ThaiPublica > คนในข่าว > “ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ สรอ.กับภารกิจ open data เปลี่ยนวิธีคิดราชการไทย เปิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใส แปลงร่างเป็น e-Government

“ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ สรอ.กับภารกิจ open data เปลี่ยนวิธีคิดราชการไทย เปิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใส แปลงร่างเป็น e-Government

15 สิงหาคม 2015


หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ “สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” หรือ สรอ. หน่วยงานใต้กำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่หน่วยงานซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 กำลังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ส่วนราชการไทยพัฒนาทำงานจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงาน รวมไปถึงการให้บริการประชาชนในรูปแบบต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า e-government

อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ สรอ. คือผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลของส่วนราชการที่ประชาชนควรรู้ หรือ open data โดยปี 2557 ที่ผ่านมา สรอ. ได้เปิดเว็บไซต์ data.go.th เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐที่ประชาชนควรรู้

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เคยเขียนบทความว่า แม้ open data จะเป็นคำค่อนข้างใหม่ แต่กำลังเป็นกระแสมาแรงในระดับโลก เพราะมีอิทธิฤทธิ์อย่างยิ่งในการปราบคอร์รัปชัน

ต่อเรื่องนี้”ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ สรอ. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการผลักดัน e-government และ open data ว่าสำหรับประเทศไทยเดินหน้าไปได้แค่ไหนแล้ว มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร และสิ่งที่คนไทยจะได้รับจาก 2 เรื่องนี้คืออะไร

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

ไทยพับลิก้า: ตั้งแต่ตั้ง สรอ. มาในปี 2554 โดยมีเป้าหมายคือสร้าง e-government ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และกำลังทำอะไรอยู่

4 ปีที่แล้วที่ สรอ. ตั้งมา ถ้าดูตามภารกิจจริงๆ จะพบว่า งานเราคืองานบริการ ต้องพัฒนาระบบที่ให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ เหตุผลที่ตั้ง สรอ. เพราะหน่วยงานภาครัฐมีความพร้อมด้าน e-government ไม่เท่ากัน คนที่เก่งแล้วเราก็ปล่อยเขาไป ส่วนคนที่ยังไม่เก่งเราก็เข้าไปช่วยเขา ด้วยการพัฒนาระบบไอทีกลางให้เขามาใช้ ดังนั้น ภารกิจเราก็คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ ทั้งเครือข่ายที่เรียกว่า GIN (Government Information Network) ที่เชื่อมหน่วยงานภาครัฐเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นก็เป็นระบบ Cloud Computing คือดึงหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีความพร้อมให้มาใช้งานของเรา ระบบนี้ทำมา 3-4 ปี มีหน่วยงานเข้ามาใช้ค่อนข้างเยอะ

พอมีเครือข่าย มีระบบ ต่อไปก็เป็นเรื่องของ platform ตอนนี้ เราก็เริ่มพัฒนา platform ตัวข้อมูลภาครัฐที่สามารถเชื่อมกันได้ โดยเราจะทำ platform ที่จะไปเชื่อมฐานข้อมูลหลักๆ ของหน่วยงานภาครัฐ อาจจะยังไม่ครบ แต่ก็ได้ตัวหลักๆ แล้ว ทั้งมหาดไทย สาธารณสุข ประกันสังคม จากนั้นก็เป็นเรื่องของแอปพลิเคชันกลาง ประเภทที่หน่วยงานภาครัฐทำเองแล้วจะไม่คุ้ม เช่น ระบบอีเมลกลาง ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ พอมีแอปพลิเคชันเราก็มาดูเรื่องการทำให้ประชาชนเข้าถึง เป็นที่รวม portal ซึ่งเราก็มีหลายรูปแบบ เช่น e-portal ที่รวมบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ มี government application center รวมแอปพลิเคชันภาครัฐ แล้วสิ่งที่เราเพิ่งนำร่องไปคือ kiosk คือรวมข้อมูลส่วนตัวของประชาชนโดยใช้บัตรประชาชน

สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของ สรอ. ก็จะเป็นชั้นๆ ของการให้บริการ

