ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมการค้าต่างประเทศสำรวจโกดัง หวั่นข้าวเสียหลุดสู่ตลาดข้าว คิดแยกข้าวเกรดซีในสต๊อก 5.28 ล้านตัน ต้องใช้เงินอีก 1พันล้าน

กรมการค้าต่างประเทศสำรวจโกดัง หวั่นข้าวเสียหลุดสู่ตลาดข้าว คิดแยกข้าวเกรดซีในสต๊อก 5.28 ล้านตัน ต้องใช้เงินอีก 1พันล้าน

29 สิงหาคม 2015


รัฐหวั่นข้าวเสียปนสู่ตลาดข้าว คิดเปลี่ยนวิธีระบายข้าวยกคลัง เป็นคัดแยกทีละกระสอบก่อนประมูล คาดค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เฉพาะค่าแรงงาน และค่าเซอร์เวย์เยอร์ 55,200 บาท/วัน อธิบดีฯ เผย 9 กันยายน 2558 นบข.เคาะแนวทาง

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และหน่วยงานจากภาคการตรวจสอบ ภาควิชาการ และเอกชนอีก 25 หน่วยงาน เข้าทำการทดสอบการคัดแยกข้าวเกรด C และข้าวเสีย เพื่อหาแนวทางระบายสู่ตลาดที่เหมาะสม ณ คลังสินค้า ในพื้นที่คลองสามวา

ทั้งนี้นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาเกิดข้อทักท้วง และข้อกังวลจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับแนวทางการระบายข้าวคุณภาพต่ำสู่ภาคอุตสาหกรรมตามมติคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.)

ข้าวเสียที่ปะปนอยู่ในข้าวเกรดC
ข้าวเสียที่ปะปนอยู่ในข้าวเกรดC
เซอร์เวย์เยอร์ทำการตรวจสอบข้าวทีละกระสอบ
เซอร์เวย์เยอร์ทำการตรวจสอบข้าวทีละกระสอบ

นางดวงพรกล่าวว่าข้าวเกรด C และข้าวที่เสียอยู่ในคลังกลางนั้นอาจไม่ได้เสียหายทั้งหมด รัฐควรคัดแยกตามคุณภาพก่อนระบายออกสู่อุตสาหกรรมใดๆ ซึ่งวิธีการนี้อาจทำให้สามารถขายได้ราคาดีกว่าการขายแบบยกคลัง หรือขายให้อุตสาหกรรมใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ในคลังสินค้ากลางมีข้าวเกรด C อยู่ประมาณ 5.89 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นข้าวเสียเป็นฝุ่นผงจำนวน 1.29 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีข้าวที่ระหว่างดำเนินคดีอีก 7 หมื่นตัน

“การคัดแยกครั้งนี้เป็นการทดลองดูก่อนว่าหากให้คนงานแบกแล้วฉ่ำ (เจาะตรวจข้าว) ทีละกระสอบ เพื่อแยกข้าวดี-เสีย ออกมานั้นต้องใช้เวลาเท่าไร มีค่าใช้จ่ายอย่างไร พื้นที่ที่วางจะเพียงพอหรือไม่ เพราะว่าเมื่อนำมาตั้งกองใหม่ต้องคำนึงถึงการที่จะขนย้ายในอนาคต รวมถึงข้าวกองอื่นๆ ที่อยู่ในคลังที่ยังต้องขนออกมาขายด้วยเช่นกัน”

นางดวงพร รอดพยาธิ์  ทำการฉ่ำข้า
นางดวงพร รอดพยาธิ์ ทำการฉ่ำข้า

โดยงบประมาณที่ใช้สำหรับคัดแยกข้าวในครั้งนี้ นางดวงพรระบุว่าเป็นงบประมาณของกรมฯ เอง ซึ่งตนเองค่อนข้างเป็นกังวลว่าหากต้องคัดแยกข้าวเกรด C ที่มีอยู่ทั้งหมด งบประมาณที่มีอยู่นี้คงไม่เพียงพอ แต่ถ้าไม่ทำการคัดแยกการจะให้ทำการประมูลแบบยกคลังหากออกไปโดยไม่ได้ระบุอุตสาหกรรมที่ชัดเจนข้าวเสียอาจออกไปปะปนในตลาด เป็นปัญหาที่จะบานปลายตามมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวไทย

“ในความเข้าใจของหลายๆ ฝ่ายอาจจะคิดว่าแทนที่จะขายแบบเหมาได้ไม่กี่บาท หากแยกออกมาก็จะได้ราคาดีกว่าเดิมสักเท่าตัวหนึ่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจริงไหมก็ลองดู อันนี้ก็เป็นการทำเพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ลองให้ดูเลย แล้วประมูลกันจริงๆ ว่าจะมีคนให้ราคาสักเท่าไร แต่ก็จะมีผู้ประกอบการบางคนบอกว่าขายให้เขาทั้งหมดไม่ต้องคัด โดยเขาจะเหมาถูกๆ แล้วไปคัดเอง แต่ถามว่าจะติดตามตรวจสอบได้ไหมว่าคัดแล้วเอาไปไหน เอาไปปนที่ไหน”

