ThaiPublica > เกาะกระแส > ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “จะต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างไรดี?” (2) คอร์รัปชันในโลกความจริง – สื่อ/ประชาสังคม ตัวแปรสำคัญเปิดโปงทุจริต

ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์: “จะต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างไรดี?” (2) คอร์รัปชันในโลกความจริง – สื่อ/ประชาสังคม ตัวแปรสำคัญเปิดโปงทุจริต

20 สิงหาคม 2015


ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1687323394822027/?type=1&theater
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรที่มาภาพ : https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1687323394822027/?type=1&theater

จากตอนที่แล้ว ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้กล่าวถึงการคอร์รัปชันผ่านการอธิบายความหมายและปรากฏการณ์ที่ได้จากงานวิจัยในภาพรวมของปัญหาคอร์รัปชันในไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ศ.ดร.ผาสุก ได้เล่ากรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เห็นภาพได้ว่า 15 ปีที่ผ่านมาปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้ลดลง และบทบาทของสื่อและภาคประชาสังคมคือส่วนสำคัญที่นำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิด

ศ. ดร.ผาสุกได้หยิบยกการทุจริตของข้าราชการระดับสูงที่ถูกเปิดโปงโดยกระบวนการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยงานต่อต้านการทุจริตของภาครัฐ ใน 3 กรณี เพื่อให้เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชันวงเงินสูง

กรณีที่ 1 รัฐบาลถูกโกงให้จ่ายเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทปลอม 4.3 พันล้านบาท ซึ่งขณะที่เขียนปาฐกถานี้ ศ. ดร.ผาสุก กล่าวว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาวนี้ยังไม่สิ้นสุด ข้าราชการบางรายมีหลักฐานทำผิดจริงได้ถูกลงโทษไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ในระหว่างเป็นผู้ถูกกล่าวหา

การเสนอข่าวต่อเนื่องของสำนักข่าวอิศรา ส่งผลให้กระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จนนำไปถึงการส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาสืบสวน และตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามมาด้วยการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวง การอายัดทรัพย์ข้าราชการระดับสูง การไล่ออก การให้ออก การถูกสอบวินัยร้ายแรงมากกว่า 10 ราย และมีผู้ใหญ่ถูกพักราชการ ณ จุดนี้การไต่สวนพบเพียงข้าราชการไม่พบนักการเมืองเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

“หากเป็นจริงแสดงว่าข้าราชระดับสูงจำนวนหนึ่งร่วมกันกระทำการทุจริตด้วยกันเอง ซึ่งหลายคนมีการศึกษาระดับสูง ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท บ้างผ่านการอบรมในหลายแห่ง อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) นักบริหารระดับสูง นบส.1 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน หลักสูตร วตท. และหลักสูตร Director Certificate Program ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย”

สื่อมวลชน- แถลงข่าวโกงภาษี VAT  เมื่อ 22 สค. 2556
สื่อมวลชนฟังแถลงข่าวโกงภาษี VAT เมื่อ 22 ส.ค. 2556

กรณีที่ 2 โจรช่วยจับคอร์รัปชัน ปลายปี 2554 ขณะผู้ใหญ่ในกระทรวงแห่งหนึ่งฉลองงานแต่งงานลูกสาวที่โรงแรม โจรได้เข้าปล้นบ้าน ขนเงินสดที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังมีสายรัดจากธนาคารเป็นเงินจำนวนมาก โดยโจรสารภาพเบื้องต้นว่า พบกระเป๋ามีเงินหลายร้อยล้านบาท แต่ขนไปได้ไม่กี่ร้อยล้านบาท

ฝ่ายเจ้าของบ้านบอกว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสินสอด และเงินเตรียมจัดงานแต่งงานลูกสาวจำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดตำรวจสามารถนำเงินคืนมาได้ 20 ล้านบาท ความไม่ชอบมาพากลนี้ทำให้ผู้นั้นถูกย้ายไปช่วยราชการ และ ป.ป.ช. เข้าดำเนินการอายัดเอกสารและทรัพย์สิน เพื่อตรวจสอบว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ 4 ปีต่อมา ในปี 2557 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติ จึงฟ้องศาลแพ่งให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 50 ล้านบาท

เหตุที่เกิดขึ้นมีรายงานว่า เกิดจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยผู้สื่อข่าวรายงานดังนี้ มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวโยงกับงบประมาณในการอนุมัติโครงการสำคัญ คนร้ายที่ลงมือมั่นใจว่าการก่อเหตุครั้งนี้จะไม่เป็นคดีความ แต่เรื่องบานปลายเพราะแม่บ้านโทรแจ้งตำรวจ

