ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมความเชื่อที่ผิดๆ จึงตายยาก

ทำไมความเชื่อที่ผิดๆ จึงตายยาก

11 สิงหาคม 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งนานมาเเล้วมีวัดเก่าเเก่อยู่วัดหนึ่ง ในวัดนี้พระสงฆ์ที่ประจำอยู่ในวัดทุกรูปจะเริ่มต้นวันด้วยการนั่งสมาธิจากเช้าตรู่จนถึงเย็นโดยไม่มีการลุกไปไหนเลย อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีเเมวตัวหนึ่งเดินหลงเข้ามาในวัด หลังจากนั้นไม่นานนักเเมวตัวนี้ก็เริ่มรบกวนการนั่งสมาธิของพระหลายๆ รูปจนเจ้าอาวาสทนไม่ไหว จึงได้สั่งให้เณรในวัดนำเเมวตัวนั้นไปผูกไว้กับต้นโพธิ์กลางลานวัด พอตกเย็นหลังเสร็จสิ้นการทำสมาธิถึงค่อยปล่อย

พอถึงวันถัดไป เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เเมวตัวเดิมเข้าไปทำการรบกวนการนั่งสมาธิของพระในวัดอีก เจ้าอาวาสก็สั่งให้เณรนำเจ้าเเมวตัวเดิมไปผูกไว้กับต้นโพธิ์กลางลานวัดตั้งเเต่รุ่งเช้าก่อนที่จะปล่อยในตอนเย็น เเละก็เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อีกหลายปีจนเจ้าอาวาสมรณภาพ เเต่หลังจากงานศพของเจ้าอาวาสผ่านไปเพียงวันเดียวเจ้าอาวาสรูปใหม่ก็สั่งให้เณรนำเเมวตัวเดิมไปผูกไว้กับต้นโพธิ์ก่อนที่พระในวัดจะเริ่มนั่งสมาธิ และปฎิบัติแบบนี้ทุกวันจนเเมวตัวนี้เสียชีวิต เเละหลังจากเเมวตัวนี้เสียชีวิตไปได้เพียงเเค่วันเดียวเจ้าอาวาสก็สั่งให้เณรในวัดหาเเมวตัวใหม่จากนอกวัดมาผูกไว้กับต้นโพธิ์ก่อนที่พระจะเริ่มนั่งสมาธิทุกๆ เช้า

เเละการนำเเมวมาผูกไว้กับต้นโพธิ์ทุกเช้าก่อนการพระเริ่มนั่งสมาธิก็กลายมาเป็นธรรมเนียมของพระในวัดนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดสงสัยหรือท้วงติงต่อพฤติกรรมตรงนี้เเต่อย่างใด

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย…เเต่บางทีความเชื่อผิดๆ ก็ตายยากเช่นกัน

คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมความเชื่อผิดๆ (อย่างเช่นความเชื่อที่ว่าหมอดูสามารถดูดวงเพื่อทำนายอนาคตได้จริงๆ) เเละวัฒนธรรมประเพณีที่ค่อนข้างไร้สาระ (อย่างเช่นประเพณีการรับน้องใหม่เเบบเเรงๆ ในมหาวิทยาลัย) ถึงยังดำรงอยู่ในสังคมของเราได้ทั้งๆ ที่ความเชื่อหรือวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้มักจะให้โทษ (costs) มากกว่าให้คุณประโยชน์ (benefits)

ปกติเเล้วนักเศรษฐศาสตร์อย่างผมมักจะมีข้อสันนิษฐานที่ว่าคนเรามีเหตุผลเพียงพอในการเเยกเเยะว่าอะไรควรเชื่ออะไรไม่ควรเชื่อ เเต่ในความเป็นจริงเเล้วนั้นคนเรามักจะประพฤติที่ไม่สมเหตุสมผลค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยมาก นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ของการเเพร่กระจายความเชื่อที่ผิดๆ เหล่านี้ว่า availability cascade

