ThaiPublica > เกาะกระแส > ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?” (3) “ผาสุก” ตอบคำถามทำไมคอร์รัปชันแก้ยาก

ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?” (3) “ผาสุก” ตอบคำถามทำไมคอร์รัปชันแก้ยาก

21 สิงหาคม 2015


ในตอนที่แล้ว ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้ยกกรณีตัวอย่างการเปิดโปงการทุจริตที่เกิดขึ้นโดยมีสื่อและภาคประชาชนเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งในบางกรณีก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของการทำงานของภาครัฐในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งอาจมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนอยู่ โดยในตอนนี้จะเป็นการไขปมคาใจในประเด็น “ทำไมคอร์รัปชันปราบยาก?” และ “จะสู้กับคอร์รัปชันอย่างไร?”

4 มุมมองสะท้อนคำถาม “ทำไมคอร์รัปชันปราบยาก”

ในส่วนนี้ ศ. ดร.ผาสุก ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาที่ถูกตั้งคำถามตลอดว่า “ทำไมการปราบคอร์รัปชันจึงยากมาก” โดยใช้กรณีของประเทศไทยในการวิเคราะห์ ผ่าน 4 มุมมองที่พยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการคอร์รัปชัน ได้แก่ มุมมองเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มุมมองของนักศีลธรรมจริยธรรม มุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง และมุมมองของสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน

ศ. ดร.ผาสุก กล่าวว่า ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะวิเคราะห์มูลเหตุจูงใจในการทำคอร์รัปชัน ซึ่งก็คือ “ผลประโยชน์” ที่จะได้ทั้งที่เป็นตัวเงินและผลประโยชน์อื่นๆ แต่คอร์รัปชันมีต้นทุน ก็คือถ้าถูกจับได้จะเข้าคุก ฉะนั้น จะต้องคำนวณกันว่าได้ผลคุ้มไหม ตราบใดที่ผลประโยชน์สูงแต่ต้นทุนต่ำนี่ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการคอร์รัปชันต่อไป แนวโน้มเช่นนี้จะสูงในสถาบันที่สังคมอ่อนแอ และมีความเหลื่อมล้ำสูง

“เมืองไทย ระบบการเมืองที่ผูกขาดอำนาจทำให้ข้าราชการมีอำนาจด้านดุลยพินิจสูง เปิดโอกาสหาประโยชน์จากการทุจริตได้ง่าย แต่ต้นทุนต่ำ เพราะระบบกฎหมายและระบบพวกพ้อง หรือระบบการป้องกัน หรือการปราบปรามคอร์รัปชันอ่อน จากการศึกษาของ ศ. ดร.เมธี บทบาทของ ป.ป.ช. ในการลงโทษผู้กระทำผิดไร้ประสิทธิภาพ ทางออกจึงเน้นไปที่การทำให้องค์การต่อต้านคอร์รัปชันแข้มแข็ง การสร้างระบบที่ดีให้มีนิติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จะช่วยยลดพฤติกรรมคอร์รัปชันได้”

สำหรับมุมมองของนักศีลธรรมจรรยาธรรม ศ. ดร.ผาสุก ระบุว่า แนวคิดนี้มุ่งดูที่พฤติกรรมของแต่ละบุคคล ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ ผลได้ที่เป็นตัวเงินจากการคอร์รัปชัน และพร้อมจะทำการทุจริตเมื่อประโยชน์มากกว่าต้นทุนเสมอ เป็นเพราะการให้คุณค่าของผลได้ที่เป็นตัวเงินมากกว่าคุณค่าของการไม่ทุจริต

ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

จากงานของ ศ. ดร.เมธีอีกเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า การให้คุณค่ากับจริยธรรมไม่ทุจริตสูงจึงจะช่วยลดคอร์รัปชันได้ ทางออกคือต้องทำคนให้เป็นคนดี โดยการส่งเสริมหลักการคุณธรรมและจริยธรรมในหมู่ข้าราชการและนักการเมือง แต่ยอมรับว่าการทำคนให้เป็นคนดีเป็นเรื่องที่ยากมาก

