ThaiPublica > เกาะกระแส > กางข้อเสนอสปช. พิมพ์เขียวปฏิรูป ป.ป.ช. หั่นวาระดำรงตำแหน่งเหลือ 6 ปี ให้ประเมินผลงาน “สอบตก” พ้นตำแหน่ง ขีดเดดไลน์ทุกคดีต้องเสร็จใน 1 ปี

กางข้อเสนอสปช. พิมพ์เขียวปฏิรูป ป.ป.ช. หั่นวาระดำรงตำแหน่งเหลือ 6 ปี ให้ประเมินผลงาน “สอบตก” พ้นตำแหน่ง ขีดเดดไลน์ทุกคดีต้องเสร็จใน 1 ปี

17 สิงหาคม 2015


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบรายงานข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ จากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Thaiparliamentchannel/photos/pcb.612557385552624/612557328885963/?type=1&theater
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบรายงานข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ จากนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Thaiparliamentchannel/photos/pcb.612557385552624/612557328885963/?type=1&theater

ในพิมพ์เขียวข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ที่ประกอบด้วย 36 ประเด็นปฏิรูป และ 7 ประเด็นพัฒนา ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพิ่งส่งมอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปดำเนินการต่อผ่านทาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

มีหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูปที่น่าสนใจ และที่ผ่านมาก็ถูกพูดถึงอยู่บ้าง นั่นคือข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” ที่ถูกบรรจุไว้ในวาระการปฏิรูปถึง 3 วาระ ประกอบด้วย

– วาระปฏิรูปที่ 1: การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

– วาระปฏิรูปที่ 2: แผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจและระบบพรรคการเมือง

– วาระปฏิรูปที่ 7: การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

เนื้อหาของข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูป ป.ป.ช. ที่อยู่ในรายงานการปฏิรูปทั้ง 3 วาระ จะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น ปฏิรูปโครงสร้างและขั้นตอนการทำงานของ ป.ป.ช. ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และปฏิรูปการติดตามและประเมินผลการทำงานของ ป.ป.ช.

หั่นวาระ ป.ป.ช. เหลือ 6 ปี ชี้อยู่นานไปอาจบิดผันการใช้อำนาจ

ในวาระปฏิรูปที่ 1 ที่ “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” ซึ่งมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน จัดทำร่วมกับ กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูป ป.ป.ช. อาทิ

– เพิ่มจำนวนกรรมการ ป.ป.ช. จาก 9 คน เป็น 11 คน แต่ให้มีที่มาที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เน้นนักกฎหมาย ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้พิพากษาหรือนักกฎหมาย มาเป็นด้านรัฐศาสตร์ 1 คน ด้านนิติศาสตร์ 3 คน ด้านการเงินการบัญชีและเศรษฐศาสตร์ 2 คน ด้านการบริหารงานภาครัฐ 2 คน ภาคเอกชน 1 คน ด้านประชาสังคม (และสื่อสารมวลชน) 1 คน ด้านอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการทุจริตประพฤติมิชอบ อีก 1 คน

– ลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จาก 9 ปี เหลือ 6 ปี เพื่อไม่ให้กรรมการ ป.ป.ช. อยู่ในตำแหน่งยาวนานจนเกินไป จนอาจทำให้บิดผันการใช้อำนาจและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้

– เปลี่ยนองค์ประกอบกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. จากเดิมที่มีเพียงประธานศาล 3 ศาล ประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้มีที่มาหลากหลายมากขึ้น เช่น มีตัวแทนอดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ตัวแทนสภาทนายความ ตัวแทนองค์กรสื่อ ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม เป็นต้น

– ให้แบ่งแยกการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช. ออกเป็น 2 ชุด ชุดละ 5 คน ชุดแรก รับผิดชอบคดีของฝ่ายการเมือง ชุดที่สอง รับผิดชอบคดีของฝ่ายข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ

– ให้ควบรวมการทำงานของ ป.ป.ช. กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

– ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. เป็นประจำทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้ ป.ป.ช. ทราบ หรือประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป

– แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ ระหว่างกรรมการ ป.ป.ช. กับสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ชัดเจน โดยให้มีกฎหมายว่าด้วยสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน มีความเป็นอิสระในการบริหารงาน ทั้งงบประมาณและบุคลาการ โดยกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่หลักในการวินิจฉัยคดีเพียงอย่างเดียว

– ให้ ป.ป.ช. รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่น ได้งบประมาณรวมกันไม่น้อยกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแถลงผลงานรอบ 6 เดือน (ปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556-31 มีนาคม 2557) ณ สำนักงาน ป.ป.ช.
ในพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศของ สปช. มีถึง 3 วาระปฏิรูปด้วยกัน ที่พูดถึงการปฏิรูปองค์กรตรวจสอบการทุจริต อย่าง ป.ป.ช.