Availability cascade เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงเป็นครั้งเเรกในปี ค.ศ. 1999 โดยนักจิตวิทยา ทิเมอ คูเเรน (Timur Kuran) เเละนักวิชาการทางด้านกฎหมาย เเคส ซันสทีน (Cass Sunstein) ทั้งสองได้อธิบาย availability cascade ว่ามีที่มาจาก cognitive bias อีกตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า availability heuristic ซึ่งเป็น bias ที่ถูกค้นพบโดยนักจิตวิทยาชื่อดังสองคนนั่นก็คือ เเดเนียล คาห์นีเเมน (Daniel Kahneman) เเละเอมอส ทเวอสกี้ (Amos Tversky) ในปี ค.ศ. 1973

เเต่ก่อนที่ผมจะทำการอธิบายว่า availability heuristic คืออะไร ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองอ่านข้อความข้างล่างเเล้วลองตอบคำถามที่ตามมาหลังจากนั้นดูก่อนนะครับ

“นายณัฐวุฒิเป็นคนที่ชอบอ่านข่าวธุรกิจเป็นชีวิตจิตใจ ทุกๆ เช้าก่อนไปทำงานเขามักจะเปิดทีวีทิ้งเอาไว้ตอนรับประทานอาหารเช้าเพื่อที่จะฟังข่าวธุรกิจจากทั้งในเเละต่างประเทศ เเละหนังสือพิมพ์ที่เขาชอบอ่านเป็นประจำมากที่สุดก็คือ Financial Times”

คำถามก็คือว่า คุณผู้อ่านคิดว่านายณัฐวุฒิน่าจะประกอบอาชีพอะไร ระหว่าง ก) คนขับรถเเท็กซี่ เเละ ข) CEO ของบริษัทหลักทรัพย์

ผมจะไม่เเปลกใจเลยถ้าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่จะคิดว่านายณัฐวุฒิเป็น CEO ของบริษัทหลักทรัพย์มากกว่าการเป็นคนขับรถเเท็กซี่

เเต่ถ้าพูดกันในสถิติของความน่าจะเป็นเเล้วนั้น โอกาสที่นายณัฐวุฒิจะทำงานเป็นคนขับรถเเท็กซี่นั้นมีสูงกว่าโอกาสที่เขาจะทำงานเป็น CEO ของบริษัทหลักทรัพย์หลายเท่าตัวมาก ทำไมเหรอครับ ก็สมมติว่าถ้าเราทำการสุ่มคนจากคนทุกคนในกรุงเทพฯ (หรือคนทุกคนทั้งประเทศก็ได้) มาสักหนึ่งพันคน โอกาสที่เราจะสุ่มได้คนที่ทำงานเป็นคนขับรถเเท็กซี่จะสูงกว่าโอกาสที่เราจะสุ่มได้คนที่ทำงานเป็น CEO ของบริษัทหลักทรัพย์เยอะมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าจำนวนของคนที่ทำงานเป็นคนขับรถเเท็กซี่ในกรุงเทพฯ หรือเเม้เเต่ในประเทศของเราทั้งหมด มีเยอะกว่าจำนวนของคนที่ทำงานเป็น CEO ของบริษัทหลักทรัพย์เป็นหลายพันเท่า เเต่เพียงเเค่ว่าคนส่วนใหญ่คงไม่เคยรู้จักหรือพบเจอคนขับรถเเท็กซี่ที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจอย่างเช่น Financial Times เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถจินตนาการได้ว่านายณัฐวุฒิจะมีตำเเหน่งหน้าที่การทำงานเป็นคนขับรถเเท็กซี่ไปได้