ด้านมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมือง ศ. ดร.ผาสุก กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันเกี่ยวโยงกับกระบวนการสะสมทุนและระบอบการปกครอง ว่าเป็นระบอบที่เปิดกว้างให้สื่อมวลชนและการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการร่วมรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันหรือไม่เพียงใด และวิเคราะห์ด้วยว่ากระบวนการต่อสู้กับคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ผู้ทุจริตจะปรับตัวอยู่เสมอๆ จนกฎหมายตามไม่ทัน

“แรงจูงใจคือผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับ แบ่งออกเป็น สินบนหรือภาษีคอร์รัปชัน และรายได้จากค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การกินค่าหัวคิว การคุ้มครองเศรษฐกิจผิดกฎหมาย หักลบด้วยต้นทุนที่ลงไปเพื่อให้ได้อำนาจหรือตำแหน่ง ที่จะมีอำนาจในการสั่งการ และต้นทุนที่ต้องใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ เมื่อคณะบุคคลได้จัดตั้งรัฐบาล จะพยายามเพิ่มรายได้จากสินบน และค่าเช่าทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับลดต้นทุนโดยการพยายามควบคุมกระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชน และฝ่ายค้าน”

ศ. ดร.ผาสุก กล่าวต่อไปว่า เมื่อประเทศไทยอยู่ใต้ระบบเผด็จการทหาร ในทศวรรษ 2500 และ 2510 ภาคประชาชนและสื่อมวลชนถูกควบคุมและจำกัดเสรีภาพแบบเบ็ดเสร็จ ต้นทุนของคอร์รัปชันจึงต่ำ การทุจริตสมัยนั้นจึงสูง

ในช่วงที่ระบบการเมืองเปิดมากขึ้น เช่น ในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ และประชาธิปไตยเต็มใบ ความพยายามในการทุจริตจะปะทะประสานกับบทบาทการตรวจสอบของสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และขบวนการประชาชนที่ตื่นตัว ในการผลักดันให้รัฐบาลทำหน้าที่โดยโปร่งใสและรับผิดชอบมากขึ้น

คณะวิจัย ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาระดับการคอร์รัปชันของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ในช่วงปี 2502–2516 เปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงปี 2524–2534 ได้ข้อมูลที่บ่งบอกว่า ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเอื้อกับการต่อต้านและลดพฤติกรรมคอร์รัปชันมากกว่าระบบเผด็จการทหาร

“ข้าราชการระดับสูงในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลเผด็จการมีโอกาสคอร์รัปชันสูงสุด เพราะการกระจุกตัวของอำนาจมีสูง และไม่ต้องแบ่งกับใคร ยุคประชาธิปไตยอัตราคอร์รัปชันน่าจะต่ำกว่าเพราะทำได้ยากขึ้น และข้าราชการระดับสูงผู้นี้ได้บอกว่า ในรัฐบาลทหารจะได้รับการปฏิเสธไม่ให้ สตง. เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม แต่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยการตรวจสอบเป็นไปได้”

การสร้างระบบตรวจสอบเพิ่มมากขึ้นนี้ในสมัยประชาธิปไตยก็ได้ทำให้การคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการต่างๆ เพื่อหาทางกินค่าหัวคิวจากการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้นโยบายเพื่อผลทางการเมือง ส่วนการลดต้นทุนของคอร์รัปชันจะใช้วิธีการที่จะทำให้การตรวจสอบไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของตนเองและคณะ และ รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ พบว่าด้านภาคประชาชนก็มีการพัฒนาใหม่ๆ ที่จะต่อกรกับการคอร์รัปชัน โดยบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้เปิดช่องให้ภาคประชาชนมีเครื่องมือใหม่ๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น กรณีภาคประชาชนที่มีการร่วมมือกันระหว่างสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค สื่อมวลชน กลุ่มแพทย์ชนบท และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ตรวจสอบการทุจริตในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2541 ได้สร้างผลสะเทือน สามารถเอาผิดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนักการเมืองที่เป็นที่ปรึกษา จนต้องติดคุกเป็นเวลาหลายปี