ส่วนเรื่องของ open data เราเพิ่งมาทำร่องปีที่แล้ว มีการเปิดตัวเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งในปีนี้เราก็หวังว่าจะมีการสร้างความเข้าใจให้กับภาครัฐมากกว่า คือใครๆ ก็พูดถึง open data แต่พอไปถามหน่วยงานภาครัฐ เขาไม่เข้าใจ หน่วยงานของผมก็มีเว็บประชาสัมพันธ์แล้ว มันต่างกันตรงไหน ฉะนั้น เรื่องของการสร้างความเข้าใจจึงจำเป็นจะต้องทำ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเกิดคนเราไม่เข้าใจ มันจะขับเคลื่อนยาก ขณะเดียวกันเราก็ต้องบอกให้เขารู้ว่าแนวความคิดนี้มีประโยชน์นะ ฉะนั้น สองเรื่องนี้จะต้องทำไปพร้อมกัน คือสร้างความเข้าใจ เตรียมความพร้อมให้หน่วยงานภาครัฐ และทำให้รัฐบาลและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า open data มีความสำคัญอย่างไร ถ้าทำ 2 แนวทางนี้ควบคู่ไป ก็จะไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

ไทยพับลิก้า: เวลาไปชี้แจงให้หน่วยงานภาครัฐ ที่มองว่าเขาก็มีเว็บประชาสัมพันธ์ของเขาอยู่แล้ว กับ open data จะอธิบายความแตกต่าง 2 เรื่องนี้อย่างไร

ผมก็บอกเขาง่ายๆ ว่า เว็บประชาสัมพันธ์มันคือข่าว คือสถิติ แต่เอาไป “ต่อยอด” ไม่ได้ เพราะยุคปัจจุบันมันคือการต่อยอด เพราะเทคโนโลยีมันสามารถทำให้เราเอาข้อมูลไปประมวลผล ไปวิเคราะห์หรือสังเคราะห์เพิ่ม ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้วทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีไม่เอื้อ ประเด็นคือ source ของข้อมูลที่ผ่านมา มันไม่อยู่ในรูปแบบที่จะนำไปต่อยอดได้ นี่คือสิ่งที่เราอธิบาย แต่ไม่ง่าย เพราะเขาไม่เข้าใจ และต้องบอกให้เขาเข้าใจว่า เว็บ data.go.th เป้าหมายไม่ใช่ประชาชนนะ เป้าหมายคือนักพัฒนา เราก็ต้องบอกว่า ประชาชนเข้าไม่เข้าไปดูข้อมูลเป็นหมื่นๆ ชุดหรอก แต่นั่นคือสวรรค์ของนักพัฒนาที่จะนำข้อมูลไปพัฒนาต่อ

เรามาถึงยุคที่เทคโนโลยีมันเอื้อ ถ้ามีข้อมูลมาด้วย ก็ไปโลดเลย ปัญหาเวลานี้คือข้อมูลที่ไหลมามันยังไม่เพียงพอ

ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าส่วนราชการจะได้ประโยชน์ด้วย มีอะไรบ้าง

ผมก็มองว่า ถ้าข้อมูลคุณเปิดเยอะๆ แล้วมีคนมาพัฒนาแอปพลิเคชัน ฝ่ายคุณก็แทบไม่ต้องทำแอปพลิเคชันเองเลย เพราะมีคนเอาไปใช้แทนแล้ว เราก็พยายามอธิบายว่า ลองคิดดูทุกวันเราทำงานเก็บข้อมูลตามภารกิจของเรา ซึ่งอย่างดีก็ทำเว็บประชาสัมพันธ์ วันดีคืนดีมีคนเอาข้อมูลของเราไปใช้ทำประโยชน์ คุณจะภูมิใจ เพราะคุณเป็นเจ้าของข้อมูล ต้องมีวิธีคิดบวกแบบนี้ แล้วผมบอกว่า อย่าไปห่วงว่าข้อมูลที่ออกไปแล้วจะต้องถูกต้อง 100% เพราะถ้ามีความผิดพลาด แล้วเราได้ฟีดแบ็กกลับมา เราสามารถปรับปรุงได้ ฉะนั้น การปรับปรุงข้อมูลอย่าต่อเนื่องให้เกิดคุณภาพ มันจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่มีใครเอาข้อมูลของคุณไปใช้ ฉะนั้นเราจึงต้องบอกเขาวิธีนี้ ให้เปลี่ยนวิธีคิด