อธิบายง่ายๆ เลย availability heuristic ก็คือการที่คนเรามักจะใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่เห็นอยู่บ่อยๆ หรือจากความทรงจำที่สามารถเรียกกลับมาใช้ใหม่ได้ทันทีในการตัดสินใจว่าอะไรถูกอะไรผิดโดยที่ไม่คำนึงถึงสถิติของความน่าจะเป็นไปได้จริงๆ ของเหตุการณ์นั้นๆ เเละเราก็สามารถใช้ availability heuristic ในการอธิบายว่าทำไมคนเราจึงกลัวการบินมากกว่าการขับรถทั้งๆ ที่สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์จะสูงกว่าสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่มาจากเครื่องบินเยอะมาก (สาเหตุใหญ่ๆ เลยก็คือเรามักจะไม่ค่อยได้ยินข่าวที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่มาจากรถยนต์มากนัก เเต่เรามักจะได้ยินจากข่าวทุกครั้งที่มีเครื่องบินตก) เเละทำไมคนที่มีเงินพอในการจ้างคนใช้ไว้ที่บ้านมักจะคิดว่าคนทุกคนที่เขารู้จักจะต้องมีคนใช้ประจำไว้อยู่ที่บ้านเช่นกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงเเล้วเปอร์เซ็นต์ของคนที่มีคนใช้ประจำอยู่ที่บ้านนั้นน้อยกว่าคนที่ไม่มีคนใช้ที่บ้านเยอะมาก (สาเหตุก็คือคนที่มีเงินพอจ้างคนใช้มักจะมีเพื่อนที่มีเงินพอที่จะจ้างคนใช้เช่นกัน เเต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนที่เขาเจอจะเป็นคนที่มีเงินพอจ้างคนใช้เหมือนกับเขา) เป็นต้น

เเละด้วยสาเหตุของ availability heuristic นี้นี่เองทำให้คนเราส่วนใหญ่สามารถปักใจเชื่อในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อได้ง่าย ถึงเเม้ว่าในสิ่งที่เชื่อนั้นอาจจะผิดจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของคนในการเเชร์ข่าว (ผิดๆ หรือข่าวนั่งเทียน) ที่คนอื่นเเชร์ต่อๆ กันมาใน social media โดยไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าสิ่งที่เรากำลังเเชร์อยู่นั้นมันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากน้อยเเค่ไหน ซึ่งพอจำนวนคนที่เชื่อเริ่มมากขึ้น โอกาสที่ปรากฏการณ์ availability cascade จะเกิดขึ้นกับความเชื่อที่ผิดๆ ก็จะเพิ่มขึ้นตามๆ กันไปเช่นกัน

The กบในกะลา effect

ปรากฏการณ์ availability cascade (หรือที่ผมชอบเรียกมันว่า the กบในกะลา effect เพราะว่าคนที่เจอปรากฏการณ์นี้นั้นไม่เคยนำเอาความน่าจะเป็นไปได้จากข้างนอก (กะลา) มาช่วยในการตัดสินใจว่าอะไรเชื่อได้เชื่อไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเเพร่กระจายของเชื้อ HIV/AIDS ในปี 90 (ที่ว่าโรคนี้เป็นโรคของผู้ชายที่เป็นเกย์อย่างเดียว ซึ่งก็ได้สร้างตราบาปให้กับผู้ชายที่เป็นเกย์มากในช่วงยุคนั้น) หรือว่าความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการฉีด MMR วัคซีนเพื่อป้องกันโรคหัด (ที่ว่าฉีดเเล้วอาจจะเกิดโรคเเทรกซ้อนได้ ซึ่งก็ทำให้คนไม่ยอมไปฉีดกันทั้งๆ ที่โอกาสที่จะเกิดโรคเเทรกซ้อนนั้นมีน้อยมากกว่าการติดโรคหัด เป็นต้น)

เเละพูดกันตามประวัติศาสตร์เเล้ว สถาบันที่เป็นตัวต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ availability cascade ที่ผิดๆ เช่นนี้ขึ้นมาก็คงจะหนีไม่พ้นสถาบันข่าวสารที่ชอบรายงานข่าวที่เป็น sensationalism หรือข่าวที่กระตุ้นอารมณ์คนโดยที่ไม่ดูหลักฐานของความเป็นไปได้เป็นหลัก

เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่ดี (ซึ่งก็คือรัฐบาลที่เอาความเป็นจริงเป็นหลักเพื่อมาดูเเลเเละปกป้องประโยชน์สุขของประชาชน) ก็ควรที่จะหาวิธีป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในสังคมของเรา

อ่านเพิ่มเติม

Kuran, T., & Sunstein, C. R. (1999). Availability cascades and risk regulation. Stanford Law Review, 683-768.

Tversky, A., & Kahneman, D. (1973). Availability: A heuristic for judging frequency and probability. Cognitive psychology, 5(2), 207-232.