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติของรัฐมนตรีจนศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์มากกว่า 200 ล้าน นับเป็นคดีแรกที่สามารถลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันจนต้องโทษจำคุกได้ ภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญในปี 2540 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนและลงรากลึกจนไปไกลกว่าเรื่องการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก จนถึงการลงหลักปักฐานของหลักการนิติธรรม ระบบพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ มักถูกรัฐประหารแทรกแซงเสมอ ระบบการเมืองไทยจึงวนอยู่ไปมาระหว่างระบบรัฐสภาและระบอบอำนาจนิยมโดยทหาร หรือกลุ่มรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนอยู่เบื้องหลัง และยังไม่สามารถสถาปนาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยังยืนได้

ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

โดยย่อก็คือ กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์การเมือง วิเคราะห์แนวคิดแรงจูงใจการคอร์รัปชันจากแนวคิดผลประโยชน์ต้นทุนคล้ายๆ กับแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่ถ้าเปิดมุมมองในแนวกว้างที่เกี่ยวโยงกับกระบวนการสะสมทุน และระบอบการปกครอง เสนอผลการศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลบ่งบอกว่า ระบบการเมืองเปิดตามแนวทางรัฐสภาประชาธิปไตยจะเอื้อกับการต่อสู้คอร์รัปชันมากกว่าระบบการเมืองปิดหรือรัฐบาลที่มาจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ระบอบเปิดยังไม่มีโอกาสลงหลักปักฐาน เพราะถูกแทรกแซงด้วยการรัฐประหารตลอด

สุดท้าย คือ มุมมองนักวิเคราะห์สังคมระยะเปลี่ยนผ่าน สังคมระยะเปลี่ยนผ่านมีระเบียบหรือมีระบบคุณค่าทางการเมืองในสังคม 2 ชุด ซ้อนทับ ย้อนแย้ง แต่อยู่ร่วมกันในเวลาเดียวกัน หมายความว่า บางคนคิดว่าคอร์รัปชันไม่ผิด เพราะสินบนช่วยซื้อความสะดวกหรือขจัดอุปสรรคที่ถูกปิดกั้น เช่น ถูกกีดกันและผู้กระทำได้ผลประโยชน์ของตนเอง แต่กลุ่มอื่นเห็นว่าผิด เพราะมองเห็นผลเสียในระดับสังคม และเห็นว่าอุปสรรคนั้นต้องแก้ไขในระดับสังคมไม่ใช่ในระดับปัจเจก ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ระบบคุณค่าเก่าที่เอื้อต่อการคอร์รัปชันลดความสำคัญ หรือถูกละทิ้ง แต่ไม่หมดไป ขณะที่ระบบคุณค่าใหม่ที่มากับความเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ศ. ดร.ผาสุก กล่าวว่า สังคมระยะเปลี่ยนผ่านยังมีความสับสน ว่าอะไรคือการคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคมได้ หรือแม้กระทั่งว่า อะไรคือผลประโยชน์ส่วนตัวที่อาจสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ เช่น ยังมีผู้ที่สับสนว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างสินน้ำใจกับสินบน เมื่อนักธุรกิจจัดให้ข้าราชการและครอบครัวไปชมการแข่งขันกอล์ฟนัดสำคัญที่ต่างประเทศ หรือไปชมดอกซากุระบานที่ญี่ปุ่นโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด หรือข้าราชการใหญ่รับค่าคอมมิชชันจากเอเย่นต์ขายอาวุธให้กระทรวงกลาโหม แล้วใช้เงินดังกล่าวเพื่อปรับปรุงสวัสดิการของเหล่าทหารในสังกัด

ความสับสนนี้เป็นมูลเหตุประการหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมคอร์รัปชันในสังคมระยะเปลี่ยนผ่านยากที่จะปราบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านประวัติศาสร์และประสบการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม

ประเทศไทยก็เป็นสังคมที่เปลี่ยนผ่านสำหรับประเทศที่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย งานศึกษาจากประสบการของหลายประเทศชี้ว่า คอร์รัปชันมักเพิ่มสูงขึ้นในระยะแรก เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นสังคมที่เปิดขึ้น เปิดโอกาสคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่อำนาจทางการเมือง และทางเศรษฐกิจที่เคยถูกปิดกันอยู่ แต่เมื่อเผชิญขีดจำกัดจาการถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกปิดกั้นโดยกลุ่มอำนาจหรือระเบียบกฎเกณฑ์เก่าที่ล้าสมัย จะมีการใช้เงินติดสินบนเพื่อให้ก้าวข้ามขีดจำกัดดังกล่าว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่งระดับคอร์รัปชันจะคงที่และค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อสถาบันด้านกฎหมาย หลักนิติธรรม และระบบคุณค่าตามผลงานเข้าทดแทนระบบพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ ประกอบกับมีแรงผลักดันจากภาคประชาสังคมให้ปฏิรูประบบ-สถาบันต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ในกระบวนการที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ การศึกษาเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการปรับแปลงต้องใช้เวลา และระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ไทยก็เป็นสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีระเบียบสังคม หรือคุณค่า 2 ชุด อยู่ร่วมกัน คือ ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบพวกพ้องภายใต้ระเบียบที่เรียกว่า “สังคมราชูปถัมภ์” หรือ “ศักดินาราชูปถัมภ์” (patrimonialism) ที่มากับความเป็นสมัยใหม่ ตามระเบียบกฎหมายและหลักการบนพื้นฐานของเหตุผล ที่เข้ามากับความเป็นสมัยใหม่ตั้งแต่รัชการที่ 5

“กระบวนการเปลี่ยนผ่านของไทยไม่ราบรื่นมีการหยุดชะงักและถอยหลัง และในกระบวนการดังกล่าวจะมีคอร์รัปชันสูงในช่วงต้นของการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในช่วงหลังทศวรรษที่ 2530 คอร์รัปชันมีบทบาททั้งเป็นตัวกระตุ้นเปลี่ยนแปลง โดยมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นตัวอย่างที่มีหมวดตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และคอร์รัปชันยังเป็นตัวถ่วงรั้งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในประเด็นเรื่องการถ่วงครั้งนี้ ทศวรรษ 2550 งานศึกษาของมาร์ค ศักซาร์ ศึกษาและวิเคราะห์ว่า วาทกรรมคอร์รัปชันสูงในนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะกำจัดหรือชะลอกระบวนการผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบกฎหมาย-หลักนิติธรรมไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนสู่ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง”

จะสู้กับคอร์รัปชันอย่างไร – ประชาธิปไตยคือทางออก

ในส่วนนี้ ศ. ดร.ผาสุก ระบุว่า จากมุมมองของนักศีลธรรม มองว่าสังคมขาดคนดี การทำให้คนดีเป็นเรื่องยาก จึงมีคอร์รัปชันสูง แนวคิดนี้มุ่งเน้นไปที่ส่งเสริมหลักจริยธรรม คือ เลือกคนดีมาปกครองแล้วทุกอย่างจะดีเอง โดยประชาชนในวงกว้างไม่ต้องมีบทบาทมาก

ตามคำกล่าวที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” แต่มีคำถามว่าใครคือผู้กำหนดว่าอะไรดีไม่ดี ดีนี้ดีเพื่อใคร แล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบกำกับคนดีไม่ให้เขว ในเมื่ออำนาจผูกขาดอาจจะคอร์รัปได้อย่างสุดๆ ดังคำกล่าวของ จอห์น ดัลเบิร์ก-แอกตัน (John Dalberg-Acton) ที่ว่า

“Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.”

“หากการเมืองคนดีไม่มีระบบตรวจสอบ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ก็ไม่มีความหมายใดๆ ไม่ใช่หรือ ทำให้วิธีคิดแนวนี้ถูกวิจารณ์ว่าแคบเกินไป ไม่สามรถครอบคลุมถึงบริบทของปัจจัยทางสถาบัน และไม่โยงกับพัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม”