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่านอกจากข้าวดีข้าวเสีย เรายังมีข้าวเกรด A B ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีเหลืออยู่อีก 8-9 ล้านตัน เพราะฉะนั้นการระบายไม่ใช่ว่าเราจะเททั้งหมดไปในตลาดได้ทันที มันก็ต้องมีจังหวะในการที่จะเอาออกสู่ตลาด อย่างช่วงนี้ข้าวนาปีก็ใกล้จะออกแล้วในช่วงตุลาคม 2558 มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมาระบายข้าวออกไปประดังในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นการคัดออกมาแล้วก็ไม่ได้แปลว่าคัดมากองแล้วเราจะขายได้ทันที ก็ต้องมีจังหวะ ว่าจะทำอย่างไร”

นางดวงพร กล่าวถึงปัญหาการขาดเซอร์เวย์เยอร์ในการคัดแยกคุณภาพข้าวว่า เซอร์เวย์เยอร์อาจจะมีหลายสิบรายในประเทศไทย แต่ไม่ได้แปลว่าใช้ได้ทุกราย เพราะว่าเซอร์เวย์เยอร์ที่เป็นผู้รับข้าวเข้าโกดังในสมัยโครงการรับจำนำข้าวนั้นมีจำนวนมาก ไม่สามารถใช้เขามาทำงานนี้ได้ เพราะจะทำให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ก็จะเหลืออยู่ไม่กี่รายที่ไม่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำ แล้วสามารถเอามาใช้ในการคัดแยกข้าวได้

การคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการใช้วิธีการคัดแยกข้าวทีละกระสอบ
การคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการใช้วิธีการคัดแยกข้าวทีละกระสอบ
คลังข้าว คลองสามวา
คลังข้าว คลองสามวา
สภาพข้าวในโกดัง คลองสามวา
สภาพข้าวในโกดัง คลองสามวา

ภายหลังการทดสอบคัดแยกข้าวทีละกระสอบ เป็นเวลา 20 นาที พบว่าคนงานสามารถขนข้าวได้จำนวน 149 กระสอบ แบ่งเป็นข้าวเสีย 84 กระสอบ ข้าวดีจำนวน 64 กระสอบ

โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้เปิดเผยถึงผลการคำนวณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นว่า หากดูตามสภาพการทำงานที่เห็นวันหนึ่งคาดว่าน่าจะขนได้ประมาณ 3,000 กระสอบ ขณะนี้คิดค่าใช้จ่ายได้จาก 2 แหล่ง คือค่าแรงของแรงงานที่เขามาขนกระสอบ เขาคิดราคา 12 บาท/กระสอบ และค่าเซอร์เวย์เยอร์ ราคา 12,000 บาท/วัน เฉลี่ยราคา 3-4 บาท/กระสอบ

“ฉะนั้นข้าว 1 กระสอบขณะนี้มีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นรวมค่าแรงคนงานกับค่าจ้างเซอร์เวย์เยอร์ จะอยู่ที่ 16 บาท/กระสอบ และต้องไปคำนวณเพิ่มเติมอีกว่าในแต่ละกองมีข้าวกี่กระสอบ ต้องใช้เวลาทำงานกี่วัน เบื้องต้นที่ดูเฉพาะตอนนี้ข้าว 2 กองมีปริมาณ 33,016 กระสอบ คาดว่าจะใช้เวลา 6-8 วัน ฉะนั้นโดยภาพรวมแล้วขณะนี้หากต้องมาคัดแยกข้าว 2 กองที่คลังนี้จะต้องใช้เงินประมาณ 450,000 บาท ซึ่งนี่จะเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น และอีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเวลาที่เราต้องมาใช้ทำงาน”

นอกจากนี้ นางดวงพร ระบุว่า ยังคงต้องมีการประมวลผลอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีรายละเอียด และปัจจัยหลายอย่าง แล้วจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไปประชุมในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการระบายข้าวในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 เป็นการหารือเบื้องต้น และในวันที่ 9 กันยายน 2558 คงจะประมวลทั้งหมดเข้าไปหารือในที่ประชุม นบข.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะดูว่าความเหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

อนึ่ง หากคำนวณค่าใช้จ่ายที่จะใช้สำหรับคัดแยกข้าวเกรด C ทั้งหมด 5.89 ล้านตันนั้น อยู่ที่ 903.13 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาดำเนินการอีกประมาณ 2 ปี ขณะเดียวกันปัจจุบันรัฐเองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บสต๊อกข้าวทั้งหมดกว่า 40 ล้านบาท/วัน