แล้วก็มีประเด็นที่ว่าถ้ามีคนเอาข้อมูลไปบิดเบือน ผมก็บอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะเรามีศูนย์ข้อมูลอยู่ตรงกลาง ทุกคนสามารถย้อนดูข้อมูลต้นฉบับได้ว่าของจริงคืออะไร เพราะมันเปิดหมด

ไทยพับลิก้า: ในมุมมองของ สรอ. นิยามของ open data คือเป็นฐานข้อมูลสำหรับไปต่อยอด ไปพัฒนาต่อ

คือข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบที่นำไปต่อยอดได้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบฐานข้อมูล เช่น Excel ในคู่มือที่ สรอ. จัดทำก็จะมีบอกว่ามีรูปแบบอะไรบ้าง ขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานนั้นๆ เราต้องเข้าใจว่าข้อมูลแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกัน รูปแบบข้อมูลที่จะนำไปต่อยอดก็มีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ข้อมูลบางอันที่เป็นแบบเรียลไทม์ก็มี อย่างนั้นต้องอาศัยเทคนิค นี่คือหน้าที่ของ สรอ. จะต้องไปช่วยเขา แต่บางหน่วยงานก็มีข้อมูลประเภทปีหนึ่งเก็บทีหนึ่ง ซึ่งก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ ก็ต้องเก็บข้อมูลอีกแบบหนึ่ง ข้อมูลบางอย่างเป็น static บางอย่างเป็น dynamic มากๆ ฉะนั้นมันจึงมีความหลากหลายหมด เราไม่สามารถกำหนดวิธีเก็บข้อมูลแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของข้อมูล แต่ละที่

“ใครๆ ก็พูดถึง open data แต่พอไปถามหน่วยงานภาครัฐ เขาไม่เข้าใจ หน่วยงานของผมก็มีเว็บประชาสัมพันธ์แล้ว มันต่างกันตรงไหน”

ไทยพับลิก้า: ทำไมไม่ขยายนิยามไปเป็นข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เพื่อธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐด้วย

อันนี้รวมหมดเลย ตอนนี้เราจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาระบบราชการ เขามีการวัด KPI (Key Performance Indicator-ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) ของ 140 กรม ให้อีก 2 เดือน จะต้องเปิดชุดข้อมูล 2 ชุด ขณะเดียวกัน เราก็ทำอีกทางหนึ่ง คือกำหนดธีม อยากได้ชุดข้อมูลไหนโดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของทุจริต เพราะนายกรัฐมนตรีสั่งมา ฉะนั้น ข้อมูลเรื่องการสนับสนุนการต่อต้านการทุจริต ภายในเดือนกันยายน ปี 2558 นี้ สรอ. จะต้องลิสต์มาให้รัฐบาลว่ามีเรื่องอะไรบ้าง รัฐบาลก็ต้องสั่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในสิ้นปี 2558 ให้ทุกส่วนราชการเปิดชุดข้อมูลในกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น 1. รายการจัดซื้อจัดจ้าง คุณซื้อกับบริษัทไหน ราคาเท่าไร ราคากลางเท่าไร หรือ 2. งบประมาณลงไปแต่ละพื้นที่ต้องบอกให้ได้ ตอนนี้เรากำลังศึกษาอยู่เหมือนกันว่าจะมีอีกกี่ชุดข้อมูลที่จะช่วยในเรื่องต่อต้านการทุจริต แล้วจะให้รัฐบาลประกาศออกไปว่า ทุกหน่วยงานจะต้องเปิดข้อมูลชุดนี้ โดยไปรวมอยู่ในศูนย์กลางในรูปของ open government data แล้ว สรอ. จะเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ให้กลายเป็นแอปพลิเคชัน หรือเปิดให้มีการแข่งขันว่าถ้าคุณมีข้อมูลแบบนี้ ใครจะสามารถเขียนโปรแกรมให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุด

ไทยพับลิก้า: ในที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ก็มีการเสนอว่า น่าจะมีแอปพลิเคชันที่บอกได้ว่าแต่ละพื้นที่มีโครงการก่อสร้างอะไรบ้าง และแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ถูกต้อง จริงๆ สมัยนี้ เวลาเขาสร้างถนนก็จะติดป้าย ชื่อโครงการ งบประมาณ กรรมการจัดจ้างคือใคร จะเสร็จเมื่อไร เปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์บนแผนที่ได้ไหม เนี่ย ขอให้มีข้อมูล เดี๋ยวคนก็จะเขียนโปรแกรม สรอ. แทบไม่ต้องทำเองเลย ทำเป็นป้ายปักทั่วประเทศ บริษัท ก. รับเหมาสร้างถนนของจุดนี้ถึงจุดนี้ ต้องเสร็จภายในกี่วัน งบประมาณแค่ไหน บริษัท ข. ทำที่ไหน บริษัท ค. ทำที่ไหน เปิดให้หมดเลย

แต่ที่น่าสนใจคือ เราบอกว่าข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างต่อไป มันจะต้องลงทะเบียนบริษัท จะทำให้สามารถ cross check กับข้อมูลผู้ถือหุ้นในกระทรวงพาณิชย์ คราวนี้เราก็จะเห็นอะไรมิอะไรอีกเยอะ แต่ผมยังไม่อยากบอก เพราะเดี๋ยวมีคนไปทำต่อเอง

ไทยพับลิก้า: สรอ. จะเป็นเจ้าภาพทำเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

เดี๋ยวมีคนทำของเขาเอง แต่เราอาจจะต้องไปบังคับให้กระทรวงพาณิชย์เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทต่างๆ

ไทยพับลิก้า: ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เองก็มีมาตรการให้บริษัทต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายให้กรมสรรพากรทุกปี

แต่ของ ป.ป.ช. ยังติดเป็นกระดาษ จริงๆ ป.ป.ช. ก็ต้องทำเหมือนกัน บัญชีทรัพย์สินของใครก็แล้วแต่ อย่าติดเป็นกระดาษ แต่ควรทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่เมื่อคนดึงไปใช้ มันก็จะเห็นอะไรอีกหลายอย่าง

ไทยพับลิก้า: จะทำให้เห็นคอนเน็กชั่น ถ้ามีการฮั้วกันก็จะเห็นอะไรหมดเลย

ครับ

ไทยพับลิก้า: แต่อาจจะต้องเริ่มอย่างที่บอกก่อนว่า ภายในเดือนกันยายน ปี 2558 นี้ สรอ. จะต้องเสนอไปยังรัฐบาลว่า ชุดข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดทั้งหมดควรจะมีอะไรบ้าง

ใช่ เราก็ไปศึกษาจากต่างประเทศว่าควรมีอะไรบ้าง เช่น งบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ผมว่าน่าจะมีไม่กี่อย่าง

อีกเรื่องที่ผมกำลังคิดอยู่ แตไม่แน่ใจว่าใครจะเอาด้วยกันผมหรือไม่ คือ open data ข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตร แต่ไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์หรือเปล่า คืออย่างนี้ สหรัฐอเมริกาเปิดข้อมูลเป็นแสนชุด อังกฤษเปิดข้อมูล 2-3 หมื่นชุด คำถามคือ คุณเปิดขนาดนั้นแน่ใจหรือว่าคนจะเอาไปใช้ คุณบังคับหน่วยงานให้เปิดได้ ผมก็บังคับได้ แต่คำถามคือมันจะมีคนเอาไปใช้ไหม เพราะเราอยากให้ข้อมูลที่เปิดมีการนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการวิจัย ผมยังคิดว่ามันควรจะเปิดเป็นธีม เป็นเรื่องๆ ไป แล้วดูว่าอะไรสำคัญ ต้องหาทางให้สัมพันธ์กันระหว่าง demand กับ supply ให้ได้

ไทยพับลิก้า: อย่างการเปิดเผยข้อมูลด้านเกษตร ควรจะมีข้อมูลอะไรบ้าง และเปิดรูปแบบใด