ส่วนมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแก้คอร์รัปชันได้ยาก เพราะว่าสถาบันสังคมอ่อน องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น ป.ป.ช. อ่อนแอ ผู้ทุจริตจึงลอยนวลไม่ถูกลงโทษ หรือใช้เวลานานมากในการตรวจสอบ ทำให้แรงจูงใจที่จะทุจริตมีสูง เพราะผลได้ของการคอร์รัปชันมากกว่าต้นทุนหลายเท่า การแก้ไขจึงมุ่งไปที่การที่ทำให้สถาบันตรวจสอบเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ศ. ดร.ผาสุก ได้ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วใครจะส่งแรงผลักดันในสถาบันสังคมและสถาบันต่อต้านคอร์รัปชันเข้มแข็ง ในระบอบการเมืองแบบไหนที่จะเอื้อให้มีพัฒนาการตรงนี้ การเมืองเผด็จการหรือการเมืองรวมศูนย์แบบพรรคเดียว เช่น ที่จีนหรือที่สิงคโปร์หรือ

“จริงอยู่สิงคโปร์มีองค์การต่อต้านคอร์รัปชันแข็งกว่าไทย แต่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ดังที่ “อังเดร มาลโรซ์” นักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส บอกว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้นหรือ แล้วจีนล่ะ ขนาดมีการลงโทษประหารชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตไปหลายรายก็ยังแก้ไม่ได้ เผด็จการทหารในไทยหรือที่ไหนก็ไม่เคยจัดการกับคอร์รัปชันอย่างได้ผลยืนยาว แม้จะใช้กฎหมายมาตรา 17 ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือกฎหมายมาตรา 44”

ศ. ดร.ผาสุก กล่าวต่อไปว่า อันที่จริงในสมัยจอมพล สฤษดิ์ มีการคอร์รัปชันที่สูงมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ตนเองเป็นผู้คำนวณไว้ในระดับต่ำสุดว่า การคอร์รัปชันในสมัยนั้นอยู่ที่ประมาณ 1% ของจีดีพี ซึ่งเป็นส่วนเฉพาะที่หาข้อมูลได้

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้ความสนใจน้อยในเรื่องที่ว่าระบอบการเมืองอะไรที่เอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักวิเคราะห์สังคมในระยะเปลี่ยนผ่านมีคำตอบในเรื่องนี้ชัดเจนกว่า

จากมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักวิเคราะห์สังคมในระยะเปลี่ยนผ่าน เห็นว่า คอร์รัปชันแก้ได้ยากเพราะว่าต้องยอมรับความจริง ว่าคอร์รัปชันโยงกับกระบวนการสะสมทุน การสร้างความร่ำรวยอย่างรวดเร็วของทั้งกลุ่มอำนาจใหม่และกลุ่มอำนาจเก่า

นอกจากนั้นทุกคนยังสับสนกับค่านิยมเก่าและใหม่ที่ทับซ้อนกันอยู่ การคลี่คลายความสับสนต่างๆ เพื่อให้สังคมปรับแปลงเข้าสู่ระบบกฎหมาย หลักการนิติธรรม การเลื่อนขั้นตามผลงาน หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการความเสมอภาคที่ปฏิบัติได้อย่างทั่วถึงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ระบอบการเมืองรัฐสภาประชาธิปไตย

ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ
ที่มาภาพ : ทีดีอาร์ไอ

ทั้งนี้ ศ. ดร.ผาสุก ระบุว่า ตนได้วิเคราะห์และแสดงข้อมูลสนับสนุนให้เห็นว่า แม้ว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขปรับปรุงได้ จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นและจากการวิเคราะห์สาเหตุของการคอร์รัปชันโดยสำนักต่างๆ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการต่อต้านคอร์รัปชันจะต้องประกอบด้วยยุทธศาสตร์และมาตรการ 3 ระดับ ด้วยกัน

  • ระดับปฏิบัติเฉพาะจุด ในส่วนราชการที่เป็นปัญหามาก ที่จะไม่สร้างต้นทุนมาก คือ เมื่อมีการทำผิดต้องมีการลงโทษทันที และต้องเป็นโทษที่หนักตามสมควร ไม่เช่นนั้นจะขยายไปเป็นเรื่องใหญ่ๆ และในระดับสถาบันก็ต้องการป้องกันในการตรวจสอบภายในที่ได้ผล ซึ่งหน่วยงานที่มีปัญหาคอร์รัปชันเป็นระบบมาเนิ่นนานอาจต้องสะสางด้วยการให้นิรโทษกรรม แล้วกำหนดวันว่าหากพ้นจากวันนั้นจะต้องใช้ยาแรง วิธีการเช่นนี้ใช้ได้ผลกับการคอร์รัปชันของตำรวจที่ฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