สาธารณชนอาจจะไม่รับรู้กรณีอื้อฉาวนี้เลย และอาจไม่ได้เอาผิดใครเลยถ้าโจรไม่ได้มาช่วย ข้อมูลที่เปิดเผยแก่สาธารณชนผ่านสื่อทำให้ทราบเส้นทางชีวิตของข้าราชการผู้ใหญ่ ที่จบการศึกษาสูง ผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูง หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และหลักสูตรผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง จากที่เคยดำรงตำแหน่งสูงในกรมสำคัญ เช่น ทางหลวงชนบท กรมทางหลวง จนในที่สุดได้เป็นปลัด

สื่อมวลชนประเมินกันว่า”เหล่านี้คือพื้นฐาน อันทำให้มีเงินจำนวนมหาศาลไปกบดานสงบนิ่งอยู่ในบ้าน ปมเงื่อนอยู่ที่ว่ากระบวนการจัดการจะสามารถลากคอนักการเมือง บรรดาพรรคการเมือง เข้าสู่ตะแลงแกงได้หรือไม่ และมีคำถามว่าสายรัดเงินจากธนาคารต่างๆ จะไปสู่ผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ในภาคธุรกิจได้หรือไม่”

กรณีที่ 3 การจัดซื้อ CTX 9000 มีหลักฐานความไม่ชอบมาพากล แต่ในท้ายที่ผิดไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้เลย

ในปี 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ซื้อเครื่องดักจับวัตถุระเบิด หรือ CTX 9000 จำนวน 26 เครื่อง เพื่อติดตั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ

โดย บทม.ทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างผ่านบริษัทตัวแทนมากกว่า 1 บริษัท ผลที่เกิดขึ้นคือ มีส่วนต่างของราคาจากบริษัทผลิตมาถึงมือ บทม. จำนวนหนึ่ง ปี 2547 บริษัท InVision Technologies, Inc. ถูกคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ตรวจสอบ พบว่าตัวแทนจำหน่ายของบริษัทในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ แต่ในประเทศไทยได้พบความตั้งใจที่จะใช้เงินส่วนต่างของราคาจ่ายให้ หรือสัญญาว่าจะจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ไทย แต่ยังไม่ทันเสร็จสิ้นก็ถูกสอบสวนเสียก่อน

บริษัท InVision Technologies, Inc. ทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ จึงได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงยุติธรรมยอมรับความผิดทั้งหมด และได้ทำบันทึกข้อตกลงว่า หากจะขาย CTX ให้ไทยต้องทำสัญญาเฉพาะ บทม. เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำสัญญาใหม่กับบริษัทผู้ผลิต แต่ บทม. ก็ยังต้องจ่ายในราคาเดิม ที่มีส่วนต่างจำนวนเดิม โดยอธิบายว่าในส่วนต่างมีการรวมค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่าย และค่าภาษี มีคณะกรรมการตรวจสอบพบว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นอยู่ในวิสัยที่รับได้ในเชิงธุรกิจ

“คงจำกันได้ว่าหลังการรัฐประหารปี 2549 มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากรัฐ หรือ คตส. ขึ้น ภายใต้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตรวจสอบคดี CTX มีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งรวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กลุ่มบริษัทเอกชนจำนวน 25 ราย เจ้าหน้าที่ของบริษัทสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยอดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายทหารยศพลเอก นายทหารยศพลอากาศเอก อัยการสูงสุด และนักธุรกิจมีชื่ออีก 2 ราย

ปี 2551 คตส. ส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องร้อง อัยการสูงสุดมีมีข้อโต้แย้งถึงความไม่สมบูรณ์ในคดี 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2554 ในรายงานของสื่อรายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันว่า หลักฐานเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานของการให้ค่าตอบแทนโดย บริษัท InVision Technologies, Inc. หรือตัวแทนบริษัทให้กับเจ้าหน้าที่ไทย และไม่มีหลักฐานว่า บริษัท InVision Technologies, Inc. ได้ยอมรับผิด หรือปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด

เครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000
เครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000

ป.ป.ช. จึงเตรียมการที่จะฟ้องเอง และได้ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ท่านหนึ่งคือ ศ. ดร.เมธี ครองแก้ว เดินทางไปขอข้อมูลรายละเอียดจากกระทรวงยุติธรรมที่สหรัฐฯ ได้เอกสารข้อมูลจำนวนมาก และท่านได้ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อนหมดวาระ เมื่อ 9 สิงหาคม 2555 และในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ป.ป.ช. แถลงอย่างเป็นทางการว่า มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องต่ออดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี อีกทั้งกระทรวงคมนาคม บริษัทเอกชนหลายกลุ่ม ฯลฯ ในคดีการซื้อและติดตั้ง CTX และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ต่อมา 31 สิงหาคม 2555 ศ. ดร.เมธี ได้ให้ข้อสังเกตต่อมติเอกฉันท์ของ ป.ป.ช. โดยอ้างข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้มาจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ​ว่า ตัวแทนของฝ่ายบริษัท InVision Technologies, Inc. มีความตั้งใจที่จะใช้ส่วนต่างของราคา จ่ายให้ หรือสัญญาว่าจะจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่อย่างไร ซึ่งหากต้องการตรวจสอบก็ดูได้จากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ซึ่ง ศ. ดร.เมธี ได้สรุปในตอนท้ายว่า หากสหรัฐฯ​ยืนยันขนาดนี้แล้วเราจะไม่เอาผิดใครเลยได้อย่างไร

“ความกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใส ไม่โปร่งใส ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง CTX 9 ครั้ง ยังคงมีอยู่ และยังคงมีหลายคำถามที่ยังต้องการคำตอบ การที่อัยการสูงสุดเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผู้ฟ้องร้องผู้กระทำความผิดด้วย นับเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ หากพบว่าการหลักฐานที่ได้จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่เพียงพอ ได้มีการแสดวงหาข้อมูลเพิ่มเติมภายในเมืองไทยเองหรือไม่ เพียงใด และเมื่อหน่วยงานหลัก 2 แห่ง ได้แก่ อัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ได้ลงมติที่จะไม่ฟ้องคดีแล้วนั้น ถือเป็นการสิ้นสุดไม่มีทางฟื้นคดีแล้วหรือ ทั้งที่ความกังขายังคงอยู่ รวมทั้งของอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ศ. ดร.เมธี ครองแก้ว”

จากกรณีทั้ง 3 ในกรณีมีหลักฐานความไม่ชอบมาพากลจริง มีข้อสังเกตบางประการคือ การคอร์รัปชันวงเงินสูงเป็นพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งในทางไม่ชอบของข้าราชการระดับสูง ซึ่งอาจทำได้ด้วยตนเอง หรืออาจร่วมมือกับนักธุรกิจ หรือนักการเมืองเป็นพันธมิตร 2 เต้า หรือ 3 เต้า

เป็นคอร์รัปชันที่เกิดจาการสมยอมกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ ยากจะตรวจสอบ และส่งเสียงในวงกว้างแก่สังคม เพราะใช้ทรัพยากรสาธารณะมาก ข้าราชการมีการศึกษาสูง ความสามารถทำให้ก้าวหน้าในการงาน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปรับตัวให้เข้ากับกระบวนคอร์รัปชันผ่านการอุ้มชูของผู้ใหญ่ทั้งในกระทรวงเอง และจากบุคคลสาธารณะในระดับรัฐมนตรีที่ร่วมขบวนการ เนื่องจากอยู่ในวงราชการที่มีช่องทางการคอร์รัปชันสูง แต่ขาดกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

“ทำให้นึกถึงงานวิจัยของนายตำรวจท่านหนึ่ง ที่ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่านิยม และทัศนคติของนายตำรวจสัญญาบัตร ในบริบทของระบบส่วย ซึ่งทำให้ตำรวจที่เริ่มแรกมีลักษณะเหมือผ้าขาว ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น จากประสบการณ์ทำงานกับผู้บังคับบัญชา และระบบที่เป็นปัญหา”

การยอมรับได้กับวัฒนธรรมไม่สุจริตหรือวัฒนธรรมคอร์รัปชันได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ในหน่วยงานเกรดเอ ของสังคมไทย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่มาก ที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยให้จริงจังกว่าที่เป็นอยู่

กรณีอื้อฉาวที่เกี่ยวโยงกับข้าราชการระดับสูงจำนวนมก ได้แก่ นักธุรกิจมีอิทธิพลสูง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูงจากหลายหน่วยงาน และจากหน่วยงานตรวจสอบ ทั้งนี้จะพบว่ากระบวนการในการดำเนินการเอาผิด หรือการหาผู้รับผิดชอบต่อความไม่โปร่งใสเป็นเรื่องยาก แม้จะมีเบาะแสความไม่ชอบมาพากลมาจากต่างประเทศ และแม้รัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารใช้เหตุผลว่าเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาทุจริตโดยรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ กรณีเหล่านี้เป็นตัวอย่างไม่ดีให้ข้าราชการอื่นๆ เอาเป็นตัวอย่างหรือเปล่า? แล้วจะทำอย่างไร?

“เรื่องอื้อฉาวทั้ง 3 กรณีเป็นการเปิดโดยคนภายนอก และเป็นโดยอุบัติเหตุ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกลไกตรวจสอบภายในระบบราชการ และองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น ป.ป.ช. แต่ได้แสดงอานุภาพของภาคประชาชนในการให้เบาะแส และบทบาทของสื่อมวลชนในการเปิดโปงคดี ทำให้สาธารณชนได้รับทราบจนนำไปสู่การเอาผิดกับผู้ทุจริตได้ นับเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งของภาคประชาสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชัน”

สำหรับคอร์รัปชันที่จับต้องได้ยาก ประเภทการเล่นพรรคเล่นพวก การทับซ้อนของผลประโยชน์ ขณะนี้ยังไม่มีตัวชี้วัด แต่คาดว่าไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากสภาพสังคมที่ยังให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติ ระบบพรรคพวก และระบบอุปถัมภ์ยังคงมีอยู่