มันมีการศึกษาของอังกฤษว่า open data ช่วยเรื่องเกษตรอย่างไร 1. ช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น เหมือนเกษตรโซนนิ่งนั่นเอง เราควรจะปลูกพืชไหน ที่ใด แต่คำถามคือข้อมูลมันมีหรือเปล่า เราอาจจะไม่เคยเก็บก็ได้ ดังนั้นจึงต้องไปศึกษาดูว่า มีข้อมูลชุดใดที่จำเป็นต้องมาใช้ในเรื่องนี้ จริงๆ สรอ. ก็จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) ที่จะมาทำเรื่องนี้อยู่ และ 2. ทำให้การบริหารงานเกิดธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น

ไทยพับลิก้า: ก่อนหน้านี้ สรอ. ก็เข้าไปช่วยทำข้อมูลเรื่องน้ำ สุดท้ายก็ถูกวิจารณ์ว่าเหมือนจะไม่ยั่งยืน

เรื่องน้ำ ข้อมูลเปิดจนหมดแล้วบนเว็บ มีหมดเลย เพียงแต่จะคุยดับ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ให้เปิดเป็น open data ให้มากขึ้น เอาง่ายๆ ระดับน้ำในเขื่อน ปริมาณน้ำฝน มันควรจะอยู่ในชุดที่เป็น open data ได้ คนจะได้เอาข้อมูลไปทำนู่นทำนี่ได้ แต่ถามว่าเปิดข้อมูลแล้วจะเอาไปทำอะไรเป็นอีกเรื่อง เป็นกลไกที่รัฐบาลจะต้องหาทางจัดการ ว่าเมื่อมีข้อมูลมาแล้ว จะต้องหาคนมาวิเคราะห์

เรื่องน้ำจึงขาดอยู่อย่างเดียว คือเรื่องของ action คือจะทำอย่างไรต่อไปกับมัน เพราะมันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเราไม่ action จากข้อมูลที่ได้ นอกเหนือจากเรื่องความโปร่งใส โอเค เราเปิด แต่หลายเรื่องคุณต้อง action จากข้อมูลที่คุณได้ด้วย มันถึงจะมีประโยชน์

ไทยพับลิก้า: เรื่องน้ำข้อมูลอาจจะเปิดเยอะจริง แต่ยังจัดการไม่ค่อยดีหรือเปล่า ทำให้ประชาชนไปใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่

ในระดับรัฐ แต่ผมว่าเขาจัดการได้ดีมาก คำถามคือว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจหรือไม่ ผมคิดว่าเขาเอาไปตัดสินใจบ้าง แต่หลายอย่างอาจจะยังมีไม่พอหรือเปล่า คุณต้องหาช่องว่างว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่ควรจะต้องมีแต่ยังไม่มีการเก็บ

ส่วนในระดับชาวบ้าน ประเด็นสำคัญ คือข้อมูลที่มีมันเยอะมาก คำถามคือ ภาครัฐยังไม่เข้าไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง สรอ. เลยทำ e-Learning เรื่อง open data ผมคิดว่าประเทศไทยถึงเวลาที่จะเปลี่ยนคนไทยให้รู้จักนำข้อมูลมาใช้ ไม่ใช่แค่แชร์อะไรมาก็เชื่อทันทีเลย พระพุทธเจ้ายังสอนเลยว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้กระทั่งสิ่งที่ท่านสอน ให้คิดไตร่ตรองดูก่อน แปลว่าให้เรามีวิจารณญาณในการใช้ข้อมูล

เรื่องน้ำ ผมว่าเรามีข้อมูลพอที่จะทำอะไรได้ แต่คนไทยเราพร้อมไหม เอาข้อมูลไปคิดต่อเป็นหรือเปล่า ผมอยากเปรียบเทียบ ไปดูที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่เกิดภัยแล้งในขณะนี้ ลองเข้าไปดูจะเห็นว่าข้อมูลเรื่องน้ำของเขาเยอะมาก ท้ายสุดเขาใช้หลักการวิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจว่าจะให้น้ำกินน้ำใช้มาก่อน เขาไม่ใช้ความรู้สึก ไม่เช่นนั้นคนฆ่ากันตายแน่นอน ถ้าเอาหลักอื่นมาคิด ประเทศไทยก็เหมือนกัน ที่รัฐบาลตัดสินใจห้ามทำเกษตรนะ เพราะต้องเอาอุปโภคบริโภคก่อน