ให้ประเมินผลงาน “สอบตก” พ้นจากตำแหน่ง – วางเดดไลน์ทุกคดีต้องเสร็จใน 1 ปี

ในวาระปฏิรูปที่ 2 ที่ “กมธ.ปฏิรูปการเมือง” ซึ่งมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน จัดทำร่วมกับ กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา และ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูป ป.ป.ช. อาทิ

– เพิ่มจำนวนกรรมการ ป.ป.ช. จาก 9 คน เป็น 11 คน โดยให้มีที่มาที่หลากหลาย

– เปลี่ยนองค์ประกอบกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. จากเดิมที่มีเพียง ประธานศาล 3 ศาล ประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มเป็น 11 คน ให้มีที่มาหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะจากภาควิชาการ เพราะองค์ประกอบเดิมกรรมการสรรหามีจำนวนน้อยเกินไป และไม่เชื่อมโยงกับประชาชน

– ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือ 6 ปี

– งานปราบปราม ให้แบ่งการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช. ออกเป็น 2 ด้าน คือด้านผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และด้านภาครัฐและภาคเอกชน

– งานป้องกันการทุจริต ให้มี “คณะกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต (ป.ก.ท.)” มีกรรมการ 3 คน สรรหาโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับวางมาตรการแนวทางป้องกันการทุจริต เพื่อเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความสุจริต และมีการมีส่วนร่วมกับประชาชน

– แก้กฎหมาย แยกอำนาจให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับผิดชอบคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบของ สตง. และให้มีอำนาจฟ้องคดีเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมาให้ ป.ป.ช. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจำนวนคดีค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.

– ให้คดีเกี่ยวกับทุจริตขึ้นศาล 2 ศาล คดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คดีของภาครัฐและภาคเอกชนให้ขึ้นศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลอุทธรณ์

– กำหนดกรอบระยะเวลาทำงานของ ป.ป.ช. ให้คดีสำคัญเร่งด่วนต้องสอบสวนให้เสร็จภายใน 6 เดือน ส่วนคดีปกติทั่วไปไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงและไต่สวนของ ป.ป.ช. เดิม ใช้เวลานาน และไม่มีกรอบที่แน่ชัด

– เพิ่มความเด็ดขาดมาตรการบังคับโทษ เช่น ในช่วง 10 ปีแรกของการรับโทษต้องไม่มีการลดโทษหรืออภัยโทษ, ต้องไม่มีการรอลงอาญา, นักการเมืองต้องรับโทษเป็น 3 เท่า, ต้องมีการชดใช้ความเสียหายทางแพ่งเมื่อบริหารงานผิดพลาดและก่อความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง เป็นต้น

– ต้องมีหน่วยงานประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการ ป.ป.ช. เป็นรายบุคคล โดยมอบหมายให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติดำเนินการ และให้เสนอต่อรัฐสภาและเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ ในกรณีที่ผลตรวจสอบพบว่าการปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ให้กรรมการ ป.ป.ช. รายนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

องค์กรอิสระต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา – ถูกถอดถอนได้ถ้าทำคดีหมดอายุความ

ในวาระปฏิรูปที่ 7 ซึ่งจัดทำโดย “กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ร่วมกับ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค โดยข้อเสนอวาระปฏิรูปนี้ ไม่ได้เจาะจงที่องค์กรอิสระองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือ สตง. แต่กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปองค์กรอิสระในภาพรวม อาทิ

– ในการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ควรจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดสรรบุคคล และแบ่งสัดส่วนกรรมการองค์กรอิสระออกเป็น 3 ฝ่าย คือจากประชาชน จากรัฐสภา และจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและคานอำนาจ สามารถทำงานด้วยความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และปราศจากอคติ

– ก่อนเริ่มทำงานให้องค์กรอิสระทุกแห่งต้องจัดทำนโยบาย แถลงและขอความเห็นต่อรัฐสภา เพื่อให้ทราบการทำงานขององค์กรอิสระนั้นๆ ว่าจะไปในทิศทางใด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ซักถามและแสดงความเห็นตามความเหมาะสม คำแถลงนี้ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่องค์กรอิสระนั้นๆ ให้ไว้กับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา และให้สามารถถูกตรวจสอบได้โดยผ่านรัฐสภาเช่นเดียวกัน โดยประชาชนสามารถขอตรวจสอบการทำงานและถอดถอนได้

– โครงสร้างการทำงาน ควรแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนระหว่างกรรมการกับสำนักงาน โดยให้สำนักงานมีอิสระในการทำงาน ไม่ว่าจะในการบริหารงานหรือในการสอบสวนทำสำนวนคดี แทนที่จะเป็นเสมือนการบังคับบัญชาโดยตรงเช่นในปัจจุบัน

