นกันทุกวันนี้มันพูดได้ไม่เต็มปากว่าสังคมดีขึ้น เผลอๆ อาจจะกลับกันด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปัญหาสังคมของเยาวชน

แนวทางในการควบคุมวงการกวดวิชา

คงต้องยอมรับว่าในวันนี้การกวดวิชาได้หยั่งรากลึกลงไปในสังคมของเราและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปเรียบร้อยแล้วไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับมันหรือไม่ แน่นอนว่าแม้ว่าการกวดวิชาจะนำมาซึ่งประโยชน์และความได้เปรียบต่อคนบางกลุ่ม แต่ก็นำมาซึ่งความลำบากต่อคนที่ไม่มีทางเลือกเท่า

หากมองในแง่ดี การที่การกวดวิชากำลังตกเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างมากนั้นถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นว่าภาครัฐจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร

เพราะว่าการศึกษานั้นเป็นเซกเตอร์สำคัญที่ควรมีการควบคุมในระดับหนึ่ง คล้ายกับเซกเตอร์สาธารณสุขในเชิงที่ว่าไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำตัวเป็นแพทย์ผ่าตัดสมองได้ จำเป็นที่แพทย์คนนี้จะต้องรู้หลักการ สอบให้ผ่าน และฝึกฝนฝีมือมาอย่างช่ำชองก่อนที่เขาจะแตะต้องสมองของคุณได้ แต่ในวงการการศึกษากลับมิใช่เช่นนั้น ทั้งๆ ที่การเข้าไปเรียนกวดวิชาหรือไปโรงเรียนตามปกติก็เป็นการ “ผ่าตัดสมอง” แบบไร้ใบมีดในอีกมุมเหมือนกัน การที่เยาวชนของชาติจำนวนมากต้องใช้เวลามหาศาลในห้องเรียนแต่กลับดูเหมือนไม่มีผลดีต่อสังคมมันควรทำให้เราวิตกว่าพวกเขาได้อะไรไปบ้างนอกจากใบปริญญา หรือมันเป็นแค่ภาระและการเสียเวลาที่เลี่ยงไม่ได้ในวงจรชีวิตแบบที่เป็นอยู่นี้

คำถามที่ตามมาคือรัฐจะวางตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเซกเตอร์นี้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพและเหมาะสม

เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าการศึกษาภาครัฐและการศึกษา “ภาคพิเศษ” นั้นกำลังขัดขากันเอง ภาครัฐพยายามออกข้อสอบฉีกแนวเพื่อลดประโยชน์ของการเก็งข้อสอบจากโรงเรียนกวดวิชา ภาคพิเศษก็ยังหาทางเก็งข้อสอบและสอนเทคนิคใหม่ๆ ได้เสมอ และไม่มีทางเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้นด้วยเพราะว่าอนาคตของลูกค้าก็เดิมพันด้วยคะแนนสอบ ก็เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ สถานการณ์ของเราไม่ต่างกับการเล่นเกมวิ่งแข่ง qwop โดยคนสองคนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง

บางทีการประกาศสงครามกับวัฒนธรรมกวดวิชาอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป เพราะว่าแท้จริงแล้วการกวดวิชาประเภทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ต้นตอของปัญหาการศึกษาไทย หากแต่เป็นอาการของความไม่ปกติของระบบการศึกษาเท่านั้น อีกทั้งการกวดวิชาก็ไม่ได้มีแต่ผลเสียเสมอไป การที่เราจะจู่โจมโรงเรียนกวดวิชาแบบหว่านแหจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

การเก็บภาษีนั้นที่จริงแล้วก็ควรเก็บตามระเบียบ แต่มีโอกาสสูงมากที่ภาระภาษีจะตกสู่ผู้บริโภคแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้ตรึงค่าเรียนพิเศษไว้จนกระทั่งเดือนเมษายน 2559 จะกลายเป็นว่าการเก็บภาษีจะกลายเป็นการสร้างความไม่เสมอภาคขึ้นไปใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังจะมีการกวดวิชาเพราะสภาพแวดล้อมของการศึกษาไทยไม่มีอะไรอื่นใดเปลี่ยนแปลงไปเลย

อาจดีกว่าหากภาครัฐเร่งแก้ไขต้นตอของปัญหาการศึกษา ลงมือแก้ไขปัญหากวดวิชาในจุดที่จำเป็นที่สุดและมองหาจุดที่สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในระบบนิเวศน์การศึกษานี้ที่เต็มไปด้วยติวเตอร์หัวกะทิ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และเงินอันมหาศาลให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา

อันดับแรกคือต้องปราบปรามพฤติกรรมกั๊กวิชาโดยครูบางกลุ่มอย่างเด็ดขาด

อันดับที่สองคือต้องหาวิธีแยกแยะโรงเรียนกวดวิชาที่ดีและไม่ดีต่อสังคม เพื่อที่จะส่งเสริมโรงเรียนดีและกำจัดโรงเรียนที่เอาแต่หากินกับเยาวชน จุดนี้ทำได้ยากในเชิงปฏิบัติแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ขนาดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เชิดชูการแข่งขันเสรีเองก็มีการพยายามค้นหามหาวิทยาลัยเอกชนที่มีค่าเล่าเรียนแพงแต่ไม่มีคุณภาพ เพราะว่าเด็กๆ หลายกลุ่มไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย จึงมักจะติดหนี้ ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี หางานไม่ได้และตกอยู่ในสภาพย่ำแย่เป็นหนี้ท่วมหัวในที่สุด จุดนี้จะไม่มีวันทำได้หากเราไม่เริ่มทำการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโรงเรียนกวดวิชาและตัวผู้เรียน

อันดับที่สามคือการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคพิเศษเพื่อคืนกำไรสู่สังคม หลังจากที่เราสามารถแยกแยะได้แล้ว ควรมีการร่วมมือกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสหรือนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการติวพิเศษมากที่สุดได้รับโอกาสเรียนพิเศษ การมีทุนการศึกษาให้กับผู้เรียนที่เหมาะสมก็อาจเป็นไอเดียที่ไม่เลว ในขณะที่สังคมเริ่มมองว่าการกวดวิชาเป็นธุรกิจมืด นี่เป็นโอกาสดีที่ธุรกิจประเภทนี้จะสามารถพลิกโฉมตัวเองได้

ข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่ได้คือทุกวันนี้คะแนนสอบก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม แต่หากเราปล่อยให้คะแนนสอบยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการศึกษาในจิตใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นจิตใจของผู้บริหารประเทศ ผู้ออกข้อสอบ ผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชา ผู้ปกครอง และผู้เรียน ทำอย่างไรเราก็จะไม่มีวันออกจากวงจรนี้ได้

ก่อนจะแก้ปัญหาจากวัฒนธรรมกวดวิชาได้ จึงต้องฝากไปคิดกันก่อนว่าอะไรกันแน่ที่เป็นจุดหมายของการศึกษาในใจคุณ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558