ถ้าไม่มีหลักยึด การตัดสินใจโดยเอาข้อมูลมาเป็นพื้นฐาน จะมีปัญหาแน่นอน นี่คืออีกสเต็ปที่ต้องพูดกัน เพราะข้อมูลไม่ใช่แค่เปิดแล้วก็จบ

ไทยพับลิก้า: เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคตจะทำระบบให้คีย์แค่คำเดียวก็สามารถหาได้เลย ไม่ต้องเข้าไปหาที่หน่วยงานนั้นๆ เช่น ปีนี้คนไทยเกิดกี่คน ก็ไม่ต้องไปหาจากกระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติ แต่มีเว็บเดียวที่คลิกแล้วเจอเลย

ข้อมูลเชิงสถิติมีอยู่เยอะมาก ไม่ต้องห่วงเลย เพียงแต่ปัญหาเวลานี้ต่างคนต่างเปิด ซึ่งเราไม่ได้ว่าอะไร เพราะนี่ถือเป็นช่วงแรก แต่ขั้นต่อไปจะต้องนำมารวมกัน ในลักษณะที่ว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันจะต้องเชื่อมกันให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เช่น ข้อมูลพื้นฐานที่เป็นเบสิก เช่น โค้ดต่างๆ รหัสจังหวัด รหัสพื้นที่ พวกนี้ต้องลิงก์กัน หมายความว่าเวลาดึงข้อมูล ต่อไปจะไม่ได้ดึงแค่ตารางเดียว แต่ต้องดึงหลายตาราง แต่ผมยังไม่อยากทำเรื่องนี้ในช่วงนี้ เพราะหลายหน่วยงานยังไม่พร้อม

อีกอย่างเราจะไม่บังคับให้ทุกหน่วยงานเปิด API (Application Programming Interface – ช่องทางที่ทำให้ข้อมูลจากระบบต่างๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้) เพราะมันมีค่าใช้จ่าย แต่เราจะใช้ระบบที่เรียกว่า link data อันนี้กำลังให้ Nectec ศึกษาอยู่ ข้อมูลจะเกิดการลิงก์ๆ กั้น API จะมีเฉพาะข้อมูลบางกลุ่มที่จำเป็นจะต้องมี แต่ข้อมูลเชิงสถิติ ใช้ link data

ไทยพับลิก้า: ถ้าสมมุติต้องการข้อมูลที่ลึกลงไปอีก ไม่ใช่ข้อมูลเชิงสถิติอย่างเดียว เช่น มีนักการเมืองมีที่ดินบนเขาใหญ่กี่คน ควรจะใช้ระบบใด

เหมือนกับไอเดียที่ว่ามาข้างต้นว่าทำไมเราให้ใส่เลขทะเบียนการค้าของบริษัทเข้าไป เรารู้ว่ามันจะลิงก์ที่อื่นได้

ไทยพับลิก้า: คิดว่าขั้นต่อไป คือการเชื่อมโยง จะเริ่มทำได้เมื่อไร

คงต้องรอให้ขั้นแรก คือให้เปิดข้อมูลพื้นฐานได้จำนวนหนึ่งก่อน คาดว่าช่วงเดือนกันยายนปี 2558 นี้ น่าจะได้สัก 200-300 ชุดข้อมูล แล้วก็มีธีมสัก 2-3 ธีม เกษตรกำลังคิดอยู่ว่าจะทำหรือไม่ แต่ทุจริตทำแน่นอนเพราะเป็นสิ่งที่นายกฯ สั่งการมา ถ้าเกษตรไม่ได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องสุขภาพ แต่อาจจะต้องเวิร์กช็อป เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน

“ภาครัฐยังต้องเปลี่ยน mindset ว่าภาคเอกชนเขาไปถึงไหนแล้ว เรายังทำแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ อย่าไปกลัวมาก กลัวว่าจะผิดกฎนั้นกฎนี้ก็เลยต้องทำแบบเดิมไปก่อน นี่คือ mindset ที่ภาครัฐต้องเปลี่ยน ต้องเปิด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะมันฟังรากมาเป็นร้อยปี คำว่าข้าราชการ เอะอะอะไรก็เป็น bureaucracy จะเห็นได้ว่าไม่ได้อยู่ที่เทคนิคเลย แต่อยู่ที่วิธีคิด”