– องค์กรอิสระทุกแห่งควรได้รับงบประมาณที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ เห็นสมควรตั้ง “กองทุน” เพื่อใช้จ่ายในการปฏิบัติงานนอกเหนือจากงบประมาณปกติ โดยมีหลักเกณฑ์การใช้จ่ายที่แน่นอน และเป็นค่าใช้จ่ายกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น จ่ายค่าอาหารทำงานนอกเวลาราชการ เป็นต้น ไม่ใช่งบลงทุนที่ต้องขอในงบประมาณปกติ

– ให้มีกลไกตรวจสอบการกระทำหรือการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ โดยกำหนดองค์กรที่จะตรวจสอบองค์กรอิสระไว้อย่างชัดเจน ให้จัดทำรายงานประจำปีแถลงต่อรัฐสภาและเปิดโอกาสให้รัฐสภาอภิปรายและถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระก่อนครบวาระได้เช่นเดียวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้องค์กรอิสระได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังเช่นที่เกิดกรณีสำนวนคดีคงค้างหรือหมดอายุความ และกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่และกรรมการองค์กรอิสระในแต่ละกรณีเพื่อป้องกันการทำงานล่าช้าหรือเลือกปฏิบัติ เป็นต้น

สร้างกลไกความรับผิดชอบ ให้กรรมการ ป.ป.ช. มารายงานผลต่อวุฒิสภา

นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประธานอนุ กมธ.ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ ใน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เหตุที่คดีทุจริตทำได้ช้าเกิดจากองค์กรอิสระ ไม่ใช่ศาล และยังพบว่าองค์กรอิสระบางแห่งเสมือนอยู่เหนือการตรวจสอบ เพราะขนาดปล่อยให้คดีหมดอายุความหรือทำพยานหลักฐานในคดีสูญหายก็ยังไม่ถูกลงโทษ ทั้งนี้ ไม่ควรให้องค์กรอิสระใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีขอบเขต เพราะอาจเป็นอันตรายในอนาคต โดยเฉพาะก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์กันได้ เพราะขนาดศาลเองก็ยังมีการกำหนดขอบเขตในการใช้ดุลยพินิจ

นายประสิทธิ์กล่าวว่า กรณี ป.ป.ช. อนุ กมธ. เห็นว่าควรจะให้กรรมการมีที่มาจากภาคเอกชนมากขึ้น จะได้เข้าใจบริบทการทุจริตในหลายมิติ และเห็นว่าวาระดำรงตำแหน่งเดิม 9 ปีนั้นนานเกินไป อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องรีบทำคดีก็ได้ เพราะยังอยู่อีกหลายปี เรื่องโครงสร้างการทำงานก็มีปัญหา เพราะเมื่อ สตง. ทำคดีเสร็จแล้วส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช. ปรากฏว่าบางเรื่องไม่สามารถติดตามได้ว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ทั้งที่ 2 หน่วยงานนี้ควรจะทำงานควบคู่กันไป

“ที่สำคัญ การพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. แต่ละคดีใช้เวลานานมาก เพราะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ทำงานเต็มวันทุกวัน ทำให้เกิดคดีค้างจำนวนมาก จึงสมควรแบ่งงานให้ชัดเจน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับผิดชอบด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการไต่สวน ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบเฉพาะการวินิจฉัย” นายประสิทธิ์กล่าว

นายประสิทธิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีคนเสนอแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ทั้งที่การไม่มีอำนาจไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้มีคดีค้างใน ป.ป.ช. จำนวนมาก แต่เกิดจากการแบ่งสายงานไม่ถูกต้อง โดย ป.ป.ช. มักอ้างว่ามีคนไม่พอ แต่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการอนุมัติอัตรากำลังเพิ่มเติม ให้ ป.ป.ช. รับคนที่จบจากเนติบัณฑิตเข้าทำงานได้ 400 อัตรา จึงเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะบรรเทาลง ทั้งนี้ อนุ กมธ. ไม่เห็นด้วยกับการขยายงานไปส่วนภูมิภาค เพราะอาจเกิดปัญหาตามมาจากความคุ้นเคย

“เรื่องความรับผิดชอบขององค์กร ที่ผ่านมาทุกองค์กรอิสระ รวมถึง ป.ป.ช. ไม่ได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นและข้อทักท้วงของวุฒิสภา เนื่องจากไม่เคยให้องค์อำนาจ ซึ่งได้แก่ ตัวกรรมการมารายงานผลการทำงานประจำปีต่อวุฒิสภา เช่น ป.ป.ช. ก็มักจะให้เลขาธิการ ป.ป.ช. มารายงานแทนกรรมการ ป.ป.ช. ที่ก็ทำได้เพียงแค่รับทราบ อนุ กมธ. จึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายบังคับให้องค์อำนาจต้องมารายงานผลการทำงานประจำปีต่อวุฒิสภา ถ้าไม่มาให้ขาดคุณสมบัติหรือต้องมีบทลงโทษ จะได้สร้างความรับผิดชอบขึ้น” ประธาน อนุ กมธ.ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ กล่าว