และในระดับสถาบันตรวจสอบจากภาบนอกต้องมีระบบตุลาการและระบบกำกับที่เพิ่มต้นทุนการคอร์รัปชันที่ได้ผลและเชื่อถือได้ อาจจะต้องรวมถึงการมีศาลพิเศษ ถ้าระบบศาลปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล ศาลพิเศษที่สำหรับใช้กับกรณีคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย หรือการออกกฎหมายตรวจสอบข้าราชการร่ำรวยผิดปกติทุกระดับ เช่น ที่ฮ่องกง จะต้องคิดหนักในเรื่องนี้เพราะต้นทุนจะสูง

  • ส่วนที่ 2 ระดับประชาสังคม คือ ประชาชนและสื่อมวลชนต้องสิทธิและเสรีภาพในการเปิดโปงคอร์รัปชัน และผลักดันการปฏิรูป ซึ่งสิ่งที่องค์การต่อต้านคอร์รัปชันที่ภาคธุรกิจทำอยู่ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ เพราะขณะนี้ภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนในการต่อต้านคอร์รัปชัน อาจจะทำให้เห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้น
  • ส่วนที่ 3 ในภาพรวมใหญ่ที่เกี่ยวกับระบอบการเมือง จะต้องคิดถึงระบอบการเมืองที่เอื้อต่อการสู้คอร์รัปชัน ซึ่งส่วนนี้สำคัญที่สุดเพราะเป็นโครงสร้างใหญ่ และจะเป็นปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว

“ประสบการณ์ของประเทศที่สามารถลดระดับคอร์รัปชันลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจชี้ว่า การปกครองในกรอบของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะเอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะหลักการเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน จะเปิดโอกาสให้ประชาชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“อย่าลืมว่าในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่ สตง. สามารถจะตรวจสอบการใช้เงินของทุกหน่วยราชการได้อย่างเต็มที่ รัฐประหารไม่สามารถแก้คอร์รัปชันได้ เพราะบ่อยครั้งแล้วที่คณะรัฐประหารอ้างว่าทำเพื่อแก้คอร์รัปชัน เอาเข้าจริงก็ยังแก้ไม่ได้สักครั้งเดียว บางครั้งอาจเห็นความพยายามแต่มักเป็นมาตรการระยะสั้น ที่สำคัญ รัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมักปรับแปลงสถาบันสำคัญต่างๆ ให้หวนกลับสู่ระบบปิด สู่ค่านิยมอุปถัมภ์ที่เอื้อต่อการทุจริตแบบต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การแก้คอร์รัปชันยิ่งยากเข้าไปอีก”

ทั้งนี้ ศ. ดร.ผาสุก กล่าวทิ้งท้ายว่า จากที่ตนเองได้ศึกษาเรื่องของการคอร์รัปชันมาเกือบ 25 ปี ทั้งจากการศึกษาประเทศอื่นๆ และในประเทศไทยด้วย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ในเมืองไทย มาตรการแก้ไขคอร์รัปชันจะได้ผลก็ต่อเมื่อประชาชนและสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และได้พบว่าการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้นในเรื่องของคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตยมากกว่าสมัยรัฐบาลรัฐประหารแน่นอน

“มีความหวังว่าหาก อ.ป๋วย ได้มาฟังปาฐกถาในครั้งนี้จะเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ดีที่สุดแล้ว ระบอบและหลักการประชาธิปไตยยังมีคุณค่าในตัวเอง และสอดคล้องกับทัศนคติและปรัชญาของ อ.ป๋วย ที่ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยืนยันในคำพูดของท่าน สิทธิของชายหญิงทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมที่เขาอาศัยอยู่ ตามที่ได้อ้างถึงในคำนำของปฐกถานี้”