ไทยพับลิก้า: ก้าวต่อไป สรอ. จะทำอะไรต่อ

เนื่องจากกฎหมายที่กำลังจะเปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สรอ. กำลังรอความชัดเจนเรื่องนั้นอยู่ แต่เท่าที่ดู ก็คิดว่า สรอ. น่าจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของดิจิทัลอีโคโนมีที่จะเข้ามา รวมถึง service infrastructure เราอาจจะต้องผันตัวเองไปทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับสิ่งที่เอกชนทำให้กับภาครัฐ เหมือนโครงการ data center ที่ต่อไปภาครัฐจะไม่สร้างเอง แต่ใช้บริการภาคเอกชน คำถามคือใครจะไปตรวจสอบภาคเอกชนว่าให้บริการอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่ง สรอ. อาจจะเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ ทั้งกำหนดแนวทาง ส่งเสริม และประเมินผล อย่างให้บริการระบบ cloud คุณให้บริการได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า เพราะดิจิทัลอีโคโนมี ถ้าโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหา ก็จบเห่เลย คำถามคือใครจะตรวจ ก็ต้องเป็น สรอ.

ไทยพับลิก้า: ถ้าให้ e-government เป็นคะแนนเต็มสิบ หน่วยงานภาครัฐของไทยเดินมาถึงก้าวที่เท่าไรแล้ว

คำว่า e-government มันไม่มีวันจบ เพราะโลกมันเปลี่ยนตลอดเวลา สังคมและบริบทก็เปลี่ยนตลอดเวลา ใครจะไปคิดว่ามือถือจะมีบทบาทมากขนาดนี้ มันไม่มีวันสิ้นสุด ประเด็นอยู่ที่ว่า หน่วยงานภาครัฐพร้อมที่จะให้บริการประชาชนได้ตามที่คาดหวังหรือเปล่า เรากำลังพูดถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อของผ่านโปรแกรม Line จะไปติดต่อหน่วยงานภาครัฐยังต้องมีสำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประชาชน เขาคงคิดในใจ โลกไปถึงไหนแล้ว ดังนั้น ความคาดหวังของประชาชนจึงเป็นตัวที่วัด จากเดิมที่เราต้องลางานไปทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐทั้งวัน แต่ทุกวันนี้สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่เรายังต้องไปเสียเวลา

ถ้าถามความเห็นผม เต็บสิบ ผมว่าเรามาแค่ครึ่งทาง ยังเหลืออีกครึ่งทางที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ เขาไปถึงไหนแล้ว เมื่อไรที่ภาครัฐจะทำได้เหมือนที่เขาทำกับเพื่อนฝูงเขา ทำกับคู่ค้าเขา เมื่อไรที่ภาครัฐสามารถปิดช่องว่างในสิ่งที่ภาคเอกชนทำระหว่างกันได้ นั่นแหละคือคะแนนเต็มสิบ

ไทยพับลิก้า: ที่รัฐต้องต้วมเตี้ยมอยู่ทุกวันนี้ มาจากปัจจัยอะไร วิธีคิด งบประมาณ หรือปัจจัยอื่น

กฎหมาย เราต้องแก้กฎหมายเรื่องการลดกระดาษ แก้กฎหมายให้ภาครัฐทำธุรกรรมข้ามหน่วยงานได้ผ่านระบบออนไลน์ เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มันล้าสมัย นอกจากกฎหมายกฎระเบียบเหล่านี้ ภาครัฐยังต้องเปลี่ยน mindset ว่าภาคเอกชนเขาไปถึงไหนแล้ว เรายังทำแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ อย่าไปกลัวมาก กลัวว่าจะผิดกฎนั้นกฎนี้ก็เลยต้องทำแบบเดิมไปก่อน นี่คือ mindset ที่ภาครัฐต้องเปลี่ยน ต้องเปิด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะมันฟังรากมาเป็นร้อยปี คำว่าข้าราชการ เอะอะอะไรก็เป็น bureaucracy จะเห็นได้ว่าไม่ได้อยู่ที่เทคนิคเลย แต่อยู่ที่วิธีคิด เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เราสำรวจภาครัฐไทย พร้อมหมด มีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต แต่ทำไมยังต้องขอสำเนาบัตรประชาชนอยู่ (หัวเราะ)